เทคโนโลยีแนะนำ 6 โปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ใช้งานง่าย สะดวกสบาย

แนะนำ 6 โปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ใช้งานง่าย สะดวกสบาย

ปัจจุบันการสร้างเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีผู้ให้บริการ “เว็บไซต์สำเร็จรูป” หลายแห่งที่ช่วยให้คุณสร้างเว็บไซต์ที่สวยงามได้อย่างง่ายดายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก โดยไม่ต้องไปยุ่งกับการเขียนโค้ดยากๆ เลยสักนิดเดียว

หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันง่ายจริงหรือ คำตอบในฐานะคนที่ไม่รู้เรื่องทั้งการดีไซน์และการเขียนโปรแกรมอย่างผมก็คือ “จริง” ครับ

สาเหตุคือเว็บไซต์สำเร็จรูปส่วนใหญ่จะมีรูปแบบหรือ template ไว้อยู่แล้ว หรือไม่ก็จะใช้ AI ในการสร้าง template ให้กับคุณ ดังนั้นหน้าที่ของคุณคือลบข้อมูลด้วยปุ่ม backspace หลังจากนั้นก็พิมพ์ข้อมูลของคุณลงไป และถ้าขาดเหลืออะไรก็ใส่เพิ่มหรือลบทิ้ง

เพียงเท่านี้เว็บไซต์ของคุณจะพร้อมใช้งานแล้วครับ

อย่างไรก็ดีทุกอย่างไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจสร้างเว็บไซต์กับผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป คุณควรเปรียบเทียบกับการสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS อย่าง WordPress ด้วยเพราะสร้างได้ง่ายไม่แพ้กันครับ

Website
เว็บไซต์ต่างๆ Image by 200 Degrees from Pixabay

หลังจากที่คุณมั่นใจแล้วว่าคุณจะเลือกเว็บไซต์สำเร็จรูป ไม่ใช่ว่าคุณเลือกผู้ให้บริการไหนก็ได้ คุณควรเลือกโดยพิจารณาจากปัจจัยอย่างเช่น เครื่องมือต่างๆที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของเว็บไซต์, ความเสถียรของเซิร์ฟเวอร์, คุณภาพการช่วยเหลือของทีมงาน, และปัจจัยอื่นๆที่อาจจะเป็นความต้องการโดยเฉพาะของคุณครับ

สำหรับในโพสนี้ผมจะมาแนะนำผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปคุณภาพสูงที่เหมาะสำหรับการนำไปพิจารณาต่อไปครับ

ข้อควรทราบ: เรื่องความน่าเชื่อถือของโปรแกรมเหล่านี้นั้นเรียกได้ว่าเต็มร้อย เพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศพัฒนาแล้ว แถมทั้งหมดยังมีให้สร้างเว็บไซต์ฟรีก่อนด้วย คุณจึงไม่ต้องกลัวว่าชำระเงินไปแล้วจะได้เว็บที่มีคุณภาพตามที่ต้องการรึเปล่าครับ

ร้านค้าออนไลน์กับการใช้งานเว็บไซต์สำเร็จรูป

ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะสนใจการใช้เว็บสำเร็จรูปในการสร้างร้านค้าออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางในการขาย เพราะว่าใช้งานง่าย ไม่ต้องสนใจเรื่องการใช้ code ทำเว็บใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังมีทีมงานคอยให้คำปรึกษาอีกด้วย

อย่างไรก็ดีผมไม่แนะนำเท่าไรนัก เพราะเครื่องมือเหล่านี้มีเป้าหมายในการสร้างเว็บไซต์ให้ธุรกิจทั่วไป รูปแบบเว็บไซต์จึงไม่ได้ซับซ้อน ไม่ได้รองรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แถมฟีเจอร์ทางด้าน eCommerce ที่มีอยู่ก็จัดว่าน้อยมาก

ในระยะสั้นคุณอาจจะใช้ได้ แต่ถ้าธุรกิจคุณใหญ่ขึ้นแล้ว เว็บไซต์จะแสดงผลช้าลงมาก ซึ่งจะเป็นการทำให้ลูกค้าของคุณหนีเสียเปล่าๆ แถมบางเครื่องมือยังเก็บค่าใช้จ่ายต่อ Transaction ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่จำเป็น

ดังนั้นถ้าคุณเอาจริงเอาจังกับการตั้งร้านค้าออนไลน์ ผมแนะนำให้คุณใช้ WordPress หรือว่า CMS อื่นๆ ไปเลยจะสร้างเว็บไซต์ได้ดีกว่ามากในระยะยาวครับ

