ประวัติศาสตร์ฮั่นไอตี้ ทรงเป็นฮ่องเต้ LGBT พระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีนจริงหรือ?

ฮั่นไอตี้ ทรงเป็นฮ่องเต้ LGBT พระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีนจริงหรือ?

ฮั่นไอตี้ (漢哀帝) เป็นฮ่องเต้ของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก โดยน่าจะเป็นฮ่องเต้พระองค์แรกและเป็นพระองค์เดียวที่นักประวัติศาสตร์จีนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็น LGBT หรือพูดง่ายๆ คือพระองค์ทรงมีคนรักที่เป็นเพศเดียวกันนั่นเอง

นอกเหนือจากการเป็น LGBT แล้ว รัชสมัยของฮั่นไอตี้กลับส่งผลอย่างมากต่อประวัติศาสตร์จีน แม้ว่าจะครองราชย์สั้นมากก็ตาม

“ผล” ที่ว่านั้นไม่ใช่ในแง่บวก เห็มได้ชัดจากสมญาหลังสวรรคตของพระองค์มีคำว่า “” ปรากฏอยู่ ซึ่งคำนี้แปลว่าน่าเศร้า น่าสงสาร แต่ในหน้าประวัติศาสตร์จีนแล้ว ฮ่องเต้ที่ได้รับสมญาแบบนี้มักจะเป็นฮ่องเต้องค์ท้ายๆ ของราชวงศ์ที่ครองราชย์แล้วนำพาราชวงศ์ไปสู่จุดจบ

เรามาดูกันดีกว่าครับชีวิตของฮั่นไอตี้เป็นอย่างไร

ฮั่นไอตี้กับต่งเสียน
ฮั่นไอตี้กับต่งเสียน

หลิวซิน

ชื่อเดิมของฮั่นไอตี้หรือหลิวซิน เขาเป็นบุตรชายของหลิวคัง ผู้ดำรงยศศักดิ์เป็นติ้งเถาหวาง น้องชายของฮั่นเฉิงตี้ ผู้เป็นฮ่องเต้ในเวลานั้น

ชีวิตของหลิวซินนั้นเรียบง่ายตามประสาราชนิกูลทั่วไปที่ห่างไกลจากราชสมบัติ นั่นคือไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรมากนัก อย่างไรก็ดีตลอดวัยเด็กนั้น หลิวซินถูกเลี้ยงดูโดยฝู่เจาหยี ย่าแท้ๆ ของเขาผู้เป็นพระสนมของฮั่นหยวนตี้ (และแม่เลี้ยงของฮั่นเฉิงตี้) ฝู่เจาหยีผู้นี้เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานสูงมาก ครั้งหนึ่งนางเคยดันอย่างสุดกำลังเพื่อให้หลิวคังเป็นฮ่องเต้ แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ นางจึงเบนสายตามาที่หลานชายตัวน้อยแทน

ดังนั้นตั้งแต่หลิวซินลืมตาดูโลก ฝู่จาวหยีจึงสั่งให้แม่ของหลิวซินมอบตัวทารกน้อยให้นางเป็นผู้เลี้ยงดู นับตั้งแต่บัดนั้นหลิวซินจึงอยู่ในการดูแลของฝู่จาวหยีอย่างเด็ดขาด

ในช่วงเวลานั้นหลิวคัง พ่อของหลิวซินเป็นน้องชายที่ฮั่นเฉิงตี้โปรดปราน แม้ว่าหลิวคังจะเคยถูกฝู่จาวหยีปั้นให้เป็นผู้แข่งแย่งบัลลังก์ แต่ฮั่นเฉิงตี้กลับไม่ได้เกลียดชังน้องชายคนนี้ ตรงกันข้ามพระองค์กลับเรียกหลิวคังไปเฝ้าอยู่ที่เมืองหลวงฉางอาน (ซีอานในปัจจุบัน) เป็นประจำ

การที่หลิวคังรับความโปรดปรานทำให้ขุนนางในราชสำนักต่างมองว่าหลิวคังมีโอกาสที่จะได้รัชทายาทสืบบัลลังก์ เพราะว่าในเวลานั้นฮั่นเฉิงตี้เองก็ไร้โอรส

อย่างไรก็ดีตระกูลหวาง (สายตระกูลของมารดาฮั่นเฉิงตี้) ไม่พอใจอย่างมากที่หลิวคังจะได้เป็นรัชทายาท ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพากันทูลให้ฮั่นเฉิงตี้ส่งหลิวคังกลับดินแดนในปกครองของเขาไป ฮั่นเฉิงตี้ขัดพวกลุงๆ ที่ทรงอำนาจในเวลานั้นไม่ได้จึงต้องจำใจส่งหลิวคังกลับ

