ตำนานภีษมะ ตอนที่ 2: สละสิทธิ์ราชบัลลังก์และประพฤติพรหมจรรย์

ภีษมะ ตอนที่ 2: สละสิทธิ์ราชบัลลังก์และประพฤติพรหมจรรย์

สนับสนุนงานเขียนประวัติศาสตร์ของ Victory Tale ไม่ให้ขาดตอนได้ที่นี่ 

จากตอนที่แล้ว ศันตะนุได้รับเทวาวระตะกลับเข้าวังและแต่งตั้งเขาเป็นรัชทายาทแห่งหัสตินาปุระ ซึ่งเทวาวระตะก็ประพฤติตนเป็นอย่างดี ทำให้ทั้งศันตะนุและเหล่าชาวเมืองต่างรักใคร่เขามาก ผ่านไปหลายปีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น และทำให้ชีวิตของเทวาวระตะ (หรือภีษมะ) ต้องเป็นไปตามคำสาปที่ชาติก่อนเขาเคยได้รับเอาไว้

ความรักครั้งใหม่ของศันตะนุ

มีอยู่วันหนึ่งศันตะนุได้เสด็จไปประพาสริมแม่น้ำยมุนา พระองค์ได้กลิ่นหอมหวานอันน่าประหลาดโชยมาทิศหนึ่ง พระองค์จึงตามกลิ่นดังกล่าวไป จนสุดท้ายพระองค์ก็ได้พบกับหญิงนางหนึ่งนามว่านางสัตยวตี (Satyavati) หญิงชาวประมงสาวสวยที่กำลังพายเรืออยู่ที่แม่น้ำยมุนา แค่เพียงชั่วพริบตา ศันตะนุก็ตกหลุมรักนางทันที

จริงๆ แล้วนางสัตยวตีผู้นี้ไม่ใช่สาวบริสุทธิ์แล้ว นางเคยมีความสัมพันธ์กับฤาษีปราศร (Parasara) และด้วยฤทธานุภาพของมหาฤาษีผู้นี้ ทำให้นางมีกลิ่นกายหอมราวกับดอกไม้เทพ นั่นเอง นอกจากนี้นางยังให้กำเนิดวยาส (Vyasa) ฤาษีผู้แต่งเรื่องมหาภารตะ (ตามตำนาน) ครับ

ด้วยความรักและหลงใหลในกลิ่นหอมนั้น ศันตะนุจึงตามนางสัตยวตีกลับไปที่บ้านของนาง และสู่ขอนางกับบิดา ซึ่งบิดาก็ไม่ห้าม แต่มีข้อแม้เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือศันตะนุต้องยกบัลลังก์แห่งหัสตินาปุระให้กับบุตรชายที่เกิดกับนางสัตยวตี

พอมาถึงขั้นนี้ศันตะนุก็ถึงกับอึ้งไป เพราะตำแหน่งดังกล่าวนั้นเป็นของเทวาวระตะ ผู้ที่เป็นโอรสคนแรกของตนโดยชอบธรรม และเขาก็เป็นคนดีมีความสามารถ แถมยังไม่ได้ทำอะไรผิดอีกด้วย

แม้ว่าจะผิดหวังมาก แต่ศันตะนุก็จำใจต้องปฏิเสธข้อเสนอของชาวประมงผู้เป็นบิดาของนางสัตยวตีไป ศันตะนุกลับวังไปด้วยความเศร้า หลังจากนั้นศันตะนุก็ตกอยู่ในระทมทุกข์เพราะอยากจะได้นางสัตยวตี แต่ก็ไม่กล้าทำผิดคุณธรรมด้วยการถอดถอนเทวาวระตะ พระองค์จึงไม่ออกว่าราชการ และเอาแต่ขลุกอยู่ในพระแท่นอยู่แต่พระองค์เดียว

การตัดสินใจของเทวาวระตะ

เทวาวระตะรู้สึกว่าพระบิดาของตนเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร จนสุดท้ายเขาก็ได้ทราบความจริงทั้งหมดจากเสนาบดีผู้หนึ่ง ด้วยความกตัญญูอย่างที่สุด เทวาวระตะจึงเดินทางไปหาบิดาของนางสัตยวตีด้วยตนเอง เมื่อไปถึงแล้ว เขาได้ขอร้องให้ชาวประมงผู้นั้นยกนางสัตยวตีให้กับบิดาของตน