แต่ถ้าคุณต้องการมีเว็บไซต์ไว้เพื่อจุดประสงค์อย่างอื่น อย่างเช่นเพื่อให้ลูกค้าติดต่อมา หรือว่าเล่าถึงบริการของคุณคร่าวๆ เครื่องมือสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปเหล่านี้จะช่วยคุณเนรมิตเว็บไซต์ชั้นยอดได้ในเวลาไม่นานเลยครับ

1. PageCloud

PageCloud คือเครื่องมือสร้างเว็บสำเร็จรูประดับพรีเมียม ซึ่งมีฟีเจอร์ให้คุณใช้งานมากมาย แถมเว็บของคุณจะอยู่ใน Cloud Hosting อันดับ 1 อย่าง AWS อีกด้วย ดังนั้นบอกได้เลยว่าเว็บของคุณจะเร็วและแรง ยิ่งกว่าการเช่า Hosting ธรรมดาอย่างแน่นอนครับ

PageCloud หนึ่งในโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปชั้นยอด
PageCloud

เรามามาดูกันดีกว่าครับ Page Cloud จะมีฟีเจอร์อะไรบ้าง

การสร้างเว็บไซต์ – การเริ่มต้นใช้งานตัวโปรแกรมนั้นถือว่าง่ายมากๆ คุณไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากลงทะเบียนด้วยอีเมล์เสร็จแล้ว คุณก็เลือก template ของเว็บไซต์ตัวอย่างตามรูปด้านล่าง ซึ่งในส่วนนี้จะมีให้เลือกหลายสิบแบบด้วยกัน และมีความทันสมัยด้วย ไม่ใช่เว็บแบบยุคปี 2000 แน่นอน

อย่างไรก็ดีถ้าคุณเป็นเทพแห่ง Web Design หรืออยากออกแบบเอง คุณจะเริ่มต้นจากหน้าว่างๆ เลยก็ได้ครับ

เลือก template เพื่อนำมาสร้างเว็บไซต์ของเรา

อย่างผมเลือกตัวแรกเลย เพราะคิดว่าสวยดีครับ หลังจากเลือกได้แล้ว PageCloud จะใช้เวลาสร้างเว็บไซต์ตัวอย่างของเราสักพักหนึ่ง ในส่วนนี้จะใช้เวลา 15 วินาทีก็เรียบร้อยครับ คุณก็ได้ออกมาเป็นรูปด้านล่างที่พร้อมต่อการแก้ไขให้เป็นเว็บไซต์ของคุณ

หน้านี้จะมาพร้อมกับเครื่องมือ (ด้านซ้าย) ให้คุณได้เลือกสรรเพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของคุณ ในส่วนนี้ก็ไล่เปลี่ยนตามที่ชอบเลยครับ ในส่วนนี้ก็เปลี่ยนได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ตั้งแต่สี ฟ้อนต์ ตำแหน่ง การเปลี่ยนไม่ต้องใส่โค้ดอะไรนะครับ แค่กด Backspace ลบที่ Keyboard เนี่ยแหละครับ

อย่างด้านล่าง ผมเปลี่ยนบางส่วนของหน้าเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว

ถ้าขาดเหลืออะไร คุณก็สามารถเลือกมาใส่เพิ่มได้จากเครื่องมือทางด้านซ้าย เวลาจะใส่เพิ่มก็ง่ายมากครับ คุณก็แค่ดึงมาแล้วลากวาง เท่านั้นจบ อย่างด้านล่างผมลาก Video มาใส่เพิ่มในหน้า Homepage

เรื่องวางเบี้ยวใน Page Cloud นั้นไม่มีแน่นอนครับ เพราะมีฟีเจอร์ Smart Guides คอยช่วยเหลืออยู่ ทุกอย่างจะแนบตรงกันสนิท (ยกเว้นคุณจะปรับเองตามความต้องการ)

หลังจากนั้นคุณก็ทำแบบนี้ทุกๆ หน้าของเว็บไซต์ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าง่ายและเร็ว ทุกอย่างสะดวกสุดๆ ไม่ว่าใครก็สร้างเว็บไซต์ได้ครับ ผมการันตี 100%

Blog – คุณสามารถใส่ Blog คุณภาพสูงลงไปในเว็บไซต์คุณได้อย่างง่ายดาย แถมฟีเจอร์ในเรื่องการสร้าง Blog ยังมีอย่างครบครัน นอกจากนี้ถ้าคุณมีเว็บไซต์อยู่บน WordPress อยู่แล้ว คุณยังสามารถย้ายมายัง PageCloud ได้แบบอัตโนมัติ (โปรแกรมสร้างเว็บสำเร็จรูปบางตัวจะไม่สามารถทำได้)

