ประวัติศาสตร์5 ความยิ่งใหญ่ของ "พระเจ้าตากสิน" ที่ควรค่าต่อการสักการะ

5 ความยิ่งใหญ่ของ “พระเจ้าตากสิน” ที่ควรค่าต่อการสักการะ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นมหาราชของชาวไทย สิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้กับชาวสยามมีมากเหลือจะคณานับ ซึ่งในส่วนนี้ทุกท่านน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว

ในเส้นทางสู่ความสำเร็จของพระองค์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พระองค์ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย และสามารถผ่านไปได้ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายๆด้าน ทำให้เกิดเป็นประเทศไทยอย่างในทุกวันนี้ได้ สิ่งเหล่านี้จึงแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช By Pitt – Own work, CC BY-SA 3.0,

1. ทรงเริ่มต้นจากศูนย์

ในปี พ.ศ.2310 พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอย่างหนักหน่วง พระยาวชิรปราการ (ยศศักดิ์ของพระองค์ในขณะนั้น) เป็นหนึ่งในขุนศึกที่เก่งกาจที่สุดของอยุธยา

พระยาวชิรปราการมองขาดว่าอยุธยาไม่สามารถต้านทานได้อีกต่อไป เพราะกองทัพพม่าแข็งแกร่งกว่าอยุธยามาก และยังมีการเตรียมการตีกรุงมาเป็นอย่างดี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงทำทุกวิถีทางแล้วก็ไม่สามารถผลักดันกองทัพพม่าออกจากกรุงได้เลย ทำให้พระยาวชิรปราการปรารถนาจะนำกำลังหนีไปตั้งหลัก และยกกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง

กำลังของพระยาวชิรปราการในเวลานั้นมีเพียง 500 นายเท่านั้น แถมยังถูกพม่าล้อมอยู่ด้วย ถ้าถามคนในเวลานั้นคงจะไม่มีใครเชื่อว่าพระยาวชิรปราการและทหารเหล่านี้จะเป็นผู้กู้กรุงศรีอยุธยา

พระยาวชิรปราการทำสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ให้เป็นจริงด้วยการตีฝ่ากองทัพพม่าที่มีมากกว่ามากออกไปได้สำเร็จ พระยาวชิรปราการออกไปตั้งตัวอยู่ในดินแดนตะวันออกที่เห็นว่าชัยภูมิดี และพยายามเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆ ให้ช่วยเหลือในการกู้เอกราช แต่ก็ไม่เป็นผล

เจ้าตาก (ยศศักดิ์ในเวลานั้น) จำต้องทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่ออีกครั้งหนึ่งด้วยการใช้กำลังปราบปรามหัวเมืองเหล่านี้ แม้ว่ากำลังพลจะมีน้อยกว่าฝ่ายศัตรูก็ตาม เจ้าตากปลุกใจทหารและเอาชนะศัตรูได้สำเร็จแบบเดียวกับที่เซี่ยวอวี่ที่จี้วลู่ ทำให้หัวเมืองตะวันออกทั้งหมดอยู่ภายในอำนาจ

เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก เจ้าตากทราบว่ากองทัพพม่าส่วนใหญ่ถอยกลับไปแล้วเพื่อรับศึกจีน เปิดโอกาสให้ตีชิงกรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ กองทัพเรือของเจ้าตากจึงยกทัพมาอยุธยาและเอาชนะกองทัพพม่าได้สำเร็จ ทำให้กองทัพพม่าหมดไปจากแผ่นดินไทย

พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช By Pitt, CC BY-SA 3.0,

2. ทรงฟื้นฟูศูนย์กลางการปกครอง

หลังจากเจ้าตากตีกรุงศรีอยุธยากลับคืนได้แล้ว เจ้าตากเห็นว่าชาวไทยสูญเสียรัฐบาลกลางไปพร้อมกับกรุงศรีอยุธยา ชุมนุมอื่นๆ ต่างฝักใฝ่แต่อำนาจส่วนตน คิดแต่จะตั้งตนเป็นใหญ่ โครงสร้างการปกครองจึงต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่โดยเร่งด่วนที่สุด

เจ้าตากจึงจัดตั้งรัฐบาลกลางขึ้นมาใหม่ และได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พร้อมกับย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรีด้วย

การย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรีเป็นวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมอย่างหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่า อีกไม่นานกองทัพพม่าคงจะย้อนกลับมาราวีอีกครั้งหนึ่ง พวกแม่ทัพพม่าทราบดีแล้วว่าจะตีกรุงศรีอยุธยาอย่างไร ดังนั้นพระองค์จะต้องกำจัดจุดอ่อนดังกล่าวเสีย นอกจากนี้พระองค์ยังมีกำลังคนน้อยด้วย ทำให้การรักษากรุงศรีอยุธยาเป็นไปไม่ได้ การตัดสินพระทัยดังกล่าวจึงเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อตั้งเมืองหลวงและได้รัฐบาลใหม่แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนที่หนีกองทัพพม่าเข้าป่าต่างหวนกลับมาด้วยความมั่นใจ ศูนย์กลางการปกครองของชาวไทยจึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

