หลังจากที่หลิวเซ่าและพรรคพวกพ่ายแพ้และสูญสิ้นอำนาจไปแล้ว ราชบัลลังก์แห่งหลิวซ่งก็ตกอยู่กับหลิวจวิ้น ผู้ที่ได้ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ ซึ่งปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์นามว่าซ่งเซี่ยวหวู่ตี้
แผ่นดินหลิวซ่งจึงดูเหมือนว่าจะสงบ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นไปแบบตรงกันข้าม เพราะว่าพฤติกรรมของซ่งเซี่ยวหวู่ตี้เอง รวมไปถึงรากฐานของราชวงศ์ที่ขาดความมั่นคงหลังจากที่เกิดการฆ่าฟันภายในเมืองหลวงติดๆ กัน
การก่อกบฏครั้งใหม่
ย้อนกลับไปก่อนที่ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้จะได้บัลลังก์นั้น บุคคลที่เป็นกำลังสำคัญคือ หลิวอี้เซวียน พระปิตุลาของพระองค์ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจิงโจว และจางจื๊อ ผู้ว่าราชการจังหวัดเจียงโจวที่สนับสนุนให้พระองค์เป็นกบฏต่อหลิวเซ่า
ดังนั้นบุคคลทั้งสองจึงมีกำลังและอิทธิพลมาก ทำให้ลึกๆ แล้วซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ไม่พอพระทัยสักเท่าใดนัก และเริ่มตั้งแง่กับทั้งสองคนนี้มากขึ้นตามลำดับ อย่างเช่นเมื่อทั้งสองทูลขออนุญาตก็มักจะปฏิเสธ เพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจในฐานะฮ๋องเต้ของพระองค์
สำหรับหลิวอี้เซวียนนั้น ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ทำให้ความสัมพันธ์กับเขาเลวร้ายลงไปอีก เมื่อรับบุตรสาวของหลิวอี้เซวียนทุกคนที่อยู่ที่เมืองหลวง (มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์) มาเป็นสนม ทำให้หลิวอี้เซวียนโกรธจัด และลักลอบติดต่อกับจางจื๊อว่าจะคบคิดกันเป็นกบฏต่อต้านราชสำนัก และได้ส่งทูตไปชักชวนผู้ว่าราชการจังหวัดคนอื่นๆ
เรื่องกลับเป็นว่าผู้ว่าราชการคนหนึ่งได้เข้าใจทูตของทั้งสองผิดเพราะเมา ทำให้เขาตั้งตนเป็นกบฏทันที ทั้งๆ ที่ทูตเพียงแค่ไปสอบถามความเห็น แล้วจะลงมือเมื่อได้จังหวะดีๆ เท่านั้น ทำให้หลิวอี้เซวียนกับจางจื๊อไม่มีทางเลือก นอกจากประกาศตนเป็นกบฏเช่นกัน
เมื่อข่าวศึกมาถึงเจี้ยนคัง ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ก็คิดว่าจะไม่ต่อต้านและยอมแพ้แต่โดยดี และเมื่อพระอนุชาหลิวตั้นสนับสนุนให้ต่อสู้ พระองค์ก็เลยตัดสินพระทัยส่งทูตไปยังเมืองต่างๆ ให้ช่วยกันปราบพวกกบฏ ปรากฎว่าเมืองต่างๆ ขานรับเป็นอย่างดี และตีกองทัพฝ่ายกบฏที่สนับสนุนหลิวอี้เซวียนและจางจื๊อแตกพ่ายไปอย่างรวดเร็ว
ท้ายที่สุดหัวหน้ากบฏทั้งสองจึงถูกจับกุมมาประหารชีวิต หลังจากพวกกบฏพินาศไปแล้ว ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้จึงมีพระบัญชาให้ลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดลงอย่างมาก ด้วยการให้แตกจังหวัดใหญ่เป็นจังหวัดเล็ก ส่วนพวกเชื้อพระวงศ์ก็ไม่ไว้พระทัย และโปรดให้ส่งคนจับตาดูไว้อย่างตลอดเวลา
ไม่กี่ปีต่อมาหลังจากการกบฏครั้งแรก ทหารหลวงกลับค้นพบว่าเหล่าพระสงฆ์ในพุทธศาสนาคบคิดกันจะก่อกบฏ ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้จึงโปรดให้ลดจำนวนพระสงฆ์ในอาณาจักรลงอย่างมาก เพื่อไม่ให้พวกพระมีอิทธิพลที่จะคุกคามราชสำนักได้
ฮ่องเต้สีเทา
