ธุรกิจ"A&W" จากร้านรูทเบียร์เล็กๆ สู่ร้านฟาสต์ฟู้ดใหญ่ที่เผชิญเรื่องโอละพ่อ

“A&W” จากร้านรูทเบียร์เล็กๆ สู่ร้านฟาสต์ฟู้ดใหญ่ที่เผชิญเรื่องโอละพ่อ

A&W เป็นร้านฟาสต์ฟู้ดที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดีร้านหนึ่ง แม้ว่าจะมีสาขาไม่เท่ากับร้านอย่างแมคโดนัลด์หรือเคเอฟซี ก็ตาม จุดแข็งของ A&W ที่ต่างจากร้านอื่นคือรูทเบียร์และวาฟเฟิลที่รสชาติดี โดยเฉพาะรูทเบียร์ที่ผมชอบมาก

จุดเริ่มต้นของ A&W ไม่ได้ต่างจากร้านอื่นเท่าไรนัก นั่นคือก้าวขึ้นมาจากร้านเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ จนกลายมาเป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีสาขามากมาย ในเส้นทางสู่ความสำเร็จ A&W ได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆอย่างระบบแฟรนไชส์ในร้านอาหารที่ร้านฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ นำไปใช้มาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป A&W กลับประสบปัญหาหลายอย่างทั้งปัญหาภายในและเรื่องโอละพ่อที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้จำนวนร้านลดลงตามลำดับ แต่ก็ยังอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้มีร้าน A&W หลายร้อยร้านในประเทศแม่อย่างสหรัฐอเมริกา ต่างจากสเวนเซ่นส์ที่เหลือเพียงสาขาเดียวเท่านั้น

ร้าน A&W ในรัฐนิวยอร์ก By Jayu , CC BY-SA 2.0,

เรามาดูเรื่องราวของ A&W กันดีกว่าครับ

ร้านรูทเบียร์ในวันที่ร้อนจัด

ผู้ก่อตั้งร้าน A&W คือ รอย อัลเลน (Roy Allen) นักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับร้านอาหารเลยสักนิดเดียว ก่อนปี ค.ศ.1919 อัลเลนทำธุรกิจซื้อขายโรงแรม หรือพูดง่ายๆ อัลเลนจะไปซื้อโรงแรมที่เน่าๆ และนำมาปรับปรุงตบแต่งให้สวยงาม หลังจากนั้นเขาจะได้ขายให้ผู้มาซื้อในราคาสูงๆ เพื่อทำกำไร

ระหว่างที่อัลเลนอยู่ที่รัฐแอริโซนา (รัฐที่มีแกรนด์แคนยอน) อัลเลนได้พบกับเภสัชกรผู้หนึ่ง เขาบอกอัลเลนว่า เขามีสูตรรูทเบียร์ชั้นยอดที่เด็ดกว่าสูตรใดๆ อัลเลนมองว่ามันอาจจะทำเงินให้กับเขาได้ เขาจึงซื้อสูตรดังกล่าวมาจากเภสัชกรคนนั้น

อัลเลนลงมือทำรูทเบียร์โดยใช้สูตรดังกล่าว และปรากฏว่ามันอร่อยจริง เขาจึงเปิดร้านขึ้นในเมือง Lodi ในรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อขายรูทเบียร์ที่ได้ผลิตขึ้นมา

ในวันแรกอัลเลนขายเครื่องดื่มของเขาในราคา 5 เซนต์ ซึ่งเป็นราคาที่ถูกสุดๆ ลูกค้าคนแรกๆ ของเขาคือพวกทหารผ่านศึกที่เพิ่งกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1

ปรากฏว่ามันเป็นที่นิยมมาก ทำให้เกิดกระแสฮือฮากันใหญ่ นอกจากนี้ร้านของอัลเลนยังโชคดีด้วยที่มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกา (Prohibition) ยอดขายรูทเบียร์ที่ช่วยแก้กระหายแทนเบียร์ในวันที่ร้อนจัดได้ดีจึงพุ่งขึ้นราวกับจรวด

อัลเลนฉวยโอกาสนั้นขยายธุรกิจของเขาโดยร่วมมือกับแฟรงค์ ไรท์ (Frank Wright) หนึ่งในพนักงานในร้าน อัลเลนกับไรท์ได้ร่วมมือกันเปิดร้านรูทเบียร์อีกห้าแห่งในเมือง Sacramento โดยทั้งสองตั้งชื่อร้านว่า A&W ซึ่งย่อมาจาก Allen & Wright นั่นเอง