SEO and Analytics – PageCloud รองรับการทำ SEO ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคุณสามารถ optimize เว็บไซต์ของคุณให้ติดอันดับของ Google ได้ไม่ยาก นอกจากนี้คุณยังสามารถใส่ Google Analytics เพื่อเก็บสถิติของผู้ใช้งานในเว็บไซต์อีกด้วย

Forms – อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ยอดเยี่ยมนั่นคือ คุณสามารถสร้างแบบฟอร์มและแนบไว้ในเว็บไซต์ของคุณ เพียงเท่านี้ผู้สนใจก็สามารถกรอกข้อมูลและให้คุณตอบกลับได้ คุณสามารถนำอีเมล์ของพวกเขาไปใช้ใน Email Marketing เพื่อเพิ่มยอดขายนั่นเองครับ

ราคาค่าบริการ

ด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลายที่ช่วยให้คุณเนรมิตเว็บสวยๆ และยังมี Performance ที่ดีเยี่ยม ค่าบริการของ PageCloud จึงจัดว่าสูงกว่าโปรแกรมเว็บไซต์สำเร็จรูปทั่วไปครับ

แพลนสมาชิกที่มีให้เลือกจะมีอยู่ 2 แบบได้แก่

  • Business – $20 หรือประมาณ 600 บาทต่อเดือน
  • Pro – $50 หรือประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน

ราคาด้านบนคือสำหรับการจ่ายเป็นรายปีนะครับ ถ้าเลือกจ่ายเป็นแบบเดือนต่อเดือน ราคาจะสูงกว่านี้ประมาณ 20%

สำหรับใครที่สนใจ ผมแนะนำแค่แพลน Business ก็เกินพอแล้วครับ เพราะทรัพยากรทุกอย่างอยู่ในแพลน Business เกือบหมดแล้ว (รวมถึงโดเมนฟรี การรองรับ SEO และการเชื่อมต่อไปยัง Software อื่นๆ อีกกว่า 100 ตัวด้วย) ซึ่ง PageCloud แทบไม่มีการจำกัดฟีเจอร์, ฺBandwidth และ Storage เหมือนกับเครื่องมือตัวอื่นครับ

แพลน Pro จะเพิ่มจำนวนเว็บไซต์ที่สร้างได้ และการช่วยเหลือของทีมงานที่จะช่วยคุณก่อนลูกค้าที่สมัครแพลน Business ซึ่งในส่วนนี้ผมมองว่าไม่จำเป็นเท่าไรนักครับ

2. Weblium

Weblium เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับใครที่กำลังหาเครื่องมือสร้างเว็บสวยๆ แบบสำเร็จรูปที่มีราคาไม่แพงจนเกินไป และมี template ให้เลือกมากมายถึง 250 แบบด้วยกันครับ

เนื่องจากการใช้งานต่างๆ จะคล้ายกับ PageCloud ผมจึงขออนุญาตไม่อธิบายซ้ำ โดยผมจะสรุปฟีเจอร์ต่างๆ โดยคร่าวๆ เท่านั้นครับ

Weblium

Drag and Drop Builder – สร้างเว็บสวยๆ โดยใช้เครื่องมือที่ใช้งานระบบ Drag & Drop ที่มีระบบ Smart Designer ควบคุมโดย AI ทำให้ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถออกแบบเว็บไซต์ที่สวยงามออกมาได้ ภายในเวลาไม่กี่นาที

เว็บไซต์ของคุณจะรองรับการทำ SEO, เป็นแบบ mobile-friendly (การใช้งานผ่าน smartphone ได้อย่างสะดวกสบาย) และโหลดไวครับ

Custom Forms – ออกแบบฟอร์มสวยๆ เพื่อใส่ในเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาสอบถาม เพื่อที่จะได้นำไปใช้ใน Email Marketing ต่อไป

Integrations – เช่นเดียวกับ PageCloud นั่นคือเว็บไซต์ของเราสามารถเชื่อมต่อกับ Software อื่นๆ อีกนับร้อยตัว รวมไปถึง Google Analytics อีกด้วย

ราคาค่าบริการ

Weblium มีแพลนหลักๆ อยู่ 3 แพลนได้แก่

  • Free (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ)
  • Pro ($8.25 หรือประมาณ 250 บาทต่อเดือน)
  • Landing Pro – $196 หรือประมาณ 5,880 บาทตลอดชีพ

ใน 3 แพลนนี้ผมแนะนำแพลน Pro ครับ เพราะว่าได้ครบทุกฟีเจอร์ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย ซึ่งจะต่างจากแพลนใช้ฟรีที่จะมี Ads และไม่สามารถใส่ Code ของ Google Analytics ได้อีกด้วย