แน่นอนว่าชาวประมงผู้นั้นปฏิเสธและยืนกรานข้อเสนอเดิมของตน เทวาวระตะจึงตัดสินใจบอกชาวประมงผู้นั้นว่าตนเองจะยอมสละตำแหน่งรัชทายาท และทำทุกวิถีทางให้บุตรของนางสัตยวตีได้ครองบัลลังก์แห่งหัสตินาปุระในอนาคต

ภีษมะเปล่งคำสาบานว่าจะประพฤติตนเป็นพรหมจรรย์
ภีษมะเปล่งคำสาบานว่าจะประพฤติตนเป็นพรหมจรรย์

แต่ชาวประมงผู้นั้นก็ยังไม่ยอมอยู่ดี เขาบอกเทวาวระตะว่าเทวาวระตะอาจจะไม่ต้องการบัลลังก์ แต่ในอนาคตเทวาวระตะมีโอรส พวกเขาอาจจะแก่งแย่งบัลลังก์กับบุตรของนางสัตยวตีก็ได้ ดังนั้นเขาจึงมองว่าสถานะของบุตรสาวยังไม่มั่นคงอยู่ดี

เมื่อเทวาวระตะได้ยินเช่นนั้น เขาจึงสาบานว่าเขาจะประพฤติพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต ดังนั้นแปลว่าเทวาวระตะจะไม่วันให้กำเนิดโอรสและธิดา ทำให้โอกาสที่บุตรของนางสัตยวตีโดยแย่งบัลลังก์เป็นศูนย์

เหล่าเทพยดานั้นต่างจ้องมองเทวาวระตะอยู่นานแล้ว เมื่อเขาเปล่งวาจาเช่นนั้น ดอกไม้สวรรค์มากมายก็ถูกโปรยปรายมาจากเทวโลกเพื่อเป็นการสรรเสริญความกตัญญูของเทวาวระตะ ด้วยความที่เขาเปล่งคำสาบานในสิ่งที่ extreme และไม่เป็นคุณกับตนเองอย่างที่สุด (ในมุมมองของคนสมัยนั้น) เทวาวระตะจึงเป็นที่รู้จักในนามของภีษมะ (Bhishma) หรือผู้เปล่งคำสาบานที่เลวร้ายหรือรุนแรง นับตั้งแต่บัดนั้น

ชาวประมงจึงยินยอมยกนางสัตยวตีให้ศันตะนุแต่โดยดี เทวาวระตะจึงพานางขึ้นรถม้าและนำนางไปถวายพระบิดา เมื่อศันตะนุได้ทราบเรื่องทั้งหมดก็ปิติอย่างที่สุด และไต่ถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับภีษมะ ซึ่งเขาก็ได้ทูลบิดาไปตามตรงว่าได้ทำอะไรลงไป

ศันตะนุรู้สึกซาบซึ้งใจในความกตัญญูของบุตรชาย ดังนั้นเขาจึงประสาทพรให้กับภีษมะข้อหนึ่ง นั่นคือภีษมะสามารถเลือกเวลาที่ตนเองต้องการจะสิ้นชีวิตได้ ดังนั้นไม่มีสิ่งใดจะพรากวิญญาณไปจากร่างกายของภีษมะได้ ถ้าตัวเขาไม่ยินยอม

หลายคนอาจจะมองว่าภีษมะโชคร้ายหรือว่าทำร้ายตนเอง แต่คำสาบานของเขานั้นเป็นไปตามคำสาปของฤาษีวสิษฐที่เขาได้รับในชาติก่อนที่ไปขโมยวัวมานั่นเอง ส่วนพรของบิดานั้นทำให้ภีษมะเป็นอมตะ จนเขาได้อยู่เห็นมหาสงครามที่เครือญาติของเขาต่างจับอาวุธฆ่าฟันกันเองที่ทุ่งกุรุเกษตร