ในช่วงปี ค.ศ.1922 อัลเลนและไรท์ได้ให้เจ้าของธุรกิจคนอื่นมาเช่าร้านรูทเบียร์ของพวกเขาไปสองร้าน ระบบแฟรนไชส์จึงเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น A&W ถือว่าเป็นร้านอาหารร้านแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการใช้ระบบดังกล่าว

อัลเลนยังคงขยายธุรกิจด้วยการใช้แฟรนไชส์อีกต่อไป ธุรกิจที่อัลเลนขายแฟรนไชส์คือแบรนด์ A&W และรูทเบียร์เท่านั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถขายอาหารอื่นๆ ควบคู่ไปกับรูทเบียร์ได้แล้วแต่พอใจ ทำให้เริ่มมีการขายอาหารอื่นๆ ในร้าน A&W ด้วย

ในช่วงปี ค.ศ.1925-1950 A&W มีสาขาเปิดใหม่อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นมีหลายร้อยสาขาในสหรัฐอเมริกา และทำเงินให้กับอัลเลนมากมาย แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้อัลเลนตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดให้กับนักธุรกิจคนอื่น และเกษียณตัวเองไป อัลเลนเสียชีวิตในปี ค.ศ.1968 ด้วยวัย 85 ปี

จากสูงสุดสู่ตกต่ำ

จุดสูงสุดของบริษัท A&W อยู่ในช่วงปี ค.ศ.1950-1970 A&W มีร้านมากกว่าหนึ่งพันร้านและได้ขยายกิจการไปยังประเทศแคนาดา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียด้วย ในช่วงเวลานี้ถือว่า A&W เป็นร้านอาหารที่มีแฟรนไชส์เป็นอันดับ 1 ของประเทศสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ เพราะ A&W มีสาขามากกว่าแมคโดนัลด์เสียอีก

ในปี ค.ศ.1963 เดล มัลเดอร์ (Dale Mulder) เจ้าของร้านที่เป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ A&W ในมิชิแกนได้เพิ่มเบคอนชีสเบอร์เกอร์ในเมนูของร้านเป็นครั้งแรก (เขาสามารถทำได้เพราะเจ้าของแฟรนไชส์อย่าง A&W เปิดกว้างให้ทำ) ทำให้ A&W เป็นร้านที่ให้กำเนิดเมนูดังกล่าวไปโดยปริยาย

ช่วงทศวรรษ 70 เป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดของ A&W เลยก็ว่าได้ เพราะร้านของ A&W มีมากถึง 2,400 ร้าน และ A&W ยังได้ขายรูทเบียร์กระป๋องในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปด้วย ซึ่งก็ยังคงขายอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเวลานี้เองที่ Rooty the Great Root Bear มัสคอตร่างหมีของร้านก็ถือกำเนิดขึ้น

แต่แล้วบริษัท A&W ก็เริ่มมีปัญหาและตกต่ำลง

ต่างจากบริษัทอื่นๆ เจ้าของแฟรนไชส์ A&W มีการเปลี่ยนมืออยู่บ่อยครั้ง ระหว่างปี ค.ศ.1962-1982 A&W มีการเปลี่ยนมือถึง 4 ครั้งด้วยกัน ทำให้การบริหารไม่คงที่เท่าไรนัก

ในช่วงปลายทศวรรษ 70 A&W ประสบกับปัญหาคุณภาพอาหารไม่คงที่ และบางร้านมีคุณภาพต่ำ เพราะการที่เจ้าของร้านสามารถใส่เมนูอะไรก็ได้ ทำให้เมนูต่างๆ มีมากมายถึง 35,000 เมนู การควบคุมคุณภาพจึงเป็นไปได้ยาก

ทางบริษัทจึงต้องการเปลี่ยนรูปแบบแฟรนไชส์เป็นแบบใหม่ นั่นคืออาหารของทุกร้านจะเหมือนกัน และมีการควบคุมคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