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ฮั่นเฉิงตี้ได้เห็นหลิวคัง เพราะหลังจากนั้นไม่นานหลิวคังก็เสียชีวิต หลิวซินจึงกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ และด้วยความที่เป็นบุตรคนโต เขาจึงสืบตำแหน่งเป็นติ้งเถาหวางตั้งแต่เขียนหนังสือยังไม่เป็นด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อหลิวซินโตขึ้น เขาเริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นคนมีสติปัญญา คนที่ดีใจที่สุดนั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นฝู่จาวหยีนั่นเองที่ตั้งใจจะทำทุกวิถีทางให้หลานชายได้เป็นฮ่องเต้

ได้เป็นรัชทายาท

ในปี 9 BC (่ก่อนคริสตกาล 9 ปี) ฮั่นเฉิงตี้ก็ยังไม่มีโอรส แม้ว่าพระองค์จะมีมเหสีที่เป็นโฉมสราญสองนางอย่างเจ้าเฟยเยี่ยนและเจ้าเหอเต๋อ สาเหตุหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ชอบอ้างถึงคือเจ้าเฟยเยี่ยนและเจ้าเหอเต๋อได้สั่งให้สังหารโอรสที่ไม่ได้เกิดจากทั้งสองทั้งหมด แต่ทั้งสองกลับไม่สามารถให้กำเนิดโอรสได้อยู่ดี

ตอนนั้นดูเหมือนว่าฮั่นเฉิงตี้จะเลิกหวังไปแล้วว่าจะให้กำเนิดโอรสมาสืบบัลลังก์ ดังนั้นพระองค์จึงเริ่มหาตัวเลือกอื่นในหมู่ราชนิกูล

ช่วงเวลานั้นเองหลิวซินที่อายุได้ 18 ปีได้เดินทางเข้ามาเฝ้าที่เมืองหลวงตามธรรมเนียม เขาได้แสดงให้ฮั่นเฉิงตี้ผู้เป็นลุงเห็นถึงความเข้าใจในตำราซือจิงของขงจื้ออย่างเจนจบ ฮั่นเฉิงตี้จึงประทับใจมาก และมองว่าหลิวซินผู้เป็นหลานชายน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีในการสืบทอดบัลลังก์

อย่างไรก็ดีฮั่นเฉิงตี้ก็ยังมีตัวเลือกอื่นด้วยเช่นกัน ตัวเลือกที่ว่าก็คือหลิวซิง น้องชายอีกคนหนึ่งของพระองค์ ในเวลานั้นฮั่นเฉิงตี้จึงยังตัดสินใจไม่ได้ แม้ว่าพระองค์จะเอียงไปทางหลิวซินก็ตาม

ฝ่ายฝู่เจาหยีนั้นเห็นว่าฮ่องเต้สนพระทัยจะให้หลานชายตนขึ้นสืบบัลลังก์ นางจึงเร่งเข้าเมืองหลวงและนำข้าวของมากมายมามอบให้หวางเกิน ขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นลุงของฮ่องเต้ และยังเข้ามาตีสนิทกับเจ้าเฟยเยี่ยนและเจ้าเหอเต๋อที่ฮ่องเต้โปรดปราน หลังจากนั้นทั้งสามจึงทูลสนับสนุนให้ฮ่องเต้แต่งตั้งให้หลิวซินเป็นไท่จื่อหรือรัชทายาท

กลยุทธ์การล็อบบี้ของฝู่เจาหยีนั้นได้ผล เพราะฮั่นเฉิงตี้ตัดสินใจได้ในท้ายที่สุดว่าจะตั้งหลิวซินเป็นรัชทายาท ส่วนพวกขุนนางคนอื่นในราชสำนักนั้น เมื่อเห็นว่าบุคคลทั้งสามที่ทรงอิทธิพลที่สุดสนับสนุนหลิวซินจึงไม่มีใครกล้าขัดขวาง หลิวซินจึงได้ขึ้นเป็นรัชทายาทในปีที่ 8 ก่อนคริสตกาล

นั่งบัลลังก์

หลิวซินเป็นรัชทายาทได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ฮั่นเฉิงตี้ก็สวรรคตด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก (บ้างก็ว่าสวรรคตเพราะเสวยยาปลุกกำหนัดเกินขนาด) หลิวซินจึงขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ โดยมีชื่อว่าฮั่นไอตี้ (ทั้งนี้ชื่อของฮ่องเต้จะได้รับการตั้งหลังสวรรคต แต่เพื่อความง่ายในการอ่าน ผมจะขอใช้ชื่อนี้ไปเลยครับ)

