ประวัติศาสตร์รัสเซียปฏิวัติรัสเซียAnimal Farm ที่นายกแนะนำให้อ่านมีเรื่องราวอย่างไร

Animal Farm ที่นายกแนะนำให้อ่านมีเรื่องราวอย่างไร

ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2019 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้แนะนำให้คนไทยอ่านวรรณกรรมเรื่อง

“Animal Farm”

Animal Farm ถ้าแปลตรงๆ ตัวแปลว่า ฟาร์มสัตว์ มันเป็นวรรณกรรมประเภทใดกันแน่??

Animal Farm เวอร์ชันแรก

ลักษณะวรรณกรรม

Animal Farm เป็นวรรณกรรมที่แต่งโดย จอร์จ ออเวลล์ (George Orwell) นักประพันธ์มากฝีมือชาวอังกฤษ มันถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1945 ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2

หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมทางการเมือง 100% แต่วรรณกรรมแบบเสียดสี หรือ ที่คนไทยเรียกกันว่า “แซะ” ออเวลล์ได้ใช้วรรณกรรมเรื่องนี้เสียดสีประเด็นสำคัญในยุคนั้น และนำเสนอมุมมองทางการเมืองของตนเองปะปนลงไปด้วย

จอร์จ ออเวลล์

ออเวลล์ผู้นี้มีแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialist) หรือมีแนวคิดเอียงซ้าย แต่เป็นซ้ายแบบประชาธิปไตย มิใช่ซ้ายสุดโต่งเหมือนกับคอมมิวนิสต์

เขารู้สึกว่าในช่วงนั้นคนอังกฤษเทิดทูนสตาลินเป็นฮีโร่ เพราะโซเวียตเป็นพันธมิตรของอังกฤษในช่วงสงคราม ออเวลล์เกลียดความคิดนี้มาก เพราะเขาคิดว่าสตาลินเป็นเผด็จการที่ปกครองประเทศด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และการปราบปรามประชาชนอย่างในเหตุการณ์ Great Purge

ออเวลล์จึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะเสียดสีสตาลิน ลักษณะการเขียนเป็นแบบอุปมานิทัศน์ เขาเล่าประวัติศาสตร์รัสเซียในช่วงนั้นผ่าน “ฟาร์มสัตว์” ของเขา

เรื่องย่อ

ฝูงสัตว์ในฟาร์มแห่งหนึ่งกำลังต้องการจะลุกฮือต่อต้าน มิสเตอร์โจนส์ เจ้านายของพวกเขา เพราะว่าเขาไม่เคยเหลียวแลพวกมันเลย มิสเตอร์โจนส์ทิ้งให้พวกมันอดอยากแสนสาหัส และปล่อยให้สัตว์บางตัวมีอภิสิทธิ์เหนืออีกตัวอื่นๆ มากมาย เหล่าสัตว์รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก

(มิสเตอร์โจนส์ ผู้นี้แทนตัวของซาร์นิโคลัสที่ 2 ซาร์พระองค์สุดท้ายของรัสเซีย)

ในวันหนึ่ง หมูป่าที่ได้รับการนับถือมากตัวหนึ่งชื่อ โอลด์เมเจอร์ ได้เป็นแกนนำปลุกระดมหมู่สัตว์ให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านมิสเตอร์โจนส์ แต่โอลด์เมเจอร์กลับตายเสียก่อน สุดท้ายหมูหนุ่มสองตัว ได้แก่ นโปเลียนและสโนว์บอลได้เป็นแกนนำสืบต่อมา ทั้งสองได้เป็นแกนนำในการปฏิวัติไล่มิสเตอร์โจนส์ออกไปได้ในที่สุด

(โอลด์เมเจอร์เป็นตัวแทนของ วลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำของพวกบอลเชวิค ส่วนนโปเลียนกับสโนว์บอล คือ สตาลินและทรอตสกี้ตามลำดับ แต่การเปรียบเทียบนี้ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์รัสเซียหลายอย่าง อย่างแรก เลนินมีชีวิตอยู่ในการปฏิวัติและเป็นตัวตั้งตัวตีด้วย อย่างที่สอง เลนินไม่ได้เป็นคนล้มซาร์นิโคลัสที่ 2 แต่เขาล้มรัฐบาลชั่วคราวที่เกิดจากการสละราชสมบัติของซาร์นิโคลัสที่ 2 ไปแล้วก่อนหน้านี้)

สตาลิน

หลังจากปฏิวัติ พวกหมูจึงกลายมาเป็นผู้นำ พวกมันได้สั่งสอนหลักการว่า สัตว์ทุกตัวในฟาร์มต้องเท่าเทียมกันแก่สัตว์ตัวอื่น นโปเลียนและพวกหมูได้ประกาศว่าสัตว์ทุกตัวต้องได้อาหารเท่าๆ กัน แต่จริงๆแล้ว เหล่าพวกหมูได้เก็บอาหารพิเศษไว้สำหรับตัวเองจำนวนมาก ในเวลาต่อมามิสเตอร์โจนส์พยายามจะแย่งฟาร์มคืน แต่ไม่สำเร็จ

