อาหาร5 เมนูอาหารจากทั่วโลกที่เผ็ดจนน้ำตาไหลแต่อร่อยจนลืมโลก

5 เมนูอาหารจากทั่วโลกที่เผ็ดจนน้ำตาไหลแต่อร่อยจนลืมโลก

ประเทศไทยมีอาหารที่มีรสชาติเผ็ดมากมายที่มีรสชาติอร่อยมาก อาทิเช่น แกงไตปลา แกงเผ็ด หรือ ผัดพริก แต่ประเทศอื่นๆ ก็มีอาหารแบบนี้เช่นเดียวกัน เราไปดูกันครับว่าจะมีเมนูอะไรบ้างที่เผ็ดจนน้ำตาไหล แต่อร่อยจนลืมโลกเลยทีเดียว

อาหารแต่ละชนิดไม่ได้มีการเรียงลำดับใดๆ นะครับ

1. Papa a la Huancaína

อาหารชนิดนี้เป็นอาหารที่หลอกตาที่สุดในโลกก็ว่าได้ ปาปา อา ลา ฮวนไกนา (Papa a la Huancaina) เป็นอาหารท้องถิ่นของประเทศเปรู หน้าตาของมันติ๋มๆ ตามรูปด้านล่าง

ปาปา อา ลา ฮวนไกนา (Papa a la Huancaina) Cr: AgainErick

ปาปา อา ลา ฮวนไกนาเป็นเมนูเรียกน้ำย่อย ส่วนที่เป็นชิ้นๆ คือมันฝรั่งครับ และมีส่วนประกอบอื่นๆ คือผักกาด มะกอกสีดำ หรือ ไข่ต้มสุก อาหารชนิดนี้จะเสิร์ฟเย็นๆ

อ่าวแล้วความเผ็ดอยู่ตรงไหน ส่วนประกอบทั้งหมดดูติ๋มๆ มากเลย

คำตอบคือ ซอส ครับ!

ซอสนี้เรียกว่าซอสฮวนไกนา ตัวซอสนี่ทำมาจากพริกสีเหลืองของเปรูอย่าง พริกอาจิ อามาร์ริโล (Aji Amarillo) นมสด ชีสสีขาวที่เรียกว่า Queso fresco น้ำมันพืช และถั่วมาผสมกัน บางร้านก็จะใส่ส่วนประกอบเพิ่มเติมไปด้วยเช่น กระเทียม หัวหอม

ผลที่ออกมาคือ ซอสเลยออกมาเป็นลักษณะครีมๆ สีเหลือง พอราดลงมาใส่มันฝรั่งกับผักกาด มันเลยดูติ๋มมาก ให้อารมณ์สลัดกุ้งทอดในประเทศไทย

แต่ลองชิมดูคำหนึ่งสิครับ ชาวตะวันตกเล่นมุกว่ามันเหมือนกับจุดไฟในปากคุณเลยทีเดียว

ถึงแม้มันจะเผ็ดน้ำตาไหล แต่มันก็อร่อยมากเช่นเดียวกัน อาหารชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในเปรูสุดๆ ชาวเปรูชอบนำมันไปกินเวลาออกไปเที่ยวหรือไปปิกนิก เพราะมันทำง่าย และไม่ต้องอุ่นใหม่เมื่อจะกิน

2. Vindaloo

วินดาลู (Vindaloo) เป็นแกงสัญชาติอินเดียที่มีที่มาจากเมืองกัว (Goa) ด้วยความที่เมืองกัวเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสนานหลายร้อยปี ชาวท้องถิ่นจึงได้รับวัฒนธรรมอาหารของโปรตุเกสเข้ามา และนำมาดัดแปลงเป็นอาหารรสชาติของตนเอง เช่นเดียวกับ ขนมฝอยทองของไทย

ในสมัยก่อน ชาวโปรตุเกสได้เดินทางมาเอเชียด้วยทางทะเล พวกเขาต้องเตรียมอาหารสำหรับการเดินทางอันยาวนานเอาไว้ด้วย หนึ่งในเมนูของพวกชาวเรือคือ carne de vinha d’alhos หรือเนื้อสัตว์ (ที่ผ่านการทำให้สุกแล้ว) และกระเทียมหมักในไวน์แดง

พวกเขาจะเก็บอาหารชนิดนี้ไว้ในถัง และนำออกมากินเมื่ออยู่ในทะเล เนื้อสัตว์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหมู แต่เนื้ออื่นๆ เช่น เนื้อกระต่าย เนื้อแกะ เนื้อไก่ก็มีเช่นเดียวกัน

ดังนั้นที่มาของวินดาลูจึงไม่มีอะไรเผ็ดเลย แต่เมื่อมันมาถึงอินเดีย พ่อครัวชาวอินเดียได้เปลี่ยนมันให้เป็นแบบอินเดียน ด้วยการเปลี่ยนไวน์แดงเป็นน้ำส้มสายชู และกระหน่ำใส่พริกและเครื่องเทศท้องถิ่นเป็นจำนวนมากลงไป ทำให้มันกลายสภาพจากอาหารฝรั่งเป็นแกงเผ็ดในรูปแบบปัจจุบัน

เราไม่แน่ชัดว่าที่มาของชื่อ วินดาลูมาได้อย่างไร ที่แน่ๆ คือคำว่า อาลู แปลว่ามันฝรั่งในภาษาฮินดี แต่ตามสูตรดั้งเดิมจากเมืองกัวแล้ว วินดาลูไม่มีมันฝรั่งเป็นส่วนผสมเลยสักนิดเดียว

แกงหมูวินดาลู

ชาวอินเดียนิยมกินแกงเผ็ดชนิดนี้กับข้าว มิฉะนั้นคงจะเผ็ดเกินไป แต่ถึงมันจะเผ็ด มันก็อร่อยมากเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเตรียมน้ำไว้ให้จงดี!

