ประวัติศาสตร์Battle of Chalons ชัยชนะครั้งสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก

Battle of Chalons ชัยชนะครั้งสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก

ยุทธการแห่งชาลอน (Battle of Chalons) เป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายของจักรวรรดิที่กำลังจะแตกดับอย่างจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) เพราะภายในเวลาไม่ถึงสามสิบปีหลังจากชัยชนะครั้งนี้ จักรวรรดิโรมันตะวันตกจะเหลือแค่ชื่อในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น

เรามาดูกันดีกว่าการปะทะครั้งนี้เป็นเช่นไร

ปูมหลัง

ณ เวลานั้นจักรวรรดิโรมันได้แบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่จักรวรรดิโรมันตะวันตก และจักรวรรดิโรมันตะวันออก โดยจักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นส่วนที่อ่อนแอกว่า ตัวจักรวรรดิประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาขาดแคลนกำลังคน ปัญหาการเมืองและอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ความเข้มแข็งที่มีมาในอดีตไม่มีอีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้จักรวรรดิโรมันตะวันตกประสบกับการรุกรานของอนารยชนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ชาวฮั่น (Huns) ที่เป็นชนเผ่าที่แข็งแกร่งที่สุดได้คุกคามและผลักดันชนเผ่าอื่นๆ ให้เข้าไปดินแดนโรมัน กรณีพิพาทระหว่างจักรวรรดิโรมันทั้งสองกับอนารยชนพวกนี้จึงมีอยู่เนืองๆ อย่างที่ยุทธการที่เอเดรียโนเปิลที่กองทัพของจักรวรรดิโรมันตะวันออกพ่ายแพ้พวกอนารยชนอย่างยับเยินมาแล้ว

อัตติลา

แต่ทว่าในสมัยศตวรรษที่ 5 จักรวรรดิโรมันที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจและกำลังคนอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถคงกองทัพลีเจียนขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป ผู้นำโรมันจึงเกณฑ์ชนเผ่าที่เป็นพันธมิตรเข้ามาเป็นทหารในกองทัพโรมัน ทหารเชื้อสายอนารยชนในกองทัพโรมันนี้ เราเรียกว่า foederati

ในกลางศตวรรษที่ 5 ชาวฮั่นภายใต้การนำของอัตติลา (Attila) ผู้เข้มแข็งในการรบได้รุกรานดินแดนกอล (ฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ของที่อยู่ในจักรวรรดิโรมันตะวันตก เจตนารมณ์ของอัตติลาเชื่อกันว่าเป็นการพิชิตพวกชนเผ่าแฟรงก์และสร้างรัฐในอารักขาเหนือดินแดนเหล่านี้

การรุกรานดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งฝ่ายโรมันซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ และพวกชนเผ่าเชื้อสายเยอรมันต่างๆ ที่เป็นผู้อยู่อาศัย ทั้งสองฝ่ายจึงจัดกองทัพใหญ่ยกไปเผชิญหน้ากับฝ่ายฮั่น

ยุทธการแห่งชาลอน

กองทัพโรมันมีฟลาวิอุส ไอแอตตุส (Flavius Aetius) เป็นผู้นำ แต่กองทัพโรมันที่เป็นชาวโรมันจริงๆ มีน้อยมากทหารส่วนใหญ่แล้วเป็นทหาร feoderati ของชนเผ่าต่างๆ ที่ฝ่ายโรมันได้ทำข้อตกลงให้ยกมาสนับสนุน

นอกจากนี้พวกโรมันยังได้รับการสนับสนุนจากธีโอดอริกที่ 1 (Theodoric I) กษัตริย์ของพวกวิซิกอธ (ที่เคยยึดและปล้นสะดมกรุงโรมมาก่อน แต่ในเวลานั้นมีดินแดนสเปนเป็นของตนเองเรียบร้อยแล้ว) กองทัพโรมัน ชนเผ่า และวิซิกอธจึงรวมตัวกันเป็นกองทัพพันธมิตร

เมื่อกองทัพโรมันและพันธมิตรพร้อมแล้ว ไอแอตตุสจึงให้กองทัพทั้งหมดยกขึ้นเหนือไปยังเมือง Aurelianum (ปัจจุบันคือเมือง Orleans) เพื่อติดตามกองทัพฮั่นที่กำลังถอยทัพ