ในเวลานั้นฮั่นไอตี้อายุได้ 20 ปี ดังนั้นถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว และยังมีชื่อเสียงด้านมีสติปัญญา ขุนนางในราชสำนักและประชาชนจึงปิติยินดี เพราะสองสมัยที่ผ่านมานั้นมีแต่ปัญหา กล่าวคือฮั่นหยวนตี้มีสติปัญญาธรรมดา และไม่กล้าตัดสินใจ ส่วนฮั่นเฉิงตี้เป็นคนฟุ่มเฟือยและปล่อยปละละเลยให้พวกกังฉินมีอำนาจ ผู้คนจำนวนมากจึงหวังว่าสมัยของฮั่นไอตี้นั้นจะเป็นฟ้าใหม่ที่ปรับแก้ราชสำนักฮั่นให้เข้ารูปเข้ารอยเสียที

ช่วงแรกฮั่นไอตี้ก็ดูเป็นจักรพรรดิที่ทุกคนหวังไว้ พระองค์โปรดให้ร่างนโยบายลดจำนวนของข้ารับใช้ของพวกเจ้าขุนมูลนายลงอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่พวกขุนนางทราบเรื่องเสียก่อน พวกเขาจึงทัดทานอย่างหนัก สุดท้ายแล้วฮั่นไอตี้จึงได้แต่บังคับใช้นโยบายดังกล่าวกับข้ารับใช้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเท่านั้น

หลังจากนั้นราชสำนักของฮั่นไอตี้เป็นขาลงราวกับพุ่งลงจากเขา เพราะฝู่จาวหยี (ซึ่งในขณะนั้นได้กลายเป็นฝู่ไท่โฮ่วหลังจากที่ฮั่นไอตี้ครองราชย์) อยากจะได้ตำแหน่งสูงเท่ากับหวางไท่หวงไท่โฮ่ว (มารดาของฮั่นเฉิงตี้) ดังนั้นนางจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตำแหน่ง เหตุการณ์นี้ทำให้ราชสำนักวุ่นวายอยู่หลายปี โดยที่ฮั่นไอตี้ไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นย่าแท้ๆ ของตนเอง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นตระกูลหวางที่สนับสนุนให้พระองค์นั่งบัลลังก์

ท้ายที่สุดปัญหานี้ทำให้ราชสำนักฮั่นต้องมีไท่โฮ่วและไท่หวงไท่โฮ่วมากถึง 4 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่

  • หวางไท่หวงไท่โฮ่ว – มารดาของฮั่นเฉิงตี้ ผู้มาจากตระกูลหยางอันสูงศักดิ์
  • ฝู่ตี้ไท่ไท่โฮ่ว – อดีตฝู่จาวหยี ย่าแท้ๆ ของฮั่นไอตี้
  • จ้าวหวงไท่โฮ่ว – หรือจ้าวเฟยเยี่ยน อดีตหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) ของฮั่นเฉิงตี้
  • ติ้งตี้ไท่โฮ่ว – แม่แท้ๆ ของฮั่นไอตี้

นอกจากนี้ฮั่นไอตี้ยังมีนิสัยโลเลไม่เด็ดขาดไม่แพ้ฮั่นหยวนตี้ผู้เป็นปู่ เมื่อใดที่พระองค์รับข้อเสนอจากพวกขุนนาง พระองค์มักจะชื่นชมว่าดี แต่ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่านั้น ทำให้ฎีกาจำนวนมากถูกดองในห้องทำงานของฮั่นไอตี้ นอกจากนี้ แม้ว่าพระองค์จะเลื่อนตำแหน่งให้กับขุนนางผู้มีสติปัญญาและความสามารถ แต่ถ้าพวกเขาพูดอะไรไม่เข้าหู พระองค์ก็พร้อมที่จะลงโทษหรือปลดออกจากตำแหน่งทันที

ดังนั้นเหล่าขุนนางและประชาชนทั่วไปที่เคยคิดว่าฮั่นไอตี้จะมาทำให้ราชสำนักดีขึ้นจึงผิดหวัง และสุดท้ายก็ถอดใจว่าฮ่องเต้องค์ใหม่ไม่ได้ต่างจากองค์ก่อนๆ

ต่งเสียน

ปัญหาไท่โฮ่ว 4 พระองค์นั้นไม่ได้ดำรงอยู่นานนัก เพราะในช่วงสองปีหลังจากนั้น ฝู่ตี้ไท่ไท่โฮ่วและติ้งตี้ไท่โฮ่ว ย่าและแม่แท้ๆ ของฮั่นไอตี้ก็สิ้นพระชนม์ ปัญหาเรื่องตำแหน่งจึงสิ้นสุดลงเป็นการถาวร

