ประวัติศาสตร์ย้อนรอยมหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda) หนึ่งในสถานศึกษาแห่งแรกของโลก

ย้อนรอยมหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda) หนึ่งในสถานศึกษาแห่งแรกของโลก

มหาวิทยาลัยนาลันทา หรือ นาลันทามหาวิหาร (Nalanda Mahavihara) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสถานศึกษาหลักที่พระภิกษุเดินทางมาศึกษาพระธรรมที่มีอายุมากถึงพันกว่าปี ความใหญ่โตอลังการของนาลันทาเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งมีการเกิด ตั้งอยู่ ดับไป ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มหาวิทยาลัยนาลันทาเองก็ไม่อาจหลบเลี่ยงความจริงข้อนี้ได้เช่นกัน

ในโพสนี้ เราจะมาดูกันว่า มหาวิทยาลัยนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบอย่างไร

ซากของมหาวิทยาลัยนาลันทาในปัจจุบัน ,CC BY 2.0,

แรกเริ่มนาลันทา

ในสมัยพุทธกาล นาลันทาเป็นหมู่บ้านสำคัญเพราะเป็นทางผ่านของเหล่าพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายยังกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมที่หมู่บ้านแห่งนี้ด้วย

นักโบราณคดีพบว่าสถูปที่หลงเหลือรอดมาถูกสร้างขึ้นในสมัย 500-600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับสมัยพุทธกาล นั่นแสดงให้เห็นว่านาลันทาเป็นหมู่บ้านพุทธที่เป็นที่สนใจของศาสนิกตั้งแต่ในช่วงดังกล่าวแล้ว ต่อมาในรัชกาลของพระเจ้าอโศกมหาราช นาลันทาก็ยิ่งรุ่งเรืองขึ้นไปอีกในทางศาสนา เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างวัดขนาดใหญ่ขึ้นที่นี่

อย่างไรก็ตามนาลันทาเริ่มเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของพุทธศาสนาจริงๆ ในสมัยคุปตะ (Gupta empire) เพราะจักรพรรดิของราชวงศ์คุปตะหลายพระองค์ได้สร้างสำนักสงฆ์ วัดวาอาราม ห้องสมุด และสถานศึกษาขึ้นที่นาลันทา

โชคเป็นของศาสนาพุทธ เพราะจริงๆ แล้วจักรพรรดิแห่งราชวงศ์คุปตะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ให้การสนับสนุนศาสนาทุกศาสนา ทำให้ศาสนาพุทธรุ่งเรืองไปด้วย

หลังจากราชวงศ์คุปตะเสื่อมลง นาลันทาได้รับการสนับสนุนโดยกษัตริย์หรรษะ (Harsha) ผู้นับถือศาสนาพุทธ ในช่วงเวลานี้นาลันทาจึงรุ่งเรืองมาก เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างดี หรรษะโปรดให้รายได้ภาษีจากหมู่บ้าน 100-200 แห่งใช้มาบำรุงนาลันทาโดยเฉพาะ

นาลันทายุครุ่งเรือง

หลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนาลันทาไม่ได้มาจากอินเดียแต่กลับมาจากจีน เพราะพระสวนจาง (พระถังซำจั๋งในเรื่องไซอิ๋ว) และพระอี้จิง พระสองรูปที่มีโอกาสได้ไปนาลันทาได้จดบันทึกเรื่องราวดังกล่าวเอาไว้ พระสวนจางเคยไปนาลันทาสองครั้งในช่วงปี ค.ศ.637 และ 642 ส่วนพระอี้จิงไปนาลันทาในปี ค.ศ.673 แต่พระอี้จิงได้อยู่ที่นาลันทานานกว่าพระสวนจาง เพราะอยู่ที่นาลันทาถึงสิบปีด้วยกัน

พระสวนจางเขียนไว้ว่านาลันทาเป็นสถานศึกษาที่เปิดกว้างทางความคิดมาก วิชาที่มีการสอนครอบคลุมตั้งแต่ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน และเถรวาท (ในเวลานั้นแบ่งนิกายออกโดยสมบูรณ์แล้ว) ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วิชาแพทย์ วิชาปรัชญา วิชากฎหมาย วิชาดาราศาสตร์ และวิชาวางผังเมืองด้วย

การสอนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเน้นไปที่การใช้ตรรกะและเหตุผล ครูอาจารย์จะสนับสนุนให้นักเรียนโต้เถียงกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักธรรมอย่างแท้จริง และเอาไปใช้โต้เถียงกับปัญญาชนในศาสนาอื่นในวันข้างหน้า

