ประวัติศาสตร์การลุกฮือต้าเจ๋อเซียง: กบฏชาวนาครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน

การลุกฮือต้าเจ๋อเซียง: กบฏชาวนาครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน

กบฎชาวนาเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่มักจะเกิดขึ้นในปลายราชวงศ์ สาเหตุคือมาจากเหล่าชาวนาและประชาชนทั่วไปทนไม่ไหวกับการกดขี่ข่มเหงจากราชสำนัก พวกเขาจึงจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับเหล่าทหารหลวง

ทั้งนี้กบฎชาวนาครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน หรือราชวงศ์ที่รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งได้สำเร็จนั่นเอง

เฉินเสิ้งและอู๋ก่วงเป็นกบฏต่อราชวงศ์ฉิน

ปูมหลัง

หลังจากฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สวรรคต หูไฮ่โอรสองค์รองได้แย่งชิงราชสมบัติ เขาขึ้นเป็นฮ่องเต้ในนาม ฉินเอ้อร์สื่อหวงตี้

หากแต่ว่าฉินเอ้อร์สื่อหวงตี้เป็นทรราช พระองค์ไม่ใส่พระทัยในราชการแผ่นดิน อำนาจในราชสำนักจึงตกอยู่ในมือจ้าวเกา ขันทีกังฉิน

การปกครองของราชสำนักฉินสร้างความทุกข์ยากแก่ราษฎร เพราะราชสำนักฉินรีดภาษีมากมาย รวมไปถึงออกกฎระเบียบเข้มงวดควบคุมราษฎรจนตัวลีบ นอกจากนี้ทุกปีราชสำนักยังเกณฑ์แรงงานจำนวนมากไปสร้างพระราชวังอาฝางกง กำแพงเมืองจีน และสุสานของฉินสื่อหวงตี้

มิหนำซ้ำราชสำนักฉินยังได้ทำลายวัฒนธรรมของหกแคว้นที่ตนเองผนวกเข้ามาอย่างเป็นระบบ หนังสือประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และหนังสือปรัชญาจำนวนมากของหกแคว้นถูกทำลาย ราษฎรและอดีดชนชั้นสูงของหกรัฐจึงโกรธแค้นอย่างยิ่ง

สถานการณ์ในเวลานั้นจึงเหมือนภูเขาไฟที่รอวันระเบิด ราษฎรทั้งหลายต่างรอวันที่มีคนเปิดการลุกฮือ เมื่อมีคนเปิดแล้ว พวกเขาทุกคนพร้อมที่จะเข้าร่วมการกบฏต่อต้านราชสำนัก

เชื้อไฟปะทุ

หลังจากฉินเอ้อร์สื่อครองราชย์ได้ไม่กี่ปี พวกชนเผ่าซงหนูได้รุกรานชายแดนของอาณาจักรฉินทางตอนเหนือ ราชสำนักฉินจึงมีคำสั่งให้กองทัพหัวเมืองยกไปป้องกันพวกซงหนู

ในปี 209 BC (ก่อนคริสตกาล 209 ปี) ได้มีทหารกองหนึ่งจำนวน 900 นายกำลังเดินทางไปภาคเหนือ พวกเขาอยู่ในการดูแลของนายทหารระดับล่างสองคนชื่อ เฉินเสิ้ง กับ อู๋ก่วง

เฉินเสิ้งและอู๋ก่วงได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปยังเมืองยี่ว์หยาง (ปักกิ่งในปัจจุบัน) แต่ระหว่างทางทหารกองนี้กลับเผชิญพายุอย่างหนักจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พวกเขาต้องเสียเวลาพักอยู่หลายวัน

การที่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้สร้างปัญหาให้ทหารกองนี้อย่างมาก เพราะกฎหมายราชวงศ์ฉินว่าไว้อย่างชัดเจนว่า ทหารที่เดินทัพมาล่าช้ากว่ากำหนด (น่าจะสามวัน) มีโทษตัดหัวทั้งกองทัพ โดยที่ไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น

ทุกคนทราบกันดีว่าราชวงศ์ฉินบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดมากอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสขอให้ผัดผ่อนโทษจึงมีเท่ากับศูนย์

เฉินเสิ้งและอู๋ก่วงเองก็ทราบดี พวกเขาลองคำนวณดูแล้วก็พบว่าไม่มีทางที่ทหารกองนี้จะเดินทางไปถึงยี่ว์หยางได้ทันเวลา นั่นเท่ากับว่าในเวลานั้นพวกเขาไม่มีชีวิตแล้ว

