ประวัติศาสตร์ยุทธการแห่งอิปซัส ศึกชี้ขาดผู้สืบทอดของ "อเล็กซานเดอร์มหาราช"

ยุทธการแห่งอิปซัส ศึกชี้ขาดผู้สืบทอดของ “อเล็กซานเดอร์มหาราช”

อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) เป็นกษัตริย์มาซิโดเนียผู้ยิ่งใหญ่ อเล็กซานเดอร์มีชัยเหนืออาณาจักรเปอร์เซียและได้รุกรานอินเดีย อย่างไรก็ดีความฝันที่จะครอบครองโลกของเขาไม่เป็นผล เพราะอเล็กซานเดอร์ล่วงลับไปเสียก่อนที่กรุงบาบิโลนในปี 321 BC (ก่อนคริสตกาล 323 ปี)

เชื่อกันว่าก่อนที่อเล็กซานเดอร์จะล่วงลับ เขาได้กล่าวว่าจะยกจักรวรรดิให้กับผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด ดังนั้นพวกแม่ทัพนายกองของเขาจึงแบ่งจักรวรรดิกันเป็นส่วนๆ และสู้รบปรบมือกันอย่างรุนแรง

ในปี 301 BC การสู้รบมาถึงจุดชี้ขาดที่อิปซัส (Ipsus) เมืองเล็กๆ ในเอเชียไมเนอร์

ปูมหลัง

การสวรรคตของอเล็กซานเดอร์มหาราชทำให้พวกแม่ทัพแบ่งอาณาจักรมาซีโดเนียออกเป็นหลายส่วน และสัประยุทธ์กัน ในช่วงเวลานี้นักประวัติศาสตร์กรีกเรียกว่าสงครามของผู้สืบทอดหรือ War of the Diadochi

พวกผู้สืบทอดต่อสู้กันไปเรื่อย จนกระทั่งเหลืออาณาจักรที่แย่งชิงความเป็นใหญ่กัน 5 แห่งได้แก่

  • แอนติโกนัส ผู้มีตาเดียว (Antigonus the One-eyed) ครอบครองดินแดนเอเชียไมเนอร์และ the levant ทั้งหมด รวมไปถึงเอเธนส์และตอนใต้ของกรีซ (ยกเว้นสปาร์ตา)
  • เซลิวคัส (Seleucus) ครอบครองดินแดนเปอร์เซียทั้งหมด
  • โตเลมี (Ptolemy) ครอบครองดินแดนอียิปต์ทั้งหมด
  • แคสซานเดอร์ (Cassander) ครอบครองดินแดนมาซีโดเนียและส่วนใหญ่ของกรีซ
  • ไลซีมาคัส (Lysimachus) ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของ Thrace

ในปี 314 BC แอนติโกนัสปะทะกับพันธมิตรโตเลมี แคสซานเดอร์ และไลซีมาคัส แม้ว่าจะถูกรุม 3 ต่อ 1 แต่พันธมิตรกลับไม่สามารถเอาชนะแอนติโกนัสได้ ทั้งสองฝ่ายจึงเจรจาสงบศึกกัน

การที่แอนติโกนัสสามารถต้านทานพันธมิตรที่ต่อต้านตนไว้ได้ ทำให้ฐานอำนาจของเขาแข็งแกร่งขึ้น แอนติโกนัสจึงเหิมเกริมไปรุกรานอาณาจักรของเซลิวคัส แต่ปรากฏว่าเซลิวคัสตีกองทัพแอนติโกนัสแตก แอนติโกนัสจึงเสียดินแดนจำนวนมากให้กับเซลิวคัสเพื่อเป็นข้อตกลงสงบศึก

เซลิวคัส By Unknown CC BY-SA 2.0 it,

หลังจากพ่ายแพ้ แอนติโกนัสหันไปต่อสู้กับโตเลมีที่ฉวยโอกาสรบกวนพรมแดนของตนระหว่างที่แอนติโกนัสทำศึกกับเซลิวคัส แอนติโกนัสสามารถตีกองทัพอียิปต์ของโตเลมีแตก และส่งกองทัพเข้าตีดินแดนของแคสซานเดอร์ พันธมิตรของโตเลมีในกรีซด้วย

กองทัพของแอนติโกนัสเอาชนะแคสซานเดอร์ได้อย่างง่ายดาย และได้เมืองในกรีซเป็นจำนวนมาก อำนาจของแอนติโกนัสจึงกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง แคสซานเดอร์พยายามขอเจรจาสงบศึกแต่แอนติโกนัสบังคับว่าแคสซานเดอร์ต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น แคสซานเดอร์จึงไม่สามารถตกลงกับแอนติโกนัสได้ ทำให้สงครามดำเนินต่อไป

