ประวัติศาสตร์"แอลเรเลียน" จักรพรรดิโรมันผู้กู้แผ่นดินแต่กลับสิ้นชีวิตอย่างน่าเศร้า

“แอลเรเลียน” จักรพรรดิโรมันผู้กู้แผ่นดินแต่กลับสิ้นชีวิตอย่างน่าเศร้า

แอลเรเลียน (Aurelian) หรือ ออลรีเลียน เป็นจักรพรรดิโรมันที่ครองราชย์เพียง 5 ปีเท่านั้น แต่คุณูปการที่เขาทำให้จักรวรรดิโรมันมีมากมายมหาศาล เขาเป็นผู้ที่สามารถรวมจักรวรรดิโรมันให้กลับเป็นหนึ่งหลังจากที่แตกแยกเป็น 3 ส่วนนานถึง 50 ปี และมีผู้ตั้งตนจักรพรรดิมากถึง 26 คนด้วยกัน!

อย่างไรก็ตาม เมื่อแอลเรเลียนทำทุกสิ่งได้สำเร็จ ชีวิตของเขากลับจบลงอย่างน่าเศร้าอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

ปูมหลัง

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 3 จักรวรรดิโรมันที่เคยยิ่งใหญ่ได้แตกออกเป็นสามส่วนเพราะสงครามกลางเมือง ส่วนของอาณาจักรในเอเชียไมเนอร์และตะวันออกกลางได้แตกออกไปเป็นอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพัลไมร่า (Palmyra) หรือเรียกกันว่า Palmyrene Empire (อาณาจักรพัลไมร่า) ขณะที่ในกอล (ฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ได้แยกออกไปเป็นอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า Gallic Empire หรืออาณาจักรกอล

นอกจากนี้จักรวรรดิโรมันยังเผชิญกับการรุกรานจากชนเผ่าต่างๆ จากทางตอนเหนืออีกด้วย ทำให้กองทัพที่ต้องใช้มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน การที่มีกองทัพขนาดใหญ่ทำให้รายจ่ายเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

เพื่อแก้ปัญหา จักรพรรดิโรมันหลายคนต่างใช้วิธีมักง่าย ด้วยการออกเหรียญตรามากมายเพื่อจ่ายให้กับทหารในกองทัพที่จำนวนมากขึ้น เหรียญตราเหล่านี้นำไปสู่สภาวะเงินเฟ้ออย่างแสนสาหัสในเมืองต่างๆ สถานการณ์เศรษฐกิจของจักรวรรดิเรียกได้ว่าย่ำแย่อย่างมาก

เมื่อประชาชนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะนำมาซึ่งการลุกฮือขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีโจรผู้ร้ายปล้นชิงทรัพย์สินราษฎรไปทั่วทุกหนแห่ง การค้าในจักรวรรดิจึงพังตามไปด้วยราวกับว่าเป็นโดมิโน เพราะไม่มีใครกล้าเดินทางผ่านดินแดนที่เต็มไปด้วยพวกโจรผู้ร้าย

ไม่เพียงเท่านั้นจักรวรรดิโรมันยังเผชิญกับโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนล้มตายมากมายอีก สถานการณ์ในจักรวรรดิโรมันจึงเรียกได้ว่าวิกฤตอย่างมาก แต่กลับไม่มีใครแก้เพราะจักรพรรดิทั้งหลายต่างแย่งชิงอำนาจกัน ทำให้มีจักรพรรดิมากกว่า 20 องค์ในช่วงเวลา 50 ปี

แม่ทัพแอลเรเลียน

แอลเรเลียนเกิดในตระกูลชาวนา ทำให้ชาติตระกูลของเขาไม่ใช่ชนชั้นสูงแต่อย่างใด เมื่อแอลเรเลียนอายุได้ 20 ปี เขาก็เข้าร่วมกองทัพ และเป็นหนึ่งในทหารม้า สงครามที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้แอลเรเลียนได้เป็นนายทหารอย่างรวดเร็ว

แอลเรเลียน By Classical Numismatic Group, Inc. http://www.cngcoins.com, CC BY-SA 3.0,

เขาเป็นนายทหารคนหนึ่งในกองทัพของคลาวดิอุส (Claudius) และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งและมีระเบียบวินัย เมื่อคลาวดิอุสได้เป็นจักรพรรดิแห่งโรม (ชื่อว่าคลาวดิอุสที่ 2) แอลเรเลียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองทหารม้าทั้งหมด ทำให้เขามีอิทธิพลอย่างมากในกองทัพ