ส่วนแพลน Landing Pro นั้นเหมาะจะใช้เฉพาะในการสร้าง Landing Page เท่านั้น ถ้าเอามาสร้างเว็บไซต์จะไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะจำกัดพื้นที่แค่ 150 MB ถ้าคุณใส่รูปลงไปในเว็บไซต์เยอะๆ หน่อย หรือสร้างหน้าบนเว็บไซต์หลายๆ หน้าก็เต็มแล้วครับ ต่างจากแพลน Pro ที่ไม่มีข้อจำกัดอย่างใด

3. Bookmark

Bookmark คือหนึ่งในผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดในตลาด เพราะในการสร้างเว็บไซต์ของ Bookmark จะใช้ AI ซึ่งจะสร้างเว็บไซต์ตามความต้องการของคุณภายในเวลาต่ำกว่า 2 นาที

ทั้งนี้เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นจาก AI (ชื่อ AiDA) จะโดดเด่นไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนกับเว็บไซต์สำเร็จรูปอื่นๆ ที่สร้างด้วย template ตัวเดียวกัน แล้วทำให้มีหน้าตาละม้ายคล้ายกันอย่างชัดเจนครับ ถ้าสงสัย ลองดู Intro ได้จากคลิป Youtube ด้านล่าง (กด play ได้เลยครับ)

วิธีการสร้างเว็บไซต์โดยใช้ AiDA นั้นง่ายมาก คุณแค่ใส่ข้อมูลลงไปว่าเว็บไซต์ของคุณเป็น theme ไหนเช่นเป็นเว็บไซต์โรงแรม ร้านอาหาร หรือรีวิวเครื่องสำอาง ฯลฯ อย่างด้านล่างผมเลือกทำเว็บไซต์อาหารอิตาเลียนครับ

ใส่ข้อมูลไปว่าจะทำเว็บไซต์ Italian Food ครับ

ถัดไปจะมีให้กรอกชื่อ และเลือกว่าคุณจะต้องการทำเว็บไซต์แบบที่มี Blog และมีร้านขายของแบบเว็บไซต์ e-commerce หรือไม่ ถ้าใช่ก็คลิก Yes ทั้งหมดครับ

หลังจากนั้นจะมีให้ใส่ข้อมูลธุรกิจของคุณคร่าวๆ (ที่อยู่ อีเมล์ เบอร์โทรศัพท์) เมื่อใส่เสร็จแล้ว ตัวโปรแกรมจะถามว่าคุณต้องให้เว็บไซต์ของคุณมี Layout แบบไหน อย่างแป้น Menu ควรจะอยู่ตรงไหน ในส่วนนี้คุณจะเลือกหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่เลือกก็กด No Preference ด้านล่างครับ

Site Layout

ต่อมาตัวโปรแกรมจะให้คุณเลือกรูปภาพสองรูป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ theme ของเว็บไซต์ อย่างของผมเลือกอาหารอิตาเลียนไปเพราะฉะนั้นจะมีรูปพิซซ่า พาสต้า ฯลฯ มาให้เลือกครับ จริงๆ รูปพวกนี้เลือกๆ ไปก่อนก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคุณเปลี่ยนได้อยู่ดี

Images

หลังจากนั้นโปรแกรมจะให้คุณเลือกสไตล์ เช่นเว็บไซต์สไตล์สว่าง (Bright) หรือ โมเดิร์น (Modern) เป็นต้น คำถามข้อนี้เป็นคำถามสุดท้ายแล้ว พอเลือกเสร็จ AI จะเริ่มการสร้างเว็บไซต์ให้กับคุณครับ

30 วินาทีต่อมา เว็บไซต์ของผมเสร็จเรียบร้อยครับ อย่างนี่คือหน้าตาเบี้องต้นของเว็บไซต์ที่ AI ของ Bookmark สร้างให้ ในส่วนนี้ถ้าคุณพอใจ คุณเริ่มแก้ไขข้อมูลได้ทันที แต่ถ้ายังไม่พอใจ คุณสามารถสั่งให้ AI สร้างใหม่ให้คุณครับ

ถ้าคุณพอใจแล้ว คุณเริ่มการ “Edit” ได้ทันที การ Edit ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยครับ ถ้าคุณต้องการอะไรเพิ่มก็แค่คลิกที่ “Modules” และลากสิ่งที่คุณต้องการลงมาบนเว็บไซต์ตัวอย่างของคุณด้านขวาครับ

ในส่วนที่เป็น Text สามารถลบทิ้งและเปลี่ยนเป็นภาษาไทยได้ทั้งหมด ขณะที่รูปภาพก็เปลี่ยนได้ตามใจชอบเช่นกัน โดยคุณสามารถใช้รูปทุกรูปและวีดิโอทุกคลิปในคลังของ Bookmark ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มครับ แต่ถ้าแก้ไม่เป็นทาง Bookmark มีบทความแนะนำให้คุณอ่านอย่างมากมายครับ

