ประวัติศาสตร์ยุทธนาวีแห่งทะเลสาบโป๋หยาง การต่อสู้ชี้ขาดของ "จูหยวนจาง"

ยุทธนาวีแห่งทะเลสาบโป๋หยาง การต่อสู้ชี้ขาดของ “จูหยวนจาง”

ยุทธนาวีแห่งทะเลสาบโป๋หยาง (Battle of Lake Poyang) เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ศึกครั้งนี้เป็นการชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้ชนะแห่งสงครามกลางเมืองด้วย

จูหยวนจาง หนึ่งในขุนศึกหลักในการแย่งชิงอำนาจสามารถมีชัยเหนือเฉินโหย่วเลี่ยง ผู้ปรับที่สำคัญที่สุดได้ในยุทธนาวีครั้งนี้ ผลที่ตามมาคือจูหยวนจางได้รวบรวมภาคใต้ให้เป็นหนึ่งและขับไล่ราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลออกไปได้สำเร็จ

ยุทธนาวีครั้งนี้เป็นการต่อสู้ทางเรือครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน และใหญ่กว่าศึกเซ็กเพ็กในยุคสามก๊ก (ที่แต่งเติมเยอะ) เป็นอย่างมาก

ทะเลสาบโป๋หยาง By 武铁辆玻 – , CC BY-SA 2.0,

ปูมหลัง

ชาวจีนฮั่นได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลในปี ค.ศ.1351 การกบฏแพร่กระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ราชสำนักมองโกลไม่สามารถปราบปรามพวกกบฏได้ ภาคใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงจึงอยู่ในมือของพวกกบฏทั้งหมด

อย่างไรก็ดีพวกกบฏไม่ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่ง แต่ละกลุ่มมีผู้นำเป็นของตนเอง ผู้นำแต่ละคนล้วนแต่ต้องการจะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ทั้งสิ้น ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงสู้รบแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน และไม่ได้ร่วมมือกันโจมตีพวกมองโกลแต่อย่างใด

หนึ่งในผู้นำพวกกบฏที่แข็งแกร่งที่สุดคือ จูหยวนจาง ผู้มีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อย แต่มีสติปัญญาเหนือคนสามัญ จูหยวนจางเล็งเห็นว่าเมืองนานกิง (หนานจิง) เป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญที่ควรตั้งเป็นเมืองหลวง เขาจึงตั้งเมืองหลวงของดินแดนในปกครองขึ้นที่นี่ และตั้งชื่อแคว้นว่า “หมิง”

การที่จูหยวนจางตั้งตัวที่เมืองหนานจิงทำให้เขาอยู่ในวงล้อมของสองขุนศึกชาวฮั่นคนสำคัญอย่าง เฉินโหย่วเลี่ยงและจางซื่อเฉิง เฉินโหย่วเลี่ยง ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งฮั่นเห็นอำนาจของจูหยวนจางเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงตน เขาจึงประกาศตัวเป็นศัตรูกับจูหยวนจาง

เฉินโหย่วเลี่ยงพยายามส่งกองทัพเข้าตีเมืองหนานจิง เมืองหลวงของฝ่ายหมิง แต่ไม่เป็นผล เพราะจูหยวนจางต้านทานไว้ได้อย่างเข้มแข็ง และผลักดันกองทัพศัตรูออกไปได้สำเร็จ

ในปี ค.ศ.1363 เฉินโหย่วเลี่ยงปรารถนาจะทำสงครามให้รู้แพ้รู้ชนะ เขานำกองทัพเรือหมดทั้งแคว้นออกมาเผชิญศึกกับจูหยวนจาง กองทัพของเฉินโหย่วเลี่ยงมีเรือหลายร้อยลำ และทหารมากถึง 650,000 คน

