ธุรกิจ4 บริษัท "ผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ" ที่น่าจับตามอง คุณพร้อมแล้วหรือยัง?

4 บริษัท “ผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ” ที่น่าจับตามอง คุณพร้อมแล้วหรือยัง?

มนุษย์ได้เลี้ยงสัตว์อย่างไก่ หมู และวัวเพื่อใช้เป็นอาหารมานานหลายพันปีแล้ว ทำให้เราไม่ต้องเข้าป่าล่าสัตว์เหมือนในเมื่อยุคหลายหมื่นปีก่อนอีกต่อไป อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 มนุษย์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้เราได้เนื้อสัตว์มาโดยที่เราไม่ต้องเลี้ยงสัตว์อีกต่อไป และเราก็ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ด้วย

เทคโนโลยีใหม่นี้เรียกว่า in vitro cultivation นั่นคือนักวิจัยจะนำเซลล์สัตว์อย่างไก่ หมู วัว หรือแม้กระทั่งปลามาทำให้มันเจริญเติบโตในห้องแล็บ หลังจากนั้นก็ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์มารวมตัวกัน เกิดเป็นเนื้อในที่สุด

เนื้อชนิดนี้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า lab-grown meat, cultured meat, in vitro meat และอื่นๆ อีกมากมายแล้วแต่จะเรียก

ถ้าดูเผินๆ อย่างไม่สังเกตอะไร เนื้อจากห้องแล็บก็เป็นเนื้อสัตว์ธรรมดาๆ นี่เอง อย่างเช่นรูปด้านล่าง เนื้อชิ้นนี้เป็นเนื้อแฮมเบอรืเกอร์จากห้องแล็บชิ้นแรกที่กำลังถูกทอดในกะทะในปี ค.ศ.2013

เนื้อจากห้องแล็บ By World Economic Forum – File:The Meat Revolution Mark Post.webm (7:53), CC BY 3.0,

ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ในอนาคต มนุษย์ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องเลี้ยงหรือฆ่าสัตว์อีกต่อไป เพราะเราสามารถผลิตเนื้อด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ นอกจากนี้จุดแข็งของเนื้อจากห้องแล็บคือ เนื้อเหล่านี้จะไม่มีพยาธิ เชื้อโรคร้าย และสารตกค้างอย่างที่มีทั่วไปในเนื้อสัตว์ปกติ

ในการกระบวนการผลิตเหล่านี้ไม่ได้มีการตัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ใดๆ ที่จะก่อให้เกิดประเด็นทางด้านจริยธรรมขึ้นมาได้

ในวงการธุรกิจแล้ว บริษัทที่ผลิตเนื้อสัตว์ลักษณะนี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ละบริษัทได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน venture capital ต่างๆ ทำให้เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดมาก เราไปดูกันดีกว่ามีบริษัทอะไรบ้าง

1. Memphis Meats

Memphis Meats เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2015 และถือเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตเนื้อจากห้องแล็บเลยก็ว่าได้ Memphis Meats เป็นบริษัทที่ผลิตเนื้อก้อน (meatball) ได้สำเร็จเป็นบริษัทแรก ในเวลาต่อมาก็ผลิตเนื้อไก่และเนื้อวัวจากห้องแล็บได้สำเร็จอีกด้วย

อยากรู้ว่าหน้าตาเป็นไงดูจากคลิปของ Memphis Meats ด้านล่าง

อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อของ Memphis Meats ยังถือว่าสูงมาก ในช่วงปี ค.ศ.2016 เนื้อจากห้องแล็บมีค่าใช้จ่ายในการผลิตมากถึงประมาณ 20,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม แต่ทว่าทางบริษัทได้ลดต้นทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปี ค.ศ.2017 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวลดลงเหลือประมาณ 5,300 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมเท่านั้น

Memphis Meats หวังว่าจะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อจนเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ทั่วไปในปี ค.ศ.2021 และจะเนื้อดังกล่าวมาขายในท้องตลาดในที่สุด