อย่างไรก็ดีการสิ้นพระชนม์ของทั้งสองทำให้ฮั่นไอตี้ไม่หลงเหลือบุคคลที่ใกล้ชิดหลงเหลืออยู่เลย นอกจากนี้สุขภาพของตัวพระองค์เองก็ไม่ค่อยดีนักอีกด้วย

ในช่วงเวลานี้เองที่มีชายผู้หนึ่งได้ก้าวเข้ามาในชีวิตของฮั่นไอตี้ เขาผู้นี้คือต่งเสียน (董賢) ข้าราชการหนุ่มวัย 20 เศษที่เป็นบุตรชายผู้ตรวจการ พงศาวดารว่าต่งเสียนเป็นคนฉลาด และรูปร่างหน้าตาดี วันหนึ่งต่งเสียนได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าฮั่นไอตี้ และหลังจากนั้นก็ฮั่นไอตี้ก็โปรดให้เขาเข้าเฝ้าบ่อยครั้งจนกลายเป็นคนสนิท

ต่งเสียน
ต่งเสียน

อันที่จริงแล้วไม่มีพงศาวดารใดที่ระบุว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นแบบคู่รัก นักประวัติศาสตร์ล้วนแต่สันนิษฐานจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ฮั่นไอตี้ให้ต่งเสียนอยู่ข้างกายพระองค์แทบจะตลอดเวลา และเลื่อนตำแหน่งให้เขาเร็วมาก ถึงขนาดที่ว่าต่งเสียนในวัย 22 ปีได้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ควบคุมกองทัพฮั่นอันเกรียงไกรทั้งหมดในอาณาจักร! (แต่หน้าที่นั้นไม่ต้องทำ เพราะต้องอยู่ข้างฮ่องเต้นั่นเอง)

ไม่เพียงเท่านั้นครอบครัวของต่งเสียนก็ได้รับสิ่งของพระราชทานจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับยศถาบรรดาศักดิ์ นอกจากนี้ฮั่นไอตี้ยังอนุญาตให้ต่งเสียนสร้างบ้านใหญ่โตทัดเทียมวัง ใกล้กับวังหลวงได้ และยังให้ภรรยาของต่งเสียนเข้านอกออกในวังได้ทุกเวลาตามที่ต้องการอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังดองญาติกับต่งเสียนด้วยการแต่งตั้งให้น้องสาวของเขาเป็นจาวหยี หรือพระราชเทวีอีกต่างหาก

การที่ต่งเสียนได้รับตำแหน่งและลาภยศสรรเสริญรวดเร็วเช่นนั้นทำให้ขุนนางในราชสำนักต่างตกตะลึงและหวาดผวา พวกเขาจึงพยายามทัดทานฮั่นไอตี้ แต่ก็ไม่เป็นผล ทุกคนที่คัดค้านเรื่องของต่งเสียนล้วนแต่ถูกลงโทษอย่างรุนแรง

ในปีที่ 3 ก่อนคริสตกาล ฮั่นไอตี้พยายามจะยกต่งเสียนให้สูงขึ้นไปอีก โดยหมายใจจะแต่งตั้งเขาเป็น “โหว” และได้ปกครองและกินส่วนแบ่งเมืองของตนเอง อย่างไรก็ดีฮั่นไอตี้ไม่มีเหตุให้เลื่อนตำแหน่งให้ต่งเสียนเสียที จนกระทั่งวันหนึ่ง

ขันทีคนหนึ่งและขุนนางอีกสองคนแจ้งข่าวมาว่าเชื้อพระวงศ์คนหนึ่งใช้ไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นโทษหนักในสมัยนั้น ฮั่นไอตี้จึงได้ลงโทษเชื้อพระวงศ์ดังกล่าว และแต่งเรื่องขึ้นมาว่าเป็นความดีความชอบของต่งเสียนที่มาแจ้งข่าว (แทนที่ผู้แจ้งข่าวตัวจริงอย่างขันที) หลังจากนั้นก็เลื่อนให้ต่งเสียนเป็นโหวสมความปรารถนา

เมื่อพวกขุนนางเห็นฮ่องเต้โปรดต่งเสียนมากเพียงนั้น พวกเขาจึงพากันปิดปากสนิทและไม่มีใครคัดค้านเรื่องต่งเสียนเลยสักคนเดียว ยกเว้นแต่เพียง หวางเจี่ย อัครมหาเสนาบดีในเวลานั้นเพียงผู้เดียว