ทางเลือกของกองทหารกองนี้มีสามประการ

  1. เดินทางไปยังยี่ว์หยางตามคำสั่งและรับโทษประหารชีวิตตามกฎหมาย
  2. หลบหนี ซึ่งก็มิวายโดนตามล่าจนตายอยู่ดี
  3. เป็นกบฏต่อต้านราชสำนัก

ทั้งสามตัวเลือกมีกรณีที่ร้ายแรงที่สุดเหมือนกันนั่นก็คือตาย แต่ทางเลือกที่ 1 และ 2 ล้วนแต่เป็นทางเลือกที่ไม่มีทางรอดเลย มีแต่ทางเลือกที่ 3 เท่านั้นที่ถ้าทำสำเร็จ พวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายไปทั้งชาติ

ด้วยเหตุนี้เฉินเสิ้งกับอู๋กว่างจึงตัดสินใจเลือกข้อสาม นั่นก็คือก่อกบฏ

เฉินเสิ้งประกาศกับทหารที่เขาคุมมาว่า

พี่น้องทุกท่าน! ถ้าเราเดินทัพต่อไปก็ตาย แต่เป็นกบฎก็ตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเป็นกบฎเสียดีกว่าไม่ดีกว่าหรือ จักรพรรดิหรือชนชั้นสูงก็ไม่ใช่ว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด

เหล่าทหารทั้ง 900 คนต่างเห็นด้วยกับเฉินเสิ้ง พวกเขาริเริ่มการกบฎที่หมู่บ้านต้าเจ๋อเซียง

เพื่อสร้างความชอบธรรม เฉินเสิ้งอ้างว่าฝูซู รัชทายาทตัวจริงของฉินสื่อหวงตี้ และเซี่ยงหยาน แม่ทัพแคว้นฉู่ยังไม่ตาย และทั้งสองได้มาร่วมการก่อกบฎกับพวกตน

การกบฏในสมัยราชวงศ์ฉิน Cr: SY

พวกชาวบ้านเห็นมีคนเปิดฉากเริ่มต้นการกบฏแล้ว พวกเขาจึงแห่มาร่วมกับเฉินเสิ้งและอู๋ก่วงจำนวนมาก ในเวลาไม่กี่เดือนเฉินเสิ้งก็ได้กำลังมากถึงสองหมื่นคน กองทัพกบฏเริ่มตีชิงดินแดนต่างๆ ของราชสำนักอย่างรวดเร็ว

การลุกฮือของเฉินเสิ้งจุดประกายการกบฎให้ลุกโชนไปทั่วดินแดนของราชวงศ์ฉิน กบฎกลุ่มต่างๆผุดขึ้นมาทุกแห่ง แทบทุกจังหวัดเต็มไปด้วยกลุ่มกบฎชาวนา

การกบฏของเฉินเสิ้งและอู๋ก่วงมีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า การลุกฮือต้าเจ๋อเซียง

ความผิดพลาด

เฉินเสิ้งฉวยโอกาสตีกองทัพราชสำนักที่ยังไม่ทันตั้งตัวจนแตก เขาเข้ายึดครองเมืองเฉินได้สำเร็จ เฉินเสิ้งได้ตั้งเมืองเฉินเป็นเมืองหลวงของตน โดยเขาได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจางฉู่หวาง (กษัตริย์แห่งจางฉู่)

การสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ของเฉินเสิ้งเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง เฉินเสิ้งไม่ทราบว่า ถึงแม้ราษฎรจะเกลียดชังราชวงศ์ฉินมาก แต่ในใจยังจงรักภักดีกับแคว้นทั้งหกที่ถูกทำลายไปแล้ว

สิ่งที่เฉินเสิ้งควรจะทำคือ นำเชื้อพระวงศ์ของแคว้นทั้งหก เช่น แคว้นฉู่ มาเป็นกษัตริย์หุ่น แทนที่จะสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์อย่างออกนอกหน้า การกระทำเช่นนี้ของเฉินเสิ้งทำให้ผู้มาเข้าร่วมเปลี่ยนใจ และเลือกที่จะก่อกบฎด้วยตนเองหรือจากไปเพื่อฟื้นฟูแคว้นทั้งหก