อย่างเช่นด้านล่าง ผมต้องการ Countdown Timer ผมก็ลากมาใส่ และย้ายปุ่ม Social Network ทั้งหลายไปด้านบนแทน พร้อมกับลบภาษาอังกฤษออก และเปลี่ยนเป็นภาษาไทย

หลังจากที่แก้จนพอใจแล้ว คุณก็คลิก Save และไปแก้หน้าอื่นต่อ (เว็บไซต์แน่นอนว่าต้องมีหลายหน้าครับ) เมื่อคุณพอใจทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็ถึงเวลา Publish เสียที และนี่แหละครับ ขั้นตอนที่ต้องเสียเงินมาถึงแล้ว

ราคาค่าบริการ

ระบบที่ Bookmark คิดราคาจะเป็นระบบสมาชิกรายเดือน โดยประกอบด้วย 3 แพลนได้แก่

  • Free
  • Professional (เริ่มต้นที่ $11.99 หรือประมาณ 360 บาทต่อเดือน)
  • Business (เริ่มต้นที่ $24.99 หรือประมาณ 750 บาทต่อเดือน)

แพลนแบบ Free ก็ฟรีจริงๆ แต่ทุกอย่างจะจำกัดมากครับ นั่นคือคุณจะได้พื้นที่แค่ 500 MB และ Bandwidth แค่ 1 GB ซึ่งน้อยมากทั้งคู่ แถมยังไม่มี Domain เป็นของตนเองด้วย ดังนั้นไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำเว็บไซต์แบบเป็นเรื่องเป็นราวครับ แต่ถ้าอยากลองทำเล่นๆ ในกรณีนี้ก็ไม่ว่ากัน

ส่วนแพลน Professional นั้นจะได้โดเมนเนม และ SSL (ทำให้เว็บไซต์เป็น https และเพิ่มความปลอดภัย) ฟรี และเว็บไซต์ของคุณจะใช้พื้นที่เท่าไรก็ได้เพราะไม่มีข้อจำกัด เช่นเดียวกับ Bandwidth นอกจากนี้ยังมี Backup ให้ทุกวันด้วย

สำหรับใครที่ยังไม่มีประสบการณ์ ภายในแพลนยังมีคอร์สออนไลน์สำหรับการสร้างเว็บไซต์และธุรกิจที่ประสบสำเร็จบนโลกออนไลน์แถมมาให้คุณเรียนด้วยครับ

ผมมองว่าแพลนนี้น่าสนใจดีในกรณีที่คุณต้องการเปิดเว็บไซต์เล็กๆ สำหรับธุรกิจหรือบริษัทของคุณ โดยมีไว้เพื่อให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ กับลูกค้าเท่านั้นครับ

ส่วนแพลน Business จะเน้นไปที่ฟีเจอร์ทั่วไปสำหรับเว็บไซต์ e-commerce ไม่ว่าจะเป็น Inventory Management, Discount Coupons, Shopping Cart ฯลฯ ทำให้คุณสร้างร้านค้าออนไลน์ของคุณได้อย่างไม่ยากเย็นเลยครับ

อย่างไรก็ดีถ้าคุณสนใจจะสร้างเว็บไซต์ e-commerce ผมมองว่ามีตัวเลือกที่ดีกว่ามาก (อ่านที่หัวข้อล่างสุดได้เลยครับ) ดังนั้นแพลนที่ผมแนะนำสำหรับเว็บไซต์ธุรกิจทั่วไปคือแพลน Professional ($12) ครับ

Bookmark Pricing

สำหรับใครที่ยังสงสัยในเรื่องของราคาและฟีเจอร์ของแต่ละแพลน ผมแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมที่ Bookmark Pricing ครับ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าราคาของ Bookmark จัดว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน หรือพูดง่ายๆ คือไม่ถูกไม่แพงครับ

ในส่วนของเรื่องทั่วไป Bookmark นั้นจะใช้บริการของ Amazon Cloud มา Host ตัวเว็บไซต์ของคุณ ดังนั้นคุณสามารถมั่นใจได้เลยว่าเว็บไซต์ของคุณจะโหลดเร็ว และเสถียรอย่างมากเลยครับ

นอกจากนี้ตัวเว็บไซต์จะเป็นแบบ responsive ด้วย หรือแปลว่าหน้าตาของเว็บไซต์จะแปรไปตามอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน (Desktop, Mobile, Tablet) และสุดท้ายคือตัวเว็บไซต์ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบที่พร้อมสำหรับการทำ SEO เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณได้อันดับดีๆ บน Google ครับ

