ธุรกิจตลาดหุ้นBlack Tuesday ตลาดหุ้นตกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

Black Tuesday ตลาดหุ้นตกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

Black Tuesday หรือ อังคารทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นสหรัฐทิ้งดิ่งในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม ค.ศ 1929

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ Crash ของตลาดหุ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง มันเป็นเหมือนเชื้อไฟที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาแตกออก ผลที่ตามมาคือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) อันยาวนาน ที่มีผลกระทบทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีที่มาอย่างไร

นักลงทุนชุมนุมหน้าตลาดหุ้นวอลสตรีทในเหตุการณ์ Black Tuesday

ปูมหลังของการพังทลายของตลาดหุ้น

ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์ผู้เก่งกาจเคยกล่าวไว้ในตอนที่เขาเจ๊งหุ้น South Sea ว่า

ฉันสามารถคิดคำนวณการเคลื่อนที่ของสิ่งที่สวรรค์สร้างมา, แต่ไม่ใช่ความบ้าคลั่งของมนุษย์

คำพูดของนิวตันนั้นเป็นสิ่งที่อธิบายเหตุการณ์ก่อนปี 1929 ได้อย่างดีเยี่ยม เรื่องมีอยู่ว่า

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายชนะสงคราม และแทบไม่ได้รับความเสียหายใดๆ จากสงครามเลย อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของโลก

ความรุ่งเรืองดังกล่าวทำให้ชาวอเมริกันหลงระเริงกับความยิ่งใหญ่นั้น ตลอดช่วงยุค ค.ศ.1920s ยุคนี้เรียกว่า “Roaring Twenties” หรือ ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล เศรษฐกิจอเมริกันฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดหลังสงครามสงบ และเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ชาวอเมริกันในยุคนั้นใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยและหรูหรา พวกเขาคิดว่าความรุ่งโรจน์นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความฟุ้งเฟ้อของชาวอเมริกันนี้สามารถดูจากภาพยนตร์เรื่อง The Great Gatsby

ในตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนอเมริกันต่างพากันแห่ซื้อหุ้น ก่อให้เกิดตลาดกระทิง (Bull Market) หรือตลาดขาขึ้นที่นานถึง 9 ปี

ตลาดกระทิงในครั้งนั้นเป็นตลาดขาขึ้นที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง (แต่สู้ในปัจจุบันไม่ได้) หากแต่ว่าในต้นปี 1929 ได้เริ่มมีสัญญาณเตือนออกมาทั้งจากในตัวตลาดหุ้น และระบบเศรษฐกิจ

อย่างแรกเลย หุ้นในตลาดหุ้นวอลสตรีทแทบทุกตัวมีราคาแพงมาก โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นในวอลสตรีทซื้อขายกันอยู่ที่ 33 เท่าของกำไรสุทธิ มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า

การที่หุ้นแพงขนาดนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ กรณี Dot Com หรือ South Sea นั่นก็คือนักลงทุนบ้าคลั่งซื้อหุ้นเพราะหวังอย่างเดียวว่ามันจะขึ้น พวกเขาจะได้ขายทำกำไร โดยไม่สนใจเรื่องมูลค่าของกิจการที่ซื้อไปว่ามีราคาเท่าไร

นอกจากนี้นักลงทุนกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นจำนวนมหาศาล และเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างบ้าคลั่ง มูลค่าที่นักลงทุนกู้เงินไปมากกว่ามูลค่าธนบัตรทั้งหมดในอเมริกาขณะนั้น

ขณะเดียวกันในภาคเศรษฐกิจก็เริ่มส่งกลิ่นอายแห่งปัญหาออกมาอย่างเงียบๆ อย่างเช่น

  1. การผลิตของอุตสาหกรรมหนักในประเทศเริ่มลดลง
  2. สินค้าเกษตรถูกผลิตขึ้นมาจนล้นตลาด ทำให้ราคามันเริ่มตกต่ำ
  3. ยอดขายสินค้าอย่างบ้าน และ รถ เริ่มตกลง

ตลาดหุ้นพังทลาย

นักลงทุนกลับไม่สนใจข้อมูลต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย พวกเขายังคงซื้อหุ้นอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนเกิดกังวล พวกเขาเริ่มขายหุ้นตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.1929 แต่บรรดานายธนาคารกลับนำเงินของธนาคารมาอุดตลาดไว้ไม่ให้ลง เพราะดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา พวกเขารู้ดีว่าพวกเขาจะทำลายโอกาสทำเงินของตัวเอง ถ้าตลาดหุ้นเปลี่ยนเป็นตลาดหมี หรือ ตลาดขาลง

ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐอเมริกาดิ่งเหวในช่วง Black Tuesday

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน หรือ นายธนาคาร ทุกคนต่างโลภเหมือนกันหมด และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพังทลายครั้งนี้

ตลาดหุ้นสหรัฐทำจุดสูงสุดใหม่ในเดือนกันยายน แต่มันก็เริ่มลงติดต่อกันโดยไม่ทราบสาเหตุ แรงขายเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ถึงแม้ว่าจะมีบางวันที่มีแรงซื้อสวนมาได้บ้างก็ตาม