ผลที่ตามมาคือ เจ้าของร้านแฟรนไชส์ของ A&W รู้สึกไม่พอใจ พวกเขาจึงไม่ต่อสัญญากับ A&W ต่อไป จำนวนร้านของ A&W จึงลดน้อยลงตามลำดับ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 80 ร้านของ A&W ทรุดลงเหลือประมาณ 500 ร้านเท่านั้น

เรื่องโอละพ่อ

ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องโอละพ่อก็เกิดกับ A&W ขึ้นมาอีก ซึ่งจะว่าไปเป็นความผิดของ A&W ก็ไม่ใช่เสียด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า A&W ได้ออกแฮมเบอร์เกอร์ชื่อ “Third Pounder” เพื่อมาแข่งกับ “Quarter Pounder” ของแมคโดนัลด์ และได้จัดทำแคมเปญโฆษณาด้วยการให้คนทั่วไปมาชิมเบอร์เกอร์และโหวตว่าตัวไหนอร่อยกว่า

ผลปรากฏว่า Third Pounder ของ A&W เอาชนะ Quarter Pounder ไปอย่างขาดลอย นอกจากนี้ Third Pounder ยังมีปริมาณเนื้อมากกว่า แต่ราคาถูกกว่า Quarter Pounder ด้วย

แต่ปรากฏว่าคนอเมริกันกลับไม่ซื้อ Third Pounder ของ A&W เลย

สาเหตุคือ คนอเมริกันคิดว่า Quarter Pounder (แปลว่า 1/4 ของปอนด์) มีเนื้อมากกว่า Third Pounder (แปลว่า 1/3 ของปอนด์) ทั้งๆที่จริงๆ แล้วมันตรงกันข้าม

หรือจะอธิบายให้ชัดกว่านั้น คนอเมริกันคิดว่า 1/4 มากกว่า 1/3 ก็เลยคิดว่า Quarter Pounder มีเนื้อเยอะกว่า Third Pounder!

ช่างโอละพ่อมั้ยละครับ นิตยสาร Times ถึงกับบทความมาแซะว่า “Why Do Americans Stink At Math?” เลยทีเดียว

A&W ในปัจจุบัน

หลังจากแคมเปญที่จบลงด้วยหายนะครั้งนั้น A&W ก็ยังคงอยู่มาได้ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะไม่สามารถแข่งกับเจ้าตลาดอย่างแมคโดนัลด์ได้อีกแล้วก็ตาม บริษัทมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นและผลิตอาหารที่มีคุณภาพออกมาอยู่จนถึงทุกวันนี้

อาหารของ A&W ในญี่ปุ่น By ja:User:Sanjo – Own work, CC BY-SA 3.0,

อย่างไรก็ตาม เจ้าของก็ยังเปลี่ยนมืออยู่อีกเรื่อยๆ ในปัจจุบันเจ้าของร้านแฟรนไชส์ A&W ในประเทศสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศได้รวมตัวกันตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาในชื่อ A Great American Brand และได้รวมเงินไปซื้อแบรนด์ A&W จาก Yum!Brands เจ้าของ A&W ในปี ค.ศ.2011 การซื้อขายดำเนินไปอย่างราบรื่น ทำให้ตอนนี้ A&W เป็นบริษัทแฟรนไชส์ (Franchiser) ที่มีเจ้าของร้านแฟรนไชส์ (Franchisee) เป็นเจ้าของ

ดูเหมือนว่าการเทคโอเวอร์ของเหล่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ เพราะยอดขายของ A&W แต่ละร้านโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นถึง 33% นับตั้งแต่การเทคโอเวอร์เสร็จสิ้น

ปัจจุบัน A&W มีสาขามากกว่า 1,100 แห่งทั่วโลก โดยกว่า 600 สาขาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทย A&W เข้ามาเปิดสาขาครั้งแรกในปี ค.ศ.1983 และได้มีเมนูอย่าง วาฟเฟิล ไก่ทอด เบอร์เกอร์ ข้าวต่างๆ รวมไปถึงรูทเบียร์และรูทเบียร์โฟลตอันเลื่องชื่อให้คนไทยได้ลิ้มลอง

ในปี ค.ศ.2019 A&W เป็นร้านอาหารแบบแฟรนไชส์ร้านแรกที่มีอายุครบ 100 ปี เพราะอัลเลน ผู้ก่อตั้ง A&W เป็นผู้ริเริ่มระบบดังกล่าวเป็นคนแรกนั่นเอง

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!