ในปี ค.ศ.269 พวกชนเผ่า Alemanni เริ่มรุกรานจักรวรรดิโรมันอีกครั้งหนึ่ง คลาวดิอุสและแอลเรเลียนนำกองทัพลีเจียนยกไปปราบปราม กองทัพโรมันปะทะกับกองทัพอนารยชนครั้งใหญ่ที่ Benacus และสามารถตีกองทัพชนเผ่าแตกกระจัดกระจาย

ระหว่างที่กำลังจะไล่ตามพวก Alemanni ไป คลาวดิอุสทราบว่าพวกชนเผ่าอื่นๆ กำลังบุกเข้ามาในบอลข่านและกรีซ เขาจึงสั่งให้แอลเรเลียนนำทหารม้าเจนศึกล่วงหน้าไปก่อน และประวิงเวลาเอาไว้ก่อนที่กองทัพหลวงจะยกทัพไปถึง

แอลเรเลียนเดินทัพไปยังกรีซ และตีสกัดพวกกอธ (Goths, พวกเดียวกับที่จะปล้นสะดมกรุงโรมในอีกร้อยกว่าปีต่อมา) เอาไว้ได้ กองทัพม้าของแอลเรเลียนมีชัยเหนือพวกกอธหลายครั้ง และขับไล่พวกกอธออกจากกรีซให้ถอยขึ้นเหนือไป

อย่างไรก็ดี กองทัพโรมันของคลาวดิอุสที่ยกมาถึงกลับไม่สามารถตีพวกกอธให้แตกฉานได้ แถมยังสูญเสียกำลังทหารไปอีกมากมาย คลาวดิอุสจึงใช้กลยุทธ์ซุ่มโจมตีพวกกอธทีละน้อย โดยให้แอลเรเลียนนำกองทหารม้าของเขาตัดเสบียงของพวกกอธ ทำให้พวกกอธอ่อนแรงลงไปตามลำดับ

สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินไปถึงหนึ่งปี แอลเรเลียนเห็นว่ากองทัพกอธอ่อนแอลงมากจึงเข้าโจมตีด้วยกองทหารม้า พวกกอธเสียหายยับเยิน และแตกหนีขึ้นเหนือไป แต่ทว่ากองทัพโรมันได้ควบคุมพื้นที่บริเวณนั้นไว้ได้หมดแล้ว ทำให้พวกกอธอยู่ในวงล้อมของกองทัพโรมัน

อย่างไรก็ตามกองทัพโรมันกลับปล่อยปละละเลย ทำให้พวกกอธทุ่มกำลังฝ่าวงล้อมออกมาได้ คลาวดิอุสเองก็ประมาทศัตรู ด้วยการส่งแค่กองทหารราบเข้าสกัดการฝ่าวงล้อมของพวกกอธ ทหารอนารยชนเหล่านี้จึงสังหารทหารโรมันล้มตายจำนวนมาก

คลาวดิอุสจำต้องสั่งให้ออลเรเลียนนำกองทัพม้าเข้าตีพวกกอธ ทำให้พวกกอธแตกกระเจิงไปคนละทิศละทาง ออลเรเลียนได้รับคำสั่งให้นำกองทัพม้าติดตามพวกกอธขึ้นเหนือไป

ในการไล่ตามออลเรเลียนพยายามกระจายพวกกอธออกจากกัน กองทัพโรมันจะได้เอาชนะได้ง่ายๆ วิธีการของเขาประสบความสำเร็จ ภายในฤดูร้อนของปี ค.ศ.270 พวกกอธก็พ่ายแพ้ยับเยิน

จักรพรรดิแห่งโรม

ระหว่างที่ออลเรเลียนทำศึกกับพวกกอธอยู่นั้น โรคระบาดได้ลามเข้ามาสู่กองทัพโรมัน ทำให้คลาวดิอุสล้มป่วยและสวรรคตลงอย่างฉับพลัน จักรวรรดิโรมันจึงปราศจากจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่ง

Quintillus น้องชายของคลาวดิอุสพยายามสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ แต่พวกทหารลีเจียนกองต่างๆ ไม่ยอมรับเขา พวกทหารในกองทัพจึงยกออลเรเลียนเป็นจักรพรรดิแห่งโรม

การยกออลเรเลียนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งโรมโดยพวกทหารไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนั้น เพราะพวกทหารโรมันมักจะยกแม่ทัพของพวกตนที่เป็นที่นิยมขึ้นเป็นจักรพรรดิอยู่เสมอ จักรวรรดิโรมันเองก็ไม่มีธรรมเนียมและกฎหมายการสืบสันตติวงศ์อย่างจักรวรรดิอื่นๆ ทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย

เมื่อออลเรเลียนได้รับการยกขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้ว เขาจึงยกกองทัพไปทำศึกกับ Quintillus จนได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นเขาจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นจักรพรรดิแห่งโรมอย่างเป็นทางการโดยสภาเซเนตในปลายปี ค.ศ.270 และได้ปราบแม่ทัพคนอื่นที่ยกตัวเองเป็นจักรพรรดิได้ทั้งหมดในปี ค.ศ.271

หลังจากที่ตำแหน่งของเขามั่นคงแล้ว ออลเรเลียนในฐานะจักรพรรดิพระองค์ใหม่นำกองทัพไปทำศึกต่อไป เขากวาดล้างพวก Alemanni และ Goths ที่กลับมาราวีได้อีกครั้งหนึ่ง และขับไล่พวกอนารยชนเหล่านี้ขึ้นเหนือไป

เพื่อเป็นการป้องกันการคุกคามในอนาคต แอลเรเลียนสั่งให้สร้างกำแพงป้องกันกรุงโรมไว้อย่างแข็งแกร่ง กำแพงเหล่านี้เรียกว่า Aurelian Walls และยังอยู่มาถึงทุกวันนี้

Porta Asinaria ส่วนหนึ่งของ Aurelian walls

ปัญหาต่อไปที่ออลเรเลียนที่ต้องเผชิญคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ออลเรเลียนให้ออกเหรียญตราใหม่แทนที่เหรียญตราเดิมเพื่อกำจัดเงินเฟ้อ ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อทุเลาลงไปอย่างมาก

อย่างไรก็ตามโรมยังมีปัญหาเรื่องเสบียงอาหารขาดแคลน เพราะอียิปต์ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในกำมือของอาณาจักรพัลไมร่าที่แยกตัวออกไปจากโรม ออลเรเลียนตระหนักว่าเขาต้องพิชิตอาณาจักรดังกล่าวให้จงได้

กองทัพโรมันของแอลเรเลียนตีเมืองต่างๆ ในอาณาจักรพัลไมร่ากลับคืนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะแอลเรเลียนใช้ยุทธศาสตร์ประนีประนอมทำให้เมืองทั้งหลายยอมจำนน ภายในเวลาหกเดือน เมืองมากมายก็อยู่ในกำมือของแอลเรเลียน กองทัพโรมันจึงยกเข้าตีเมืองพัลไมร่าเพื่อเผด็จศึก

การปะทะที่พัลไมร่าดำเนินไปไม่นานนัก เมืองพัลไมร่าก็ยอมจำนน อาณาจักรพัลไมร่าจึงพินาศไปนับตั้งแต่บัดนั้น เสบียงอาหารจากอียิปต์ถูกส่งขึ้นเรือเพื่อนำไปยังโรมทันที ทำให้ประชาชนโรมันไม่ต้องหิวโหยอีกต่อไป

ความสำเร็จในการผนวกอาณาจักรพัลไมร่าทำให้แอลเรเลียนได้รับการยกย่องอย่างมาก ประชาชนชาวโรมันต่างเห็นเขาเป็นวีรบุรุษผู้มากอบกู้จักรวรรดิ

รวมอาณาจักรเป็นหนึ่ง

ชัยชนะของออลเรเลียนทำให้อาณาจักรที่แข็งข้อเหลือเพียงอาณาจักรเดียวเท่านั้น นั่นคืออาณาจักรกอล แอลเรเลียนได้ส่งทูตไปเจรจากับ Tetricus จักรพรรดิของอาณาจักรกอลให้ยอมจำนน

แต่แล้วเรื่องแปลกก็เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจริงหรือไม่จริง