อัตติลาตระหนักว่ากองทัพโรมันและพันธมิตรน่าจะไล่มาทัน แต่เขาต้องการปะทะกับกองทัพพันธมิตรในจุดที่ได้เปรียบ เขาจึงถ่วงเวลาการปะทะเอาไว้ จนกระทั่งมาถึงทุ่ง Catalaunian กองทัพทั้งสองฝ่ายก็เข้าประจันหน้ากัน วันนั้นเป็นวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.451

อย่างไรก็ตามสมรภูมิที่ทุ่งดังกล่าวไม่ได้ราบเรียบเสมอกัน ด้านหนึ่งของทุ่งมีสันเขาขึ้นมา ทำให้กองทัพโรมันและพันธมิตรยึดสันเขาฝั่งซ้ายเอาไว้ ส่วนกองทัพฮั่นของอัตติลาควบคุมฝั่งขวา แต่ไม่มีฝั่งใดควบคุมบริเวณยอดของสันเขาเอาไว้ได้

อัตติลาเริ่มส่งกองกำลังเข้าตีสันเขาส่วนกองทัพโรมันยึดครองอยู่ กองทัพโรมันและพันธมิตรสามารถสกัดกั้นไว้ได้โดยทหารโรมันที่ปีกซ้ายและทหารวิซิกอธที่ปีกขวาของกองทัพ

การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือด พวกวิซิกอธบุกไปอย่างบ้าคลั่งและเข้าตีกองทหารม้าองครักษ์ของอัตติลา เช่นเดียวกับกองทัพโรมันที่เป็นฝ่ายตีตอบโต้บ้าง พวกฮั่นจึงถอยไป กองทัพโรมันและวิซิกอธจึงยกติดตามไปเพื่อจะเผด็จศึก

ทั้งสองฝ่ายฆ่าฟันกันอย่างบ้าคลั่งจนไปถึงเวลากลางคืน แต่ยังไม่รู้แพ้ชนะกัน

ภายใต้ความมืดสนิทความชุลมุนก็เริ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายปลิดชีพกันและกันโดยไม่ทราบว่าอีกฝ่ายเป็นใคร ความมืดนี้เองทำให้เรื่องโอละพ่อเกือบจะเกิดขึ้น

Battle of Chalons

ตอร์ริสมุนด์ (Thorismund) บุตรชายของธีโอดอริกและรัชทายาทของพวกวิซิกอธกลับเข้าค่ายผิด เขาคิดว่าค่ายที่เขาเข้าไปคือค่ายของฝ่ายพันธมิตร แต่จริงๆ แล้วค่ายดังกล่าวเป็นค่ายของพวกฮั่น ตอร์ริสมุนด์ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้จากพวกทหารฮั่น ก่อนที่จะเอาชีวิตรอดไปได้ เพราะผู้ติดตามเขามาช่วยทันอย่างหวุดหวิด

ฝ่ายไอแอตตุสนั้นเพื่อความไม่ประมาท เขาจึงพำนักอยู่ในค่ายของพวกวิซิกอธ เพราะบริเวณนอกค่ายมีการต่อสู้ชุลมุนไปหมดโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

เช้าวันรุ่งขึ้น กองทัพโรมันและวิซิกอธได้เข้าโจมตีค่ายของอัตติลาที่ล้อมรอบไปด้วยเกวียน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันเป็นสามารถ อัตติลาเองก็พร้อมแล้วที่จะตาย เขาถึงกับเตรียมกองไฟไว้ล่วงหน้า และจะกระโดดเข้ากองไฟทันทีถ้าเห็นว่าหลบหนีไปไม่รอดแล้ว

นักประวัติศาสตร์โรมันหลายคนรายงานตรงกันว่า การต่อสู้ในสมรภูมิครั้งนี้ดุเดือดมาก ภายในทุ่ง Catalaunian มีแต่ซากศพทหารนอนกลาดเกลื่อนไปหมด