ทั้งนี้ Bookmark ให้คุณใช้ AI ออกแบบเว็บไซต์ของตนเองได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (จะเสียก็ต่อเมื่อคุณจะ publish ให้คนนอกเห็นเท่านั้น)

รีวิว: Capterra 4.6/5.0, g2 – 4.8/5.0

4. Domain.com

Domain.com คืออีกทางเลือกที่สนใจสำหรับใครที่ต้องการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป และจดทะเบียนโดเมนเนมสวยๆ เพราะ Domain.com เป็น registrar ที่มี domain หลากหลายมากที่สุดในตลาดเลยครับ

วิธีสร้างเว็บไซต์ของ Domain.com ถือว่าง่ายมาก เพราะใช้ AI ในการสร้างเหมือนกับ Bookmark หรือว่าจะใช้ template ที่มีให้เลือกอยู่แล้วก็ได้ โดยหน้าตาของเว็บไซต์จะออกมาสวยงามไม่แพ้กัน

Domain.com

ทั้งนี้ตัวเว็บไซต์จะเป็นแบบ responsive และผ่านการทำ SEO Optimization มาอย่างเรียบร้อยครับ ดังนั้นเมื่อแก้ไขเว็บไซต์ที่ AI สร้างเสร็จแล้ว คุณสามารถ publish ตัวเว็บไซต์ได้ในทันที

ส่วนในเรื่องราคา Domain.com มี 3 ราคาต่อไปนี้

  • Starter ($1.99 หรือ 50 บาทต่อเดือน)
  • Business ($6.99 หรือ 210 บาทต่อเดือน)
  • eCommerce ($12.99 หรือ 390 บาทต่อเดือน)

สำหรับแพลน Starter ผมไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ เพราะคุณจะทำเว็บไซต์ได้เพียง 6 หน้าเท่านั้น ถ้าจะใช้งานจริงๆ ผมว่าใช้แพลน Business ดีกว่าเพราะว่าสร้างหน้าได้ไม่จำกัดและประกอบด้วยฟีเจอร์ต่อไปนี้

  • Free SSL
  • Website Analytics – ข้อมูลต่างๆ ของเว็บไซต์เพื่อให้คุณนำไปวิเคราะห์
  • Save Point/Back-Up – ถ้าเกิดปัญหาขึ้นกับเว็บไซต์ คุณจะสามารถย้อนกลับไปเวอร์ชันก่อนหน้าได้
  • Lead Capture Form – สร้างฟอร์มสำหรับให้ผู้เข้ามาเยือนสมัครเป็นผู้ติดตาม คุณจะได้ส่งอีเมล์ไปหาพวกเขาได้ครับ
  • Blog – เว็บไซต์ของคุณสามารถสร้าง Blog เพื่อเขียนบทความต่างๆ ได้
  • 24/7 Chat/Email Support – คุณสามารถติดต่อกับทาง Domain.com ได้อย่างง่ายดายถ้ามีปัญหาด้วยการใช้ Live Chat หรืออีเมล์

ทั้งนี้แพลนนี้ผมว่าคุ้มค่าดีสำหรับคนที่ทำเว็บไซต์สำหรับบริษัททั่วไป โดยที่ไม่ได้มีฟีเจอร์ e-commerce ใดๆ เพราะราคาอยู่ที่เดือนละ $7 ต่างกับคู่แข่งที่เริ่มต้นที่เดือนละ $12 ครับ แต่ข้อเสียคือไม่มีลองให้ใช้ฟรีนั่นเอง

ส่วนแพลน E-commerce แม้ว่าจะราคาถูกอย่างชัดเจน แต่ผมมองว่าฟีเจอร์และ Integration จำกัดมาก ไม่เหมาะกับการสร้างเว็บไซต์ e-commerce ในระยะยาวครับ

5. Wix

ถ้าพูดถึงวงการเว็บไซต์สำเร็จรูปแล้ว Wix คือผู้นำตลาดอย่างแท้จริง เพราะน่าจะเป็นผู้ให้บริการลักษณะนี้ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดแล้ว เพราะมีผู้ใช้บริการมากถึง 180 ล้านคนจาก 190 ประเทศทั่วโลกเลยครับ

ปัจจุบันการใช้ Wix สร้างเว็บไซต์มีด้วยกัน 2 วิธีด้วยกัน นั่นคือเลือก template ที่มีอยู่แล้วนำไปแก้ไข กับอีกแบบหนึ่งคือใช้ Wix ADI หรือ AI ของ Wix ในการสร้างเว็บไซต์

เนื่องจากแบบ Wix ADI ไม่ค่อยจะต่างกับ ฺBookmark เท่าไรนัก ผมจึงจะมาแสดงการสร้างเว็บไซต์ด้วยวิธีการเลือก template ครับ

