ตำนาน"นิทานอีสป" กับตำนานและความเป็นมาสุดแปลกที่น้อยคนจะทราบ

“นิทานอีสป” กับตำนานและความเป็นมาสุดแปลกที่น้อยคนจะทราบ

นิทานอีสป (Aesop’s Fables) เป็นนิทานที่เป็นที่นิยมมาทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นในส่วนใดของโลก เพราะเข้าใจง่าย ไม่มีพิษมีภัย และยังแฝงไปด้วยคติสอนใจ ทำให้มันเหมาะสำหรับเด็กอย่างมาก นิทานอีสปที่เรารู้จักกันดีมากที่สุดคือ เรื่องกระต่ายกับเต่า นั่นเอง

หากแต่ว่าท่านทราบหรือไม่ว่า นิทานอีสปยังมีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ที่สุดแปลก และน่าสนใจไปไม่น้อยกว่าตัวนิทานเลย

รูปปั้นของบุคคลที่เชื่อกันว่าคือ อีสป By user:shakko – Own work, CC BY-SA 3.0,

อีสป

นิทานอีสปนี้จริงๆ แล้วคือ “นิทานของอีสป” ดังนั้นผู้แต่งมันขึ้นมาคือ “อีสป” (Aesop) นั่นเอง

แล้วอีสปผู้นี้เป็นใครมาจากไหน

แม้ว่าชื่อของเขาจะฟังดูเหมือนคนไทยหรือคนเอเชีย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย อีสปน่าจะเป็นชาวกรีกที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล

สาเหตุที่ผมใช้คำว่า “น่าจะ” เพราะนักประวัติศาสตร์ไม่ทราบตัวตนของอีสปอย่างแน่ชัดว่าเป็นใครมาจากไหน ข้อมูลต่างๆที่เรามีอยู่ล้วนแต่มาหลักฐานชั้นรองที่เขียนโดยชาวกรีกโบราณที่ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกับอีสปอย่าง งานเขียนเรื่อง Histories ของ Herodotus หรือ Rhetoric ของ Aristotle เราไม่เคยพบงานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษรของอีสปแท้ๆ ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นทั้งนิทานอีสปและชีวิตของอีสปจึงเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์กรีกโบราณให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นของอีสป ซึ่งไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าเป็นของอีสป ดังนั้นเรื่องราวของอีสปสามารถเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์กึ่งตำนานรูปแบบหนึ่ง

เรามาดูกันว่านักประวัติศาสตร์กรีกเล่าถึงอีสปไว้อย่างไรบ้าง

อีสปในตำนาน

นักประวัติศาสตร์กรีกให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเองว่าอีสปเกิดที่ไหน บ้างว่าอีสปเกิดในเอเชียไมเนอร์ บ้างว่าเกิดในกรีซ แต่หลักฐานส่วนใหญ่รายงานตรงกันว่า อีสปเคยเป็นทาสอยู่ที่เมืองชื่อ ซามอส (Samos)

ในเวลาต่อมา ด้วยสาเหตุที่ไม่มีใครทราบ อีสปได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส และเสียชีวิตในเมืองเดลฟี

ส่วนเรื่องนิทานอีสปนั้น นักประวัติศาสตร์มักจะอ้างเฉยๆ ว่าอีสปเป็นผู้แต่งมันขึ้นมา และไม่มีข้อมูลอะไรมากกว่านั้น เช่นแต่งตอนไหน แต่งเพราะอะไร

นี่คือข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับอีสปในหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ “เชื่อถือได้”

อย่างไรก็ตามมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มาจากยุคกรีกโบราณที่บันทึกชีวิตของอีสปไว้อย่างละเอียด หนังสือดังกล่าวชื่อ The Aesop Romance แต่ปัญหาของมันคือมันไม่น่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ เพราะมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ยังขัดแย้งกันเองด้วย และมีบุคคลที่ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ปรากฏขึ้นมาเต็มไปหมด

The Aesop Romance กล่าวถึงอีสปดังนี้

อีสปเป็นทาสอยู่ที่เกาะซามอส เขามีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดมาก อีสปอ้วนลงพุง ศีรษะผิดรูป จมูกสั้นเหมือนหมู ผิวคล้ำ ตัวเตี้ย ขาโก่ง แขนสั้นแถมยังตาเหล่ด้วย บางฉบับเปรียบว่า อีสปเป็นผลผลิตที่ผิดพลาดเพราะเกิดจากการงีบหลับของ Prometheus ผู้ให้กำเนิดมนุษย์ในตำนานกรีก-โรมัน