พระสวนจางเล่าว่านาลันทามีขนาดใหญ่มาก อาจารย์ที่นาลันทามีมากถึง 1,510 คน แสดงว่านักเรียนที่นาลันทาต้องมีมากกว่าหลายเท่า พระอี้จิงเองก็ให้ข้อมูลว่าหอพักของนักศึกษามีมากถึง 300 หลัง ทำให้เป็นไปได้อย่างยิ่งที่นาลันทาจะมีนักศึกษาอย่างน้อยหนึ่งหมื่นคน

สื่งก่อสร้างในนาลันทาที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการแกะสลักปราณีตอย่างยิ่ง By Agnibh Kumar – Own work, CC BY-SA 4.0,

ภายในสถานศึกษา ทั้งพระสวนจางและอี้จิงต่างให้ข้อมูลตรงกันว่ามีขนาดใหญ่โตมโหฬาร พระสวนจางเล่าว่านาลันทามีหอคอย สวน และวัดวาอารามมากมายที่ทั้งใหญ่และสูงด้วย รายรอบวิหารต่างๆ ยังมีสระน้ำใสที่เต็มไปด้วยดอกบัว และต้นมะม่วงจำนวนมากมายที่มอบร่มเงาให้กับเหล่านักศึกษา

อย่างไรก็ตามหนึ่งในอาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในนาลันทาคือ ห้องสมุดที่ชื่อว่าธรรมะกันจะ (Dharmaganja) ซึ่งประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่และมีชั้นหลายชั้นจำนวน 3 หลัง หนึ่งในอาคารดังกล่าวสูงถึง 9 ชั้น ทำให้หนังสือที่ถูกเก็บไว้มีจำนวนมหาศาล ทั้งนี้พระสวนจางและพระอี้จิงได้นำหนังสือและคัมภีร์หลายร้อยเล่มกลับมาจากนาลันทา แสดงให้เห็นว่าหนังสือที่นาลันทาน่าจะมีมากเกินความต้องการ ทำให้ทั้งสองสามารถนำข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมายังดินแดนจีนได้

การปกครองสถานศึกษาที่ใหญ่โตเช่นนี้ใช้หลัก Liberum Veto คล้ายกับอาณาจักรโปลิช-ลิทัวเนีย นั่นคือจะมีการจัดประชุมพระนักศึกษาทุกรูปในการตัดสินใจข้อเรียกร้องสำคัญๆ ถ้ามีพระแม้แต่รูปเดียวปฏิเสธ ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะตกไปทันที อย่างไรก็ตามการพูดคุยหรือเกลี้ยกล่อมฝ่ายตรงข้ามสามารถทำได้เช่นเดียวกัน

พระอี้จิงอธิบายว่าวิถีชีวิตของพระนักศึกษาเข้มงวดมาก เมื่อมีเสียงเคาะระฆังตอนเช้า พระทุกรูปต้องตื่นไปอาบน้ำในสระ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะเริ่มต้นการทำพิธีทางศาสนาอย่างเช่นการสวดมนต์ ในช่วงเย็นหลังจากร่ำเรียนเสร็จแล้ว พระนักศึกษาจะต้องสวดมนต์ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามด้วยความที่นาลันทาใหญ่มาก ทำให้ต้องแบ่งโซนกันไป

ความยิ่งใหญ่ของสถานศึกษาที่ให้การศึกษาที่เป็นระบบเช่นนี้ในช่วงศตวรรษที่ 7 ทำให้นาลันทาเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแรกสุดของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ในเวลานั้นยากที่จะหาที่ใดในโลกที่ให้การศึกษาที่สามารถเปรียบกับนาลันทาได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตก โลกมุสลิม หรือว่าจีนก็ตาม

นาลันทาในยุคเสื่อม

ในช่วงราชวงศ์ปาละ (ศตวรรษที่ 8-12) นาลันทาก็ยังได้รับการอุปถัมภ์อย่างดีอยู่ แต่กษัตริย์ปาละได้สร้างสถานศึกษาที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่น วิกรมศิลา (Vikramshila) ขึ้นมาด้วย ทำให้พระนักศึกษาไม่ได้มากเหมือนกับในสมัยศตวรรษที่ 7

ต่อมาในศตวรรษที่ 10 แนวคิดตันตระที่เป็นแนวคิดหลักในอินเดียช่วงนั้นยังเผยแพร่เข้ามาในนาลันทา แนวคิดตันตระให้ความสำคัญกับเรื่องเวทมนตร์คาถา และเรื่องเพศ ทำให้นาลันทาเริ่มเสื่อมถอยลง เพราะการสอนศาสนาที่เคยมีทั้งแบบมหายานและเถรวาทเริ่มน้อยลงทุกที

