ชะตากรรมของครอบครัวโรมานอฟหลังจากการปฏิวัติตุลาคมอยู่ในมือของชายผู้นี้ เขาคือตัวตั้งตัวตีในการนำครอบครัวของซาร์นิโคลัสที่ 2 มาที่เมืองเยกาเตรินเบิร์ก และมีส่วนสำคัญยิ่งในการลิขิตชะตากรรมของพวกเขาและเธอที่บ้านอิปาตเยฟ
เขาเป็นผู้บงการในการสังหารครอบครัวโรมานอฟแทบทุกคน ตั้งแต่การสังหารแกรนด์ดยุคไมเคิลที่เปียม การสังหารครอบครัวโรมานอฟที่บ้านอิปาตเยฟ และการหลอกสมาชิกราชวงศ์หลายคนไปสังหารที่อลาปาเยฟส์ล้วนแต่ดำเนินตามคำสั่งของเขา
ชายผู้นี้คือ อเล็กซานเดอร์ เบโลบาโรดอฟ (Александр Георгиевич Белобородов)
ชีวิตนักปฏิวัติ
เบโลบาโรดอฟมีชีวิตเริ่มแรกไม่ต่างกับ โกโลเชคินอีกหนึ่งจอมบงการ และพวกมือสังหารอย่างยูรอฟสกี้
เขาเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจนในปี ค.ศ.1891 ครอบครัวของเขาเป็นชนชั้นแรงงานในเขตอูรัล พ่อแม่ของเขาเป็นแรงงานในโรงงาน ทั้งสองต้องทำงานหนักตลอดเวลาเพื่อนำเงินอันน้อยนิดมาเลี้ยงดูลูกๆ เบโลบาโรดอฟจึงสัมผัสถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมรัสเซียมาตั้งแต่เยาว์วัย
เมื่อเบโลบาโรดอฟโตพอที่จะทำงานได้ เขาจึงเรียนไปด้วยทำงานในโรงงานไปด้วย เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว เบโรบาโรดอฟทำงานหนักมาก แต่เขากลับสามารถเรียนได้อย่างดีเยี่ยม
ช่วงเวลาหลังวันอาทิตย์เลือดเป็นช่วงที่เบโลบาโรดอฟค้นหาตนเอง และพบว่าตนเองสนใจในอุดมการณ์การปฏิวัติหลังจากที่ได้อ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่ม เบโลบาโรดอฟเข้าร่วมพรรคสังคมนิยม RSDLP เมื่อยังอายุไม่ครบ 16 ปีดี ทำให้เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกที่หนุ่มที่สุดคนหนึ่งของพรรค
หลังจากที่เข้าพรรคแล้ว เบโลบาโรดอฟที่ทำงานเป็นช่างไฟไปด้วยก็ได้ช่วยหาผู้สนับสนุนให้กับพรรค เขาแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านรัฐบาลซาร์และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วหลายร่วมมือกับพรรคสังคมนิยม
การช่วยงานพรรคทำให้เบโลบาโรดอฟถูกจับกุมและเนรเทศไปยังไซบีเรียในปี ค.ศ.1908 ระหว่างที่อยู่ในการคุมขัง เบโลบาโรดอฟใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือ ทำให้ตัวเขาเป็นผู้ที่มีความรู้ดีคนหนึ่ง
เบโลบาโรดอฟถูกคุมขังอยู่สี่ปี หลังจากพ้นโทษ เขากลับมาทำงานเป็นช่างไฟฟ้าเหมือนเดิม แต่อีกทางหนึ่งก็ช่วยงานพรรคสังคมนิยมด้วย เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งม็อบเพื่อต่อต้านรัฐบาล ทำให้สุดท้ายเขาโดนจับกุม และได้รับโทษเนรเทศตามเดิม