สนใจติดตามผลงานของบริษัทได้ที่ Memphis Meats

2. Aleph Farms

Aleph Farms เป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจในวงการเนื้อจากห้องแล็บ แต่โฟกัสไปที่เนื้อวัวเป็นหลัก ตัวบริษัทต้องการที่จะผลิตเนื้อที่มีรสชาติและคุณประโยชน์เหมือนกับเนื้อปกติ แต่กำจัดข้อเสียของเนื้อปกติออกไป ทำให้มนุษย์ได้บริโภคเนื้อที่มีประโยชน์มากกว่าเนื้อแบบเดิม

ในปี ค.ศ.2019 หลังก่อตั้งบริษัทมาได้เพียง 2 ปี Aleph Farms ได้กลายเป็นบริษัทแรกในประวัติศาสตร์ที่ผลิตเนื้อสัตว์ในอวกาศ! บริษัทยังคงเร่งพัฒนาต่อไปเพื่อที่จะนำเนื้อออกมาขายในท้องตลาดให้รวดเร็วที่สุด

ติดตามผลงานของบริษัทได้ที่ Aleph Farms

3. Mosa Meat

Mosa Meat เป็นบริษัทแรกๆ ในวงการเนื้อจากห้องแล็บเลยก็ว่าได้ ตัวบริษัทต่อยอดความสำเร็จของศาสตราจารย์ Mark Post ผู้ผลิตเนื้อแฮมเบอร์เกอร์จากห้องแล็บได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้ใช้เงินไปทั้งสิ้น 250,000 ปอนด์ในการผลิตเนื้อจากห้องแล็บก้อนหนึ่งออกมา โชคดีที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดถูกจ่ายโดย Sergey Brin หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ Google

แม้ว่าจะใช้เงินไปมหาศาล แต่มันได้พิสูจน์ว่าแนวคิดเนื้อจากห้องแล็บสามารถเกิดขึ้นได้จริง

Mosa Meat จึงก่อตั้งขึ้นโดยมีศาสตราจารย์ Post นั่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ (Chief Scientific Officer) นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 Mosa Meat ได้ประสบความสำเร็จในการ

  • เพิ่มโปรตีนในเนื้อ และทำให้เนื้อมีสีแดงเหมือนกับเนื้อวัวจริงๆ
  • เพิ่มไขมันลงไปในเนื้อ ทำให้มีรสชาติและรสสัมผัสเหมือนเนื้อวัวจริงๆ
  • พัฒนากรรมวิธีต่างๆ ที่จะทำให้ต้นทุนลดลง

อีก 3 ปีต่อไป Mosa Meat ตั้งเป้าว่าจะลดต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อถึงระดับที่สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากได้ (mass production) ทางบริษัทเชื่อว่าเนื้อจากห้องแล็บจะเป็นตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภคเนื้อเลยทีเดียว

ติดตามผลงานของบริษัทได้ที่ Mosa Meat

4. BlueNalu

BlueNalu เป็นบริษัทผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ แต่ที่ต่างออกไปคือ BlueNalu ไม่ได้พัฒนาเนื้อที่เหมือนเนื้อวัว หมู ไก่ แต่ทางบริษัทจะเน้นไปที่การพัฒนาเนื้อปลาขึ้นมา ทำให้เราไม่มีความจำเป็นต้องจับปลาจากทะเล หรือแม้กระทั่งเลี้ยงปลาเป็นๆ อีกต่อไป นอกจากนี้เนื้อของ BlueNalu จะปราศจากสารพิษหรือสารตกค้างอย่างที่มีในปลาทั่วไปด้วย

ในปี ค.ศ.2019 ทางบริษัทได้ประกาศแผนการที่จะลงทุนในศูนย์ผลิตเนื้อปลาจากห้องแล็บขนาดใหญ่ โดยถ้าสร้างเสร็จแล้วจะผลิตได้มากถึงเกือบ 10 ล้านกิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว

ติดตามผลงานของบริษัทได้ที่ BlueNalu

Sources:

ส่งท้าย

จากการคาดการณ์ของหลายๆ บริษัท เนื้อจากห้องแล็บกำลังเข้าสู่ตลาดเนื้อสัตว์ในปี ค.ศ.2021-2022 คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะกินเนื้อที่ไม่ได้เกิดจากการฆ่าสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งเลย?

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!