เดิมทีอีสปยังเป็นคนที่พูดจาและอธิบายอะไรไม่ได้เรื่อง (บ้างว่าเขาถึงกับเป็นใบ้) มีอยู่วันหนึ่ง เจ้านายของอีสปมีลูกฟิกชามใหญ่ พวกทาสคนอื่นๆ พากันแอบกินลูกฟิกในชามจนหมด ยกเว้นแต่อีสปคนเดียวที่ไม่ได้กิน

เมื่อเจ้านายกลับมา เขาจึงถามว่าใครเป็นคนกินลูกฟิกไป พวกทาสคนอื่นเห็นอีสปพูดไม่ได้ พวกเขาจึงกล่าวโทษอีสปว่าเป็นผู้กินลูกฟิกของเจ้านายไป

แต่ทว่าอีสปกลับเดินไปคว้าแก้วและดื่มน้ำอุ่นเข้าไป พร้อมกับให้นิ้วกลั้วคอของตนเอง ภายในเวลาไม่นาน เขาก็อาเจียนทุกอย่างออกมาจนหมด สิ่งที่เจ้านายเห็นคืออีสปอาเจียนแต่น้ำออกมาเท่านั้น ทำให้เขาทราบว่าอีสปเป็นผู้บริสุทธิ์

เจ้านายจึงสั่งให้พวกทาสคนอื่นๆ ทำแบบอีสปบ้าง ปรากฏว่าพวกเขาอาเจียนส่วนของลูกฟิกออกมา เจ้านายจึงทราบว่าใครเป็นตัวการแอบขโมยกินลูกฟิก

กำเนิดนิทานอีสป

ต่อมาไม่นาน ระหว่างที่อีสปกำลังทำงานอยู่ นักบวชหญิงแห่งเทพีไอซิสคนหนึ่งได้ผ่านมาพอดี เธอได้ถามทางอีสป อีสปได้ให้การช่วยเหลือเธออย่างดี เขานำทางเธอไปยังจุดมุ่งหมายที่เธอต้องการ และมอบน้ำและอาหารให้กับเธอด้วย

นักบวชแห่งเทพีไอซิสรู้สึกซึ้งใจ เธอจึงสวดมนต์ขอให้องค์เทพีตอบแทนเขาด้วยการทำให้อีสปพูดได้และมีความสามารถในการแต่งและเล่าเรื่องอย่างที่จะหาใครเปรียบได้ยาก

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของนิทานอีสป

อีสปเริ่มใช้ความสามารถที่เขาได้รับมาให้เป็นประโยชน์ เขาเล่านิทานออกมาเรื่องแล้วเรื่องเล่า ทำให้มีผู้ติดใจมากมาย นักปราชญ์ผู้หนึ่งชื่อแซนตัส (Xanthus) จึงตัดสินใจซื้ออีสปไปเป็นทาสของเขา

แต่แล้วการอยู่กับเจ้านายใหม่กลับทำให้อีสปรู้สึกขุ่นเคืองใจ ทำให้อีสปตัดสินใจว่าเขาจะสั่งสอนเจ้านายผู้นี้บ้าง

สั่งสอนเจ้านาย

มีอยู่วันหนึ่ง แซนตัสสั่งให้อีสปนำขวดน้ำมันและผ้าอาบน้ำมาให้กับเขาที่โรงอาบน้ำ เพื่อที่แซนตัสจะได้ทาน้ำมันหลังจากที่อาบน้ำเสร็จ แต่อีสปกลับนำขวดเปล่ามาให้กับแซนตัส เพราะแซนตัสสั่งให้นำขวดน้ำมันมาให้ ไม่ใช่ขวดที่มีน้ำมัน

ต่อมาอีสปกวนประสาทเจ้านายในลักษณะเดียวกันอีก เช่นเมื่อแซนตัสสั่งให้อีสปทำอาหารจากเม็ดถั่วมาให้เขา อีสปกลับใช้ถั่วแค่ 1 เม็ดในการทำอาหารเท่านั้น

เมื่อแซนตัสสั่งให้อีสปทำอาหารให้กับ “เธอผู้รักฉัน” (ซึ่งหมายถึงภรรยาของแซนตัส) อีสปกลับทำอาหารและนำไปมอบให้สุนัขตัวเมียที่แซนตัสเลี้ยงไว้แทน

อย่างไรก็ตาม บ้างว่าแซนตัสเคยสอนนักเรียนว่าปรัชญาทางอวัจนภาษา (ไม่ออกเสียง) สำคัญกว่าวัจนภาษา (คำพูด) อีสปจึงพยายามกวนประสาทแซนตัสเพื่อให้เขาเห็นความสำคัญของวัจนภาษาก็เป็นได้ โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้

