ประวัติศาสตร์จุดจบ 7 ฮ่องเต้ผู้เสียบัลลังก์แห่งยุคสามก๊ก | การเมืองเบื้องหลังสงคราม

จุดจบ 7 ฮ่องเต้ผู้เสียบัลลังก์แห่งยุคสามก๊ก | การเมืองเบื้องหลังสงคราม

ยุคสมัยสามก๊กเป็นยุคสมัยแห่งสงครามอย่างที่หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่การเมืองภายในแคว้นของยุคนี้นั้นก็ดุเดือดเลือดพล่านไม่แพ้กัน เพราะมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่นำไปสู่การที่ฮ่องเต้หรือจักรพรรดิถึง 5 พระองค์ต้องสูญเสียบัลลังก์ หรือในบางกรณีคือพระเศียรไปอย่างถาวร

เราจะมาดูกันว่าจุดจบของฮ่องเต้เหล่านี้หลังเสียตำแหน่งไปว่าเป็นอย่างไรกันครับ

1. ฮั่นเสียนตี้ (พระเจ้าเหี้ยนเต้)

ฮั่นเสียนตี้ (Emperor Xian of Han) หรือที่คนไทบรู้จักกันดีในนามพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นเป็นฮ่องเต้พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก รัชกาลนี้เต็มไปด้วยสงครามระหว่างขุนศึก เพราะราชสำนักศูญเสียอำนาจในการปกครองไปจนหมดสิ้น ตัวฮั่นเสียนตี้เองก็แทบจะไม่รอดอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้โจโฉ (เฉาเชา) เข้ามาอุดหนุนค้ำชู และรวบรวมภาคเหนือและภาคกลางของจีนให้เป็นปึกแผ่น

ภ่าพวาดฮั่นเสียนตี้จากยุคราชวงศ์ชิง Cr: Wikipedia, Public Domain
ภ่าพวาดฮั่นเสียนตี้จากยุคราชวงศ์ชิง Cr: Wikipedia, Public Domain

อย่างไรก็ดีโจโฉได้รวบอำนาจทุกอย่างไว้ในมือตน ทำให้ฮั่นเสียนตี้ปราศจากพระราชอำนาจใดๆ และเปรียบได้กับลูกไก่ในกำมือของตระกูลโจ หลังจากโจโฉสิ้นชีวิตไปแล้ว โจผี (เฉาพี) ผู้บุตรจึงบีบบังคับให้ฮั่นเสียนตี้สละราชย์ให้กับตน ซึ่งฮ่องเต้ผู้นี้จึงต้องทำตามแต่โดยดี

โจผีได้แต่งตั้งให้อดีตฮ่องเต้เป็นซานหยางกง ตำแหน่งนี้ศักดินาเทียบเท่าประมาณ Duke โดยมีเมืองกินภาษีเป็นของตนเอง ดังนั้นอดีตฮ่องเต้จึงต้องเดินทางไปปกครองดินแดนแห่งนี้ทันทีหลังจากพ้นจากราชสมบัติ

ปรากฏว่าอดีตฮ่องเต้กลับใช้ชีวิตสมถะกับภรรยา (ลูกสาวของโจโฉ หรือน้องสาวของโจผี) และปกครองเมืองแห่งนี้อย่างดี โดยฮั่นเสียนตี้ได้ใช้ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่บ้างในการรักษา และดูแลทุกข์สุขของประชาชน ทำให้เมืองแห่งนี้เจริญขึ้นมากตามลำดับ ชาวเมืองจึงรักทั้งสองมาก

อดีตฮ่องเต้จึงใช้ชีวิตอยู่ในที่แห่งนี้ไปอีกนานถึง 14 ปี และสิ้นชีวิตลงด้วยสาเหตุทางธรรมชาติขณะที่อายุ 54 ปี ในขณะนั้นโจผีได้สวรรคคไปแล้ว โจยอย ฮ่องเต้วุยก๊กในเวลานั้นโปรดให้จัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับจักรพรรดิ โดยใช้ขนบธรรมเนียมฮั่นแบบเดิมทุกประการ และโจยอยได้เสด็จมาร่วมในงานศพดังกล่าวด้วย