ปัจจุบันวินดาลูเป็นหนึ่งในอาหารอินเดียที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกตะวันตก คุณสามารถสั่งมันมากินได้ในทุกร้าน (อันนี้ผมคอนเฟิร์ม ร้านอาหารอินเดียทุกร้านที่ผมเคยเข้าที่อเมริกามีเมนูนี้จริงๆ) แต่ความเผ็ดและจัดจ้านคงไม่เท่ากับต้นตำหรับที่อินเดียอย่างแน่นอน

3. Wat, Wot, We̠t’

เวิร์ด, หวัด หรือ โหวด (we̠t’, Wat, Wot) อาหารชนิดนี้อ่านได้หลายแบบ แต่ผมขอเรียกมันว่า เวิร์ด ละกันครับ

เวิร์ดเป็นประเภทสตูว์จากประเทศเอธิโอเปียในทวีปแอฟริกา ถึงแม้พวกเขาจะอาศัยอยู่ในส่วนที่ร้อนที่สุดของโลก พวกเขากลับนิยมกินเผ็ดอย่างไม่น่าเชื่อ

สตูว์ที่เรียกว่าเวิร์ดนี้ใช้เครื่องเทศอย่าง berbere และ nier kibbeh เป็นส่วนผสมหลัก ทำให้เวิร์ดมีรสชาติเผ็ด เนื้อสัตว์ที่ใช้มีหลากหลายแบบตั้งแต่ เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ นอกจากนี้ในแกงยังมีผักอีกหลายชนิด

ชาวเอธิโอเปียชอบกินเวิร์ดกับแป้งที่เรียกว่า อินเจรา (Injera) ร้านต่างๆ มักเสิร์ฟอาหารชนิดนี้มาเป็นถาด ให้ลูกค้าได้จัดการอาหารของพวกเขาด้วยมือ (ตามรูป) แต่บางร้านที่ยกระดับขึ้นมาก็จะมีช้อนมากับถาดด้วย

เวิร์ด Cr: Richard

4. Otak-Otak

โอตัคโอตัคเป็นอาหารที่เป็นที่นิยมมากในมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ลักษณะของมันคล้ายกับห่อหมกของไทย เนื้อปลาจะถูกนำมาบดและนำมาผสมกับเครื่องเทศหรือเครื่องแกงมากมายหลายชนิด รวมไปถึงกระเทียมและกะทิด้วย หลังจากทำเสร็จแล้ว ผู้ทำจะทำใบตองหรือใบอัตตับ (attap) มาห่อ แล้วจึงนำมันไปต้ม และย่างตามลำดับ

เนื่องจากโอตัคโอตัคเป็นที่นิยมในหลายแห่ง วิธีการทำและส่วนผสมย่อมแตกต่างกัน ทำให้รสชาติและสีแตกต่างกันไปด้วย โอตัคโอตัคของอินโดนีเซียจะมีสีออกไปทางขาวๆเทาๆ ส่วนโอตัดของมาเลเซียและสิงคโปร์จะออกไปทางสีแดงและส้ม เพราะว่าใส่เครื่องแกงและเครื่องเทศเพิ่มเข้าไปมากกว่าของอินโดนีเซีย

โอตัค โอตัค ของสิงคโปร์ Cr: Takeaway

โอตัคโอตัคมีขายตามท้องถนนหรือร้านอาหารทั่วไป ชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์นิยมกินมันเปล่าๆ เป็นของว่าง หรือกินกับข้าวสวยก็ได้เช่นกัน บางร้านจะใส่ซอสเผ็ดๆ ลงไปเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อนให้กับโอตัคโอตัค

จะว่าไปมันก็คือห่อหมกนั่นแหละครับ

5. หม้อไฟเสฉวน

ซื่อชวนหั่วกัว (四川火锅) เป็นหนึ่งในอาหารประเภทหม้อไฟที่มีชือเสียงที่สุดในโลก หม้อไฟเสฉวนเป็นยอดของอาหารเสฉวน น้ำซุปมีสีแดงฉาน เพราะพ่อครัวได้ใส่พริกจีนจำนวนมากมายเข้าไปในน้ำซุป

การกินหม้อไฟนี้ ผมคงไม่ต้องลงละเอียดมากนัก เพราะทราบกันดีอยู่แล้ว

หม้อไฟเสฉวนจากเมืองฉงชิ่ง Cr: Hawyih

หม้อไฟเสฉวนนี้ไม่ได้เผ็ดแบบธรรมดา แต่มันมีความเผ็ดแบบซ่าด้วย เพราะว่ามีเครื่องเทศพิเศษชนิดหนึ่งที่ให้ความรู้สึกดังกล่าว ชาวจีนนิยมหม้อไฟแบบนี้มาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะในฤดูหนาว หม้อไฟจะช่วยให้ผู้รับประทานรู้สึกอุ่นขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านหม้อไฟเสฉวนหลายแห่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพ ว่างๆ ผมก็ไปหาทานบ่อยเหมือนกันครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!