มีอยู่วันหนึ่ง แซนตัสได้เชิญลูกศิษย์หลายคนมาที่บ้านของเขาเพื่อเลี้ยงอาหารค่ำ เขาได้สั่งให้อีสปทำอาหารที่ดีที่สุดที่จะจินตนาการได้

ปรากฏว่าสิ่งที่อีสปนำมาเสิร์ฟทุกคนคือ ลิ้นหมู เมื่อพวกลูกศิษย์ของแซนตัสกินเข้าไป ทุกคนต่างอาเจียนกันยกใหญ่ แซนตัสรู้สึกโกรธมาก เขาด่าว่าอีสปละเมิดคำสั่งของเขาที่ให้ทำอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่จะจินตนาการได้

อีสปกลับตอบว่า ไม่มีอะไรเหนือกว่าลิ้นอีกแล้ว เพราะปรัชญาและการศึกษาทุกชนิดเกี่ยวข้องกับลิ้นทั้งสิ้น ถ้าไม่มีลิ้น ทุกสิ่งไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม ดังนั้นลิ้นจึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว

พวกลูกศิษย์ที่ได้ฟังต่างยกย่องอีสปอย่างมาก และทุกคนต่างบอกแซนตัสว่าเขาผิดแล้ว นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่อีสปสั่งสอนเจ้านายของเขา

หลังจากนั้นอีสปก็สั่งสอนเจ้านายของเขาอีกหลายเรื่อง ในการสั่งสอนหรือโต้เถียงกับเจ้านาย อีสปมักจะเล่าเรื่องต่างๆ มาอุปมาอุปไมยเสมอ เรื่องเล่านี้คือส่วนหนึ่งของนิทานอีสปในเวลาต่อมานั่นเอง

อีสปและเจ้านายของเขา

วาระสุดท้ายของอีสปในตำนาน

หนังสือ The Aesop Romance อธิบายต่อไปว่า อีสปได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากแซนตัสและได้เป็นถึงทูตของชาวซามอสไปยังที่ต่างๆ เช่น เมืองบาบิโลนและอียิปต์ และย้อนกลับมาที่กรีซอีกครั้งหนึ่ง

ที่เมืองเดลฟีในกรีซ อีสปได้เล่าเรื่องของเขาโดยแลกกับเงินทองและของขวัญ แต่ปรากฏว่าเงินทองที่เขาได้รับมีน้อยมาก อีสปจึงเริ่มเล่าเรื่องที่ดูถูกชาวเดลฟีและเมืองของพวกเขา ทำให้ชาวเดลฟีโกรธมาก หนึ่งในชาวเดลฟีใส่ความอีสปว่าลักขโมยของในวิหาร ทำให้อีสปถูกจับกุมและได้รับโทษถึงตาย

ในวาระสุดท้ายอีสปพยายามเล่าเรื่องต่างๆ เพื่อเกลี้ยกล่อมไม่ให้ชาวเดลฟีสังหารเขา แต่ก็ไม่เป็นผล อีสปถูกประหารชีวิตด้วยการถูกบังคับให้กระโดดลงจากหน้าผา เขาเสียชีวิตเมื่อร่างของเขากระแทกพื้น

นี่จึงเป็นจุดจบของอีสปในตำนาน ไม่มีใครทราบว่าเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นกับเขาจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามตำนานนี้แสดงให้เห็นว่าอีสปเป็นคนกวนๆ คนหนึ่ง ที่ตายด้วยความกวนของตัวเอง

นิทานอีสปแพร่ไปทั่วโลก

นิทานอีสปได้รับการสืบทอดมาโดยปากต่อปากโดยชาวกรีก จนกระทั่งในช่วงปี 400 BC ถึงมีการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ มันถูกอ้างอิงโดยนักประวัติศาสตร์ และกวีชาวกรีกหลายคน แม้ว่าที่มาของมันจะคลุมเครือก็ตาม

หลังจากยุคกรีก นิทานอีสปได้ถูกแปลเป็นภาษาละติน และภาษาอื่นๆ ในยุโรปด้วยในเวลาต่อมา

สำหรับส่วนอื่นของโลก นิทานอีสปถูกแปลและเผยแพร่ในตะวันออกกลางและเอเชียกลางตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 10 แล้ว ต่อมาชาวยุโรปได้นำนิทานอีสปไปเผยแพร่ยังญี่ปุ่นและจีนในสมัยศตวรรษ 16-17 และอินเดียในสมัยศตวรรษที่ 19

ผลพวงของลัทธิจักรวรรดินิยมทำให้นิทานอีสปแพร่ไปยังอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอฟริกาด้วย ทำให้สุดท้ายแล้วนิทานอีสปเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้

Sources:

  • Herodotus, The Histories
  • Unknown, The Aesop Romance

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!