ถึงแม้ผู้คนบางส่วนจะจากเฉินเสิ้งไป เฉินเสิ้งได้สั่งให้อู๋ก่วงและแม่ทัพคนอื่นๆ นำกำลังทหารไปตีเมืองต่างๆ ของราชวงศ์ฉินให้เร็วที่สุด กองทัพกบฏเข้มแข็งตีกองทัพฉินแตกพ่ายหลายครั้ง

จุดจบของเฉินเสิ้งและอู๋ก่วง

ข่าวการกบฎไปถึงเมืองเสียนหยาง เมืองหลวงของราชวงศ์ฉินราวกับลมพัด จ้าวเกา ขันทีกังฉินพยายามจะปกปิดเป็นความลับไม่ให้ฮ่องเต้ทรงทราบ แต่สุดท้ายความลับก็แตก ฉินเอ้อร์สื่อหวงตี้มีคำสั่งให้จางหานนำพวกแรงงานหลายแสนคนที่สร้างสุสานเขาหลีซานของฉินสื่อหวงตี้ไปปราบพวกกบฎทันที เป้าหมายแรกของกองทัพนี้ของกลุ่มกบฏของเฉินเสิ้ง

กองทัพฉินที่นำมาโดยจางหานเดินทางมาเข้าใกล้เมืองสิงหยาง เมืองที่อู๋ก่วงนำกองทัพมาโจมตีอยู่ ปรากฎว่าอู๋ก่วงเกิดขัดแย้งกับแม่ทัพคนอื่น ทำให้เขาโดนสังหารสิ้นชีวิต (บ้างว่าเป็นคำสั่งลับจากเฉินเสิ้ง) กองทัพของจางหานตีกองทัพของอู๋ก่วงแตกยับ

เมื่อกองทัพที่สิงหยางแตก เฉินเสิ้งก็เริ่มกลัดกลุ้มและมีอาการหวาดระแวง เขาสั่งประหารชีวิตแม่ทัพไปหลายคน กองทัพกบฏจึงอ่อนแอลง การสังหารอู๋ก่วงและเหล่าแม่ทัพทำให้เหล่าทหารต่างไม่ศรัทธาในตัวเฉินเสิ้งอีกต่อไป

กองทัพฉินของจางหานยกเข้าตีที่มั่นของพวกกบฏ และรุกเข้ามาเข้าใกล้เมืองเฉิน เหล่าทหารและลูกน้องเห็นว่าเฉินเสิ้งไม่น่าจะรอดแล้ว พวกเขาจึงตีตัวออกห่างไปจนหมดสิ้น

สถานการณ์ของเฉินเสิ้งจึงย่ำแย่ลงมาก สุดท้ายแล้วกองทัพฉินเข้าโจมตีกองทัพของเฉินเสิ้งแตกและยึดเมืองเฉินได้ เฉินเสิ้งพยายามหลบหนี แต่เขาถูกลอบสังหารโดยองครักษ์ของเขาเองจนสิ้นชีวิต กบฎเฉินเสิ้งอู๋ก่วงจึงสิ้นชื่อไปตั้งแต่บัดนั้น

อย่างไรก็ตามกบฏกลุ่มอื่นไม่ได้จบลงไปพร้อมกับเฉินเสิ้ง เซี่ยงอวี่ (ฉู่ป้าหวางหรือฌ้อปาอ๋องในเวลาต่อมา) หนึ่งในแม่ทัพกบฏได้บดขยี้กองทัพฉินของจางหานแตกพ่ายยับเยินที่จี่ว์ลู่ ในช่วงเวลาเดียวกันหลิวปัง แม่ทัพกบฏผู้ที่มีพื้นเพจากชาวนา ได้เข้ายึดครองเมืองหลวงของราชวงศ์ฉินได้สำเร็จ

ราชวงศ์ฉินจึงถือว่าพินาศไปจากการกบฎที่ริเริ่มโดยเฉินเสิ้งและอู๋ก่วงนั่นเอง หลังจากนั้นหลิวปังได้ใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเอาชนะเซี่ยงอวี่และรวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้สำเร็จ หลิวปังได้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครองแผ่นดินจีน

การลุกฮือต้าเจ๋อเซียงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เพราะเป็นการลุกฮือครั้งแรกของชนชั้นล่างต่อชนชั้นปกครองที่กดขี่ข่มเหง เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดซ้ำอีกหลายครั้งจนกระทั่งสิ้นสุดยุคราชวงศ์

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!