มาถึงขั้นนี้ พวกวิสิกอธที่กำลังโจมตีค่ายฮั่นอย่างดุเดือดยังไม่รู้ว่าธีโอดอริก กษัตริย์ของพวกตนอยู่ที่ใด ตอร์ริสมุนด์ใช้เวลาอยู่นานเพื่อหาบิดาของตน ปรากฏว่าสุดท้ายแล้วพวกวิซิกอธพบร่างของธีโอดอริกจมอยู่ในกองซากศพขนาดใหญ่

เชื่อว่าธีโอดอริกพลีชีพลงกลางสมรภูมิ บ้างว่าเขาถูกสังหารโดยทหารฮั่น บ้างว่าเขาตกม้าและถูกเหยียบตายโดยทหารของเขาเองที่กำลังบุกไปข้างหน้า แต่พวกวิสิกอธเชื่อว่ากษัตริย์ของพวกเขาพลีชีพลงกลางสมรภูมิเยี่ยงวีรบุรุษ พวกเขาจึงร้องเพลงสรรเสริญกันใหญ่

ด้วยความโกรธ ตอร์ริสมุนด์ต้องการจะเข้าโจมตีค่ายพวกฮั่นให้แตกยับเยินไปเสียเลย แต่ไอแอตตุสห้ามไว้โดยอ้างว่า ตอนนี้พวกวิสิกอธว่างกษัตริย์ ตอร์ริสมุนด์ควรจะกลับดินแดนของตนไปเพื่อป้องกันไม่ให้น้องชายของเขาแย่งบัลลังก์ไปได้

ดังนั้นพวกวิซิกอธก็ถอนกำลังของตนไป เช่นเดียวกับพวกฮั่นที่ถอยกลับไปเช่นเดียวกัน ยุทธการแห่งชาลอนจึงสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

ผลที่ตามมา

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าไอแอตตุสห้ามตอร์ริสมุนด์ไม่ให้ทำลายกองทัพฮั่น เพราะมีจุดประสงค์ลับ ไอแอตตุสกลัวว่าถ้าพวกวิซิกอธทำลายพวกฮั่นจนยับเยิน พวกวิซิกอธหวนกลับมาเป็นศัตรูของจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่น่ากลัวกว่าพวกฮั่นเสียอีก ดังนั้นไอแอตตุสจึงเหลือพวกฮั่นเอาไว้ เพื่อที่ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิโรมันตะวันตกกับพวกวิซิกอธจะยังคงเดิม

สำหรับผลของสงครามครั้งนี้นั้นเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นอย่างไร เพราะหลักฐานต่างๆ ให้ความสำคัญกับ “จำนวนทหารที่ตาย” และไม่ได้กล่าวถึงว่าใครเป็นผู้ชนะ ซึ่งตามหลักฐานโรมันเก่าแก่ทั้งหลายแล้ว ทหารทั้งสองฝ่ายที่ตายมีอย่างน้อย 150,000-200,000 คน ตัวเลขดังกล่าวน่าจะสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่า

ผลของสงครามครั้งนี้เชื่อได้ว่าไม่มีใครได้รับชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด แต่ด้วยความที่กองทัพโรมันและพันธมิตรเป็นฝ่ายได้เปรียบ และทำให้กองทัพฮั่นถอยไปได้ นักประวัติศาสตร์จึงสรุปว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายโรมัน

อย่างไรก็ตามในปีต่อมา พวกฮั่นก็หวนกลับมาอีกครั้ง แต่ถอยไปเพราะปัญหาในหมู่พวกฮั่นเอง หลังจากอัตติลาสิ้นชีวิต พวกฮั่นได้ถูกพวกชนเผ่าเยอรมันเอาชนะได้ในยุทธการแห่ง Nedao ทำให้พวกฮั่นไม่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์อีกเลย

สำหรับจักรวรรดิโรมันตะวันตกแล้ว ยุทธการแห่งชาลอนแสดงให้เห็นว่าตัวจักรวรรดิอ่อนแอ และต้องพึ่งพิงพวกชนเผ่าต่างๆ ในการป้องกันดินแดนของตัวเอง การพึ่งพิงพวกอนารยชนที่มากเกินไปทำให้สุดท้ายแล้ว Odoacer ผู้นำของพวกทหารอนารยชนทำลายจักรวรรดิโรมันตะวันตกเสียในปี ค.ศ.476

Sources:

Jordanes, The Gothic History of Jordanes

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!