ประวัติศาสตร์ศึกพระเจ้าบรมโกศ - เจ้าฟ้าอภัย สงครามกลางเมืองแห่งอยุธยา

ศึกพระเจ้าบรมโกศ – เจ้าฟ้าอภัย สงครามกลางเมืองแห่งอยุธยา

กรุงศรีอยุธยามีการช่วงชิงอำนาจกันหลายครั้ง แต่ทว่าในแต่ละครั้งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ลุกลามใหญ่โตจนเป็นสงครามกลางเมือง ในหนังสือไทยรบพม่าพระนิพนธ์โดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพบรรยายไว้ว่าครั้งก่อนๆรบกันครั้งเดียวก็เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ครั้งนี้ต่างกันออกไปเพราะทั้งสองฝ่ายตั้งค่ายคูหอรบกันอย่างเปิดเผย

ดังนั้นการชิงบัลลังก์ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา

เหตุการณ์เป็นอย่างไรกันแน่?

ปมเหตุแห่งสงคราม

เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรเป็นเจ้าฟ้าพี่น้องที่ทรงสนิทสนมกันมาก ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าเสือและเคยต้องพระราชอาญาพระบิดาเกือบจะถึงแก่ชีวิตมาด้วยกันมาแล้ว หลังจากสมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคต เจ้าฟ้าเพชรจึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (รัชกาลนี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าวทองกีบม้าพ้นราชภัย และเป็นที่วางพระราชหฤทัยให้ดูแลเรื่องเครื่องคาวหวาน)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงครองราชย์แล้ว เจ้าฟ้าพรทรงรับการแต่งตั้งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราช (Crown Prince) วังหน้าแห่งกรุงศรีอยุธยา

หากแต่ว่าในช่วงปลายรัชกาล ความสัมพันธ์ของพระเชษฐาและพระอนุชาเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สมเด็จพระเจ้าท้ายสระปรารถนาจะมอบราชสมบัติให้กับพระราชโอรสมากกว่าพระมหาอุปราชที่ทรงเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงมีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่

  • เจ้าฟ้านเรนทร
  • เจ้าฟ้าอภัย
  • เจ้าฟ้าปรเมศร์

พระมหาอุปราชทรงทราบเช่นกันว่าพระเชษฐาไม่ทรงปรารถนาจะมอบราชสมบัติให้กับพระองค์แล้ว แต่ถ้าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงมอบราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้านเรนทร พระโอรสองค์ใหญ่ พระมหาอุปราชก็ทรงไม่ขัดข้อง เพราะพระองค์ทรงรักพระนัดดาพระองค์นี้เหมือนกับโอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์เอง

หากแต่ว่าเจ้าฟ้านเรนทรไม่ทรงปรารถนาในราชสมบัติ พระองค์ทรงตระหนักว่าพระปิตุลา หรือ พระมหาอุปราชทรงมีสิทธิในบัลลังก์อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อทรงมีพระชันษาได้ 20 พรรษา เจ้าฟ้านเรนทรจึงเสด็จไปผนวชเสีย

เมื่อพระโอรสองค์ใหญ่ไปผนวช สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทรงปรารถนาจะมอบราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าอภัย โอรสองค์รองของพระองค์ สำหรับพระมหาอุปราชแล้ว พระองค์ไม่โปรดพระนัดดาพระองค์นี้ ดังนั้นถ้าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย พระมหาอุปราชจะทรงชิงเอาราชสมบัติอันเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของพระองค์ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ในปี ค.ศ.1733 สมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวรหนักจวนจะสวรรคต ทั้งสองฝ่ายต่างทราบดีว่าไม่มีทางประนีประนอมกันได้แน่จึงมีการตระเตรียมกำลังที่จะต่อสู้กันโดยเปิดเผย เจ้าฟ้าอภัยทรงให้ขุนนางวังหลวงเตรียมกองทัพให้พร้อม และตั้งค่ายเรียงรายกันไป โดยมีขุนศรีคงยศเป็นแม่ทัพนำกองกำลังส่วนหนึ่งไปประจำที่ประตูข้าวเปลือกด้านตะวันตก

ฝ่ายพระมหาอุปราชเองก็ทรงระดมไพร่พลวังหน้าและขุนนางที่สนับสนุนพระองค์เข้ามาเช่นเดียวกัน กองทัพของทั้งสองฝ่ายเชื่อได้ว่ามีจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่มากไม่น้อยกว่ากันมากนัก

สงครามกลางเมือง

พระมหาอุปราชทรงเห็นเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์สองพี่น้องตั้งค่ายอย่างเข้มแข็ง พระองค์จึงส่งพลแม่นปืนไปลอบยิงขุนศรีคงยศแม่ทัพฝ่ายวังหลวงจนถึงแก่ชีวิต

ทันทีที่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคต สงครามกลางเมืองก็เริ่มต้นขึ้นทันที เจ้าฟ้าอภัยทรงให้หลวงชัยบูรณ์เป็นแม่ทัพนำกำลังทหารสามร้อยคนไปทางชีกุน แล้วยกขึ้นไปทางวัดกุฎีสลักเพื่อตีที่มั่นฝ่ายวังหน้า พระมหาอุปราชจึงให้กองทัพออกมารบกับหลวงชัยบูรณ์

การต่อสู้ดำเนินไปอย่างรุนแรง กองทัพวังหน้าตีกองทัพของหลวงชัยบูรณ์แตก และจับตัวหลวงชัยบูรณ์ไว้ได้ (บ้างว่าหลวงชัยบูรณ์ถูกสังหารกลางสมรภูมิ)