ดังนั้นฮั่นเสียนตี้ผู้นี้เป็นฮ่องเต้เพียงนับคนได้ที่ไม่ได้ถูกสังหารเหมือนกับองค์อื่นๆในหน้าประวัติศาสตร์จีนที่มักจะถูกลอบสังหารภายในเวลาไม่นานหลังจากที่สูญเสียบัลลังก์ไป

ผมจึงมองว่าโจผีและราชสำนักวุยก๊กนั้นมีความใจกว้างไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามองว่าจ๊กก๊กหรือสู่ฮั่นได้ใช้การฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นเป็นข้ออ้างในการรุกรานอยู่ด้วย

ทายาทของฮั่นเสียนตี้ได้สืบทอดตำแหน่งต่อมาอีกสองชั่วคน จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์จิ้นที่ถูกพวกซงหนูรุกรานอย่างหนัก เชื้อสายของฮั่นเสียนตี้จึงถูกสังหารหรือหลบหนีไปเพราะไฟสงคราม สายตระกูลฮั่นจึงสิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้

2. โจฮอง (เฉาฟัง)

จฮองหรือเฉาฟังเป็นฮ่องเต้วุยก๊กพระองค์แรกที่เสียบัลลังก์เพราะตระกูลสุมา (ซือหม่า) การเสียบัลลังก์ของโจฮองในหน้าประวัติศาสตร์นั้นตรงกับที่หลอกว้านจงเขียนไว้ในนิยายสามก๊ก นั่นคือโจฮองพยายามจะกำจัดสุมาสู (ซือหม่าชือ) แต่ก็พลาดทำให้สุมาสูปลดพระองค์ออกจากบัลลังก์ โดยโดนลดตำแหน่งเป็นฉีอ๋อง และเนรเทศไปอยู่ที่วังในเหอเน่ย

ชีวิตภายหลังของโจฮองถือว่าเรียบง่ายไม่ต่างอะไรกับฮั่นเสียนตี้ เขาใช้ชีวิตอยู่ที่วังดังกล่าวอย่างสุขสบายอีกนานถึง 20 ปี ทั้งนี้ตลอด 20 ปีนั้นไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดๆ กับโจฮอง ยกเว้นแต่การลดยศศักดิ์แต่ในนามจากอ๋องมาเป็นกง (Duke) หลังจากที่สุมาเอี๋ยนสถาปนาราชวงศ์จิ้นเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ดีราชสำนักจิ้นไม่ได้จัดงานศพให้กับโจฮองเทียบเท่ากับจักรพรรดิเหมือนกับที่โจยอยจัดให้ฮั่นเสียนตี้ งานศพของโจฮองเทียบเท่ากับตำแหน่งสุดท้ายของเขานั่นก็คือตำแหน่ง “กง” เท่านั้น

บันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุว่าโจฮองมีทายาทสืบเชื้อสายหรือไม่

3. โจมอ (เฉาเมา)

โจมอหรือเฉาเมาเป็นฮ่องเต้ที่สืบตำแหน่งต่อจากโจฮอง โดยกวยไทเฮา (มเหสีของโจยอย) มองว่าโจมอมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดน่าจะต่อกรกับตระกูลสุมาได้ จึงนำมาเป็นฮ่องเต้

แต่อย่างที่ทราบกันดี หลังจากที่เป็นฮ่องเต้แล้ว โจมอกลับเป็นวัยรุ่นอารมณ์ร้อน ด้วยวัยเพียง 19 ปี ฮ่องเต้หนุ่มรู้สึกโกรธและรำคาญใจอย่างยิ่งที่ถูกบังคับให้พระราชทานเครื่องราชเก้าสิ่งให้กับสุมาเจียวไปถึง 10 ครั้ง แต่สุมาเจียวกลับอิดออดทำเป็นไม่รับ เพราะเป็นกลการเมืองที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าตนไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูง (แต่ในใจคิดตรงกันข้าม)

