ประวัติศาสตร์พระเจ้าอนัคเปตลุน (Anaukpetlun) กษัตริย์ผู้ฟื้นฟูอาณาจักรพม่า

พระเจ้าอนัคเปตลุน (Anaukpetlun) กษัตริย์ผู้ฟื้นฟูอาณาจักรพม่า

ถ้าช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์กลียุคในหน้าประวัติศาสตร์ไทยแล้วนั้น เหตุการณ์นี้ที่คล้ายกันในหน้าประวัติศาสตร์พม่าก็คือ ช่วงเวลาหลังสงครามยุทธหัตถี (ค.ศ.1592) ไปจนถึงปี ค.ศ.1606

ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วเหตุการณ์ของฝั่งพม่าสร้างความเสียหายและกินเวลานานกว่าเสียอีก เพราะในกรณีของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงฟื้นอำนาจรัฐขึ้นที่ธนบุรี และเอาชนะชุมนุมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์กลางการปกครองกลับมามั่นคงดังเดิม

ขณะที่ของฝั่งพม่านั้น ต้องใช้เวลานับสิบปี และกษัตริย์อีกสองพระองค์ด้วยกัน โดยหนึ่งในกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอาณาจักรพม่าก็คือ พระเจ้าอนัคเปตลุน (Anaukpetlun) แห่งอังวะผู้นี้นั่นเอง

ปูมหลัง

ความพ่ายแพ้ในสงครามยุทธหัตถีของกองทัพหงสาวดีทำให้ราชวงศ์ตองอูของพระเจ้านันทบุเรงสูญเสียอำนาจการปกครองเหล่าประเทศราชไปจนสิ้น ส่งผลให้เมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจต่างกระด้างกระเดื่อง ไม่ว่าจะเป็นเมืองในพม่าหรือว่าในดินแดนอื่นๆ

สาเหตุนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะอาณาจักรพม่าที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าบุเรงนองขึ้นอยู่กับอำนาจ (Authority) และความแข็งแกร่งในการควบคุมประเทศราช ไม่ใช่การปกครองแบบรวมศูนย์โดยสมบูรณ์เหมือนกับในจีนหรือยุโรป ดังนั้นถ้ากษัตริย์พม่าที่หงสาวดีสูญเสียอำนาจดังกล่าว (ในกรณีนี้คือเพราะถูกท้าทายโดยอยุธยา) ราชสำนักที่หงสาวดีจะอ่อนแอมาก เพราะเหลือเมืองในปกครองแค่เมืองเดียวเท่านั้น แถมชนส่วนใหญ่ที่หงสาวดีก็ยังเป็นชาวมอญ ไม่ใช่พม่าอีกด้วย

ความอ่อนแอที่ว่าถึงขนาดที่ว่าพระเจ้านันทบุเรงไม่สามารถต้านทานการรุกรานของพระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะไข่ได้ และจำต้องยอมเสด็จย้ายไปประทับที่เมืองตองอู ปล่อยให้เมืองหงสาวดีถูกปล้นสะดมจนเสียหายยับเยิน หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้านันทบุเรงก็ถูกนัดจินหน่องลอบปลงพระชนม์อยู่ดี

การสวรรคตของพระเจ้านันทบุเรงทำให้แผ่นดินพม่าปราศจากผู้ที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการปกครองดินแดนพม่า เมืองต่างๆ ในพม่าจึงแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน ไม่ว่าจะเป็นตองอู แปร อังวะ หรือแม้กระทั่งเมืองสิเรียมที่ ฟิลิปเป้ เดอ บริโต (หรือเรียกสั้นๆ ตามพงศาวดารไทยว่าเดอ บริโต) นายฝรั่งชาวโปรตุเกสปกครองอยู่ แผ่นดินพม่าจึงอยู่ในสถานะวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พระเจ้านยองยาน

ในเวลานั้นหนึ่งในเมืองที่เข้มแข็งที่สุดก็คือ เมืองอังวะ (Ava) ที่อยู่ตอนเหนือของพม่า ดังนั้นจึงไม่ได้รับความเสียหายใดๆ จากเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปตีกรุงหงสาวดีและตองอู (ซึ่งอยู่ทางตอนใต้) รวมไปถึงเหตุการณ์จลาจลในเมืองต่างๆ ของพม่าด้วย