ขั้นตอนแรกก็แน่นอนว่าคือการเลือก template

Wix Template

หลังจากเลือกได้แล้ว คุณเริ่ม Edit ได้ทันที โดยไม่มีขั้นตอนอะไรอื่นมาขวางครับ ในการ Edit ถ้ามีข้อสงสัยจะมี Guide ของ Wix คอยช่วยเหลือคุณตลอดครับ

อย่างด้านล่าง ผม Edit เว็บไซต์ที่ผมสร้างขึ้นจาก Wix (เว็บไซต์กินเที่ยว) อยากแก้อะไรก็แก้

พอจบขั้นตอนการแก้ไขตามความต้องการของคุณ เว็บไซต์ของคุณก็พร้อมที่จะใช้งานแล้วครับ

Wix นั้นให้คุณสร้างเว็บไซต์และ Edit ทุกอย่างได้ฟรี แต่ถ้าคุณจะ publish คุณจะต้องเสียเงิน โดยประกอบด้วยแพลนสองแบบหลักได้แก่

  • Website – สำหรับเว็บไซต์ธุรกิจหรือ Blog ทั่วไป
  • Business & eCommerce – สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์

ในส่วนของ e-commerce นั้น แม้ว่า Wix จะมีฟีเจอร์และ Integration ที่ดีและหลากหลายเป็นอันดับต้นๆ ของบรรดาเว็บไซต์สำเร็จรูป แต่ความหลากหลายเทียบไม่ได้กับ Shopify และ WordPress ดังนั้นผมจึงไม่แนะนำครับ เพราะฉะนั้นผมจึงขอให้พิจารณาเฉพาะแพลน Website เท่านั้นครับ

ราคาค่าบริการ

แพลน Website ยังมีราคาปลีกย่อยแยกต่อไปอีก โดยมี 4 แพลนย่อยได้แก่

  • Connect Domain ($4.50 หรือ 140 บาทต่อเดือน)
  • Combo ($8.50 หรือ 255 บาทต่อเดือน)
  • Unlimited ($12.50 หรือ 380 บาทต่อเดือน)
  • VIP ($24.50 หรือ 735 บาทต่อเดือน)

จากแพลนทั้งสี่ แพลนที่ใช้งานได้จริงคือ แพลน Unlimited ขึ้นไปครับ เพราะแพลนที่ต่ำกว่านั้นจำกัดทั้ง Bandwidth และ Storage อย่างมาก และแพลน Connect Domain ยังมีโฆษณาของ Wix ติดอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์ของคุณดูไม่เป็นมืออาชีพครับ

นอกจากนี้แพลน Unlimited ขึ้นไปยังมี Site Booster เพื่อช่วยให้ Search Engine เห็นเว็บไซต์ของคุณ และ Visitor Analytics เพื่อช่วยให้คุณทราบว่าผู้เข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณมาจากไหน และชมหน้าไหนบ้าง ซึ่งมีประโยชน์มากในการวิเคราะห์ครับ

ส่วนแพลน VIP จะเพิ่มการใช้งาน Logo Maker หรือสร้าง Logo สำหรับแบรนด์ของคุณ, เพิ่ม Storage เป็น 20 GB (จาก 10 GB ใน Unlimited) และได้รับ Customer Support แบบ VIP

ทั้งหมดนี้ผมว่าไม่คุ้มเท่าไรเพราะ

  • Logo คุณสามารถสร้างได้ฟรีโดยใช้ Canva
  • ถ้าคุณทำเว็บไซต์ธุรกิจธรรมดาไม่ได้มีข้อมูลอะไรมาก Storage ขนาด 10 GB นั้นเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมีแผนจะทำเว็บไซต์ที่มี content มากมาย และใช้ Storage เยอะๆ WordPress ก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

ดังนั้นผมจึงมองว่าแพลนแบบ Unlimited เป็นแพลนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับการใช้งาน Wix ครับ

รีวิว: g2 4.2/5.0, Capterra 4.3/5.0

6. Squarespace

Squarespace เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปที่มีแพลตฟอร์มอันแข็งแกร่งและมีฟีเจอร์มากมายให้คุณนำไปใช้สร้างเว็บไซต์ของคุณ โดยวิธีการสร้างจะเป็นการเลือก Template ซึ่งจะคล้ายคลึงกับ Wix ด้านบน ผมจึงขอไม่อธิบายซ้ำนะครับว่าทำอย่างไร

อย่างด้านล่างคือเว็บไซต์สไตล์ minimalist ที่ผมสร้างด้วย Squarespace ครับ ส่วนการแก้ไขก็สามารถทำได้จาก Toolbar ทางด้านซ้ายเหมือนเดิม จากที่ลองใช้ดูก็ถือว่าใช้งานสะดวกสบายครับ

