ประวัติศาสตร์อินเดียกับปากีสถานขัดแย้งอะไรกัน? ตอนแรก

อินเดียกับปากีสถานขัดแย้งอะไรกัน? ตอนแรก

ในช่วงนี้เราได้เห็นประเทศอย่างอินเดียและปากีสถานกำลังขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นมีการใช้เครื่องบินรบต่อสู้กัน ความขัดแย้งดังกล่าวจริงๆ แล้วไม่ใช่ความขัดแย้งใหม่ แต่เป็นความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกลงมาหลายร้อยปีแล้ว

ดินแดนอินเดียนั้นกว้างใหญ่ ก่อนที่จะมีประเทศอินเดีย คำว่า “อินเดีย” หมายถึงอนุทวีปอินเดียที่ครอบคลุมไปถึงดินแดนที่เป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบันด้วย ถึงแม้ว่าเมือง “ตักศิลา” หรือ Taxila ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของอารยธรรมอินเดียมาก่อน หรือ เมืองโมเฮนโจ-ดาโร หนึ่งในเมืองสำคัญของอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุจะอยู่ในปากีสถาน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอนุทวีปอินเดีย

เมื่ออังกฤษครอบครองดินแดนเล่านี้ อังกฤษก็เรียกรวมกันหมดว่า “บริติชอินเดีย” (British India) ด้วยเช่นกัน คำว่าอินเดียในบทความนี้จึงหมายถึง อนุทวีปอินเดีย ไม่ใช่ประเทศอินเดียแต่อย่างใด

ความขัดแย้งระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถานสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางด้านศาสนาที่มีอย่างยาวนาน ดังนั้นถ้าจะให้ทุกท่านเข้าใจลึกซึ้ง ต้องย้อนกลับไปในยุคสมัยโบราณกันเลย

การรุกรานของชาวมุสลิม

ในช่วงศตวรรษที่ 7 หลังจากที่ชาวมุสลิมได้ยึดครองเปอร์เซียได้สิ้นแล้วก็เริ่มส่งกำลังเข้าตีอาณาจักรต่างๆ ในอนุทวีปอินเดียตะวันตก แต่ทว่าชาวมุสลิมต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งทำให้การรุกไม่สามารถเข้ามาถึงดินแดนตอนในของอินเดียได้ ชาวมุสลิมสามารถยึดได้เพียงทางด้านตะวันตกของทะเลทรายธาร์เท่านั้น (อัฟกานิสถานและปากีสถานในปัจจุบัน)

ถึงแม้ชาวมุสลิมไม่อาจยึดครองอินเดียได้ แต่พวกเขาได้นำพาศาสนามาด้วย ชาวท้องถิ่นทางทิศตะวันตกที่ถูกกองทัพมุสลิมยึดครองต่างถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา ศาสนาอิสลามจึงเริ่มแพร่เข้ามาในอินเดีย

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 ชาวมุสลิมได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งด้วยการนำของมาห์มูดแห่งกาซนี ครั้งนี้กองทัพมุสลิมสามารถประสบความสำเร็จในการยึดครองดินแดนปัญจาบได้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 11 กองทัพมุสลิมก็ตีได้เมืองเดลีและบริเวณรอบๆทั้งหมด ชาวมุสลิมได้สถาปนารัฐสุลต่านแห่งเดลีขึ้นเพื่อปกครองดินแดนที่ตีได้ใหม่

รัฐสุลต่านแห่งเดลีได้ทำการขยายอาณาเขตออกไปในอินเดียแทบทุกด้าน ในด้านตะวันตก กองทัพสุลต่านสามารถตีดินแดนทั้งหมด กองทัพของสุลต่านแห่งเดลียังพิชิตเบงกอลและดินแดนทางตอนใต้ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของอนุทวีปได้อีกด้วย การพิชิตของชาวมุสลิมสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเทวสถานของชาวฮินดูและพุทธ (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยนาลันทา) ทั้งพระและพราหมณ์ต่างถูกสังหารมากมาย ศาสนาพุทธที่มีรากฐานที่อ่อนแออยู่แล้วจึงไม่สามารถฟื้นคืนได้อีก แต่ศาสนาฮินดูที่แข็งแกร่งกว่ามากสามารถอยู่รอดมาได้