เมื่อการปฏฺิวัติกุมภาพันธ์เริ่มต้นขึ้น เบโลบาโรดอฟได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการปลดอาวุธตำรวจของรัฐบาลซาร์ในบริเวณเขตอูรัลที่เขาอาศัยอยู่ ต่อมาหลังจากการปฏฺิวัติตุลาคมที่เลนินชิงอำนาจได้สำเร็จ เขาก็ได้ตำแหน่งเป็นถึงประธานคณะกรรมาธิการบริหารแห่งเขตอูรัล หรือตำแหน่งสูงสุดของพวกบอลเชวิคในแถบนั้น
จอมบงการ
เบโลบาโรดอฟเป็นตัวการสำคัญในการงัดข้อกับคอมมิสซาร์พิเศษที่ส่งมาจากมอสโกอย่างยาคอฟเลฟ เขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ครอบครัวซาร์เดินทางมายังเยกาเตรินเบิร์กให้จงได้ ตัวเขาเองก็เป็นคนเตรียมบ้านอิปาตเยฟให้เป็นบ้านแห่งจุดประสงค์พิเศษ (House of Special Purpose)
นอกจากครอบครัวของซาร์นิโคลัสที่ 2 แล้ว เบโลบาโรดอฟยังมีเชื้อพระวงศ์โรมานอฟที่อยู่ในการควบคุมหลายคน อาทิเช่น แกรนด์ดยุคไมเคิล และ แกรนด์ดัชเชสเอลลา
เชื้อพระวงศ์โรมานอฟคนแรกที่เบโลบาโรดอฟสั่งให้กำจัดคือแกรนด์ดยุคไมเคิลที่พำนักอยู่ที่เปียม (Perm) โดยไมเคิลถูกนำตัวไปยิงทิ้งที่ป่าข้างเมือง ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีการค้นหาอย่างละเอียด แต่ศพของไมเคิลกลับยังไม่ถูกพบว่าอยู่ที่ใด
เชื่อกันว่าเบโลบาโรดอฟพยายามจะ “ทดสอบ” ดูว่าการสังหารไมเคิลทำให้เกิดผลกระทบอันเลวร้ายหรือไม่ เขาจะได้จัดการกับครอบครัวของนิโคลัสเป็นลำดับต่อไป
หลังจากการสังหารไมเคิล เบโลบาโรดอฟกลับให้ออกประกาศว่าไมเคิลหลบหนีไปได้ และใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการคุมขังเชื้อพระวงศ์โรมานอฟที่เหลือให้เข้มงวดมากกว่าเดิม
ไม่กี่เดือนต่อมา เบโลบาโรดอฟลงนามให้สังหารครอบครัวโรมานอฟที่เยกาเตรินเบิร์ก เขาได้สั่งให้นายแพทย์คนหนึ่งในเมืองเตรียมกรดซัลฟัวริกจำนวนมากไว้ล่วงหน้า และอนุญาตให้โกโลเชคินไปสั่งยูรอฟสกี้ให้ดำเนินการได้
ระหว่างการสังหารครอบครัวโรมานอฟที่ห้องใต้ดิน เบโลบาโรดอฟไม่ได้เดินทางมาที่บ้านอิปาตเยฟเหมือนกับโกโลเชคิน เพราะในเวลานั้นเขากำลังวุ่นวายอยู่กับการหลบหนีกองทัพของพวกเช็กที่กำลังใกล้เข้ามา
เพียงวันเดียวหลังจากที่นิโคลัสและครอบครัวถูกสังหาร เบโลบาโรดอฟลงนามในคำสั่งลับให้สังหารเชื้อพระวงศ์โรมานอฟที่ถูกคุมขังที่อลาปาเยฟส์ทั้งหมด
ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่าเบโลบาโรดอฟเป็นจอมบงการอันดับหนึ่งในการสังหารครอบครัวโรมานอฟเลยก็ว่าได้ เพราะโกโลเชคินไม่มีบทบาทใดๆ ในการสังหารคนอื่นๆ นอกจากครอบครัวซาร์ที่เยกาเตรินเบิร์ก
