ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ 1814 ได้เกิดอุบัติเหตุที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งนี้คือ เบียร์ท่วมที่ลอนดอน หรือ London Beer Flood
เรื่องอันน่าฉงนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกันแน่??
ถังเบียร์แตก!
Horse Shoe Brewery เป็นโรงเบียร์แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ โรงเบียร์แห่งนี้นั้นมีแท้งค์หมักเบียร์ขนาดใหญ่ที่เป็นจุดขายของร้าน
แท้งค์หมักเบียร์นี้เก็บเบียร์ไว้ประมาณ 3,500 – 9,000 บาร์เรลเบียร์ ( 1 บาร์เรลเบียร์ = 36 แกลลอนอังกฤษ) แท้งค์นี้ทำจากไม้ และยึดไว้ด้วยแหวนเหล็กขนาดใหญ่ แท้งค์นี้มีความสูงมากถึง 22 ฟุต แท้งค์เหล่านี้นั้นเก็บกักเบียร์ไว้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
![](https://victorytale.com/wp-content/uploads/2019/11/800px-The_manor_house_of_Toten_Hall_-_1813.jpg)
บ่ายของวันนั้น แหวนเหล็กที่ทำหน้าที่ยึดแทงค์เบียร์ดังกล่าวนั้นหลุดออก อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาแท้งค์ไม้ขนาดใหญ่ก็แตกออก เบียร์จำนวนมหาศาลพุ่งพรวดออกมาจากแท้งค์ไม้ดังกล่าว เกิดเป็นคลื่นสึนามิเบียร์ออกไปทั่วบริเวณ
คลื่น “เบียร์” ไปกระแทกเข้ากับถังอื่นๆ ที่อยู่ในโรงเบียร์ ทำให้ถังอื่นๆ แตกออกมาด้วยเช่นกัน เบียร์จำนวนมากมายที่ไหลออกมากลายเป็นคลื่นสูงขนาดใหญ่ที่ซัดจนผนังด้านหลังของโรงเบียร์หักพังลงไป
สึนามิเบียร์ท่วม
หลังจากผนังพังลง คลื่นสึนามิ “เบียร์” ที่สูงถึง 15 ฟุต ก็ซัดไปถึงย่านใกล้ๆ ซึ่งเป็นย่านสลัมที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คลื่นดังกล่าวได้ซัดท่วมชั้นล่างของบ้านสองหลังจนมิด ทำให้บ้านทั้งสองพังลงมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบ้านล้วนแต่เสียชีวิตจากการจมเบียร์ตาย หรือถูกสิ่งของตกลงมาทับ
คลื่นเบียร์ยังซัดต่อไป ถึงผับแห่งหนึ่ง และได้ทำลายผนังของผับแห่งนั้นลง พนักงานของผับคนหนึ่งจึงจมเบียร์ตาย
เมื่อคลื่นเริ่มสงบและชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่าคลื่นดังกล่าวนั้นเป็นเบียร์ พวกเขาจึงแห่กันนำภาชนะไปตักเบียร์กันยกใหญ่ มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตคนหนึ่งจากการดื่มเบียร์มากเกินไป ทำให้แอลกฮออล์เป็นพิษ
หลังจากเหตุการณ์สงบลง พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ถึง 8 ศพ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เจ้าของโรงเบียร์ได้ถูกนำตัวมาขึ้นศาล แต่ศาลกลับตัดสินว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจาก “พระเจ้า” ไม่สามารถเอาโทษกับใครได้ การตัดสินเช่นนี้ทำให้มีผู้สงสัยว่าน่าจะมีการคอรัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับศาล
อุบัติเหตุครั้งนี้เกือบทำให้โรงเบียร์ดังกล่าวเกือบจะล้มละลาย แต่เจ้าของสามารถเรียกคืนภาษีเบียร์ที่จ่ายไปล่วงหน้า ทำให้โรงเบียร์รอดพ้นจากการล้มละลายมาอย่างหวุดหวิด
ถึงกระนั้นอุบัติเหตุดังกล่าวก็ทำให้โรงเบียร์ทั้งหลายตระหนักถึงความอันตรายของแท้งค์หมักเบียร์ที่ทำจากไม้ และเริ่มเปลี่ยนมาใช้แท้งค์หมักเบียร์ที่ทำจากคอนกรีตตั้งแต่บัดนั้น โรงเบียร์แห่งนี้ถูกทำลายไปในปี ค.ศ.1922