ศิลปะดนตรี5 เพลงไทยเดิมที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ลาว" ที่สุดแสนจะไพเราะ

5 เพลงไทยเดิมที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ลาว” ที่สุดแสนจะไพเราะ

เพลงไทยเดิมเป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษไทยมอบให้ไว้กับชนรุ่นหลัง หากแต่ว่าเพลงเหล่านี้มีคำว่า “ลาว” อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่คิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงของประเทศลาว ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย

เพลงเหล่านี้เป็นเพลงไทย แต่อาจจะเป็นเพลงไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคเหนือ (เชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในดินแดนล้านนาเดิม)

ในอดีต ชาวล้านนาเรียกตนเองว่า ชาว “ลาว” และชาวไทยอื่นๆ ก็เรียกชาวล้านนาว่าชาว “ลาว” ด้วยเช่นกัน ประเด็นดังกล่าวสามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความของอาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ที่นี่

แต่สำหรับโพสนี้ เรามาดูเรื่องเพลงกันดีกว่าครับ

วัดพระธาตุดอยสุเทพ By Photo Dharma from Sadao, Thailand – 033 Godlen Chedi, CC BY 2.0,

1. ลาวดวงเดือน

ลาวดวงเดือน หรือ อีกชื่อหนึ่งว่า ลาวดำเนินเกวียน น่าจะเป็นเพลงไทยเดิมที่คนไทยรู้จักมากที่สุดก็ว่าได้ เพลงนี้นิพนธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม หลังจากที่ทรงผิดหวังในความรักกับเจ้าหญิงชมชื่น แห่งเชียงใหม่

เพลงนี้มีความไพเราะอย่างยิ่ง และมีหลายท่อนที่แสดงถึงความสะเทือนอารมณ์ขององค์ผู้นิพนธ์เอง เช่น

เห็นเดือนแรม เริศร้างเวหา
เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า ละหนอ เห็นมืดมน

ปัจจุบันเพลงลาวดวงเดือน มีให้ฟังหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่แบบออร์เคสตร้า แบบเปียโน แบบไวโอลิน หรือ แบบปี่พาทย์ไทยแท้ๆ แบบเดิม

เวอร์ชั่นที่ผมชื่นชอบที่สุดคือ เวอร์ชั่นนี้ แต่เวอร์ชั่นอื่นๆ ที่มีให้ฟังใน youtube เช่นเดียวกัน

2. ลาวเสี่ยงเทียน (เถา)

ลาวเสี่ยงเทียนเป็นเพลงเก่าแก่ที่มีประวัติสืบเนื่องไปถึงยุครัชกาลที่ 4-5 แต่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่งมันขึ้นมา (เชื่อว่าน่าจะเป็นครูเพลงภาคเหนือ) ตัวเพลงเคยเป็นเพลงลูกบทที่เล่นตามเพลงแม่บทมาก่อน แต่ต่อมามีการแต่งเนื้อร้องเข้าไป ตัวเพลงยังใช้สำเนียงลาว (แต่งขึ้นโดยอ้างอิงภาษาถิ่นภาคเหนือของไทย) และมีคำว่า “เสี่ยงเทียน” อยู่ ดังนั้นเพลงนี้จึงได้ชื่อว่า ลาวเสี่ยงเทียน

ในเวลาต่อมาครูศร ศิลปบรรเลง ครูเพลงชั้นเอกของไทยได้ปรับปรุงเพลงดังกล่าวให้เป็นเพลงที่น่าฟังขึ้น ด้วยฝีมือของครูศร ทำให้เพลงดังกล่าวเป็นที่นิยมในวงการดนตรีไทย

เมื่อดนตรีไทยพัฒนาไป เพลงลาวเสี่ยงเทียนถูกนำไปดัดแปลงอีกนับสิบเวอร์ชั่น หนึ่งในเวอร์ชั่นคือ เวอร์ชั่นที่เป็นเพลงใช้ถวายความเคารพต่อพระพุทธที่โรงเรียนให้นักเรียนทั่วไปฟังและร้องนั่นเอง

3. ลาวคำหอม

ลาวคำหอม เป็นอีกหนึ่งเพลงไทยเดิมที่ไพเราะมากและมีความหมายดี ตัวเพลงเป็นเพลงที่กำเนิดมาจากการร้องเล่นสักวา เชื่อกันว่าเพลงนี้แต่งโดยจ่าโคม นักร้องสักวาฝีมือเยี่ยมผู้หนึ่ง เขาแต่งเพลงนี้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติระหว่างการเล่นสักวาโดยไม่มีการเตรียมการมาก่อนแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมของเขา

ด้วยความไพเราะทำให้เพลงนี้เป็นที่นิยมมาก แต่ยังเป็นเพลงที่ยังไม่มีดนตรีประกอบแต่อย่างใด

ในเวลาต่อมา พระยาประสานดุริยศัพท์ได้แต่งดนตรีขึ้นประกอบ โดยยังให้คงเนื้อร้องไว้ตามเดิม กลายเป็นเพลงลาวคำหอมในปัจจุบัน ต่อมาเพลงนี้ยังได้ใช้ประกอบละครสี่แผ่นดินอีกด้วย

4. ลาวสมเด็จ

เพลงลาวสมเด็จเป็นเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่งที่ใช้สำเนียงลาวในการแต่งและบรรเลง เพลงนี้เป็นเพลงที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ไว้ดั้งเดิม แต่ครูเพลงหลายๆ คนได้ช่วยกันพัฒนาจนกลายเป็นเพลงลาวสมเด็จในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับเพลงอื่นๆ เพลงลาวสมเด็จยังเป็นที่นิยมสูงในวงการดนตรีไทยและปี่พาทย์ ปัจจุบันมีการนำไปเล่นโดยใช้เครื่องดนตรีตะวันตกด้วย แต่ตัวเพลงก็ยังไพเราะอยู่เช่นเดิม

5. ลาวเจริญศรี

เพลงลาวเจริญศรีเป็นเพลงที่ต่างจากเพลงอื่นๆ ในรายชื่อนี้ เพลงนี้มีที่มาจากเพลงตับลาวเจริญศรี ซึ่ง “เพลงตับ” คือเพลงหลายๆ เพลงที่บรรเลงติดต่อกันเป็นชุด

เพลงตับลาวเจริญศรี เป็นเพลงที่อ้างอิงมาจากวรรณคดีไทยเรื่อง ลิลิตพระลอ ตอนที่พระเพื่อนและพระแพงบรรยายรูปโฉมของตนเองให้กับพระลอฟัง ตัวเพลงมีเพลงสั้นๆ ประกอบอยู่ในเพลงอยู่ถึง 8 เพลง ที่มาของชื่อ “เจริญศรี” มาจากการที่เวลาเล่นแล้ว คำว่าเจริญศรีขึ้นมาโดดเด่นที่สุด เพลงนี้จึงได้ชื่อเพลงตับลาวเจริญศรีไปโดยปริยาย

ในภายหลังได้มีการนำเพลงภายในเพลงตับลาวเจริญศรี ชื่อเพลงลาวเล่นน้ำ และเพลงลาวเล็กตัดสร้อยมารวมเป็นเพลงเดียวในชื่อ เพลงลาวเจริญศรี นี่คือเพลงลาวเจริญศรีที่เป็นที่นิยมในวงการดนตรีไทยในทุกวันนี้นี่เอง

ถึงแม้จะดูซับซ้อนกว่าเพลงอื่นๆ ตัวเพลงยังคงใช้สำเนียงลาวเช่นเดียวกับเพลงอื่นๆ ในรายชื่อนี้

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!