ธุรกิจ5 สายการบินขนาดใหญ่ของโลกที่เคยเบี้ยวหนี้หรือ "เจ๊ง" มาก่อน

5 สายการบินขนาดใหญ่ของโลกที่เคยเบี้ยวหนี้หรือ “เจ๊ง” มาก่อน

กิจการสายการบินเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก เพราะแต่ละประเทศต่างมีสายการบินแห่งชาติของตัวเอง แถมในยุคหลังยังมีการผ่อนปรนให้มีสายการบินแบบ low-cost เข้ามาแข่งขันด้วยได้อีก การแข่งขันในธุรกิจนี้จึงเหมือนกับเป็นสงครามขนาดย่อมที่ไม่มีใครยอมใคร

ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้ว ย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้ ผู้แพ้ในเกมธุรกิจจะต้องออกจากกิจการไป เรามาดูกันดีกว่า สายการบินขนาดใหญ่ใดบ้างที่เคย “เจ๊ง” หรือ ผิดนัดชำระหนี้ (เบี้ยวหนี้) มาก่อน

1. American Airlines

American Airlines (AA) เป็นหนึ่งในสายการบินเก่าแก่ของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทุกวันนี้ด้วย (วัดจากจำนวนฝูงบิน รายได้ ผู้โดยสาร)

American Airlines By Quintin Soloviev – Own work, CC BY-SA 4.0,

หากแต่ว่าในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.2011 บริษัท AMR Corporation บริษัทแม่ของสายการบินที่มีอายุมาเกือบหนึ่งร้อยปีอย่าง American Airlines กลับต้องผิดนัดชำระหนี้ หรือว่าเบี้ยวหนี้นั่นเอง

สาเหตุสำคัญคือการขาดทุนมหาศาลติดต่อกันยาวนานถึง 4 ปี และส่วนแบ่งตลาดการบินยังลดน้อยลงตามลำดับด้วยทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายหนี้ได้อีกต่อไป บริษัทจึงต้องขอผิดนัดชำระหนี้ และขอให้ศาลสหรัฐคุ้มครองตามมาตรา 11 แห่งการล้มละลาย (Chapter 11) เพื่อขอเวลาปฏิรูปธุรกิจและแปลงหนี้

American Airlines ปฏิรูปตัวเองด้วยการรวมบริษัท (merge) กับ US Airways ที่เคยล้มละลายไปแล้วก่อนหน้านี้สองครั้งแต่ฟื้นมาได้ในปี ค.ศ.2013 ทำให้กลายเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้บริษัทยังลดพนักงานครั้งใหญ่เป็นจำนวน 11,000 คน และตัดเที่ยวบินที่ไม่ทำกำไรออกไปด้วย

ภายในปลายปี ค.ศ.2013 American Airlines ออกจากภาวะล้มละลาย และกลับมาพร้อมโลโก้ใหม่ ลายเครื่องบินลายใหม่ และยังมีนโยบายคล้ายกับสายการบินโลว์คอสท์ด้วย นั่นคือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้ราคาตั๋วต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าผู้โดยสารต้องการบริการอะไรเพิ่มก็เพิ่มเงินเอาเองเป็นต้น

แผนการปฏิรูปถือว่าได้ผล เพราะ American Airlines กลับมากำไร และดำเนินกิจการมาถึงทุกวันนี้

โดยส่วนตัว ผมเคยนั่งสายการบินนี้หลังจากที่ปฏิรูปมาแล้ว ผมบอกเลยว่าแย่กว่า low-cost ทั่วไปในอเมริกาอย่าง Jetblue เสียอีก และถ้าเทียบกับ Thai AirAsia ผมบอกเลยไทยแอร์เอเชียดีกว่าเยอะ

2. United Airlines

United Airlines (UA) เป็นอีกหนึ่งสายการบินยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เคยเบี้ยวหนี้มาก่อน ทั้งๆที่สายการบินแห่งนี้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งของพันธมิตรสายการบินอย่าง Star Alliance ด้วยซ้ำไป

United Airlines By ltdccba – IMG_2488, CC BY-SA 2.0,

อาการของ United Airlines เริ่มย่ำแย่ในช่วงปี ค.ศ.2000 เพราะสายการบินได้ขึ้นเงินเดือนให้นักบินถึง 28% (จากที่เคยตัดไปก่อนหน้านี้) ในปีนั้น แต่สายการบินกลับเผชิญหน้ากับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความหวาดกลัวการบินของชาวอเมริกันหลังจากเกิดเหตุการณ์ 9/11

ในปี ค.ศ.2001 United Airlines จึงขาดทุนย่อยยับและสุ่มเสี่ยงต่อการเบี้ยวหนี้เป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาการขัดแย้งในสหภาพแรงงานของ United Airlines ทำให้บริษัทไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากหน่วยงานของรัฐอย่าง ATSB ได้ United Airlines จึงต้องพยายามหาเงินสดมาอัดฉีดให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้จากที่อื่น โดยบริษัทพยายามขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ แต่ก็ไม่เป็นผล