ทั้งแคสซานเดอร์และไลซีมาร์คัส พันธมิตรของเขาพยายามตีตอบโต้แอนติโกนัส แต่ทั้งสองกลับไม่สามารถเอาชนะแอนติโกนัสได้ เซลิวคัสเองก็อยู่ไกลถึงอินเดียเพราะกำลังปะทะกับจันทรคุปต์แห่งอาณาจักรเมารยะอยู่ แอนติโกนัสจึงควบคุมทุกอย่างทุกอย่างในสมรภูมิด้านนี้ไว้ทั้งหมด และคงจะบดขยี้ทั้งแคสซานเดอร์และไลซีมาร์คัสในไม่ช้า

สถานการณ์ดูเหมือนว่ามีเซลิวคัสคนเดียวที่สามารถเอาชนะแอนติโกนัสได้ ไลซีมาร์คัสจึงน่าจะส่งทูตไปขอให้เซลิวคัสมาช่วยเหลือ ด้วยเหตุนี้เซลิวคัสสงบศึกกับจันทรคุปต์และนำกองทัพมุ่งหน้ากลับมายังทิศตะวันตกเพื่อสนับสนุนไลซีมาร์คัส

สถานการณ์ก่อนยุทธการแห่งอิปซัส

ในปี 301 BC กองทัพหลวงของเซลิวคัสก็มาถึงและสมทบกับกองทัพพันธมิตรของไลซีมาร์คัสและแคสซานเดอร์ที่รออยู่แล้ว กำลังของกองทัพพันธมิตรมีทหารราบทั้งหมด 64,000 นาย ทหารม้า 15,000 นาย และมีช้างศึกประมาณ 500 เชือกที่เซลิวคัสขอมาจากจันทรคุปต์ด้วย กำลังทหารราบส่วนใหญ่เป็นแบบกรีกที่ต่อสู้โดยใช้กระบวนทัพแบบเฟแลงซ์ (Phalanx) หรือกองทหารราบถือหอกยาว

ขณะเดียวกันกองทัพฝ่ายแอนติโกนัสก็พร้อมแล้วเช่นกัน แอนติโกนัสเองก็ต้องการจะบดขยี้ศัตรูทั้งหมดไปในคราวเดียว เขารู้ว่าถ้าเขาเป็นฝ่ายชนะในยุทธการครั้งนี้ แคสซานเดอร์และไลซีมาร์คัสน่าจะต้องยอมแพ้ เพราะความหวังสุดท้ายของพวกเขาคือเซลิวคัส ส่วนเซลิวคัสเองก็น่าจะอ่อนแอลงมาก เปิดโอกาสให้แอนติโกนัสเป็น “ผู้สืบทอด” ที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาผู้สืบทอดที่เหลืออยู่ทั้งหมด

กองทัพของแอนติโกนัสมีทหารราบ 70,000 คน ทหารม้า 10,000 คน และช้างศึก 75 เชือก กองทหารราบของแอนติโกนัสเหมือนกับฝ่ายพันธมิตรนั่นคือส่วนมากแล้วเป็นทหารราบแบบเฟแลงซ์ที่ใช้หอกยาว

เท่ากับว่ากองทัพแอนติโกนัสมีทหารราบมากกว่าฝ่ายพันธมิตร แต่มีทหารม้าและช้างศึกน้อยกว่า การสู้รบจึงขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของทหารราบแฟแลงซ์ของแต่ละฝ่าย รวมไปถึงการใช้ทหารม้าและช้างศึกด้วย

การสู้รบเริ่มต้นขึ้น

ทั้งสองฝ่ายพบกันในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่อิปซัส พลูตาร์กเล่าว่าลางร้ายเริ่มเกิดขึ้นกับฝ่ายแอนติโกนัส เพราะเดเมเทรียส (Demetrius) บุตรชายของแอนติโกนัสฝันว่า อเล็กซานเดอร์มหาราชที่ล่วงลับไปแล้วกล่าวกับเขาว่าจะไปเข้าร่วมฝ่ายพันธมิตร

นอกจากนี้ในเช้าวันที่ออกจากไปรบ ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับแอนติโกนัสด้วย จู่ๆ กระโจมที่พำนักก็ถล่มลงมาใส่ตัวของแอนติโกนัส ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บไม่น้อย แต่แอนติโกนัสก็แข็งใจยืนขึ้น และออกไปสู่สมรภูมิต่อไป

การสู้รบเริ่มต้นเมื่อกองทัพช้างของทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกัน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ากองทัพพันธมิตรเก็บช้างศึกส่วนใหญ่เอาไว้ และส่งช้างศึกบางส่วนเข้าปะทะกับช้างของฝ่ายแอนติโกนัสเท่านั้น ทั้งสองฝ่ายสู้กันอย่างสูสีและยังไม่มีใครได้ชัยชนะ