(พวกหมูแทนพวกบอลเชวิค และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ชีวิตหรูหราไม่ต่างกับครอบครัวซาร์ที่ล้มไปแล้ว ส่วนเหตุการณ์มิสเตอร์โจนส์มาแย่งฟาร์มคืนสามารถเทียบได้กับสงครามกลางเมืองรัสเซียที่พวกรัสเซียขาวพยายามจะแย่งอำนาจกลับคืน แต่ไม่สำเร็จ สิ่งที่ไม่ตรงในประวัติศาสตร์รัสเซียคือ จริงๆแล้วซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงไม่มีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองรัสเซีย เพราะว่าสวรรคตไปแล้วจากการสังหารของพวกบอลเชวิค เรื่องนี้ยังเป็นความลับในช่วงที่หนังสือเล่มนี้ออกมา ออเวลล์จึงน่าจะไม่ทราบ)

ต่อมาสโนว์บอลได้สร้างกังหันลมขึ้นมาในฟาร์ม นโปเลียนได้ให้พวกสุนัขของเขาช่วยกันไล่สโนว์บอลออกไป หลังจากนั้นนโปเลียนก็ให้ลูกน้องของเขาชื่อ Squealer ทำการเคลมว่าผลงานการนำกังหันลมเข้ามาในฟาร์มเป็นผลงานของนโปเลียนเอง และป้ายสีสโนว์บอลด้วยว่าเป็นพวกของมิสเตอร์โจนส์

จู่ๆ กังหันลมเกิดพังลงเพราะพายุ นโปเลียนจึงใส่ความว่าเป็นผลงานของสโนว์บอลและพรรคพวก นโปเลียนเริ่มให้พรรคพวกของเขาเริ่มทำการกำจัดพวกที่เขาคิดว่าเป็นพวกของสโนว์บอล

(เหตุการณ์ช่วงนี้เปรียบได้กับช่วงที่สตาลินและทรอตสกี้แย่งชิงอำนาจกัน สตาลินเล่นการเมืองในพรรคเพื่อกำจัดทรอตสกี้ และกำจัดผู้ที่เขาเชื่อว่าสนับสนุนทรอตสกี้ ในเหตุการณ์ Great Purge ส่วน Squealer น่าจะเป็น Molotov ลูกน้องคนสนิทของสตาลิน)

หลังจากนั้น มิสเตอร์เฟดเดอริก เจ้าของฟาร์มข้างๆ ได้ใช้ผงระเบิดเข้าโจมตีฟาร์มอย่างรุนแรง นโปเลียนคุมฝูงสัตว์ต่อสู้อย่างหนักและสามารถเอาชัยชนะได้ แต่ความเสียหายของฟาร์มและสัตว์ก็มากมายเหลือเกิน

(เฟดเดอริกเป็นชื่อทั่วไปของชาวเยอรมัน ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าเหตุการณ์นี้คือการรุกรานของนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้ชาวโซเวียตเสียชีวิตหลายสิบล้านคน)

หลังช่วงสงคราม ม้าตัวหนึ่งที่ชื่อบ็อกเซอร์ได้ล้มลงระหว่างทำงานในฟาร์ม นโปเลียนรีบนำมันส่งโรงพยาบาล แต่จริงๆ แล้วเขานำมันไปขายเพื่อนำเงินไปซื้อวิสกี้มาบำรุงบำเรอความสุขของตัวเอง

(ม้าบ็อกเซอร์เปรียบได้กับ อเล็กเซย์ สตาคานอฟ ผู้พยายามกระตุ้นให้พวกแรงงานทำงานเต็มที่ในช่วงปี ค.ศ.1935 การนำไปขายก็เปรียบได้การเขี่ยแนวคิดนี้ทิ้งเมื่อหมดประโยชน์แล้วในเวลาต่อมา)

หลายปีผ่านไป ถึงแม้ฟาร์มจะเจริญขึ้นมาบ้าง แต่สิ่งที่นโปเลียนเคยให้สัญญาไว้ว่าสัตว์ทุกตัวจะเท่าเทียมกันก็ไม่เคยเป็นจริง เพราะ “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวเท่าเทียมกันมากกว่าสัตว์อื่น” นโปเลียนเองได้ให้พวกหมูทำทุกอย่างเหมือนมนุษย์ที่พวกตนเคยเป็นแกนนำในการล้มออกไปมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายพวกสัตว์อื่นๆภายนอกฟาร์มก็มองพวกหมูไม่ต่างอะไรกับพวกมนุษย์

(ประเด็นนี้ออเวลล์พยายามเสียดสีว่า อุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตไม่เคยเป็นจริงได้ สหภาพโซเวียตในเริ่มแรกประกาศว่าสัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่จริงๆ แล้วมีแต่พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่พอจะเท่าเทียมกันบ้าง แต่ถ้ามองในหมู่ชาวรัสเซียโดยองค์รวมแล้ว มันมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะถ้าเปรียบสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กับชาวรัสเซียอื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่างอะไรกับพวกชนชั้นสูงในระบอบซาร์ (พวกมนุษย์) ที่พวกตนเคยล้มไปแล้ว)

ส่งท้าย

วรรณกรรมของออเวลล์จึงกลายเป็นวรรณกรรมชั้นครูในด้านการเสียดสีที่เด็กจำนวนมากในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ศึกษามาจนถึงทุกวันนี้

ต้องขอบคุณท่านนายกจริงๆ ครับที่แนะนำหนังสือดีๆ เล่มนี้ให้คนไทยจำนวนมากได้อ่าน

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!