ราคาค่าบริการ

ทั้งนี้ทาง Squarespace ให้คุณสร้างเว็บไซต์ทุกอย่างได้ฟรี แต่ถ้าจะ Publish จะต้องสมัครสมาชิก โดยจะประกอบด้วย 4 แพลนได้แก่

  • Personal (เริ่มต้นที่ $12 หรือ 360 บาทต่อเดือน)
  • Business (เริ่มต้นที่ $18 หรือ 540 บาทต่อเดือน)
  • Commerce (เริ่มต้นที่ $26 หรือ 780 บาทต่อเดือน)
  • Advanced Commerce (เริ่มต้นที่ $40 หรือ 1,200 บาทต่อเดือน)

แต่ละแพลนมีฟีเจอร์ที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของแพลน Commerce และ Advanced Commerce ถูกสร้างมาสำหรับการสร้างเว็บไซต์ e-commerce โดยเฉพาะ แต่ผมยังไม่แนะนำ เพราะว่าในปัจจุบัน Integration และฟีเจอร์ต่างๆ ยังยากที่จะเทียบกับ Shopify และ WordPress + Woocommerce นั่นเองครับ

ดังนั้นแพลนที่ผมแนะนำสำหรับเว็บไซต์ทั่วไปคือแพลน Personal หรือแพลนแรกสุดนี่แหละครับ เพราะในราคา $12 คุณจะได้

  • Free Custom Domain – ได้โดเมนเนมมาใช้งานฟรี
  • Unlimited Bandwidth and Storage – ไม่จำกัด Bandwidth และ Storage
  • SSL Security
  • Contributors – ใช้งานได้ 2 คน
  • SEO Features – ฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่ม SEO ทำให้ ranking บน Google ของคุณสูงขึ้น

เรียกว่าได้ว่าฟีเจอร์เพียงพอทุกอย่างสำหรับเว็บไซต์ธุรกิจทั่วไปครับ

ส่วนแพลน Business นั้นจะเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการแบบเว็บไซต์ที่ซับซ้อนขึ้น โดยจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานเป็นไม่จำกัด เพิ่มจำนวน Integration ที่สามารถใช้งานได้ รวมไปถึงการแก้ไขด้วย CSS และ JavaScript แบบเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ในแพลน Business คุณยังได้ professional email และ GSuite account เป็นเวลา 1 ปีโดยไม่เสียค่าบริการ แต่หลังจากนั้นจะต้องจ่ายเองครับ ซึ่งผมถือว่าช่วยมือใหม่ได้มากเลยครับ

รีวิว g2 4.4/5.0, Capterra 4.6/5.0

ข้อจำกัดในการสร้างเว็บไซต์ด้วยเว็บไซต์สำเร็จรูป

จริงอยู่ว่าคุณสามารถสร้างเว็บไซต์ e-commerce หรือ dropshipping ได้บนเว็บไซต์สำเร็จรูป แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่แนะนำครับ เพราะฟีเจอร์และ Integration จะจำกัดกว่าผู้ให้บริการสร้างเว็บไซต์ e-commerce เฉพาะทางอย่างเช่น Shopify หรือ CMS อย่าง WordPress มาก

ในช่วงแรกการสร้างร้านค้ากับเว็บไซต์สำเร็จรูปอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในระยะยาวที่ธุรกิจของคุณเติบโตจะอย่างแน่นอน เพราะจะเกิดปัญหาแบบ “เว็บไซต์คุณทำโน่นทำนี่ก็ไม่ได้ ติดข้อจำกัดโน่นนี่” สุดท้ายก็ต้องไปเริ่มที่อื่นอยู่ดีครับ ดังนั้นถ้าคุณจะสร้างเว็บไซต์ e-commerce จริงๆ ผมว่าเลือกใช้ Shopify หรือ WordPress เลยจะดีกว่าครับ

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของเว็บไซต์สำเร็จรูปคือ ถ้าคุณไม่พอใจในการบริการ คุณจะเปลี่ยนผู้ให้บริการยากมาก หรือแม้กระทั่งทำไม่ได้เลย ทำให้คุณต้องไปสร้างเว็บไซต์ใหม่ที่แพลตฟอร์มแห่งใหม่ ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่คิดว่าเว็บไซต์สำเร็จรูปจะเหมาะกับการทำ Blog ครับ ยกเว้นว่าคุณวางแผนว่า Blog ของคุณจะไม่ขยายใหญ่มากนัก และมีไว้ให้ข้อมูลลูกค้าของคุณเท่านั้น

แต่ถ้าคุณจะทำ Blog ที่ใหญ่โตจริงๆ ผมแนะนำว่าใช้ WordPress จะดีกว่าครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!