ฝ่านเดเมเทรียสที่คุมกองทัพม้าของแอนติโกนัสอยู่จึงสั่งให้กองทัพม้าทั้งหมดเข้าโจมตี เดเมเทรียสตีกองทัพม้าที่แอนไทโอคัส (Antiochus) บุตรชายของเซลิวคัสคุมอยู่แตก และรีบไล่ตามไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดีเดเมเทรียสกลับไล่ตามกองทัพม้าศัตรูไกลเกินไป เปิดโอกาสให้เซลิวคัสส่งช้างที่เหลืออยู่อีกสามร้อยเชือกเข้าสกัด แม้กองทัพช้างจะไม่ได้สร้างความเสียหายแก่กองทัพของเดเมเทรียสมากนัก แต่มันทำให้ทหารม้าของเดเมเทรียสไม่สามารถกลับเข้าสู่ส่วนกลางของสมรภูมิ เพื่อป้องกันกองทหารราบฝ่ายเดียวกันได้

ศึกชี้ขาด

ขณะเดียวกันกองทหารแฟแลงซ์ของทั้งสองฝ่ายก็เข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด ด้วยความที่กระบวนรบเหมือนกันทำให้ยังไม่มีผลแพ้ชนะ

เซลิวคัส ผู้ที่เคยควบคุมกองทหารราบโล่เงินของอเล็กซานเดอร์มาก่อนเห็นช่องโหว่ของกองทัพศัตรู เพราะปีกขวาของกองทัพพันธมิตรไม่มีกองทหารม้าป้องกัน เขาสั่งให้กองทหารม้าที่เหลืออยู่ย้ายมาอยู่ด้านนี้ และทำทีจะเข้าโจมตี แต่ห้ามเข้าชาร์จเด็ดขาด

ยุทธการแห่งอิปซัส

พวกทหารราบแฟแลงซ์ของแอนติโกนัสจึงเริ่มระแวงและหวาดกลัวว่ากองทัพม้าของเซลิวคัสจะเข้าโจมตีพวกตน บางส่วนถึงกับยอมจำนนและวิ่งหนีไป กองทหารแฟแลงซ์ของฝ่ายพันธมิตรจึงยิ่งได้เปรียบและผลักดันส่วนกลางของแอนติโกนัสเรื่อยๆ

ทหารคนแล้วคนเล่าของแอนติโกนัสทิ้งอาวุธและวิ่งหนีไปจากสมรภูมิ แอนติโกนัสยังหวังว่ากองทัพม้าของเดเมเทรียสจะมาช่วยเหลือตน สุดท้ายแล้วแอนติโกนัสไม่มีวันเห็นกองทัพดังกล่าวมาถึง เพราะเขาถูกสังหารจากหอกซัดนับพันที่พุ่งมาหาเขา

เมื่อสิ้นแอนติโกนัสแล้ว กองทัพของเขาจึงแตกพ่ายยับเยิน กองทัพพันธมิตรได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์

ผลที่ตามมา

การตายของแอนติโกนัสทำให้อาณาจักรของเขาแตกสลายตามไปด้วย เซลิวคัสได้ครอบครองดินแดนในซีเรียทั้งหมดและครึ่งหนึ่งของเอเชียไมเนอร์ ส่วนไลซีมาคัสได้ดินแดนที่เหลือของเอเชียไมเนอร์ ขณะที่แคสซานเดอร์ได้ครอบครองกรีซทั้งหมด

อย่างไรก็ดีการจบสิ้นลงของแอนติโกนัสทำให้เซลิวคัสกลายเป็นมหาอำนาจที่ไม่มีใครต้านทานได้ เซลิวคัสทำศึกกับไลซีมาร์คัส อดีตและพันธมิตรของเขาและเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดในสมรภูมิแห่ง Corupedium ทำให้เซลิวคัสผนวกดินแดนเอเชียไมเนอร์และ Thrace ทั้งหมด เรียกได้ว่าในเวลานั้นเซลิวคัสจวนจะรวบอาณาจักรที่แตกสลายของอเล็กซานเดอร์เข้าเป็นหนึ่งได้อยู่แล้ว เหลือแต่เพียงกรีซและอียิปต์เท่านั้น

หลังจากนั้นเซลิวคัสเองกำลังจะยาตราทัพเข้าตีกรีซ แต่เขากลับถูกลอบสังหารเสียก่อนในปี 281 BC

การตายของเซลิวคัสทำให้จักรวรรดิของอเล็กซานเดอร์ไม่มีวันรวมกลับเข้าเป็นหนึ่งตามเดิม อาณาจักรของพวกผู้สืบทอดของเซลิวคัส และโตเลมีตั้งอยู่เป็นอิสระจนกระทั่งถูกผนวกโดยโรมในเวลาต่อมา

Sources:

  • Plutarch, Demetrius
  • Diodorus Siculus, Bibliotheca historica

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!