ศิลปะภาพเขียน8 ผลงานขั้นเทพของ "อิลเยีย เรปิน" จิตรกรรัสเซียระดับตำนาน

8 ผลงานขั้นเทพของ “อิลเยีย เรปิน” จิตรกรรัสเซียระดับตำนาน

อิลเยีย เรปิน (Ilya Repin) หรือชื่อเต็มๆว่า อิลเยีย เยฟิมอวิช เรปิน (Илья Ефимович Репин) เป็นจิตรกรรัสเซียที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 19 ของรัสเซีย และเป็นศิลปินรัสเซียคนเดียวก็ว่าได้ที่สามารถเรียกได้ว่ามีผลงานระดับโลก

ผลงานเรปินที่มีชื่อเสียงส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมในจักรวรรดิรัสเซีย บ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง ภาพของเขาทั้งสะท้อนและเสียดสีสังคมรัสเซียในรูปแบบที่น่าสนใจยิ่ง

เรามาดูกันดีกว่าครับ ผลงานเด่นของเรปินมีอะไรบ้าง

1. Ivan The Terrible Killing His Son

Ivan The Terrible Killing His Son

Ivan The Terrible Killing His Son หรือชื่อเต็มๆ ว่า Ivan the Terrible and His Son Ivan on 16 November 1581 เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเรปิน

ภาพนี้จำลองเหตุการณ์ที่ซาร์อีวานผู้เลวร้าย (Ivan The Terrible) เผลอใช้ตะบอง (ในภาพจะอยู่บนพื้น) ตีใส่หัวของซาร์เรวิชอีวาน อีวาโนวิช บุตรชายและรัชทายาทของเขาเต็มแรงด้วยความโกรธ ทำให้เลือดหลั่งไหลจากศีรษะของซาร์เรวิชอย่างมากมาย ไม่ว่าอีวานจะพยายามหยุดเลือดอย่างไรก็ไม่เป็นผล

ภาพนี้แสดงอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ลองมองไปยังใบหน้าของอีวานผู้เลวร้ายจะเห็นว่า ดวงตาของเขาเบิกโพลงด้วยความตกใจ เสียใจ รู้สึกผิด ส่วนซาร์เรวิชอีวานเองก็เหมือนคนที่กำลังจะตาย สายตาของเขานิ่งไร้ความรู้สึก

เรปินได้วาดภาพนี้โดยใช้ใบหน้าของเพื่อนจิตรกรของตัวเองเป็นอีวานผู้เลวร้าย และให้นักเขียนอีกคนหนึ่งเป็นซาร์เรวิช เขาวาดภาพนี้เสร็จในปี ค.ศ.1885 และขายให้นักธุรกิจอย่าง Pavel Tretyakov ในเวลาต่อมา ปัจจุบันภาพนี้ยังคงจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tretyakov ในกรุงมอสโก

อย่างไรก็ตามภาพนี้ทำให้เกิดการถกเถียงกันมาก แต่ไม่ใช่ในวงการศิลปะ หลังจากที่เรปินวาดภาพนี้เสร็จใหม่ๆ ชาวรัสเซียบางส่วน (โดยเฉพาะฝ่ายขวา) ไม่พอใจที่เรปินวาดภาพเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง และทำให้ภาพลักษณ์ของซาร์แห่งรัสเซียดูหม่นหมอง ขนาดในปัจจุบันเองชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนาก็ยังไม่ชอบภาพนี้ โดยอ้างว่าเพราะภาพนี้บิดเบือนประวัติศาสตร์

นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีความพยายามจะทำลายภาพนี้ถึงสองครั้ง แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของจิตรกรชาวรัสเซียในทุกยุคทุกสมัย

2. Demonstration on October 17,1905

Demonstration on October 17, 1905 เป็นผลงานของเรปินที่เกี่ยวข้องกับการเมืองรัสเซีย ภาพนี้แสดงถึงความรู้สึกเมื่อได้ทราบถึงประกาศ October Manifesto ของฝูงชนที่กำลังชุมนุม ทั้งนี้การประกาศ October Manifesto เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งในการปฏิวัติรัสเซีย เพราะเป็นครั้งแรกที่ซาร์แห่งรัสเซียยอมมอบรัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน

Demonstration on October 17,1905

ภาพนี้แสดงให้เห็นหลากหลายอารมณ์ของผู้คนที่ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน บางคนแสดงความดีใจจนถึงกับโห่ร้องเป่าปาก บางคนมีสีหน้าเรียบเฉย ส่วนบางคนรู้สึกโกรธ ตกตะลึง ตกใจ หรือประหลาดใจ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนบางส่วนอย่างเช่นฝ่ายอนุรักษ์นิยมรู้สึกไม่พอใจที่การเมืองรัสเซียดำเนินไปเช่นนี้

เรปินเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ทำให้เขาเข้าใจถึงอารมณ์ต่างๆ ในช่วงเวลานั้นได้อย่างดี เขาจึงนำมันมาใส่ในภาพของเขา ภาพนี้จึงเป็นงานแบบ Realism หรือเสมือนจริงที่ยอดเยี่ยมภาพหนึ่ง

ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่ State Russian Museum ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก ซึ่งเราสามารถเข้าชมได้

3. Religious Procession in Kursk Province

Religious Procession in Kursk Province หรือ Religious Procession in Kursk Governorate เป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังของเรปิน และก่อให้เกิดการโต้เถียงกันไม่น้อยกว่า Ivan The Terrible Killing his Son

Religious Procession in Kursk Province

ภายในรูปเราจะเห็นผู้คนจำนวนมากกำลังอยู่ในขบวนแห่ทางศาสนา ด้านขวาคือบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์ และพวกที่มีฐานะดี (สังเกตจากเครื่องแต่งกายแบบตะวันตก) ส่วนด้านซ้ายของภาพคือพวกชาวนาและขอทานที่แต่งกายอย่างซอมซ่อ ระหว่างทั้งสองกลุ่มมีทหารขี่ม้าอยู่ ราวกับว่าดูแลความสงบเรียบร้อยไม่ให้ทั้งสองกลุ่มปะปนกัน

รูปภาพนี้เรปินจงใจวาดขึ้นเพื่อเสียดสีความไม่เท่าเทียมกันในสังคมรัสเซีย เขาพยายามชึ้ให้เห็นว่าสถาบันศาสนาและพวกชนชั้นสูงกดขี่ชาวบ้านทั่วไปที่มีฐานะยากจน

เช่นเดียวกับรูปอื่นๆ ของเรปิน รูปนี้มีชื่อเสียงมาก และสร้างดราม่าอย่างใหญ่โต เพราะมีผู้โจมตีเรปินว่าภาพของเรปินเป็นศัตรูกับรัฐบาลในเวลานั้น

ปัจจุบันภาพดังกล่าวอยู่ที่ Tretyakov Gallery ในกรุงมอสโก ซึ่งสามารถไปชมได้เช่นเดียวกัน

4. Reply of the Zaporozhian Cossacks

Reply of the Zaporozhian Cossacks

Reply of the Zaporozhian Cossacks เป็นภาพที่สร้างชื่ออย่างมากต่อเรปิน เพราะเป็นภาพที่ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ซื้อไปในราคาที่สูงถึง 35,000 รูเบิล ซึ่งมากที่สุดเหนือกว่าจิตรกรรัสเซียคนใดๆ ก่อนหน้าเขา

ภาพนี้เล่าถึงเหตุการณ์จริงในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่พวกคอสแซกปฏิเสธที่จะจะยอมอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรออตโตมัน และได้ตอบสาส์นของสุลต่านออตโตมันด้วยการดูถูกเหยียดหยาม (หยาบเกินกว่าที่จะเขียนลงมา ณ ที่นี้)