ทั้งนี้หวางเจี่ยได้ทูลให้ฮ่องเต้หยุดการเลื่อนตำแหน่งให้กับต่งเสียนครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายฮั่นไอตี้คงจะรำคาญจนถึงที่สุดจึงจับเขาเข้าคุก และต่อมาก็บังคับให้หวางเจี่ยฆ่าตัวตาย นับตั้งแต่บัดนั้นก็ไม่มีใครกล้าขัดเรื่องต่งเสียนอีก แม้แต่ตระกูลหวางที่มีอำนาจใหญ่โตก็ยังต้องยอมสยบให้กับต่งเสียน

ความสัมพันธ์ของฮั่นไอตี้กับต่งเสียน

เรื่องเล่าที่บรรยายถึงความสัมพันธ์ของฮั่นไอตี้และต่งเสียนได้ดีที่สุดคือเรื่อง ต้วนสิ้วจื่อผี่ เรื่องนี้ไม่เชิงว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นแนวประวัติศาสตร์ปากเปล่า (ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร) หรือว่าตำนานเสียมากกว่า

มีอยู่วันหนึ่ง ฮั่นไอตี้ได้นอนกลางวันอยู่ข้างต่งเสียน โดยต่งเสียนนอนทับแขนของพระองค์อยู่ ด้วยความที่พระองค์ต้องการจะลุกจากที่นอนแต่ไม่อยากรบกวนต่งเสียน พระองค์จึงตัดแขนเสื้อออก เพื่อให้ต่งเสียนได้นอนหลับอย่างสบายต่อไป เรื่องนี้จึงแสดงถึงความรักของฮั่นไอตี้ที่มีต่อต่งเสียนในฐานะคู่รัก

อย่างไรก็ดีเราก็ไม่ได้มีข้อมูลมากกว่านี้ในการสรุปว่า ฮั่นไอตี้และต่งเสียนเป็นคู่รักกัน แต่ความเป็นไปได้ก็มีอยู่สูงมาก ถ้าพิจารณาจากการปรนเปรอต่งเสียนที่ยิ่งกว่าการมอบรางวัลให้กับคนสนิทไปไกลโข และฮั่นไอตี้ก็ไม่มีโอรสธิดาอีกด้วย ผมจึงเห็นด้วยกับนักประวัติศาสตร์สายหลักในแง่ที่ว่าทั้งสองน่าจะมีความสัมพันธ์ในรูปแบบของคนรัก

วาระสุดท้าย

ฮั่นไอตี้นั้นป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว ในปีที่หกของการครองราชย์ ฮั่นไอตี้ก็สวรรคตด้วยอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น โดยก่อนที่จะจากไป ฮั่นไอตี้ที่ไม่มีรัชทายาทใดๆ ได้มีพระบรมราชโองการมอบบัลลังก์ให้กับต่งเสียน!

ทุกคนในราชสำนักเองก็ตกตะลึง ตั้งแต่หวางไท่หวงไท่โฮ่วไปจนถึงขุนนางทั้งราชสำนัก แม้กระทั่งตัวต่งเสียนเองก็ยังทำอะไรไม่ถูก

หวางไท่หวงไท่โฮ่วเป็นผู้ที่ได้สติคนแรก และดำเนินการขั้นเด็ดขาด พระนางรีบเดินทางเข้าวังและนำตราหยกแผ่นดินอันเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้มาไว้กับตัว เหล่าขุนนางในราชสำนักเองก็ล้วนแต่สนับสนุน และเมินเฉยต่อพระราชโองการที่ออกในวาระสุดท้ายของฮั่นไอตี้

วันรุ่งขึ้นหวางไท่หวงไท่โฮ่วถอดต่งเสียนออกจากตำแหน่ง และบังคับให้เขาฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา ส่วนญาติพี่น้องของต่งเสียนถือว่าโชคดีเพราะรับโทษแค่เนรเทศ แต่ก็เสียทรัพย์สินที่เคยได้มาไปจนหมด

นับตั้งแต่บัดนั้นอิทธิพลของตระกูลหวางก็สูงขึ้นเสียดฟ้า จนสุดท้ายหวางหมั่ง หลานชายของหวางไท่หวงไท่โฮ่วก็แย่งชิงบัลลังก์ฮั่นได้สำเร็จ และก่อตั้งราชวงศ์ซินขึ้นปกครองจีน เกิดเป็นความวุ่นวายครั้งใหญ่ กว่าแผ่นดินจีนจะสงบสุขอีกครั้งหนึ่งต้องใช้เวลานานหลายสิบปี

References:

  • Book of Han
  • Hinsch, Bret. (1990). Passions of the Cut Sleeve

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!