เรื่องมีอยู่ว่า Tetricus ได้ฟังข้อเสนอของแอลเรเลียนก็ปรารถนาจะยอมจำนน แต่เกรงว่าพวกทหารจะไม่ยินยอมและทำร้ายตน เขาจึงตกลงกับแอลเรเลียนเป็นการลับว่า ทั้งสองฝ่ายจะนำกองทัพมาเผชิญหน้ากัน และ Tetricus จะหลบหนีไประหว่างการต่อสู้ เปิดโอกาสให้ออลเรเลียนทำลายกองทัพของเขาได้

ออลเรเลียนตอบรับข้อเสนอนั้น ในรุ่งขึ้นทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน Tetricus แอบหลบหนีออกมาจากกองทัพตัวเอง ทำให้กองทัพของตัวเขาเองปั่นป่วน กองทัพของออลเรเลียนจึงเอาชัยได้อย่างง่ายดาย

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้กอลและเกาะอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอีกครั้งหนึ่ง จักรวรรดิที่เคยแตกแยกออกเป็นสามส่วนกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของออลเรเลียน ทำให้สภาเซเนตมอบราชทินนามให้กับเขาว่า Restitutor Orbis ซึ่งแปลว่าผู้ฟื้นฟูโลก

หลังจากที่ภารกิจอันยิ่งใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว ออลเรเลียนให้ความสำคัญกับการปราบปรามคอรัปชั่น เขาปฏิรูปวิธีการแจกจ่ายเสบียงกรัง และยังตรึงราคาสินค้าสำคัญไม่ให้พุ่งสูงมากเกินไปด้วย เศรษฐกิจโรมันจึงฟื้นกลับมาตามลำดับ

วาระสุดท้าย

แอลเรเลียนเป็นจักรพรรดิโรมันที่ทำงานหนักมาก เขาแทบจะไม่ได้อยู่ในกรุงโรมเลย และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพของเขา ภายในเวลาเพียงห้าปี จักรวรรดิโรมันก็กลับมาเข้มแข็ง และพร้อมที่จะต่อกรกับอาณาจักรแซสซานิด (Sassanid Empire) ที่เคยสร้างความอัปยศด้วยการจับจักรพรรดิโรมันเป็นเชลยมาแล้ว

ในปี ค.ศ.275 แอลเรเลียนเห็นว่าอาณาจักรแซสซานิดมีความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้เป็นโอกาสสำคัญที่โรมจะยกกองทัพไปพิชิต เขาจึงนำกองทัพไปยังดินแดน Thrace เพื่อเตรียมข้ามทะเลไปยังเอเชียไมเนอร์

ไม่มีใครคาดคิดว่าการเดินทัพครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายของเขา

ออลเรเลียนให้ความสำคัญกับการปราบคอรัปชั่นมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งในกองทัพของเขาเอง และเมื่อตรวจพบ เขาจะลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจังเสมอ

ระหว่างที่อยู่ที่ Thrace (ในปัจจุบันอยู่ในประเทศกรีซ ตุรกี และบัลแกเรีย) เสมียนของออลเรเลียนได้ลักลอบทำผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง ด้วยความเกรงกลัวว่าจะถูกลงโทษ เขาจึงปลอมแปลงเอกสารชิ้นหนึ่งขึ้นมา ภายในเอกสารมีรายละเอียดว่าออลเรเลียนจะลงโทษนายทหารระดับสูงในกองทัพหลายคน หลังจากนั้นเสมียนผู้นี้นำหลักฐานที่ปลอมขึ้นมาไปให้นายทหารเหล่านั้นดู

เอกสารชิ้นนี้ดูเหมือนมากเพราะเสมียนได้ปลอมลายมือของออลเรเลียนอย่างแนบเนียน พวกนายทหารต่างคิดว่าออลเรเลียนจะลงโทษพวกตนจริงๆ ทำให้พวกเขาร่วมมือกันลอบสังหารออลเรเลียนเสียก่อน

จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ฟื้นคืนจักรพรรดิโรมันให้เป็นปึกแผ่นจึงจากโลกนี้ไปในปี ค.ศ.275 รวมระยะเวลาที่เขาครองราชย์อยู่ได้เพียง 5 ปี เท่านั้น แต่ผลงานที่เขาทำไว้ได้ทำให้จักรวรรดิโรมันมีอายุสืบต่อไปอีก 200 ปี จนกระทั่งจบสิ้นในช่วงศตวรรษที่ 5

Sources:

  • Sextus Aurelius Victor, Epitome De Caesaribus
  • Zosimus, New History
  • Watson, Aurelian and the Third Century

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!