ความเสื่อมของศาสนาพุทธโดยรอบได้ส่งผลกระทบต่อนาลันทาเช่นกัน การรับแนวคิดตันตระเข้ามาทำให้ศาสนาพุทธเริ่มมีความแตกต่างจากฮินดูน้อยลงไปตามลำดับ ช่วงเวลานั้นเองเป็นช่วงที่ศาสนาฮินดูกลับมาเฟื่องฟูด้วย ชาวพุทธอินเดียจึงลดลงอย่างน่าหวาดหวั่นใจ แต่ที่นาลันทายังอยู่ได้ก็เพราะกษัตริย์ปาละและราชวงศ์ต่างๆ ให้การสนับสนุนเท่านั้น

จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 12 กองทัพมุสลิมเติร์กจากทางตะวันตกได้ทำลายการต้านทานของกษัตริย์ฮินดู และรุกเข้ามาถึงดินแดนพิหาร อันเป็นที่ตั้งของนาลันทาได้สำเร็จ

หลักฐานมุสลิมได้บันทึกไว้ว่ากองทัพได้ยึดป้อมขนาดใหญ่และได้ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในป้อมแห่งนี้ประกอบด้วยพราหมณ์หัวโล้นจำนวนมากมาย พวกเขาได้ถูกสังหารจนหมดสิ้น นอกจากนี้พวกมุสลิมยังได้หนังสือมากมายมหาศาลด้วย เมื่อสอบถามพวกฮินดูว่าหนังสือพวกนี้คืออะไร พวกมุสลิมถึงทราบว่าป้อมที่เพิ่งยึดได้จริงๆแล้วเป็นมหาวิทยาลัย

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่ว่าคือนาลันทานั่นเอง ส่วนพราหมณ์หัวโล้นก็คือพระภิกษุในศาสนาพุทธ

วัดหมายเลข 13 ในนาลันทา By Photo Dharma, CC BY 2.0,

อย่างไรก็ตามพระธรรมสวามิน พระชาวทิเบตได้ไปเยือนนาลันทาในปี ค.ศ.1235 และพบว่านาลันทายังมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ แต่อาคารต่างๆ เสื่อมโทรมอย่างหนักจากความเสียหายจากการทำลายของพวกมุสลิม ห้องสมุดและมหาวิหารขนาดใหญ่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง ทำให้เชื่อได้ว่าทั้งสองน่าจะถูกทำลายไปแล้ว

หลังจากนี้เราก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาลันทาต่อไป การปกครองโดยรัฐสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ที่ผู้ปกครองเป็นชาวมุสลิมไม่น่าจะเป็นคุณกับนาลันทาสักเท่าใดนัก ประกอบกับศาสนาพุทธเองก็เสื่อมลงจนแทบไม่มีศาสนิกเหลืออยู่ นาลันทาจึงน่าจะหมดสิ้นนักศึกษา และถูกทิ้งร้างไปในที่สุดระหว่างศตวรรษที่ 13-18 เป็นอันปิดฉากความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปโดยปริยาย

นาลันทาในยุคปัจจุบัน

ในช่วงที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นักสำรวจชาวอังกฤษได้เข้ามาสำรวจและค้นพบนาลันทาอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออินเดียได้รับเอกราช นาลันทาจึงได้รับการบูรณะและการศึกษาอย่างจริงจัง นักวิจัยได้ค้นพบโบราณวัตถุมากมายรายรอบนาลันทา ทำให้เชื่อได้ว่านาลันทารุ่งเรืองมาตั้งยุคโบราณ

ปัจจุบันซากของนาลันทาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในรัฐพิหารของประเทศอินเดีย นอกจากนี้ในปี ค.ศ.2014 รัฐบาลอินเดียยังให้เงินทุนในการสร้างมหาวิทยาลัยนาลันทาในยุคปัจจุบันขึ้นมาใหม่ด้วย เพื่อฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ในอดีตของนาลันทาให้กลับมาเหมือนแต่ก่อน อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.2019 นี้มหาวิทยาลัยนาลันทายุคใหม่ให้การศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปเท่านั้น

Sources:

  • Nalanda University
  • Yijing, A record of the Buddhist religion as practised in India and the Malay archipelago
  • Wriggins, Xuanzang : a Buddhist pilgrim on the Silk Road
  • Minhaj-ud-Din, Tabakat-i-Nasiri – A General History of the Muhammadan Dynasties of Asia Including Hindustan

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!