กองทัพต้าฮั่นมุ่งหน้ามายังเมืองหนานชาง เมืองหน้าด่านสำคัญของฝ่ายหมิง กองเรือฝ่ายฮั่นจอดเรียงรายเต็มทะเลสาบโป๋หยางเต็มไปหมด แถมตัวเรือยังสูงมากถึงขนาดส่งกำลังเข้าตีเมืองได้อีกด้วย ทำให้เรือฝ่ายฮั่นเหมือนกับป้อมปราการลอยน้ำเลยทีเดียว

สงครามเริ่มต้น

กองทัพฝ่ายฮั่นเริ่มเข้าตีหนานชางอย่างไม่ลดละ แต่ทหารหมิงใช้อาวุธเพลิงระดมยิงเข้าใส่ทำให้ทหารฮั่นยังเข้าเมืองไม่ได้ เฉินโหย่วเลี่ยงจึงสั่งให้ล้อมเมืองไว้อย่างแน่นหนา โดยไม่ให้ใครสักคนออกมานอกกำแพงเมืองได้

อย่างไรก็ดีทหารหมิงบางนายกลับหนีออกไปจากที่ล้อมได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้จูหยวนจางที่หนานจิงทราบข่าวศึก เขาสั่งให้เตรียมกองทัพขนาดใหญ่ไปเผชิญศึกเช่นเดียวกัน แต่ทหารหมิงมีน้อยกว่าทหารฮั่นมาก เพราะรวมทั้งหมดแล้วมีเพียง 200,000 นายเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะทหารหมิงที่เจนศึกกำลังต่อสู้กับจางซื่อเฉิงอยู่อีกด้านหนึ่ง

นอกจากนี้เรือฝ่ายหมิงเองก็เล็กกว่าฝ่ายฮั่นด้วย ทำให้ฝ่ายหมิงเสียเปรียบอย่างมากทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์

อย่างไรก็ดีจูหยวนจางได้สั่งให้เตรียมอาวุธเพลิงทุกชนิดเท่าที่จะหาได้ เพราะเขารู้ดีว่าการสู้รบทางเรือ “ไฟ” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ฝ่ายเฉินโหย่วเลี่ยงเห็นกองทัพหมิงมาถึง เขาสั่งให้กองทัพเตรียมการเข้าโจมตีทันที เพราะในช่วงนั้นเป็นฤดูร้อน น้ำในทะเลสาบลดลงไปทุกที ถ้าเขามัวแต่รีรอ เรือขนาดยักษ์ของเขาอาจจะเกยตื้น และเป็นเหยื่ออันโอชะให้กับอาวุธเพลิงของฝ่ายหมิงได้

ในวันที่ 30 สิงหาคม กองทัพหมิงเดินทัพมาถึงทะเลสาบโป๋หยาง และเข้าปะทะกับฝ่ายฮั่น ฝ่ายหมิงที่มีเรือเล็กกว่ากลับได้เปรียบ เพราะมีความคล่องตัวสูง จูหยวนจางได้สั่งให้ทหารนำเรือเข้าไปใกล้เรือฝ่ายฮั่นให้มากที่สุด และใช้อาวุธเพลิงเผาเรือของศัตรู

อย่างไรก็ดีฝ่ายฮั่นก็ได้ตอบโต้ด้วยการส่งเรือเข้าโจมตีเรือธงของจูหยวนจาง ทำให้จูหยวนจางตกอยู่ในอันตราย กองเรือหมิงต้องรีบนำกำลังมาช่วยเหลือจูหยวนจางออกไปได้

การต่อสู้ดำเนินไปอย่างรุนแรงตลอดทั้งวัน ฝ่ายหมิงเผาเรือของฝ่ายฮั่นได้ถึงยี่สิบลำ แต่ต้องเสียเรือธงแม่ทัพไปเพราะถูกโจมตีอย่างดุเดือดจนเรือธงเกยตื้น

บดขยี้ศัตรู

เมื่อการสู้รบผ่านไป สถานการณ์เริ่มปรากฏชัดว่าเรือลำเล็กของฝ่ายหมิงเป็นประโยชน์มาก เพราะคล่องตัวกว่าและเร็วกว่า