กษัตริย์ที่ปกครองอังวะในเวลานั้นคือ พระเจ้านยองยาน (Nyuangyan) โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้านยองยานเป็นกษัตริย์ที่ดีพระองค์หนึ่ง โดยทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอังวะให้แข็งแกร่ง และริเริ่มตีชิงเมืองต่างๆ โดยรอบให้กลับเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจ ดังนั้นหัวเมืองพม่าทางตอนเหนือและไทยใหญ่จึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้านยองยานทั้งสิ้น

ซากของเมืองอังวะในปัจจุบัน By SarahDepper – Ruins in Ancient City of Ava (Inwe), CC BY 2.0,

การฟื้นฟูศูนย์กลางการปกครองของพม่านี้เองที่ทราบไปถึงสมเด็จพระนเรศวร พระองค์จึงยกกองทัพมาเพื่อตีเมืองอังวะเพื่อไม่ให้พม่าสร้างศูนย์กลางการปกครองขึ้นมาใหม่ได้ แต่กลับสวรรคตเสียก่อนที่เมืองหาง กองทัพไทยจึงยกมาไม่ถึงเมืองอังวะ อย่างไรก็ดีพระเจ้านยองยานเองก็สวรรคตในเวลาไล่เลี่ยกัน ราชสมบัติเมืองอังวะจึงตกอยู่กับโอรส ผู้ครองราชย์ในนามว่าพระเจ้าอนัคเปตลุน (Anaukpetlun)

ขึ้นครองราชย์

พระเจ้าอนัคเปตลุนนี้ทรงมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้ามหาธรรมราชา (Maha Dhamma Yeza) พงศาวดารไม่ได้ระบุถึงชีวิตก่อนครองราชย์ไว้มากนัก เรารู้แต่เพียงว่าพระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้านยองยาน ส่วนพระมารดาก็เป็นพระธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง (พ่อและแม่เป็นพี่น้องต่างมารดากัน)

ก่อนที่จะสวรรคต พระเจ้านยองยานได้รับสั่งให้ฟื้นฟูอาณาจักรพม่าให้ได้ ดังนั้นภารกิจของกษัตริย์พระองค์ใหม่จึงเริ่มต้นทันที เมืองแรกที่พระเจ้าอนัคเปตลุนปรารถนาจะตีให้ได้ก็คือเมืองแปร (Prome, Pyay) เมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของพม่า

เมืองนี้เป็นเมืองที่เพิ่งเกิดกบฏชิงราชสมบัติ แต่กลับต่อสู้แข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ กว่าพระองค์จะปราบได้ก็ใช้เวลาไปนานถึง 8 เดือน อย่างไรก็ดีพระเจ้าอนัคเปตลุนกลับไม่ได้เอาโทษกษัตริย์กบฏ พระองค์แค่ถอดออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งพระอนุชาให้ปกครองเป็นเจ้าเมืองแทนเท่านั้น

ชัยชนะเหนือเมืองแปร ทำให้เมืองอื่นเริ่มครั่นคร้าม เพราะในอดีตนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองที่สร้างอาณาจักรพม่าก็มีชัยเหนือเมืองแปรเป็นเมืองแรก แล้วหลังจากนั้นถึงจะตีเมืองอื่นๆ เป็นลำดับต่อไป หลังจากนั้นดินแดนตอนกลางของพม่าจึงอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอนัคเปตลุนทั้งหมด

ฟื้นฟูอาณาจักรพม่า

เมืองที่พระเจ้าอนัคเปตลุนต้องการตีเป็นเมืองต่อไปคือเมืองตองอู (Taungoo)

เมืองตองอูนี้เป็นเมืองที่เป็นปัญหามากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นเมืองใหญ่แล้ว เมืองตองอูในเวลานั้นอยู่บริเวณพรมแดนของเขตอิทธิพลของฝ่ายอังวะและเขตอิทธิพลของมอญและโปรตุเกสที่อยู่ทางตอนใต้ ดังนั้นเมืองตองอูมีสถานะที่ไม่แน่นอนว่าจะเข้าข้างใคร

