เทคโนโลยีAI สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ดีเทียบเท่าแพทย์รังสีวิทยา

AI สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ดีเทียบเท่าแพทย์รังสีวิทยา

โรคมะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในชนิดของโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในโลก ทั่วทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตมากถึง 500,000 คนต่อปี ปัจจุบันเรามีการตรวจเมมโมแกรม (Mammogram) ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาเซลล์มะเร็ง แต่วิธีการตรวจหาโรคนี้มีปัญหาตรงที่ผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์รังสีวิทยามีน้อย โดยเฉพาะในบางประเทศ ในขณะที่จำนวนผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจมีมาก นักวิจัยทางด้านนี้จึงเห็นว่าวิธีการตรวจสอบแบบใหม่ควรจะถูกคิดค้นขึ้น

แท้จริงแล้วระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยเหลือมีมาตั้งแต่ช่วงยุค 1990 แล้ว แต่ไม่มีงานวิจัยที่พบว่ามันประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา หรือทำให้แพทย์สามารถตรวจพบชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็งได้มากกว่าวิธีการทางปกติเลย

หากแต่ว่างานวิจัยใหม่ “Stand-Alone Artificial Intelligence for Breast Cancer Detection in Mammography: Comparison With 101 Radiologists.” ที่ได้ตีพิมพ์ใน Journal of National Cancer Institute ในปี ค.ศ. 2019 นี้ได้ค้นพบในสิ่งที่แตกต่างออกไป

นักวิจัยได้ทดลองด้วยการนำระบบ AI มาให้มันวินิจฉัยโรค เทียบกับแพทย์รังสีวิทยาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงทางด้านการตีความผลเมมโมแกรมจำนวน 101 คน ข้อมูลที่นำมาใช้คือ ข้อมูลของผู้ป่วยที่ได้จากการทำแมมโมแกรมจำนวน 2,652 เคส ซึ่งในเคสเหล่านี้มี 653 เคสที่เป็นมะเร็ง

สำหรับฝ่ายผู้เชี่ยวชาญทั้ง 101 คน แต่ละคนจะตีความเคสแต่ละเคสแตกต่างกันออกไป โดยรวมๆ แล้วจะได้การตีความทั้งหมด 28,296 แบบในการประเมินเคสทั้งหมด 2,652 เคส หลังจากนั้นนักวิจัยจะทำมาคิดหาค่าเฉลี่ยการถูกผิด แล้วมาเทียบกับที่ AI ทำได้

ผลที่ได้ออกมาคือ ในเชิงสถิติแล้ว AI ไม่ได้ด้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านรังสีวิทยาหรือรังสีแพทย์เลย AI สามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยแต่ละคนเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งเต้านมจากผลเมมโมแกรมได้แม่นยำเท่ากับ รังสีแพทย์ทั่วไป

พัฒนาการที่รวดเร็วของ AI เช่นนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การวินิจฉัยโรคต่างๆ จะแม่นยำมากขึ้นมาก และมีโอกาสสูงมากที่ในอนาคต มนุษย์จะมีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

Source: Oxford University Press, Science Daily

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!