ในวันรุ่งขึ้นฝ่ายหมิงส่งเรือไฟเข้าโจมตีฝ่ายฮั่น เรือไฟเหล่านี้คือเรือลำเล็กที่ชาวบ้านใช้ทั่วไป แต่จูหยวนจางสั่งให้บรรจุฟางและไม้แห้งให้มากที่สุด แล้วจึงจุดไฟเพื่อให้กระแสน้ำพาพวกมันไปยังกองเรือฝ่ายฮั่น

กองเรือฝ่ายฮั่นใหญ่เทอะทะ และน้ำก็ตื้นด้วย ทำให้ยากที่จะหลบหลีกได้ เรือไฟจึงจมเรือฝ่ายฮั่นไปหลายสิบลำ พร้อมกับทหารฮั่นจำนวนมากมาย ฝ่ายฮั่นที่มีกำลังมากกว่ากลับถูกฝ่ายหมิงกดดันเข้าไปทุกที

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ทั้งสองฝ่ายก็ปะทะกันอีก เฉินโหย่วเลี่ยงสั่งให้เรือที่เหลืออยู่จัดกระบวนรบแบบแยกกันเพื่อป้องกันเรือไฟ จูหยวนจางจึงส่งกองเรือเข้ารุมตีเรือฝ่ายฮั่นที่อยู่ห่างกันทีละลำ ทำให้กองเรือฮั่นเสียหายหนักมาก

ช่วงเวลานั้นเองกองทัพหมิงได้ทำลายกองทัพบกของเฉินโหย่วเลี่ยงที่ล้อมหนานชางอยู่ได้อย่างเด็ดขาด ทำให้เฉินโหย่วเลี่ยงเหลือแต่กองทัพเรือเท่านั้น

อย่างไรก็ดีด้วยความไม่ประมาท จูหยวนจางได้สั่งให้กองทัพเรือผละการปะทะและซ่อมแซมเรือที่ได้รับความเสียหาย แต่ให้กองเรือส่วนหนึ่งตรึงเฉินโหย่วเลี่ยงไว้ไม่ให้เขาถอนกำลังกลับอาณาจักรฮั่นไปได้

ผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน ในวันที่ 4 ตุลาคม กองทัพของเฉินโหย่วเลี่ยงพยายามจะตีฝ่าการสกัดของจูหยวนจาง กองทัพหมิงจึงเข้าโจมตีตอบโต้ด้วยการใช้เรือไฟ

ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างชุลมุน กองเรือหมิงทำลายเรือฝ่ายฮั่นได้หลายสิบลำ ฝ่ายฮั่นกำลังจะพินาศย่อยยับ ระหว่างนั้นเอง เรื่องน่าเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น

เฉินโหย่วเลี่ยงถูกลูกธนูที่ยิงสุ่มมาเข้าที่ศีรษะ ทำให้เขาสิ้นชีวิตทันที เมื่อสิ้นแม่ทัพ กองทัพฮั่นจึงแตกกระเจิงไปคนละทิศละทาง ชัยชนะครั้งใหญ่เป็นของฝ่ายหมิงโดยสมบูรณ์

ผลที่ตามมา

ความพ่ายแพ้ของเฉินโหย่วเลี่ยงทำลายความเข้มแข็งของฝ่ายฮั่นไปจนหมด จูหยวนจางจึงเข้าโจมตีอาณาจักรฮั่นและผนวกดินแดนทั้งหมดของเฉินโหย่วเลี่ยงโดยสมบูรณ์

เมื่อผนวกดินแดนของเฉินโหย่วเลี่ยงเข้ามาแล้ว ทำให้จูหยวนจางและฝ่ายหมิงกลายเป็นเสือติดปีก หลังจากนั้นไม่นานกองทัพหมิงก็เข้าทำลายอาณาจักรโจวของจางซื่อเฉิง และยกทัพขึ้นเหนือขับไล่พวกมองโกลออกไปได้เป็นผลสำเร็จ

ความสำเร็จของจูหยวนจางทำให้เขาสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์หมิง นามว่า “หมิงไท่จู่”

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!