เพื่อเป็นการตัดปัญหา พระเจ้าอนัคเปตลุนจึงยกกองทัพมาตีเมืองตองอูในปี ค.ศ.1610 ซึ่งก็ตีได้โดยง่าย แต่เรื่องกลับเป็นว่าหลังจากที่กองทัพอังวะกลับไปแล้ว กองทัพมอญ (ของพระยาทะละ) กับโปรตุเกสของเดอ บริโต กลับยกทัพมาตีเมืองตองอูแตก เผาเมืองจนวอดวาย และจับนัดจินหน่องกลับไปด้วย

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ทางตอนนี้ฝ่ายไทยว่าไว้ตรงกันข้าม กล่าวคือสมเด็จพระเอกาทศรถได้โปรดให้ เดอ บริโต และพระยาทะละยกทัพไปช่วยเมืองตองอู หลังจากที่นัดจินหน่องขอความช่วยเหลือมายังอยุธยา เมื่อกองทัพมอญและโปรตุเกสมาถึงกลับพบว่า เมืองได้ยอมจำนนต่อฝ่ายอังวะไปแล้วจึงเข้าปล้นสะดมทำลายเมือง ไม่เพียงเท่านั้นเดอ บริโตยังได้ทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูปมากมาย

ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ พระเจ้าอนัคเปตลุนพิโรธอย่างมาก เพราะเมืองตองอูขึ้นกับพระองค์แล้ว แต่เดอ บริโตกลับมาทำลายเมืองจนพินาศ ก่อนหน้านี้พระองค์ก็เกลียดชังเดอ บริโตอยู่แล้วแต่เดิม เพราะปล้นวัดและทำลายพระพุทธศาสนา ดังนั้นในครั้งนี้พระเจ้าอนัคเปตลุนจึงตั้งใจว่าจะต้องมาตีเมืองสิเรียมของเดอ บริโตให้จงได้

อย่างไรก็ดีการตีเมืองสิเรียมไม่ใช่เรื่องง่าย สาเหตุสำคัญคือเดอ บริโตมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพระยาทะละที่เป็นใหญ่ในหัวเมืองมอญ ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาอีกต่อหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น เดอ บริโตยังเคยเอาชนะกองทัพยะไข่มาแล้วถึงสองครั้ง ดังนั้นการทำสงครามจึงต้องใช้ความระวังอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอนัคเปตลุนจึงนำทัพยกมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมาตั้งกองทัพที่เมืองหงสาวดีก่อน (ตอนนั้นน่าจะเป็นเมืองร้าง เพราะเพิ่งถูกทำลายก่อนหน้านี้) หลังจากนั้นก็ฉวยโอกาสที่เดอ บริโตอนุญาตให้ทหารโปรตุเกสกลับไปที่อินเดียรีบยกเข้าตีเมือง

กองทัพอังวะนั้นไม่มีปืนใหญ่ที่จะทำลายกำแพงสูงใหญ่ของเมืองสิเรียม พระเจ้าอนัคเปตลุนจึงให้ล้อมเมืองไว้อย่างแน่นหนา จนสุดท้ายชาวพม่าในเมืองที่เกลียดชังเดอ บริโตจึงเปิดประตูให้กองทัพอังวะเข้าเมือง เมืองสิเรียมก็แตกหลังจากล้อมอยู่เพียง 34 วันเท่านั้น

พระเจ้าอนัคเปตลุนจึงโปรดให้ทรมานด้วยการเอาหลาวแทงทะลุร่างของเขา หลังจากนั้นสามวัน เดอ บริโตก็สิ้นชีวิต นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดให้ประหารชีวิตนัดจินหน่องด้วยเช่นกัน หลังจากที่นัดจินหน่องปฏิเสธที่จะยอมจำนน และเลือกที่จะตายพร้อมกับเดอ บริโต

หลังจากที่พระเจ้าอนัคเปตลุนมีชัยเหนือเมืองสิเรียมแล้ว หัวเมืองมอญต่างๆ ที่เคยขึ้นกับอยุธยาก็กลับไปยอมจำนนต่อพระองค์เหมือนในสมัยของพระเจ้าบุเรงนองอีกครั้งหนึ่ง เหลือแต่เพียงเมืองทวายและตะนาวศรีเท่านั้น พระองค์จึงโปรดให้ยกกองทัพลงใต้เพื่อไปตีต่อไป

