ประวัติศาสตร์กบฏดุซงญอ: การปราบปรามครั้งใหญ่ที่ชายแดนใต้ของไทย

กบฏดุซงญอ: การปราบปรามครั้งใหญ่ที่ชายแดนใต้ของไทย

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะคิดว่าปัญหานี้นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น

หากแต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีภูมิหลังที่ซับซ้อน โดยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เลยทีเดียว ความขัดแย้งที่รุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดก็เกิดขึ้นมามากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยกบฎดุซงญอเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น

ปูมหลัง

ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาติตะวันตก รัชกาลที่ 5 โปรดให้ยกเลิกระบบหัวเมืองแบบเดิมๆที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และจัดตั้งการปกครองรูปแบบใหม่ในรูปแบบของมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2445

ดังนั้นรัฐสุลต่านปัตตานี (Sultanate of Pattani) ที่เป็นหัวเมืองประเทศราชของสยามจึงถูกล้มเลิกไปด้วยเช่นเดียวกับล้านนา ราชวงศ์ที่ปกครองปัตตานีจึงสิ้นสุดลง ประชาชนของรัฐสุลต่านปัตตานีจึงถูกรวมเข้ามาเป็นประชาชนของสยามประเทศ

ต้นไม้ทองที่ผู้ปกครองส่งมาถวายกษัตริย์สยาม สามปีต่อครั้ง

ประชาชนของรัฐสุลต่านปัตตานีมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และศาสนากับชาวสยามทั่วไปอย่างมาก พวกเขามีเชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นเมื่อถูกปกครองโดยขุนนางชาวสยามที่นับถือศาสนาพุทธ พวกเขาเหล่านี้ย่อมเกิดความไม่พอใจอย่างเงียบๆ

ความไม่พอใจดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้นในสมัย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป พิบูลสงคราม ชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามหลักรัฐนิยม เช่น แต่งกายแบบไทยกลาง (กรุงเทพ) และไม่ให้ประชาชนในพื้นที่สวมใส่เครื่องแต่งกายแบบท้องถิ่น หรือ เครื่องแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามแต่อย่างใด

การกระทำของรัฐบาลในขณะนั้น เป็นการกระทำแบบที่คำนึงถึงว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเชื้อชาติเดียว (Mono-Ethnic) แต่ในความเป็นจริงประเทศเป็นประเทศที่มีหลากหลายเชื้อชาติ (Multi-Ethnic) เรื่องเชื้อชาติจึงเป็นรากเหง้าแห่งความวุ่นวายในดินแดนแห่งนี้ตลอดมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความไม่พอใจก็เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่รู้สึกว่าพวกตนถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่เท่าเทียมกับชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ

ความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวก็เริ่มบานปลาย เมื่อรัฐบาลทำการจับกุมหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ นักเคลื่อนไหวที่เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับชาวมุสลิมในพื้นที่ (หลังเหตุการณ์กบฏดุซงญอ นักเรียกร้องผู้นี้กลับหายตัวไปอย่างลึกลับ) ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้จึงเริ่มทวีความไม่พอใจมากขึ้นตามลำดับ ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงที่ชื่อ กบฏดุซงญอเกิดขึ้นมาในปี พ.ศ.2491

หะยีสุหลง

ตั้งแต่ตรงนี้ไปเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้มีการบอกเล่าสองรูปแบบที่แตกต่างกันระหว่างข้อมูลของรัฐบาลและของประชาชนในพื้นที่ ผู้เขียนขอนำเสนอทั้งสองรูปแบบ ขอให้ท่านผู้อ่านใช้วิจารณญาณของท่านในการอ่าน

แบบแรก ข้อมูลฝ่ายรัฐบาล

ในขณะนั้นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (หรือ ผู้ก่อการจลาจล)ได้รวมตัวกันที่ภูเขา “ฆูวอลือมู” เป็นจำนวนประมาณ 300 คน เพื่อฝึกฝนการใช้อาวุธปืน และวิชาคงกระพันชาตรี ในภายหลังคนเหล่านี้ได้ลงมาทำร้ายชาวบ้านในพื้นที่ และได้ยึดหมู่บ้านดุซงญอไว้ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายได้เข้าไปตรวจตราแต่กลับถูกกลุ่มคนดังกล่าวไล่แทง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องประสานกำลังเข้าปราบปราม และยึดหมู่บ้านดุซงญอกลับคืน เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่า 36 ชั่วโมง จนกระทั่งสามารถปราบปรามได้สำเร็จ ผลที่ตามมาคือมีผู้ก่อการและตำรวจเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง

แบบที่สอง ข้อมูลฝั่งชาวบ้านมุสลิม

ชาวบ้านเล่าว่าในขณะนั้น โจรคอมมิวนิสต์มลายูได้ข้ามเขตแดนเข้ามาในประเทศไทยจากมาเลเซีย และทำการปล้นสะดมรวมไปถึงบังคับให้ชาวบ้านเป็นลูกหาบให้กับพวกโจร นอกจากนี้พวกโจรยังได้ทำลายคัมภีร์อัลกุรอ่านอีกด้วย พวกชาวบ้านไม่พอใจมากจึงรวมตัวกันที่เขาใกล้กับหมู่บ้านดุชงญอ ชื่อ “ฆูวอลือมู” เพื่อต่อสู้กับโจรคอมมิวนิสต์ โดยมีครูสอนศาสนาคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญในด้านคงกระพันชาตรีคอยฝึกฝนชาวบ้านให้ต่อสู้กับพวกโจร

การรวมตัวของชาวบ้านเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะชาวบ้านต่างก็กลัวพวกคอมมิวนิสต์จึงต้องมาหาที่หลบภัย ส่วนที่ว่าเพราะเหตุใดถึงไม่พึ่งพาเจ้าหน้าที่ก็เพราะว่า ชาวบ้านระแวงเจ้าหน้าที่ จากการที่ถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสองรองจากชาวไทยพุทธตลอดมา

หลายเดือนผ่านไป ข่าวการรวมตัวของชาวบ้านรู้ไปถึงหูเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จำนวน 10-20 คนจึงเข้ามาตรวจตราดูในพื้นที่และให้ชาวบ้านลงไปจากเขา แต่ชาวบ้านกลับปฏิเสธ และขับไล่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปเพราะชาวบ้านคิดว่าเจ้าหน้าที่จะมาทำลายพิธีกรรมคงกระพันชาตรีของพวกเขา

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้บ่อยครั้ง จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ทนไม่ไหว ต้องรวมกำลังเข้าปราบปรามในวันที่ 26 – 27 เมษายน พ.ศ.2491 พวกชาวบ้านเองกลับจับอาวุธที่หาได้เข้าต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อขับไล่พวกเขาออกไป

ในวันแรกและวันที่สองของการปราบปราม มีปะทะกันไม่มากนัก ไม่มีผู้เสียชีวิตมีแต่ผู้บาดเจ็บ แต่ในวันที่สามหรือวันที่ 28 เมษายน พ.ศ 2491 เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมกำลังได้จำนวนมากแล้วจึงเข้าโจมตีพวกชาวบ้าน พวกชาวบ้านเองก็เข้าต่อสู้ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากทั้งสองฝ่าย

ผลที่ตามมา

นี่จึงเป็นการอธิบายเหตุการณ์ดุซงญอของสองที่มา ซึ่งไม่มีใครทราบอย่างแท้จริงว่าเหตุการณ์แบบใดเป็นจริงกันแน่ นอกจากนี้จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ตั้งแต่ 17 คนถึง 400 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านที่เป็นชาวมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่พอใจมาก ชาวบ้านเชื้อสายมลายูจำนวนหนึ่งจึงอพยพเข้าไปอยู่ในมาเลเซีย

หลังจากนั้นก็ได้มีเอกสารและตำราหลายเล่มที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ แต่ไม่มีก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้อยู่ดีว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์เป็นเช่นไรกันแน่ แต่ในหน้าประวัติศาสตร์สายหลักได้ขนานนามเหล่าชาวบ้านว่าเป็น “กบฎ” ไปเสียแล้ว ทางรัฐบาลได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏดังกล่าว

อนุสาวรีย์ลูกปืน

ผู้เขียนไม่ทราบเช่นเดียวกันว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร แต่โดยส่วนตัวมองว่าสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสำคัญ

หลายสิบปีต่อมา ได้มีการล้อมปราบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 28 เมษายน หรือวันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์กบฏดุซงญอ เหตุการณ์ดังกล่าวคือ เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะนั่นเอง

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!