สุดท้ายแล้วในปี ค.ศ.2002 United Airlines จึงต้องแจ้งต่อศาลเพื่อขอให้คุ้มครองตามมาตรา 11 แห่งการล้มละลาย สายการบินจำต้องลดพนักงานจำนวนมาก ให้พนักงานหยุดทำงานชั่วคราวอีกจำนวนหนึ่ง ตัดเงินเดือนพนักงานที่เหลืออยู่ ขายเครื่องบินจำนวนหนึ่ง และตัดเส้นทางในสหรัฐที่ไม่ทำกำไรไปหลายเส้นทางด้วยกัน

United Airlines ดำเนินกิจการต่อไปในสภาพล้มละลาย และยังไม่สามารถกู้สถานะของบริษัทได้จนกระทั่งปี ค.ศ.2005 บริษัทก็ประกาศการลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ด้วยการยกเลิกบำนาญที่ให้กับอดีตพนักงานที่เกษียณอายุของสายการบิน ทำให้มีกระแสก่นด่าอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม United Airlines สามารถพ้นจากสถานะล้มละลายได้ที่สุดในปี ค.ศ.2006 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจการบิน United Airlines ได้ดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้

3. Swissair

Swissair (SR) หรือ สวิสแอร์เป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศสวิสเซอร์แลนด์มายาวนาน 71 ปี แต่แล้วในปี ค.ศ.2002 สายการบินกลับล้มละลายลง

เรื่องมีอยู่ว่าในช่วงปี ค.ศ.1990-2000 Swissair ได้ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “Hunter Strategy” ที่ได้มาจากคำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง (Consulting firm) อย่าง McKinsey & Co. วิธีที่ว่าคือการใช้เงินสดซื้อสายการบินเล็กๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนแบ่งทางการตลาด และปฏิเสธที่จะทำ codeshare หรือเป็นพันธมิตรกับสายการบินอื่น

Swissair By Aero Icarus , CC BY-SA 2.0,

สายการบินเล็กๆ หรือระดับกลางที่ Swissair ไปซื้อล้วนแต่ขาดทุน หรือร่อแร่ การใช้เงินซื้อกิจการลักษณะนี้เข้ามาจึงทำให้ Swissair ขาดทุนไปด้วย ฐานะทางการเงินของสายการบินย่ำแย่เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ.2000 ในปีนั้น Swissair ขาดทุนทุกวันถึงวันละหนึ่งล้านสวิสฟรังก์

ในปี ค.ศ.2001 ผู้บริหารจำนวนมากลาออกหรือถูกบังคับให้ลาออกเพื่อเซ่นสังเวยการดำเนินธุรกิจที่ผิดพลาด Swissair พยายามจะดึงตัวเองจากการล้มละลาย แต่แล้วสายการบินกลับเผชิญกับภาวะกลัวเครื่องบินที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ Swissair ไม่มีเงินเหลือพอจะจ่ายให้กับเจ้าหนี้อีกต่อไป

นอกจากนี้ธนาคารอย่าง UBS AG ปฏิเสธที่จะขยายเวลาเงินกู้ให้ ทำให้ Swissair ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายแม้กระทั่งค่าน้ำมันที่จะเติมให้เครื่องบินบินขึ้นได้ เที่ยวบินทั้งหมดของ Swissair จึงต้องจอดอยู่บนพื้น Swissair จึงต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด

ที่พีคที่สุดคือ เหล่านักบินทั้งหลายต่างถูกไล่ออกมาจากโรงแรมที่พัก เพราะบัตรเครดิตของบริษัทถูกปิดกั้นการใช้!

Swissair ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสวิสให้ดำเนินธุรกิจไปได้จนกระทั่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเสร็จสมบูรณ์ แต่ในปี ค.ศ.2002 Swissair ก็หยุดบินเป็นการถาวร โดยสายการบิน Crossair ที่เคยเป็นบริษัทลูกของ Swissair ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้เปลี่ยนชื่อเป็น Swiss International Airlines (LX) และมีการถ่ายพนักงานและเครื่องบินของ Swissair ไปที่สายการบินใหม่

ปัจจุบันสายการบินแห่งชาติของสวิสเซอร์แลนด์คือ Swiss International Airlines ไม่ใช่ Swissair อีกต่อไปแล้ว แม้ทุกวันนี้ Swissair ยังอยู่ในสภาพบริษัท แต่เป็นบริษัทแต่ในนามและไม่ได้มีสินทรัพย์สำคัญใดๆ