ด้วยความโกรธแค้น โจมอกลับนำกำลังทหารองครักษ์เพียง 300 นายบุกไปสังหารสุมาเจียว (ซือหม่าเจา) แต่สุมาเจียวได้สั่งการเป็นการลับให้ทหารของตนต่อต้าน ผลที่ตามมาคือโจมอถูกปลงพระชนม์กลางเมืองนั่นเอง

หลังจากที่โจมอสิ้นชีวิตแล้ว สุมาเจียวได้บังคับให้กวยไทเฮาออกพระบรมราชโองการถอดโจมอออกจากบัลลังก์ เพราะว่าโจมอพยายามจะลอบปลงพระชนม์พระนาง (ซึ่งไม่เป็นความจริง) งานศพของโจมอจึงถูกจัดขึ้นในระดับอ๋อง ไม่ใช่ระดับฮ่องเต้อย่างที่ควรจะได้รับ

4. โจฮวน (เฉาฮวน)

โจฮวนเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายของวุยก๊ก โดยได้บัลลังก์หลังจากที่โจมอถูกปลงพระชนม์ สุมาเจียวจึงนำโจฮวนมาเป็นฮ่องเต้หุ่นคนต่อไปของตน

ในสมัยของโจฮวนนี้ อำนาจของตระกูลสุมาแข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สุมาเจียวให้เตงงายและจงโฮยไปตีจ๊กก๊กได้สำเร็จ สุมาเจียวถือว่าตนมีความดีความชอบอย่างสูงจึงยอมรับเครื่องราชเก้าสิ่ง และบังคับให้โจฮวนสถาปนาตนขึ้นเป็นจิ้นอ๋องอีกด้วย

การที่สุมาเจียวได้เป็นจิ้นอ๋องจึงไม่ต่างอะไรกับการรอเวลาที่จะแย่งชิงราชสมบัติจากโจฮวน

อย่างไรก็ดีสุมาเจียวกลับสิ้นชีวิตเสียก่อนที่ความฝันของตนจะได้เป็นจริง ตำแหน่งจิ้นอ๋องจึงตกไปอยู่กับสุมาเอี๋ยน หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงปี สุมาเอี๋ยนก็บังคับให้โจฮวนสละราชสมบัติ เป็นอันสิ้นสุดวุยก๊กอย่างสมบูรณ์

หลังจากสละตำแหน่งแล้ว โจฮวนได้รับการสถาปนาเป็นเฉินหลิวหวาง และยังให้ใช้เครื่องราชต่างๆ สำหรับฮ่องเด้ (อย่างเช่นรถม้า) ได้เช่นเดิม ประกอบพิธีเซ่นสรวงบรรพบุรุษได้เทียบเทียมจักรพรรดิ นอกจากนี้สุมาเอี๋ยนยังอนุญาตให้โจฮวนไม่ต้องเรียกตนเองว่าเป็นข้ารับใช้ (หรือเรียกตัวเองว่า “เฉิน”) อีกด้วย

โจฮวนใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในฐานะดังกล่าวไปอีกนานถึง 36 ปี จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.302 ในสมัยของจิ้นฮุ่ยตี้ ราชสำนักจิ้นได้จัดงานศพของโจฮวนอย่างยิ่งใหญ่เทียบเทียมกับจักรพรรดิ และมอบชื่อหลังความตายให้ (posthumous name หรือชื่อเฮ่า) ซึ่งเป็นการมอบเกียรติยศให้อย่างสูงสุด

5. เล่าเสี้ยน (หลิวชาน)