ไม่ต้องสงสัยว่าช่วงนี้เองที่นักเก็งกำไรอย่างลิเวอร์มอร์ได้เริ่มทำการขายชอร์ตหุ้น เพื่อทำกำไรกับการถล่มของหุ้นที่เขาพยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน

เมื่อเดือนตุลาคมมาถึง ตลาดหุ้นก็อยู่ไม่ได้อีกต่อไป หุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นต่างถูกเทขายอย่างหนัก นักลงทุนรายย่อยต่างตื่นตระหนกทุกคนจึงแย่งกันขาย (Panic Selling)

ทั้งตลาดนั้นมีแต่คนที่ต้องการจะขาย แทบไม่มีคนต้องการจะซื้อเลยสักคนเดียว เมื่อมีคนเสนอซื้อก็จะมีคนขายให้โดยทันที ผู้ต้องการขายทุ่มขายหุ้นทุกราคาที่มีผู้เสนอซื้ออยู่ เมื่อมีผู้เสนอซื้อตั้งราคาจะซื้อ มันก็จะหายไปในบัดดลเพราะมีผู้ขายให้ในทันทีโดยไม่สนใจราคาที่ตัวเองขายได้

ความรุนแรงในการขายเกิดขึ้นมากที่สุดในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม ค.ศ 1929 ดัชนีดาวโจนส์มีมูลค่าลดลงถึง 11% ในวันเดียว และยังลงไม่หยุดในตลอดอาทิตย์นั้น นี่จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่เรียกว่า Black Tuesday

แรงขายดังกล่าวยังมีที่มาจากที่อื่นด้วย ไม่ใช่เพราะความตื่นกลัวอย่างเดียว

ขยะมากมายที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายอย่างบ้าคลั่งในช่วง Black Tuesday

แต่มาจากการถูกบังคับขาย (Forced Sell) ด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า เหล่านักลงทุนที่กู้ยืมเงินมาลงทุนต่างถูกโบรกเกอร์สั่งให้เพิ่มเงินลงทุน เพราะมูลค่าหุ้นของพวกเขาลดลง ตามกำหนดที่ทำไว้ก่อนกู้ยืมเงินมาลงทุน

แน่นอนว่าบางคนกู้ยืมเงินมามหาศาล หลายคนไม่สามารถเพิ่มเงินลงทุนในจำนวนดังกล่าวได้ โบรกเกอร์จะทำการบังคับขายหุ้นของพวกเขา เพื่อทวงเงินที่ให้ลูกค้ายืมกลับคืนบริษัท

ดังนั้นการถูกบังคับขาย ทั้งๆ ที่ไม่อยากขาย แรงขายจึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

พวกนายธนาคารพยายามพยุงตลาดอย่างที่เคยทำสำเร็จมาในครั้งก่อนๆ ด้วยการซื้อหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อหยุดแรงขายและฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาด แต่ไม่เป็นผล แรงขายหยุดลงแค่ชั่วคราวเท่านั้น อีกไม่นานแรงขายจำนวนมหาศาลก็กลับมาอีก

ผลที่ตามมาคือ พวกนายธนาคารและสถาบันการเงินต่างสูญเสียเงินจำนวนมาก โดยที่ไม่สามารถหยุดยั้งการขายที่ไม่มีสิ้นสุดได้

ภายในเดือนเศษๆ ระหว่างเดือนกันยายน กับ เดือนตุลาคม ค.ศ.1929 ตลาดหุ้นสหรัฐตกลงไปมากกว่า 30% ในปลายปี ราคาหุ้นกระเตี้องขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ไปไม่ได้ไกลนัก เพราะความมั่นใจในตลาดหุ้นของนักลงทุนหายไปจนสิ้นแล้ว

Black Tuesday ได้ทำให้บรรดานักลงทุน นักธุรกิจ ต่างสูญเสียเงินจำนวนมากไปในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว ดังนั้นการจับจ่ายซื้อของลดลงมาก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจึงเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน

เหล่าสถาบันการเงินต่างสูญเสียอย่างหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บรรดาผู้ฝากเงินต่างก็ไม่มีความมั่นใจที่จะฝากเงินในสถาบันการเงินเหล่านี้อีกต่อไป พวกเขาแห่ไปถอนเงินกันมากมาย ทำให้ธนาคารในสหรัฐอเมริกาล้มละลายจำนวนมาก

ปวงชนอเมริกันแห่ไปถอนเงินในช่วงต้นของ Great Depression

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดหลังการพังทลายของตลาดหุ้นนั้นเรียกว่า Great Depression ซึ่งเป็นหายนะทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องตกงาน เศรษฐกิจอเมริกาก็หดตัวลงไปถึงเกือบครึ่งหนึ่ง

ถึงแม้ Black Tuesday จะไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เกิด Great Depression โดยตรง แต่มันเหมือนกับเป็นชนวนที่ทำให้ดินปืนในเศรษฐกิจอเมริกาและโลกระเบิดขึ้นมานั่นเอง

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!