เจ้าฟ้าอภัยจึงให้พระธนบุรีเป็นแม่ทัพคนใหม่ และนำกองทัพวังหลวงยกมา ในครั้งนี้พระธนบุรีกลับมีฝีมือการรบเข้มแข็ง และเข้าตีกองทัพวังหน้าจนแตกกระเจิง ฝ่ายวังหน้าเสียค่ายไปหลายค่าย ทำให้พระมหาอุปราชเกือบจะตัดสินพระทัยเสด็จหนี

แต่ทว่าขุนชำนาญ นายทหารคนสนิททัดทานพระองค์ไว้ เขากราบทูลพระมหาอุปราชว่า ขอให้ตนเองออกไปรบเสียก่อน ถ้าขุนชำนาญพ่ายแพ้และถูกสังหาร พระมหาอุปราชค่อยเสด็จหนีก็ยังทัน

ขุนชำนาญนำกำลังออกไปปะทะกับพระธนบุรี ขุนชำนาญผู้นี้มีฝีมือเก่งกาจ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันบนหลังม้ากันอย่างดุเดือด แต่ขุนชำนาญได้ทีจึงสังหารพระธนบุรีได้สำเร็จ และตีกองทัพวังหลวงแตกยับไป

พระมหาอุปราชทรงดีพระทัยยิ่งนัก พระองค์จึงโปรดให้กองทัพทั้งหมดเข้าตีค่ายของวังหลวงพร้อมกัน กองทัพวังหลวงแตกกระจัดกระจาย เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ทรงหนีลงเรือพระที่นั่งไปทางป่าโมก แต่ทว่าเหล่าฝีพายกลับกระโดดน้ำหนีทั้งสองพระองค์เสียหมด เหลือแต่เพียงนายด้วง มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์เท่านั้นที่อยู่กับพระองค์

จับเจ้าฟ้าทั้งสองได้

เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ทรงหลบหนีไปอยู่ในป่า และให้นายด้วงไปขออาหารชาวบ้านมากินเป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เจ้าฟ้าอภัยทรงโปรดให้นายด้วงนำพระธำมรงค์ (แหวน) วงหนึ่งไปซื้อข้าวชาวบ้าน

พวกชาวบ้านเห็นว่าแหวนวงนี้ไม่น่าจะใช่แหวนของสามัญชนจึงแจ้งเรื่องไปยังข้าหลวง ข้าหลวงจึงรายงานไปยังขุนชำนาญถึงเรื่องดังกล่าว ขุนชำนาญจึงส่งกำลังมาจับนายด้วงเอาไว้ได้ และไต่สวนหาความจริง ทำให้ฝ่ายวังหน้าทราบว่าเจ้าฟ้าทั้งสองทรงหลบหนีไปอยู่ที่ใด

อย่างไรก็ตามพงศาวดารพันจันทนุมาศเจิมให้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยอธิบายว่านายด้วงคิดถึงแม่จึงขออนุญาตไปเยี่ยม เมื่อนายด้วงมาเยี่ยมแม่ พวกชาวบ้านจึงบอกข้าหลวงให้ไปจับนายด้วง นายด้วงจึงถูกจับตัวได้และถูกบังคับให้บอกที่อยู่ของเจ้าฟ้าทั้งสองแก่ฝ่ายวังหน้า

ด้วยเหตุนี้เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์จึงถูกจับกุมได้ที่ทุ่งบ้านเอกราช และถูกนำตัวมารอรับพระราชอาญา

ผลที่ตามมา

พระมหาอุปราชทรงโปรดให้สำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ด้วยการใช้ท่อนจันทน์ ส่วนนายด้วง พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นคนจงรักภักดีไม่ทิ้งเจ้านาย พระองค์จึงโปรดให้เลี้ยงดูไว้อย่างดี

ฝ่ายขุนนางวังหลวงทั้งหลายที่สนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยต่างหลบหนีไปเป็นจำนวนมากหลังจากที่ฝ่ายวังหลวงพ่ายแพ้ แต่ก็ถูกจับกุมกลับมาได้มากมายเช่นเดียวกัน พระมหาอุปราชทรงโปรดให้นำตัวไปประหารชีวิตเสีย ด้วยความที่ขุนนางวังหลวงส่วนใหญ่สนับสนุนเจ้าฟ้าอภัย ขุนนางวังหลวงจึงถูกกวาดล้างรุนแรงหนักกว่าครั้งก่อนๆ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิเคราะห์ว่าการกวาดล้างครั้งนี้น่าจะมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง เพราะเหล่าไพร่ที่สังกัดขุนนางวังหลวงล้วนแต่หลบหนีออกจากเมืองไปทั้งหมด

หลังจากที่กวาดล้างศัตรูราบคาบแล้ว พระมหาอุปราชจึงทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงมีพระนามในประวัติศาสตร์ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมอบรางวัลแก่เหล่าข้าราชการและขุนนางมากมายที่ช่วยเหลือพระองค์ในสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะขุนชำนาญที่พระองค์ทรงอวยยศให้เป็นถึงเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเป็นพระบิดาของเจ้าฟ้ากุ้ง รัชสมัยของพระองค์เป็นความรุ่งโรจน์ครั้งสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียแก่พม่า

Sources:

  • สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า
  • พิมาน แจ่มจรัส, วันสวรรคตของ ๖๖ กษัตริย์
  • ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม )

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!