จากความเดิมตอนที่แล้ว ยุทธศาสตร์การแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมรุนแรงมากขึ้นทุกที การปล้นฆ่าอีกฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหมู่บ้านที่มีชาวฮินดูเป็นคนส่วนใหญ่ พวกฮินดูก็จะไล่สังหารชาวมุสลิม ส่วนในหมู่บ้านที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ ทุกอย่างก็จะเป็นตรงกันข้าม การถูกสังหาร การปล้นสะดม และการข่มขืนเกิดขึ้นโดยทั่วไปในบริติชอินเดีย ราวกับว่าเป็นรัฐมิคสัญญีโดยที่อังกฤษไม่อาจควบคุมได้เลย
ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 มหาตมะ คานธี และเนย์รู เป็นผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียฝั่งฮินดู ส่วนชาวมุสลิมเองก็มีผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพเช่นเดียวกัน เขาผู้นั้นได้แก่ มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ คู่ปรับคนสำคัญที่สุดของมหาตมะ คานธี
จินนาห์ต้องการให้อินเดียเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่สิ่งที่จินนาห์มีความกังวลคือ ชาวมุสลิมจะอยู่อย่างไรในประเทศใหม่ที่มีชาวฮินดูเป็นชนหมู่มาก ในช่วงแรก จินนาห์คิดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะสมานฉันท์กันได้ แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอินเดีย ทำให้จินนาห์ตระหนักว่าโอกาสที่เขาจะรับประกันความปลอดภัยของชาวมุสลิมในอินเดียแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จินนาห์และผู้นำชาวมุสลิมคนอื่นๆได้ข้อสรุปว่า ชาวมุสลิมต้องแยกประเทศกับชาวฮินดู จินนาห์และองค์กรมุสลิมได้ร่วมให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้ดินแดนที่มีชาวมุสลิมเป็นชนส่วนมากรวมตัวกันเป็นประเทศของตนเอง โดยแยกออกไปอย่างเด็ดขาดจากดินแดนอินเดียส่วนอื่น
สำหรับคานธี เนย์รู และผู้นำฝั่งฮินดูไม่ได้เห็นด้วยกับสัตยาบันของฝั่งมุสลิมเท่าใดนัก จินนาห์และคานธีเจรจากันหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ง่ายๆ จินนาห์เองแสดงความแข็งกร้าวในการเจรจากับทั้งฝ่ายฮินดูและเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษออกมาอย่างชัดเจน โอกาสที่ทุกฝ่ายจะตกลงกันได้จึงแทบเป็นศูนย์
ในปี 1946 อังกฤษเริ่มแผนการจะมอบอิสรภาพให้กับอินเดียในนาม “Cabinet Mission Plan” อังกฤษเสนอถึงแผนการว่าจะให้ประเทศใหม่มีดินแดนสามส่วน ดินแดนทางตะวันตกของชาวมุสลิม ดินแดนตรงกลางของชาวฮินดู และดินแดนทางตะวันออกของชาวมุสลิม ดินแดนทั้งสามมีอิสระในการปกครองตนเอง แต่มีรัฐบาลกลางควบคุมเรื่องการป้องกันประเทศ การต่างประเทศ และการสื่อสารอีกทีหนึ่ง องค์กรชาวมุสลิมยอมรับเงื่อนไขของอังกฤษ แต่เนย์รูและผู้นำฝ่ายฮินดูปฏิเสธแผนการดังกล่าวเพราะเขาจะทำให้ดินแดนส่วนกลางของชาวฮินดูอ่อนแอ
การสังหารหมู่ที่กัลกัตตา
เมื่อแผนการพังทลาย จินนาห์และเหล่าองค์กรมุสลิมจึงกำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคม 1946 เป็นวันที่ชาวมุสลิมร่วมกันแสดงพลังว่าพวกเขาปรารถนาที่จะแยกประเทศเป็นของตนเอง
การแสดงพลังดังกล่าวกลายเป็นโศกนาฏกรรมในกรุงกัลกัตตา ชาวฮินดูและชาวมุสลิมต่างฆ่าฟันอย่างรุนแรงราวกับว่าไม่มีกฎหมาย การวางเพลิง การข่มขืน เกิดขึ้นโดยทั่วไป บางหมู่บ้านถูกฆ่าล้างทั้งหมู่บ้าน โดยรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตมากถึง 4,000-10,000 คน ความรุนแรงดังกล่าวยังแพร่สะพัดไปยังเมืองอื่นๆในอินเดียอีกด้วย ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงมากขึ้นไปอีก
ขออนุญาตไม่ลงภาพการสังหารนะครับ เพราะน่าจะโหดเหี้ยมเกินไป หารูปได้จากการ Search คำว่า”Direct Action Day” ครับ
เหตุการณ์ที่กัลกัตตาทำให้โอกาสที่อินเดียจะเป็นหนึ่งเดียวกลายเป็นศูนย์ ท้ายที่สุดผู้นำฝ่ายฮินดู (ยกเว้นคานธี ผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งประเทศในลักษณะนี้เลยแม้แต่น้อย ) ผู้นำฝ่ายมุสลิม และผู้นำกลุ่มอื่นๆ จึงได้ตกลงกันว่าจะแบ่งประเทศตามเส้นแบ่งทางศาสนา หรือ ดินแดนไหนมีชาวมุสลิมมากกว่าก็ไปอยู่กับประเทศใหม่ชื่อ “ปากีสถาน” ส่วนดินแดนไหนมีชาวฮินดูมากกว่าก็ไปอยู่กับประเทศใหม่ที่ชื่อ “อินเดีย”
แต่ปัญหามันอยู่ที่ดินแดนบริเวณพรมแดนอย่างปัญจาบและเบงกอลที่มีชาวฮินดูและมุสลิมพอๆ กัน ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงว่าจะแบ่งดินแดนทั้งสองออกเป็นสองส่วนตามเส้นแบ่งทางศาสนาอีก
การแบ่งประเทศแบบนี้เรียกว่า เส้นแรดคลิฟ (Radcliffe Line) ตามรูป
ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกคือ อ่าวแล้วสีเทาในแผนที่ละครับ ทำอย่างไรดี
สีเทาคือดินแดนที่อยู่ในการปกครองของมหาราชาที่เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ มหาราชาสามารถเลือกได้ว่าจะรวมกับฝ่ายไหน ดินแดนอย่าง ไฮเดราบัด ดามัน หรือ กาลัด ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว มหาราชาสามารถเลือกข้างสบายๆ ยกตัวอย่างเช่น ไฮเดราบัดอยู่ตรงกลางของอินเดีย มหาราชาเป็นฮินดู พลเมืองเป็นฮินดู เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกอยู่กับอินเดีย ส่วนกาลัดอยู่ตรงกลางของปากีสถาน มหาราชาเป็นมุสลิม พลเมืองเป็นมุสลิม เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกอยู่กับปากีสถาน
แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ มีดินแดนอยู่ดินแดนหนึ่งชื่อ “แคชเมียร์” ดินแดนนี้อยู่ระหว่างอินเดียและปากีสถานพอดิบพอดี มหาราชาเป็นฮินดู พลเมืองส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ดันมีชาวฮินดูอยู่มากเช่นเดียวกัน
แบบนี้จะเอาอย่างไรกันดีละครับ ติดตามต่อไปในได้ตอนหน้า