4. Alitalia

Alitalia (AZ) เป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศอิตาลี ในอดีต Alitalia เคยเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป แต่ก็ไม่วายต้องปิดกิจการจนได้

เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งที่สายการบินอย่าง Alitalia ไม่เคยได้กำไรสุทธิเลยสักปีเดียวตั้งแต่เปิดกิจการในปี ค.ศ.1947 ยกเว้นแต่ปี ค.ศ.1998 แค่ปีเดียวเท่านั้น รัฐบาลอิตาลีใช้เงินภาษีของประชาชนอุ้มสายการบินแห่งชาติแห่งนี้มาตลอดห้าสิบปี

Alitalia By Eurico Zimbres – Own work, CC BY-SA 2.5,

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าสายการบินแห่งชาตินี้เป็นภาระของประชาชนชาวอิตาเลียน หลังจากปี ค.ศ.2000 Alitalia ต้องการเงินอัดฉีดสูงมากขึ้นทุกปีเพื่อทำให้สายการบินแห่งนี้อยู่ได้

จนกระทั่งในปี ค.ศ.2006 รัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปห้ามไม่ให้รัฐบาลอิตาลีฉีดเงินเข้าไปใน Alitalia อีกต่อไป รัฐบาลอิตาลีจึงปรารถนาที่จะขาย Alitalia ให้กับเอกชน เพื่อจบปัญหานี้เสียที

กว่ารัฐบาลอิตาลีจะขาย Alitalia ได้ก็ยืดเยื้อไปถึงปี ค.ศ.2008 รัฐบาลอิตาลีได้ตกลงกับธนาคารใหญ่อย่าง Intesa Sanpaolo ได้สำเร็จในเรื่องของ Alitalia ด้วยการให้ Alitalia แจ้งล้มละลายต่อศาล และจะแยกทรัพย์สินและหนี้สินของ Alitalia เป็นสองส่วน โดยนำหนี้ทั้งหมดไปอยู่ในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะได้ปราศจากหนี้และขายได้ง่ายมากขึ้น

ในปี ค.ศ.2009 องค์กร CAI ได้ซื้อ Alitalia ไปจากรัฐบาลอิตาลี Alitalia จึงกลายเป็นของเอกชนและยังดำเนินกิจการได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังคงขาดทุนไม่ต่างอะไรกับสมัยที่เป็นบริษัทของรัฐ

5. Japan Airlines

Japan Airlines (JL) หรือ JAL เป็นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น และเคยเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียและโลกด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่รอดภาวะเบี้ยวหนี้เช่นเดียวกัน

JAL

ในช่วงปี ค.ศ.2009 JAL ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทางสายการบินพยายามแก้ปัญหาด้วยการลดพนักงานและตัดเส้นทางการบินเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่พอ รัฐบาลญี่ปุ่นจำต้องอัดฉีดเงินให้เพื่อพยุงสายการบินที่กำลังโคม่าแห่งนี้เอาไว้

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเคยคิดว่าจะควบรวม JAL กับสายการบิน ANA แต่ไม่เป็นผล เพราะสื่อทั้งหลายต่างชี้ให้เห็นว่า ANA คงจะไม่ยอมมาควบรวมด้วย เพราะ ANA มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า JAL มากมาย

ท้ายที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นจึงปล่อยให้ JAL เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายญี่ปุ่นในปี ค.ศ.2010 การล้มของ JAL เป็นการล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดในบริษัทญี่ปุ่นใดๆ ที่ไม่ใช่บริษัททางการเงิน

ภายในศาล JAL ได้ตกลงกับฝ่ายต่างๆ และได้ข้อสรุปว่า JAL จะเข้าสู่สภาวะล้มละลาย ทำให้หุ้นของบริษัทมีค่าเป็น 0 และต้องออกจากตลาดหุ้นไปโดยปริยาย

นอกจากนี้สายการบินจะต้องลดพนักงาน 1 ใน 3 และยกเลิกเส้นทางการบินที่ขาดทุนทั้งหมด แต่จะได้เงินอัดฉีดรวมแล้วทั้งหมด 300,000 ล้านเยน และหนี้จำนวน 730,000 ล้านเยนเป็นอันยกเลิกโดย JAL ไม่ต้องจ่ายอีกต่อไป

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นได้ทาบทาม คาซูโอะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ให้มาเป็น CEO คนใหม่เพื่อฟื้นสภาพของ JAL

ภายในการบริหารงานของ CEO คนใหม่ JAL ออกจากสภาพล้มละลายในปี ค.ศ.2011 และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการลดพนักงานส่วนเกินมากถึงเกือบ 20,000 คน และบินเฉพาะเส้นทางที่ทำกำไรเท่านั้น ปัจจุบัน JAL ได้กลับไปอยู่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดำเนินกิจการมาถึงทุกวันนี้

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!