ใบหน้าของพวกคอสแซกแต่ละคนล้วนแต่ยิ้มเยาะ และหัวเราะ ส่วนชายที่สวมใส่หมวกสีดำทรงสูงที่น่าจะเป็นทูตออตโตมันมีท่าทีเคร่งเครียด แสดงให้เห็นว่าพวกเขาปราศจากความเกรงกลัวโดยสิ้นเชิง

อนึ่งภาพนี้ได้แสดงถึงความหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีของพวกคอสแซก รวมไปถึงความจงรักภักดีของเขาต่อจักรวรรดิรัสเซียด้วย

ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่ State Russian Museum ในเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก ซึ่งสามารถไปชมได้เช่นกัน

5. Sadko in the Underwater Kingdom

Sadko in the Underwater Kingdom

Sadko in the Underwater Kingdom เป็นภาพของเรปินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นภาพที่เรปินวาดวีรบุรุษในตำนานของชาวสลาฟชื่อ Sadko ที่ได้เดินทางไปยังอาณาจักรใต้น้ำจากตำนานเรื่อง Bylina

อย่างไรก็ตามเรปินก็ยังเป็นเรปิน เขาได้สอดแทรกแนวคิดสำคัญๆ ไว้เช่นเดิม ในภาพนี้ Sadko (ชายทางด้านขวาของภาพ) ไม่ได้สนใจกับสาวงามจากอาณาจักรใต้น้ำสักเท่าใดนัก สายตาของเขามองไปยังหญิงสาวที่อยู่ทางบนซ้ายของภาพ ซึ่งเธอคือภรรยาของเขา เราจึงสามารถตีความได้ว่า เขาเป็นชายรัสเซียที่ปฏิเสธความงามของต่างชาติ และจงรักภักดีต่อภรรยาชาวรัสเซียของเขาแต่เพียงผู้เดียว

เรปินมองว่าเขาวาดภาพนี้ออกมาไม่ดีพอ หรืออาจจะเรียกได้ว่าล้มเหลวเลยก็ว่าได้ แต่มันกลับทำให้เขาได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะแห่งเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเลยทีเดียว

ปัจจุบันภาพดังกล่าวอยู่ที่ State Russian Museum ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

6. Barge Haulers on the Volga

Barge Haulers on the Volga

Barge Haulers on the Volga เป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่เรปินวาดขึ้นมา รูปนี้เล่าถึงชาย 11 คนที่กำลังลากเรือในแม่น้ำโวลกา แม่น้ำสำคัญของรัสเซีย ชายแต่ละคนจะเห็นว่ากำลังเหนื่อยอ่อนและหมดแรง แต่ละคนกำลังจะทรุดตัวลงกับพื้นอยู่แล้ว ยกเว้นชายหนุ่มที่ยืนอยู่ตรงกลางคนเดียวเท่านั้นที่ยังยืนอย่างมั่นคง และต่อสู้ต่อไป

ประเด็นสำคัญที่แฝงอยู่ในรูปคือ เรปินพยายามโจมตีการใช้แรงงานอย่างปราศจากคุณธรรมเพื่อผลกำไรหรือธุรกิจของพวกนายทุนรัสเซีย เขาได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพดังกล่าวจากการที่เขาท่องเที่ยวไปทั่วรัสเซียและพบเห็นชีวิตอันย่ำแย่ของผู้คนทั่วไปในแถบชนบทที่ต้องถูกใช้งานอย่างทรหดเพื่อผลประโยชน์ของคนรวย

หลังจากที่เรปินวาดเสร็จ ภาพนี้ได้มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะงานของเรปินไม่ได้จำลองชีวิตหรูหราไฮโซเหมือนกับจิตรกรสายหลักในเวลานั้น แต่นำเสนอประเด็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้วอย่างความยากลำบากของชนชั้นล่าง

สุดท้ายแกรนด์ดยุควลาดิเมียร์ อเล็กซานดรอวิชซื้อมันไปเพื่อนำไปแสดงทั่วทั้งยุโรป เรปินจึงได้รับการยกย่องอย่างสูงทั่วทั้งยุโรป ทุกวันนี้ภาพดังกล่าวอยู่ที่ State Russian Museum ในเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