3. ทรงฟื้นอาณาเขตของอาณาจักรเดิม

สิ่งสำคัญต่อมาที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำคือ การปราบปรามชุมนุมต่างๆ ให้ราบคาบ

การปราบปรามชุมนุมเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการฟื้นคืนอำนาจของรัฐบาลไทยเหนือดินแดนส่วนอื่นๆ ถ้าพระองค์ทรงทำไม่สำเร็จ ดินแดนไทยอาจจะแตกแยกเหมือนกับจีนในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ก็เป็นได้

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเริ่มต้นด้วยการนำกองทัพไปตีชุมนุมของเจ้าพระยาพิษณุโลกก่อน แต่ปรากฏว่าฝ่ายศัตรูต้านทานอย่างเข้มแข็ง พระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บ ทำให้ตัดสินพระทัยถอยกองทัพลงมาทั้งหมด

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงต้องเผชิญ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงเปลี่ยนยุทธวิธี ด้วยการนำกองทัพไปตีชุมนุมเจ้าพิมายและนครศรีธรรมราชเสียก่อน เมื่อตีได้ถึงค่อยยกกำลังเข้ามาพิชิตภาคเหนือ ในครั้งนี้พระองค์ทรงทำได้สำเร็จ ดินแดนหลักของแผ่นดินไทยกลับมาอยู่ในพระราชอำนาจทั้งหมด เหมือนกับครั้งเก่าก่อน

4. ทรงทำให้คนไทยหายกลัวพม่า

หลังกรุงศรีอยุธยาแตก เราปฏิเสธมิได้ว่าคนไทยเกรงกลัวกองทัพพม่า เพราะการต่อสู้ที่แข็งแกร่งของพม่าเมื่อครั้งเสียกรุง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ดังนั้นพระองค์จึงปรารถนาจะสร้างขวัญกำลังใจของคนไทย และเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเอาชนะพม่าที่บางแก้ว By Pitt – Own work, CC BY-SA 3.0,

เมื่อกองทัพพม่าเข้ามาถึงบางแก้ว ถ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปรารถนาจะตีกองทัพพม่าให้แตกยับไปเลยก็สามารถทำได้ แต่พระองค์กลับทรงใช้วิธีการล้อมพม่าไว้อย่างแน่นหนาแทน เพื่อให้พวกพม่ายอมจำนน ทหารและราษฎรคนไทยจะได้เห็นว่าพม่าก็แพ้เป็น

สุดท้ายแล้ว กองทัพพม่าทั้งหมดก็ทิ้งอาวุธยอมจำนน ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่บางแก้วทำให้คนไทยหายกลัวพม่านับตั้งแต่บัดนั้น

5. ทรงป้องกันประเทศจากศัตรูผู้ยิ่งใหญ่

หนึ่งในผลงานที่สำคัญที่สุดของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคือ การป้องกันอาณาจักรไทยไว้จากกองทัพพม่าที่นำมาโดยอะแซหวุ่นกี้

อะแซหวุ่นกี้ หรือ มหาสีหสุระ ผู้นี้มิใช่แม่ทัพพม่าระดับธรรมดา แต่เป็นแม่ทัพพม่าระดับ AAA เขาเก่งกาจสามารถถึงขนาดตีกองทัพชิงแตกยับเยินมาแล้วสองครั้ง แม่ทัพเฒ่าผู้นี้เป็นมือหนึ่งของกองทัพพม่า พระเจ้ามังระ (ฉินพยูชิน) ทรงส่งอะแซหวุ่นกี้พร้อมกำลัง 35,000 นายเข้ามาโจมตีไทย

ต่างจากในสมัยอยุธยาที่ไทยแตกพ่ายไปอย่างง่ายๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต้านทานแม่ทัพพม่าผู้นี้เอาไว้ได้ กองทัพไทยและพม่าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจนสุดท้ายแล้ว กองทัพพม่าต้องถอยกลับไปเอง เพราะพระเจ้ามังระสวรรคต ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักษาเอกราชของไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์

สาเหตุหนึ่งที่กองทัพไทยสามารถต้านทานเอาไว้ได้ เพราะไทยมีปืนใหญ่มากกว่าพม่า หลายครั้งที่กองทัพพม่าพยายามปล้นค่ายจึงถูกปืนใหญ่ไทยยิงจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก การเสริมปืนใหญ่นี้ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงผ่านศึกมาอย่างโชกโชน

Sources:

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!