เมื่อยูรอฟสกี้ส่งมอบทรัพย์สินของครอบครัวโรมานอฟให้กับคณะกรรมาธิการอูรัล เบโลบาโรดอฟฉวยโอกาสที่ตนเองเป็นประธานคณะกรรมาธิการฉกฉวยทรัพย์สินบางส่วนไปเป็นของตนเอง หลังจากนั้นเขาก็รีบหนีไปจากเมือง เพราะกองทัพเช็กมาถึงแล้ว
รุ่งโรจน์และตกต่ำ
เบโลบาโรดอฟได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางของพวกบอลเชวิคในปี ค.ศ.1919 และเคยถูกวางตัวให้สืบทอดตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการบริหารกลางที่เคยเป็นของสเวียตลอฟด้วย แต่สุดท้ายเขาก็แห้วไป
ในปีเดียวกัน เบโลบาโรดอฟถูกส่งตัวจากมอสโกไปจัดการพวกกบฏทางตอนใต้ของรัสเซีย เขาจัดการกับพวกกบฏอย่างเหี้ยมโหด และยังโหดร้ายกับพวกชาวเมืองอีกด้วย
หลังจากเลนินเสียชีวิต พรรคคอมมิวนิสต์แบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน นั่นก็คือกลุ่มที่สนับสนุนสตาลิน และกลุ่มที่สนับสนุนทรอตสกี้ เบโลบาโรดอฟสนิทสนมและให้การสนับสนุนทรอตสกี้ ทำให้เขาเป็นหนึ่งในศัตรูที่สตาลินต้องการจะกำจัด
แต่ไหนแต่ไรมา เบโลบาโรดอฟเป็นคนชอบประจบประแจงและเลียแข้งเลียขาเจ้านายของเขา ทำให้เขาได้รับมอบรางวัลอันทรงเกียรติและหน้าที่สำคัญๆหลายอย่าง เมื่อเขาได้สิ่งเหล่านี้ เบโลบาโรดอฟจึงหยิ่งผยองและเชื่อมั่นในอิทธิพลของตนเองในพรรคอย่างมาก เขาไม่เชื่อว่าตนเองจะสามารถตกกระป๋องได้
ความกร่างของเบโลบาโรดอฟเห็นได้จากการที่เขาพยายามเชิดชูตัวเองว่าเป็น “โบนาปาร์ตแห่งอูรัล” และสั่งให้ช่างศิลป์วาดภาพยกยอตนเองว่าเป็นผู้กำจัดราชวงศ์โรมานอฟ เนื่องในโอกาสที่การปฏิวัติตุลาคมจะครบรอบ 10 ปีในปี ค.ศ.1927
หากแต่ว่าเบโลบาโรดอฟไม่รู้เลยว่าศัตรูของเขานั้นไม่ธรรมดา
สตาลินประสบความสำเร็จในการกำจัดทรอตสกี้ เจ้านายเหนือหัวของเบโลบาโรดอฟออกจากพรรคในปี ค.ศ.1927 เบโลบาโรดอฟก็ถูกขับออกจากพรรคด้วยเช่นกัน และถูกเนรเทศไปยังไซบีเรีย แต่ทว่าเขาพ้นโทษและได้รับการรับกลับเข้าพรรคในปี ค.ศ.1930
อิทธิพลของเบโลบาโรดอฟในพรรคไม่เคยกลับคืนสู่ที่เดิม ชีวิตทางการเมืองของเขาต่ำต้อยลงทุกที เพราะตราบใดที่สตาลินยังอยู่ เบโลบาโรดอฟไม่มีวันกลับมาเกิดใหม่ได้
สตาลินพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อทำให้ศัตรูการเมืองของเขาอัปยศมากที่สุด เขาส่งเบโลบาโรดอฟลงไปปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าของออฟฟิศของกรมการเกษตรในเมืองรอสตอฟ หน้าที่ของเขาคือรวบรวมผลผลิตการเกษตรจากพวกชาวบ้านให้กับรัฐบาล และคอยซื้อเนื้อสัตว์จากชาวบ้าน
หรือพูดง่ายๆ เบโลบาโรดอฟกลายเป็นเจ้าหน้าที่การเกษตรเท่านั้นเอง!