7. They Did Not Expect Him

They Did Not Expect Him เป็นภาพชื่อแปลกที่วาดโดยเรปิน ชายสวมใส่ชุดดำคือนักปฏิวัติกลุ่ม Narodnik ที่เพิ่งจะพ้นโทษจากคุกและการใช้แรงงานหนัก แต่เมื่อเขากลับมาที่บ้าน ครอบครัวของเขากลับไม่คาดคิดว่าเขาจะกลับมาในวันนั้น

They Did Not Expect Him

ผู้หญิงผมสีขาว สวมชุดดำคือแม่ของเขาที่กำลังลุกขึ้นยืนเพื่อทักทายเขา ภรรยาของเขาที่นั่งอยู่ที่เปียโนหยุดเล่นเปียโนและหันกลับมาที่เขาอย่างไม่เชื่อสายตาตนเองว่าสามีของเธอกลับมาแล้ว ลูกชายของเขายิ้มเล็กน้อยด้วยความดีใจที่เห็นพ่อกลับมา ส่วนน้องสาวคนเล็กเหมือนว่าจะจำไม่ได้ว่าชายที่ยืนอยู่เป็นพ่อของเขา

สิ่งที่เรปินได้สอดแทรกในภาพนี้คือ การพ้นโทษเปรียบเหมือนกับการกลับมาจากความตาย ท่าทางของสมาชิกครอบครัวแสดงท่าทีแบบนี้เพราะไม่คิดว่าเขาจะกลับมาได้

ปัจจุบันภาพดังกล่าวอยู่ที่ Tretyakov Gallery ในกรุงมอสโก

8. Ceremonial Sitting of the State Council on 7 May 1901 Marking the Centenary of its Foundation

Ceremonial Sitting of the State Council on 7 May 1901 Marking the Centenary of its Foundation

ภาพนี้เป็นภาพที่ชื่อยาวมากจริงๆ แต่เป็นภาพที่ทรงเกียรติที่สุดในเรปินเคยวาดมา เพราะภาพนี้เป็นภาพที่รัฐบาลซาร์ขอให้เรปินเป็นผู้วาดเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี ของสภาแห่งรัฐในปี ค.ศ.1901

ตัวภาพมีขนาดใหญ่มาก แต่เรปินกลับแสดงฝีมือของเขาด้วยการวาดภาพนี้จนเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ซึ่งรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

ภายในภาพคือรูปของสภาแห่งรัฐที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง อย่างเป็นซาร์นิโคลัสที่ 2 (นั่งอยู่ตรงข้ามบุคคลที่กำลังยืนอยู่ตรงกลาง) ส่วนข้างขวาของนิโคลัสคือ แกรนด์ดยุคไมเคิล อเล็กซานดรอวิช

ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่ State Russian Museum เมืองเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

ส่งท้าย

นอกจาก 8 ผลงานระดับเทพนี้แล้ว เรปินยังได้สรรค์สร้างผลงานอันทรงคุณค่าอีกมากมาย ทำให้เขาเป็นที่ยกย่องอย่างอมตะทั้งในสมัยโรมานอฟ สมัยโซเวียต และประเทศรัสเซียในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลังจากปฏิวัติตุลาคม เรปินปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลโซเวียตหลายครั้งที่จะกลับมาอาศัยอยู่ในโซเวียตรัสเซีย (เป็นความคิดที่ถูกต้องแล้ว) ทำให้เขาสิ้นชีวิตในฟินแลนด์ด้วยวัย 96 ปี ในปี ค.ศ.1930

ในปี ค.ศ.1948 หลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ผนวกเมืองในฟินแลนด์ที่เรปินสิ้นชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ รัฐบาลโซเวียตได้เปลี่ยนชื่อเมืองดังกล่าวเป็นชื่อของเรปินเพื่อเป็นการยกย่องเขา เมืองดังกล่าวยังคงใช้ชื่อ Repino หรือตามชื่อของเรปินมาจนถึงทุกวันนี้

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!