โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เป็นนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาประดิษฐ์คิดค้นหลอดไฟไฟฟ้าและสิ่งอื่นๆ มากมาย สิ่งประดิษฐ์ของเขาเป็นที่ใช้กันทั่วโลกทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ทว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า เอดิสัน เป็นคนที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังมากที่สุดคนหนึ่ง ตัวเขาเองเคยโดนครูด่าว่าโง่ พอโตขึ้นก็ตกงาน และยังเคยทำไฟไหม้อีกด้วย
การตกงานของเอดิสัน
เอดิสันเคยถูกด่าว่าโง่ เขาเคยตกงานและทำผิดพลาดมากมาย แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ความผิดพลาดของตนเอง
เอดิสันเกิดในปี ค.ศ. 1847 ตั้งแต่เด็กเอดิสันไม่เคยถูกจัดว่าเป็นเด็กฉลาดเลย เขาเคยถูกครูด่าว่า
โง่เกินไปกว่าที่จะเรียนรู้อะไรได้
แม่ของเขาจึงทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับเอดิสันเอง
นอกจากนี้เอดิสันยังได้ยินเสียงต่างๆ ได้ไม่ชัด สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่ชัดเจน น่าจะเป็นเพราะอุบัติเหตุหรือโรคในหูชั้นกลางสักอย่างหนึ่ง ดังนั้นเอดิสันจึงไม่ได้มีความเก่งกาจใดๆ มาจากวัยเด็กเลยแม้แต่น้อย ฐานะที่บ้านของเขาก็จัดว่าไม่ได้ร่ำรวย อยู่ในระดับกลางๆ เอียงไปทางล่างด้วยซ้ำไป
ถึงกระนั้นเอดิสันสนใจในการทำธุรกิจ เขาเริ่มเอาขนมและหนังสือพิมพ์ไปขายบนรถไฟตั้งแต่อายุได้ 12 ขวบ ต่อมาเขาเปลี่ยนมาลงทุนออกหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง ปรากฏว่ามันขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจหนังสือพิมพ์ไม่สามารถทำให้เอดิสันพอใจได้ เขาลักลอบใช้ห้องในรถไฟเป็นห้องทดลองทางเคมีของเขา วันหนึ่งเขาทำพลาดทำให้ไฟลุกไหม้ขบวนรถ เขาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาขายหนังสือพิมพ์บนรถไฟอีกเลย เอดิสันจึงได้แต่ขายหนังสือพิมพ์ที่สถานีทำให้รายได้เริ่มซบเซาลง
ต่อมาเอดิสันได้รับการฝึกให้เป็นนักส่งโทรเลขระหว่างรถไฟ แต่ทว่าเอดิสันกลับทำพลาดเป็นเหตุให้รถไฟทั้งสองขบวนเกือบจะชนกัน เขาถูกคาดโทษโดยเจ้านายของเขา
เอดิสันย้ายไปอยู่เคนตักกีและทำงานเป็นพนักงานของบริษัท Western Union Company เอดิสันเลือกทำงานกะกลางคืนเพื่อที่จะใช้เวลานั้นทดลองทางเคมี แต่แล้วในวันหนึ่ง เอดิสันก็พลาด เขาเผลอราดกรดซัลฟัวริกลงบนพื้น มันหยดลงไปที่โต๊ะของเจ้านายของเขาที่อยู่ชั้นล่าง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในวันรุ่งขึ้นเอดิสันก็โดนไล่ออก
ชีวิตนักประดิษฐ์
การตกงานไม่เคยทำให้เอดิสันหวั่นไหว เอดิสันไม่เคยว่างงาน เขามุ่งมานะกับการประดิษฐ์ต่อไป
ภายในเวลาไม่นาน เอดิสันหันไปเป็นนักประดิษฐ์เต็มตัว สิ่งแรกที่เขาได้สิทธิบัตรคือ เครื่องบันทึกคะแนนโหวตไฟฟ้า แต่เขาขายเครื่องดังกล่าวไม่ออกเท่าไรนัก เอดิสันจึงย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก เอดิสันได้รับความกรุณาจากแฟรงค์คลิน โป๊ป นักประดิษฐ์คนหนึ่งให้อาศัยและทำงานอยู่ในห้องใต้ดินได้
เอดิสันสามารถประดิษฐ์เครื่องส่งโทรเลขที่สามารถส่งสองข้อความพร้อมกันได้สำเร็จในปี ค.ศ.1874 ต่อมาเขาก็พัฒนาให้มันส่งได้สี่ข้อความพร้อมกันได้ เอดิสันนำเครื่องไปเสนอขายกับบริษัท Western Union อดีตบริษัทที่เคยไล่เขาออก
ในใจเขาคิดว่าถ้าขายได้สักสี่พันเหรียญก็พอใจแล้ว แต่ว่าบริษัทกลับเสนอให้เอดิสันมากถึงหนึ่งหมื่นเหรียญ เขาตอบรับในบัดดล
เขานำเงินทั้งหมดที่เขาได้มาไปสร้างห้องวิจัยสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอุตสาหกรรมที่ เมนโลปาร์ค ในรัฐนิวเจอร์ซี ที่เมนโลปาร์คนี้เองที่เอดิสันได้ผลิตสิ่งประดิษฐ์ออกมามากมาย และได้รับสิทธิบัตรมากกว่าหนึ่งพันฉบับ