กฎแห่งกรรมทำงาน
หากแต่ว่างานนี้ไม่ได้ช่วยให้เบโลบาโรดอฟรอดชีวิตไปได้
เบโลบาโรดอฟเป็นเหยื่อรายแรกๆ ของสตาลินในการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง เขาถูกตำรวจลับจับในข้อหาติดต่อกับพวกนิยมทรอตสกี้ เบโลบาโรดอฟถูกสอบสวนอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังคงไม่ยอมรับสารภาพ เขากลับโจมตีเพื่อนของเขาเพื่อที่จะเอาตัวรอดและให้สตาลินเห็นว่าตัวเขาบริสุทธิ์
การกระทำอันขี้ขลาดของเบโลบาโรดอฟทำให้สตาลินโกรธมาก หกเดือนหลังจากที่เบโลบาโรดอฟถูกจับกุม สตาลินส่งจดหมายไปหาเยชอฟ ผู้บังคับบัญชาตำรวจลับว่า
เยชอฟ คุณอาจจะคิดว่าสำหรับเบโลบาโรดอฟแล้ว คุกเป็นโพเดียมในการกล่าวสุนทรพจน์ เขากล่าวแต่เรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะบีบชายผู้นี้และให้เขาพูดเรื่องการกระทำชั่วๆ ของเขากระนั้นหรือ? เขาอยู่ที่ไหน ในคุกหรือในโรงแรม?
จดหมายของสตาลินแสดงให้เห็นว่าเขาโกรธมากที่เมื่อเบโลบาโรดอฟถูกสอบสวน เขาเอาแต่โจมตีผู้อื่นและหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องตนเอง สตาลินจึงเสียดสีพวกตำรวจลับกลายๆ ว่าใจดีกับเบโลบาโรดอฟเกินไปจนดูเหมือนกับว่าเบโลบาโรดอฟอยู่ในโรงแรม และบอกใบ้ว่าให้พวกตำรวจลับ “บีบ” เบโลบาโรดอฟได้แล้ว
เมื่อสตาลินสั่งเช่นนั้น พวกตำรวจลับจึงทรมานเบโลบาโรดอฟอย่างรุนแรงเพื่อให้รับสารภาพ เพื่อนร่วมคุกของเขาเล่าว่าเบโลบาโรดอฟตะโกนว่า
ฉันคือเบโลบาโรดอฟ!! บอกคณะกรรมาธิการกลางว่าฉันกำลังถูกทรมาน
เยชอฟรีดข้อมูลจากเบโลบาโรดอฟมาได้สำเร็จ และได้ “หลักฐาน” เพียงพอที่จะเอาผิดเขา เบโลบาโรดอฟจึงถูกนำตัวไปยิงเป้าในปี ค.ศ.1938
ศพของเบโลบาโรดอฟถูกนำไปเผาและฝังในสุสานที่ไม่มีการระบุนาม ซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกับที่เขาทำกับครอบครัวโรมานอฟ ไม่กี่เดือนต่อมาภรรยาของเขาก็ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน เธอถูกจับกุมในข้อหาเดียวกับเบโลบาโรดอฟและถูกนำตัวไปยิงเป้า
กฎแห่งกรรมได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว
เรื่องนี้เป็นส่วนเสริมของเรื่อง วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ
Sources:
- Вопросительные знаки в «Царском деле»
- Conquest, The Great Terror.
- Suny, Stalin and his Stalinism: Power and Authority in the Soviet Union