เล่าเสี้ยน หรือหลิวชานเป็นบุตรชายของเล่าปี่ และเป็นหนึ่งในตัวละครในนิยายสามก๊กที่คนเกลียดมากที่สุด เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา แต่อันที่จริงแล้ว เขาอาจจะไม่ได้โง่อย่างที่หลอกว้านจงว่าไว้ก็เป็นได้

หลังจากที่จ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนเดินทางมาถึงวุยก๊ก และได้เข้าร่วมงานเลี้ยงของสุมาเจียว เล่าเสี้ยนได้แสดงออกว่าตนเองนั้นไม่คิดถึงจ๊กก๊กเลย ทำให้ทุกคนที่อยู่ในสถานที่จัดงานถึงกับตะลึงงันไปในความดูดายเล่าเสี้ยนผู้นี้

ต่อมาขับเจ้ง ขุนนางจ๊กก๊กที่ได้ติดตามมาด้วยจึงได้ทูลเตือนให้เล่าเสี้ยนแสดงสีหน้าเศร้าโศกบ้าง ในงานเลี้ยงครั้งต่อมาเล่าเสี้ยนจึงยอมทำตาม แต่สุมาเจียวกลับจับได้ว่าเล่าเสี้ยนนั้นแสร้งทำเป็นเศร้า เขาจึงถามเล่าเสี้ยนว่าถูกสอนมาใช่หรือไม่

เล่าเสี้ยนจึงยอมรับว่าใช่เขาถูกฝึกสอนมาโดยขุนนางคนหนึ่ง สุมาเจียวเห็นเช่นนั้นจึงรู้สึกขบขันอยู่ในใจ และคิดว่าเล่าเสี้ยนช่างน่าสมเพชและโง่บริสุทธิ์ เขาจึงไม่คิดว่าเล่าเสี้ยนเป็นภัยแต่อย่างใด

เหตุการณ์นี้ทำให้เล่าเสี้ยนถูกก่นด่าว่าโง่เขลาเบาปัญญามาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่ผมกลับเห็นด้วยกับนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังว่า เล่าเสี้ยนจงใจทำ เพราะจะได้ดูโง่ ไม่มีพิษมีภัย ทำให้สุมาเจียวไม่เอาตัวไปสังหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

เล่าเสี้ยนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในตำแหน่งอันเล่อซือกง จนกระทั่งสิ้นชีวิตอย่างสงบในปี ค.ศ.271 ด้วยอายุ 64 ปี เชื้อสายของเล่าเสี้ยนได้สืบตำแหน่งต่อมาในสมัยราชวงศ์จิ้น จนกระทั่งสายตระกูลขาดหายไปในช่วงการรุกรานของพวกซงหนู

6. ซุนเหลียง (ซุนเลี่ยง)

ซุนเหลียงเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊กที่สืบต่อตำแหน่งจากซุนกวน ในสมัยของซุนเหลียงเป็นสมัยที่พวกขุนนางในง่อก๊กมีอำนาจมาก และมีการแย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด ในปี ค.ศ.258 อำนาจในการปกครองอาณาจักรอยู่ในมือซุนหลิม ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ ซุนหลิมผู้นี้ปราบปรามศัตรูทางการเมืองของตนอย่างเหี้ยมโหด และวางอำนาจบาตรใหญ่ในราชสำนัก ทำให้ซุนเหลียงผู้เป็นฮ่องเต้หนุ่มนั้นโกรธเคืองอย่างมาก ซุนเหลียงจึงคบคิดกับขุนนางหลายคนที่จะทลายอำนาจของซุนหลิม