แม้ว่าจะเกิดกบฏบ่อยครั้ง แต่จะว่าซ่งเซี่ยวหวู่ตี้เป็นฮ่องเต้ที่ไม่ดีเลยก็คงจะไม่ใช่ เพราะพระองค์เป็นฮ่องเต้ที่เอาใจใส่ในราชการแผ่นดินเป็นอย่างดี จริงอยู่ว่าพระองค์ทรงโปรดปรานการดื่มสุรา เสวยความสุขทางกามารมณ์ รวมไปถึงติดการพนัน แต่ถ้ามีเรื่องสำคัญที่ฮ่องเต้ต้องใส่พระทัย ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้จะพร้อมสำหรับการออกว่าราชการแทบจะในทันที ดังนั้นการบริหารราชการของหลิวซ่งจึงอยู่กับร่องกับรอย เหล่าขุนนางเองก็เกรงกลัวพระองค์มาก
อย่างไรก็ดีเรื่องที่พระองค์รับลูกพี่ลูกน้องมาเป็นสนมนั้นได้ทำให้ชื่อเสียงของพระองค์เสียหายไปมาก และเป็นจุดด่างพร้อยในรัชกาลเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหล่าพระอนุชา (รวมไปถึงหลิวตั้น) เป็นกบฏ
หลิวตั้นได้แฉเรื่องราวอันผิดศีลธรรมของซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ให้โลกได้รู้ ทำให้พระองค์พิโรธใหญ่ หลังจากที่จับกุมตัวหลิวตั้นได้ พระองค์โปรดให้ประหารชีวิต และยังสังหารประชาชนเมืองกวงหลิงที่หลิวตั้นปกครองอย่างโหดเหี้ยม
ในปี ค.ศ.462 สนมยิ่นซึ่งเป็นสนมคนโปรดสิ้นชีวิต (บ้างว่าเป็นบุตรสาวของหลิวอี้เซวียนที่ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ให้เปลี่ยนชื่อแซ่เพื่อหลบข้อครหา) ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้จึงเสียพระทัยอย่างนัก พระองค์โปรดให้จัดงานพระศพให้นางอย่างใหญ่โต และหลังจากนั้นก็เริ่มออกว่าราชการน้อยลง ต่อมาอีก 2 ปี ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ก็ประชวรหนัก และสวรรคตด้วยวัยเพียง 33 ปีเท่านั้น
โดยส่วนตัวผมมองว่าซ่งเซี่ยวหวู่ตี้เป็นฮ่องเต้ที่มีทั้งขาวทั้งดำ แม้ว่าพระองค์จะมีเรื่องที่ด่างพร้อยอยู่หลายเรื่อง แต่ข้อดีของพระองค์ก็มีอยู่หลายข้อ นอกจากความเอาใจใส่การงานแล้ว พระองค์ยังรู้จักใช้ที่ปรึกษาที่มีสติปัญญา และไม่ได้เอาตัวเองเป็นใหญ่ ทำให้ระบบราชการแผ่นดินนั้นยังดำเนินสืบต่อมาจากสมัยซ่งเหวินตี้ได้เป็นอย่างดี
แม้จะทรงระแวงเหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางบางคน แต่ก็ไม่ให้หุนหันพลันแล่นให้สังหารทั้งหมด (เหมือนกับฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาของหลิวซ๋ง) แสดงให้เห็นถึงความเมตตาก็ยังมีอยู่บ้าง
เพราะฉะนั้นพระองค์จะเป็นฮ่องเต้สีเทาอ่อน หรือสีเทาเข้มก็แล้วแต่ว่าใครจะมองอย่างไรครับ
รัชทายาท
รัชทายาทของซ่งเซี่ยวหวู่ตี้นั้นชื่อหลิวจื่อเย่ โอรสพระองค์นี้นั้นจริงๆ แล้วซ่งเซี่ยวหวู่ตี้ก็ไม่ได้โปรดปรานเท่าใดนัก เพราะสติปัญญาน้อยและนิสัยเกเร แต่จะโทษหลิวจื่อเย่แต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ได้ เพราะชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ค่อยดีเท่าไรนัก หลิวเซ่าได้สั่งให้คุมขังหลิวจื่อเย่ไว้ในคุกตั้งแต่อายุแค่ 4 ขวบ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อพัฒนาการของเขาไม่มากก็น้อย
เมื่อหลิวจื่อเย่เติบโตขึ้น และดูเหมือนว่าไม่มีทางเป็นรัชทายาทที่ดีได้ ซ่งเซี่ยวหวู่ตี้จึงปรารถนาที่จะถอดเขาเสียและแต่งตั้งองค์ชายคนอื่นขึ้นเป็นรัชทายาทแทน แต่ขุนนางคนสนิทของพระองค์ทัดทานเอาไว้ ทำให้สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ถอดหลิวจื่อเย่ออกจากบัลลังก์ เพราะซ๋งเซี่ยวหวู่ตี้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน
ในปี ค.ศ.464 หลิวจื่อเย่จึงได้ขึ้นนั่งบัลลังก์ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งความดำมืดที่จะดำเนินไปอีกสามรัชกาล