ในการทำงานที่เมนโลปาร์ค เอดิสันเป็นคนนำลูกน้องของเขาทำงานวิจัยในแนวคิดที่เอดิสันคิดว่าเข้าท่า ดังนั้นแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์ส่วนใหญ่มาจากเอดิสันเองทั้งสิ้น
ประดิษฐ์หลอดไฟ
แท้จริงแล้ว เอดิสันไม่ใช่คนแรกที่ทำการผลิตหลอดไฟได้สำเร็จ มีนักประดิษฐ์หลายคนเคยประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่หลอดไฟเหล่านั้นมีอายุสั้น พังง่าย และยังแพง มันจึงไม่เหมาะที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน แต่หลอดไฟของเอดิสันคือ หลอดที่ทนทาน ใช้งานได้จริงในเชิงการค้า
จากการวิจัยมาเป็นเวลานาน เอดิสันค้นพบว่า เขาต้องสร้างหลอดไฟที่ใช้กระแสไฟต่ำ มีความต้านทานไฟฟ้าสูงและใช้ความต่างศักย์ต่ำ การผลิตหลอดลักษณะนี้ขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย เพราะเอดิสันจะต้องหาวัสดุอันเหมาะสมที่ใช้ทำไส้หลอดให้กระแสไฟผ่านได้ให้เจอ
เอดิสันทดลองโดยใช้ไส้หลอดคาร์บอนก่อน แล้วจึงเปลี่ยนไปเป็นไส้หลอดอื่นๆ แต่สุดท้ายเขากลับมาทดลองใช้คาร์บอนอีกครั้งหนึ่ง เอดิสันเล่าในเวลาต่อมาว่า เขาได้ทดลองสร้างหลอดไฟด้วยวิธีต่างๆถึง 1,000 ครั้งด้วยกัน แต่ทุกครั้งล้วนไม่ประสบความสำเร็จ
ในปีค.ศ.1879 เอดิสันสามารถทำได้สำเร็จ หลอดไฟไส้คาร์บอนของเขามีอายุนานถึง 13.5 ชั่วโมง เขาได้พัฒนามันต่อไปจนมันอยู่ได้นานยิ่งขึ้น เอดิสันได้ทำการจดทะเบียนหลอดไฟชนิดนี้ของเขา นับเป็นสิทธิบัตรลำดับที่ 223,898 ของประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากได้สิทธิบัตรแล้วเอดิสันได้พัฒนาหลอดไฟที่มีไส้หลอดเป็นไม้ไผ่ที่ถูกทำให้เป็นคาร์บอน (Carbonized Bamboo) ที่มีอายุการใช้งานถึง 1,200 ชั่วโมง
ไม่ยอมแพ้
จากผลิตภัณฑ์นี้ เอดิสันได้เปิดบริษัทที่ขายมันขึ้นมาในนามบริษัท Edison Electric Light Company เอดิสันยังคงประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ต่อไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตของเขา
สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ทำเงินให้กับเขามากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความผิดพลาดจะจากเขาไป มันยังมาเยี่ยมเยือนเขาอยู่เรื่อยๆ ในปี ค.ศ.1914 เพลิงได้เผาผลาญโรงงานของเอดิสันไปถึงครึ่งหนึ่ง
เมื่อเอดิสันเห็นไฟ เขากล่าวกับชาร์ลส์ ลูกชายของเขาว่า
ไปเรียกแม่และเพื่อนๆมาสิ พวกเขาจะไม่เห็นไฟไหม้แบบนี้อีกแล้ว
ชาร์ลส์พยายามจะแย้งว่าของที่เสียไปมากมายเหลือเกิน เอดิสันกลับพูดขึ้นว่า
ไม่เป็นไรหรอก เราได้กำจัดขยะไปเยอะเลยแหละ
ต่อมาหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้มาสัมภาษณ์เรื่องเอดิสัน เขาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ว่า
ถึงแม้ว่าผมจะอายุมากกว่า 67 ปีแล้ว แต่ผมจะเริ่มต้นใหม่ในวันพรุ่งนี้
เอดิสันสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยไม่ได้ไล่พนักงานออกเลยสักคนเดียว เขาฟื้นฟูโรงงานขึ้นมาได้สำเร็จ
เมื่อตอนที่เขาเสียชีวิต เอดิสันมีทรัพย์สินมากถึง 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับ 170 ล้านเหรียญสหรัฐถ้าคิดเทียบกับเงินเฟ้อในปี ค.ศ.2019
โดยสรุปแล้วชีวิตของเอดิสันเริ่มต้นด้วยความผิดพลาด แต่เอดิสันไม่เคยโศกเศร้าอยู่กับความผิดพลาดอยู่เป็นเวลานาน เขากลับมาได้อย่างรวดเร็ว และเพียรพยายามทำหน้าที่ของเขาต่อไป เคยมีนักข่าวคนหนึ่งถามเอดิสันว่า รู้สึกอย่างไรกับความผิดพลาด 1,000 ครั้งในการผลิตหลอดไฟ เอดิสันตอบว่า
ฉันไม่ได้พลาด 1,000 ครั้ง แต่หลอดไฟไฟฟ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีขั้นตอน 1,000 ขั้นต่างหาก
ความผิดพลาดเป็นครูที่ดีของเอดิสัน เขาเรียนรู้จากมันและใช้มันเพื่อถีบตัวเองสู่ชัยชนะในบั้นปลาย ปัจจุบันบริษัทของเอดิสันได้วิวัฒนาการเป็นบริษัท General Electric บริษัทชั้นนำของโลกที่มีสิทธิบัตรมากมาย รายได้ของบริษัทนี้อยู่ในกลุ่ม Top 20 ของบริษัททั้งหมดในสหรัฐ