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่ในยุคนั้นชาวฮินดูจะเกลียดชังชาวมุสลิม แรงโกรธแค้นเป็นแรงผลักดันให้ชาวฮินดูภายใต้การนำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรวิชัยนคร
(Vijayanagara) ตีชิงดินแดนกลับคืน ดินแดนทางตอนใต้ของอินเดียจึงกลับไปปกครองโดยกษัตริย์ชาวฮินดูอีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้ดินแดนทางตอนเหนือจะมีกษัตริย์มุสลิมปกครอง แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาฮินดูตามเดิม ความแข็งแกร่งทางด้านความเชื่อของชาวฮินดู ทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างสองศาสนาอยู่เสมอ

ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 อาณาจักรโมกุลได้ทำการรุกรานอินเดียและสามารถยึดครองดินแดนเกือบทั้งหมดในอนุทวีปอินเดียได้เป็นผลสำเร็จ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดียด้วยการใช้ไม้นวม กล่าวคือพระองค์ไม่ได้กดขี่ชาวฮินดูเหมือนกับที่เป็นมาก่อน และอนุญาตให้ชาวฮินดูเข้ารับราชการได้ ความขัดแย้งระหว่างสองศาสนาจึงเบาบางลงไปบ้าง

ถึงแม้ประมุขของจักรวรรดิจะมีท่าทีผ่อนปรน แต่มิใช่ว่าทั้งสองศาสนิกที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงจะปรองดองกันได้ง่ายๆ เพราะทั้งสองศาสนาเห็นต่างกันแทบจะทุกเรื่อง อาทิเช่น

ชาวฮินดูนับถือในพระเจ้าหลายพระองค์ ส่วนชาวมุสลิมนับถือพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว และยังมีเรื่องอื่นๆ อีก อย่างเช่นเรื่องอาหารการกินเองก็เป็นเรื่องสำคัญ ชาวมุสลิมไม่กินเนื้อหมู ส่วนชาวฮินดูไม่กินเนื้อวัว

นิซซามัดดิน อาเหม็ดเคยบันทึกว่าในการพิชิตเมืองนาการ์ก็อตของกองทัพโมกุล ทหารโมกุลซึ่งเป็นมุสลิมได้สังหารวัวดำของชาวฮินดูไปมากกว่าสองร้อยตัว แล้วนำเลือดของมันกรอกใส่รองเท้าบู้ต เพื่อนำมันไปราดใส่หลังคาและกำแพงของวัดฮินดู การกระทำของชาวมุสลิมเช่นนี้ ทำให้ชาวฮินดูโกรธแค้นมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะไม่มีอำนาจจะไปต่อกรอันใดได้

บริติชอินเดีย

ต่อมาเมื่ออังกฤษมายึดครองอินเดีย ในช่วงแรกอังกฤษเริ่มที่จะมีท่าทีเป็นมิตรกับชาวมุสลิมเพื่อเอี้อต่อการปกครองดินแดนตอนเหนือของอินเดียที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโมกุล แต่หลังจากที่เกิดการกบฏในปี ค.ศ. 1857 อังกฤษเริ่มไปพัฒนาความสัมพันธ์กับฝั่งฮินดูแทน

เจตนาของอังกฤษน่าจะเป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้ทั้งชาวอินเดียที่เป็นมุสลิมและฮินดูไม่อาจจับมือกันต่อต้านการยึดครองของอังกฤษได้ การเลือกที่รักมักที่ชังทำให้เกิดม้อบศาสนิกตีกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในดินแดนที่มีชาวมุสลิมและฮินดูอยู่จำนวนพอๆ กัน

การแตกแยกและเกลียดชังเช่นนี้แน่นอนว่า ทำให้ชาวฮินดูและมุสลิมอยู่ร่วมกันประเทศไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่ออังกฤษจะให้อิสรภาพกับอินเดียในปี 1947 ต่างฝ่ายจึงต้องการแยกประเทศเป็นของตนเอง โดยตกลงกันว่า ดินแดนไหนมีชาวมุสลิมมากก็ให้ไปรวมกันกลายประเทศของชาวมุสลิม ส่วนดินแดนไหนมีชาวฮินดูมากก็ไปรวมกันกลายเป็นประเทศของชาวฮินดู

แต่มันจะดำเนินไปเรียบร้อยดีแบบนั้นจริงหรือ? ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!