ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ไทยหม่อมคัทริน หม่อมชาวรัสเซียของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

หม่อมคัทริน หม่อมชาวรัสเซียของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ดำริว่าจะปฎิรูปประเทศให้ทันสมัย พระองค์จึงส่งพระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อที่จะนำวิทยาการของโลกตะวันตกกลับมาพัฒนาสยามประเทศ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นหนึ่งในพระราชโอรสที่ทรงเดินทางไปศึกษายังต่างแดน พระองค์ทรงได้เดินทางไปศึกษายังจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) ตามคำเชิญของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระสหายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีนาย พุ่ม สาคร เป็นผู้ตามเสด็จ

หม่อมคัทริน

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อยที่รัสเซียนั้น พระองค์ได้ทรงพบกับ คัทริน เดสนิตสกี หรือ แคทยา ที่บ้านนางคราโปวิตซกี ซึ่งเป็นบ้านที่มีงานจัดเลี้ยงอยู่เสมอ

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงสนพระทัยในคัทริน หลังจากที่ได้พบกันแล้วนั้น ทั้งสองก็ติดต่อกันอยู่เสมอ

ต่อมาเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในปี พ.ศ 2447 คัทรินได้รับคำสั่งให้ไปเป็นนางพยาบาลในเขตไซบีเรีย ซึ่งเป็นเขตทุรกันดารอย่างมาก ในขณะที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถยังต้องทรงศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อย ทำให้พระองค์ทรงไม่ได้พบกับเธอเลย แต่พระองค์ก็ยังคงส่งจดหมายและโทรเลขติดต่อกับเธอแทบทุกวัน

หลังจากทีสงครามสงบและคัทรินได้กลับมาที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก (St.Petersburg) เมืองหลวงของอาณาจักรรัสเซียแล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถได้ทรงขอเธอแต่งงาน ซึ่งคัทรินก็ทรงตกหลุมรักพระองค์เสียแล้ว เธอจึงตอบตกลง

ทั้งสองเดินทางไปเข้าพิธีอภิเษกสมรสแบบคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ที่กรุงคอนแสตนติโนเปิล (Constantinople) โดยเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถไม่ได้ทรงกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวและพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงทราบแต่อย่างใด

เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถขอให้หม่อมคัทรินติดตามพระองค์กลับสยาม ซึ่งคัทรินก็ยินดีที่จะติดตามพระองค์กลับไปยังประเทศของพระองค์ด้วย

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและหม่อมคัทรินเดินทางมายังสิงคโปร์ก่อน และโปรดให้หม่อมคัทรินอยู่ที่สิงคโปร์กับภรรยาชาวรัสเซียของขุนนางคนสนิทของพระองค์คนหนึ่งเป็นการชั่วคราว ในขณะที่พระองค์เสด็จกลับกรุงเทพ

หลังจากไม่นานก็มีข่าวลือในกรุงเทพว่า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงมีพระชายาชาวรัสเซียอยู่ที่สิงคโปร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถจึงทรงทราบเรื่องราวทั้งหมด ทั้งสองพระองค์กริ้วยิ่งนักและทรงปฎิเสธที่จะยอมรับเธอในฐานะสะใภ้หลวง แต่ทั้งสองพระองค์ก็ยังทรงพระเมตตา โดยทรงอนุญาตให้เธอใช้ชีวิตอยู่กับพระโอรสในฐานะหม่อมได้

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถจึงได้ทรงให้หม่อมคัทรินเดินทางมายังกรุงเทพ โดยที่ไม่ทรงปิดบังแต่อย่างใดว่าเธอเป็นพระชายา หม่อมคัทรินจึงเดินทางมาอยู่กับพระองค์ที่วังปารุสกวัน ทรงยกย่องเธอในฐานะหม่อมและเจ้าของวังคนหนึ่ง

ชีวิตของหม่อมคัทรินในวังปารุสกวันจึงเป็นไปอย่างราบรื่น เธอเองก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย เธอได้ศึกษากิริยามารยาทในรูปแบบชาววัง และการใช้ภาษาไทย โดยในช่วงนี้นั้น สมเด็จพระโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา) พระเชษฐาของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถได้ทรงช่วยเหลือเธออย่างมากมาย ทำให้หม่อมคัทรินเคารพพระองค์มาก

ความรักของเธอกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเบ่งบานด้วยความสุข พระองค์เข้าพระทัยในพระชายาที่ต้องปรับตัว พระองค์ทรงเอาใจใส่เธอเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ 2450 หม่อมคัทรินก็มีพระโอรสให้พระองค์ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์นั่นเอง

หลังจากที่ปรับตัวอย่างหนัก ท้ายที่สุดแล้วหม่อมคัทรินก็สามารถเป็นกุลสตรีที่มีกิริยามารยาทงดงาม และมีความสุภาพอ่อนโยนตามแบบชาววังผู้หนึ่ง นอกจากนี้เธอยังสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย ในภายหลังแม้แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถเองก็โปรดปรานในตัวเธอไม่น้อย โดยพระองค์พระราชทานสิ่งของมีค่าต่างๆ ให้กับหม่อมคัทรินอยู่เสมอ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแด่หม่อมคัทริน นับเป็นเกียรติยศสูงสุดของเธอ

หากแต่ว่าในปี พ.ศ.2460 ราชวงศ์โรมานอฟจบสิ้นลง อาณาจักรรัสเซียเกิดการการปฎิวัติใหญ่สองครั้ง พวกคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจ ตระกูลของหม่อมคัทรินเป็นตระกูลเจ้าของที่ดินจึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเข้ามาของพวกคอมมิวนิสต์ หม่อมคัทรินจึงไม่สามารถเดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของเธอได้อีก

นอกจากนี้สุขภาพของหม่อมคัทรินก็ย่ำแย่ลงจากการแท้งบุตรถึง 2 ครั้ง ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาสุขภาพกายและใจ เธอเดินทางไปหาพี่ชายที่อยู่ที่ปักกิ่ง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังญี่ปุ่น และแคนาดา

ด้วยความเหินห่างกัน สุดท้ายแล้วเธอจึงหย่าขาดจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และเดินทางไปอยู่กับพี่ชายที่ประเทศจีน เธอใช้เวลาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการเข้าไปช่วยงาน สมาคมเพื่อการกุศลของชาวรัสเซีย

หลังจากที่เธอหย่าขาดกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถได้ไม่นาน เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถก็สิ้นพระชนม์ หม่อมคัทรินจึงเดินทางมางานพระบรมศพที่กรุงเทพ โดยเธอได้พบกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บุตรชายของเธอที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดูแลเป็นอย่างดี นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานทรัพย์สินส่วนหนึ่งซึ่งเป็นมรดกของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถให้กับเธออีกด้วย

หม่อมคัทรินแต่งงานใหม่กับนาย แฮรี่ สโตน วิศวกรชาวอเมริกัน ในเวลาต่อมาเธอย้ายมาอยู่ที่ปารีสเพื่อที่จะได้พบกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น หม่อมคัทรินเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้งเพื่อหลบหนีไฟสงคราม เธอถึงแก่กรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2503 เธอมีอายุได้ 71 ปี

Sources:

  • Letters from St.Petersburg
  • Katya & The Prince of Siam

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!