ที่เมืองตะนาวศรีนี้ปรากฏว่ากองทัพไทยที่มีทหารโปรตุเกสช่วยเหลือกลับต่อสู้อย่างแข็งแกร่ง กองทัพพม่าล้มตายจำนวนมากกว่าจะเข้าเมืองได้ แต่ก็ตีเมืองทั้งสองกลับมาได้ในที่สุด หลังจากนั้นก็โปรดให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาต่างๆ ซึ่งก็เอาชนะได้อย่างง่ายดายอีก อาณาจักรพม่าจึงถูกฟื้นฟูโดยสมบูรณ์

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมอยุธยาถึงไม่ส่งกองทัพไปต่อต้านเลย ในช่วงนั้นอยุธยาอยู่ในช่วงรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเชษฐาธิราชที่มีการแย่งชิงราชสมบัติกันใหญ่โต แถมมีสงครามกลางเมืองอีกต่างหาก (กรณีพระศรีศิลป์) ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าเรื่องเสียประเทศราชจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนกับในสมัยสมเด็จพระนเรศวร

ฝ่ายพระเจ้าอนัคเปตลุนเองก็ไม่ได้ต้องการจะยกมาตีอยุธยาด้วย ขนาดล้านช้างที่อยู่ใกล้กว่า พระองค์ก็ไม่ได้คิดจะยกไปตี ในส่วนนี้พระองค์คงจะเห็นว่าตีมาได้แล้วก็ปกครองลำบาก

ในทางตรงกันข้ามหลังจากเสร็จสงครามแล้ว พระเจ้าอนัคเปตลุนโปรดให้จัดการปกครองให้เรียบร้อย เพื่อให้ราชสำนักปกครองเมืองต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้นพระเจ้าอนัคเปตลุนยังเลื่อนตำแหน่งให้ผู้มีความสามารถโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างเชื้อชาติและชาติกำเนิด และยังโปรดให้หล่อระฆังตั้งไว้ที่ประตูพระราชวัง พระองค์จะได้ทราบว่าประชาชนมีเรื่องทุกข์ร้อน เพื่อที่จะได้รับทราบและให้การช่วยเหลือ นับตั้งแต่บัดนั้นอาณาจักรพม่าจึงเป็นปึกแผ่นและมีความผาสุกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สวรรคตอย่างไม่น่าเชื่อ

ในปี ค.ศ.1628 พระเจ้าอนัคเปตลุนกลับสวรรคตด้วยวัยเพียง 50 ปี หลังจากครองราชย์มา 23 ปีเศษด้วยสาเหตุที่ผู้บันทึกพงศาวดารพม่าบันทึกไว้ว่าเกิดจากการที่พระโอรสของพระองค์ “กระทำครุโทษซึ่งเหลือจะออกปากได้”

เรื่องมีอยู่ว่าเมงเครทิปปะ (Minyedaippa) พระโอรสของพระองค์ลักลอบเป็นชู้กับพระสนมพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรสาวของเจ้าฟ้าแห่งเชียงตุง หลังจากนั้นเหมือนกับว่าพระเจ้าอนัคเปตลุนจะทรงระแคะระคายเรื่องดังกล่าว เมงเครทิปปะกลัวความผิดจึงปลงพระชนม์พระบิดาและขึ้นครองราชย์

ผลงานของพระเจ้าอนัคเปตลุนนั้นใกล้เคียงกับคำว่า “มหาราช” ด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องเศร้าสลดที่กษัตริย์ที่ดีงามและเปี่ยมไปด้วยความสามารถต้องจากไปเพราะสาเหตุเช่นนี้

อย่างไรก็ดีฟ้าก็ไม่เข้าข้างคนผิด ตะลุน (Thalun) อนุชาของพระองค์ที่นำกองทัพไปปราบกบฏได้นำกองทัพกลับมาปราบปราม เหล่าเสนาอำมาตย์ที่ต่างเกลียดชังเมงเครทิปปะจึงเปิดประตูเมืองยอมจำนน และนำตัวเมงเครทิปปะมามอบให้

ในวาระสุดท้ายเมงเครทิปปะขอให้ไว้ชีวิตตน โดยจะยอมไปบวชเป็นพระสงฆ์แต่โดยดี แต่ตะลุนไม่อนุญาตและนำตัวเมงเครทิปปะไปประหารชีวิตเสีย

Reference:

  • พระราชพงศาวดารพม่า: กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
  • Hmannan Yazawin
  • Zatadawbon Yazawin

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!