บทบาทในการชิงนาง

หลังจากที่ศันตะนุได้แต่งงานกับนางสัตยวตีแล้ว นางก็ให้กำเนิดโอรสสองคนนามว่าจิตรานคทะ (Chitrāngada) และวิจิตรวีรยะ (Vichitravirya) และเมื่อโอรสทั้งสองเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว ศันตะนุก็ล่วงลับไปตามวัย บัลลังก์แห่งหัสตินาปุระจึงว่างลง

ภีษมะปฏิบัติตามคำสาบานที่ให้ไว้ เขาจึงยกจิตรานคทะเป็นราชาแห่งหัสตินาปุระ จิตรานคทะเป็นกษัตริย์นักรบผู้เก่งกาจและมีชัยเหนือศัตรูที่เป็นทั้งมนุษย์และอมนุษย์ จนสุดท้ายพระองค์ได้ปะทะกับกษัตริย์แห่งคันธรรวะที่ชื่อจิตรานคทะเหมือนกัน การต่อสู้ดำเนินต่อไปอยู่ถึงสามปีของราชาผู้มีนามเหมือนกัน แต่สุดท้ายจิตรานคทะผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของภีษมะก็พ่ายแพ้ และพลาดท่าถูกสังหาร ทำให้บัลลังก์หัสตินาปุระว่างลงอีกภายในเวลาไม่นาน

เพื่อไม่เป็นการผิดคำสาบาน ภีษมะจึงยกวิจิตรวีรยะขึ้นเป็นราชาคนใหม่ แต่วิจิตรวีรยะยังเยาว์วัยเกินกว่าจะบริหารราชการด้วยตนเอง ภีษมะจึงสำเร็จราชการไปพลางก่อน

หลายปีผ่านไปวิจิตรวีรยะโตเป็นหนุ่มแล้วแต่ยังหาสตรีที่คู่ควรไม่ได้ ราชสำนักหัสตินาปุระจึงตัดสินใจส่งภีษมะไปลักพาตัวเหล่าเจ้าหญิงแห่งกาสีสองนางที่กำลังทำพิธีสยมพรเลือกคู่มาอภิเษกสมรสกับวิจิตรวีรยะ

ภีษมะจึงบุกเข้าไปในพิธีสยมพรและเข้าต่อตีกับกษัตริย์ต่างๆ ที่มาเข้าร่วมพิธี แต่ไม่มีใครต่อสู้กับความเก่งกาจของภีษมะได้เลย ภีษมะจึงลักพาตัวเจ้าหญิงกาสีมาได้ถึงสามนางได้แก่ เจ้าหญิงอัมพา (Amba), เจ้าหญิงอัมพิกา (Ambika) และเจ้าหญิงอัมพาลิกา (Ambalika) ซึ่งเจ้าหญิงสองพระองค์หลังไม่มีชายคนรัก ทั้งสองนางจึงยินยอมอภิเษกสมรสกับวิจิตรวีรยะโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่เจ้าหญิงอัมพามีคนรักอยู่แล้ว ภีษมะจึงส่งตัวนางกลับไปอาณาจักรที่คนรักของนางครอบครองอยู่

แต่เรื่องกลับเป็นว่าคนที่นางรักกลับปฏิเสธเพราะเขาไม่อาจจะยอมรับหญิงที่โดยชายอื่นนำตัวไปแล้วได้ (นัยว่ามีมลทินแล้ว) นางจึงต้องกลับมายังเมืองหัสตินาปุระอีกครั้งหนึ่ง ภีษมะจึงขอให้วิจิตรวีรยะแต่งงานกับนางเสีย (เรื่องจะได้จบๆ) แต่วิจิตรวีรยะก็ไม่ยอมรับ เพราะเขาไม่ต้องการกับหญิงที่หัวใจของนางมีคนรักอยู่แล้ว

ทำไปทำมาเจ้าหญิงอัมพาจึงไม่มีใครแต่งงานด้วย นางโทษว่าทั้งหมดก็เพราะภีษมะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตนางเป็นเช่นนี้ (ซึ่งก็เป็นความจริง) หลังจากนั้นเจ้าหญิงจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสังหารภีษมะให้ได้

เรื่องจะเป็นไปอย่างไร ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความตำนานต่างๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!