โชคร้ายที่ซุนหลิมทรา่บเรื่องเสียก่อน เขาจึงชืงลงมือก่อนด้วยการบุกเข้าสังหารขุนนางที่ต่อต้านตน และบังคับให้ซุนเหลียงสละราชสมบัติ หลังจากนั้นจึงให้ซุนฮิว บุตรอีกคนของซุนกวนมาเป็นฮ่องเต้แทน ทั้งนี้ข้ออ้างที่ซุนหลิมใช้ก็คือซุนเหลียงเสียจริต จึงไม่เหมาะกับการเป็นฮ่องเต้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดีอำนาจของซุนหลิมก็อยู่อีกไม่นานนัก เพราะเขาถูกซุนฮิว ฮ่องเต้องค์ใหม่ซ้อนกล และจับสังหารได้สำเร็จ แต่นั่นไม่ได้ทำให้สถานะของซุนเหลียงดีขึ้น เพราะซุนฮิวกลับระแวงว่าจะมีคลื่นใต้น้ำที่จะก่อรัฐประหาร นำซุนเหลียงกลับมานั่งบัลลังก์อีก

ซุนฮิวจึงเนรเทศซุนเหลียงไปอยู่ในภาคใต้ที่ห่างไกล ระหว่างการเดินทางปรากฏว่าซุนเหลียงสิ้นชีวิตอย่างลึกลับด้วยวัยเพียง 16 ปี บ้างว่าเขาถูกลอบสังหารตามคำสั่งของซุนฮิว บ้างก็ว่าปลิดชีพตนเอง หรืออาจจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนก็เป็นไปได้เช่นกัน

7. ซุนโฮ (ซุนเฮ่า)

ซุนโฮเป็นฮ่องเต้ง่อก๊กคนสุดท้าย และเป็นคนเดียวในฮ่องเต้ทั้ง 7 เลยก็ว่าได้ที่สมควรกับคำว่าทรราชอย่างแท้จริง เพราะซุนโฮเป็นคนโหดร้าย ไม่เอาใจใส่ราชการแผ่นดิน ใช้ชีวิตอยู่กับสนมกำนัล และใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฮ่องเต้อย่างซุนโฮจะเอาแผ่นดินไปไม่รอด ในรัชกาลนี้กองทัพจิ้นจึงพิชิตง่อก๊ก และรวบรวมแผ่นดินที่แตกแยกเข้าเป็นหนึ่งได้สำเร็จ

ซุนโฮถูกนำตัวมายังลั่วหยางเช่นเดียวกับเล่าเสี้ยน เมื่อมาถึงลั่วหยาง ซุนโฮจึงนำดินโคลนมาทาใบหน้า และมัดร่างกายตนเองเพื่อให้ตนเองดูน่าละอาย เมื่อสุมาเอี๋ยนเห็นเข้าจึงสั่งให้แก้มัด และอัญเชิญซุนโฮเข้ามาในงานเลี้ยง พร้อมกับให้นั่งข้างๆ ตนอีกด้วย

ภายในงานเลี้ยง แกฉง ขุนนางเก่าแก่ของตระกูลสุมาได้ถามซุนโฮว่า

ข้าพเจ้าได้ยินว่าก่อนหน้านี้ท่านได้ทรมานผู้คนด้วยความโหดร้าย เช่นการควักลูกตาหรือถลกหนัง การทรมานเหล่านี้สำหรับนักโทษแบบใดกัน

ซุนโฮจึงตอบไปว่า

ถ้าข้าราชบริพารคิดเป็นทุรยศ หรือลอบสังหารจักรพรรดิของพวกเขา ข้าพเจ้าจะลงโทษพวกเขาด้วยทัณฑ์เหล่านี้

ด้วยความที่แกฉงเคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการสังหารโจมอก่อนหน้านี้ เขาจึงรู้สึกละอายจนไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้

หลังจากนั้นสุมาเอี๋ยนจึงแต่งตั้งให้ซุนโฮเป็นกุ้ยหมิงโหว และอนุญาตให้ญาติพี่น้องของซุนโฮดำรงตำแหน่งในราชสำนักจิ้นได้ ซุนโฮใช้ชีวิตในราชสำนักจิ้นอีก 4 ปีก็สิ้นชีวิตด้วยสาเหตุทางธรรมชาติในวัย 41 ปี

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!