ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ไทยคดีเชอร์รี่ แอน: การจับแพะครั้งสำคัญของไทย

คดีเชอร์รี่ แอน: การจับแพะครั้งสำคัญของไทย

คดีเชอร์รี่ แอน เป็นคดีที่มีชื่อเสียงมาก เรียกได้ว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ของไทยเลยก็ว่าได้ คดีดังกล่าวพลิกไปพลิกมาตลอดเวลาเกือบ 20 ปี คดีนี้มีความยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งไปกว่า คดีนวลฉวี หรือ คดีเสริม-เจนจิรา และ คดีศยามล ไม่เพียงเท่านั้น คดีนี้ยังเกี่ยวพันถึงช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยด้วย

ปฐมบทแห่งคดี

ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2529 มีชาวบ้านพบศพของเด็กสาวผู้หนึ่งที่ป่าชายเลน ในบริเวณใกล้กับอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

เด็กสาวผู้นี้นอนเสียชีวิตในร่องน้ำบริเวณป่าชายเลน เมื่อตำรวจเดินทางมาในที่เกิดเหตุ พวกเขาสันนิษฐานว่าเธออาจจะเป็นสาวโรงงานบริเวณใกล้ๆ ที่ถูกลวงมาฆ่าข่มขืนแบบที่ปรากฏบ่อยครั้ง

พวกเขาเข้าใจผิดถนัด

หลังจากการตรวจสอบอย่างละเอียด ผู้ตายคือ เชอร์รี่ แอน หรือ เชอร์รี่ แอน ดันแคน นักเรียนสาวลูกครึ่งวัย 16 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านถนนสุขุมวิท จากการตรวจสอบเธอสิ้นชีวิตจากการถูกบีบคอ

ความซ่อนเงื่อนจึงปรากฏขึ้นในทันที เมื่อร่างของเด็กสาวที่อาศัยที่กรุงเทพกลับมานอนสิ้นชีวิต ณ ที่แห่งนี้

การสอบสวนเริ่มขึ้นที่บิดามารดาของเธอ ซึ่งไม่ปรากฏความน่าสงสัยใดๆ ตำรวจจึงทำการสืบประวัติของเด็กสาวต่อไปเพื่อค้นหาฆาตกร ตำรวจพบว่าเชอร์รี่แอนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 43 ปีผู้หนึ่ง เขามีชื่อว่า นายวินัย

นายวินัยได้แจ้งว่าเชอร์รี่ แอนหายไปที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งหลังจากการพบศพของเชอร์รี่ แอน หนึ่งวัน แต่นายวินัยก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่น่าสงสัยใดๆ เลย

ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงได้เชิญเพื่อนสนิทของเชอร์รี่ แอนมาสอบสวน พวกเธอให้การว่าเห็นเชอร์รี่ แอน ขึ้นรถแท็กซี่ที่มาจอดรับเธออยู่ตามลำพัง

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นเชอร์รี่ แอน

ความซ่อนเงื่อนที่เกิดขึ้นทำให้สื่อมวลชนในเวลานั้นทำการเกาะติดคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระแสสังคมต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดคดีให้ได้โดยเร็วที่สุด

ปลายเดือนสิงหาคม ตำรวจกลับประกาศว่า กลุ่มฆาตกร และผู้บงการกลับถูกจับยกกลุ่มอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีเบาะแสใดๆ มาก่อนเลย

จำเลยทั้ง 5 ประกอบด้วย

  1. นายวินัย (คนเดียวกับที่มีความสัมพันธ์กับเชอร์รี่แอน)
  2. นายรุ่งเฉลิม
  3. นายพิทักษ์
  4. นายกระแสร์
  5. นายธวัช

นายวิชัยถูกตั้งข้อหาว่าบงการฆ่าเชอร์รี่ แอน ส่วนคนอื่นถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ลงมือสังหารโดยวางแผนและไตร่ตรองไว้ก่อน

การเริ่มต้นของบทละคร

เมื่อตำรวจประกาศรายชื่อฆาตกร สื่อมวลชนและกระแสสังคมต่างประณามพวกเขาทั้งห้าอย่างรวดเร็ว ไม่ต่างอะไรกับชาวเน็ตในปี ค.ศ.2019

พวกเขาเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตพวกเขาเหล่านี้เสีย

ตำรวจรายงานว่า สองสัปดาห์หลังจากที่พบร่างเชอร์รี่ แอน มีพยานผู้หนึ่งในคดีนี้ชื่อ นายประเมิน

นายประเมินผู้นี้เป็นคนขับสามล้อรับจ้าง เขาเล่าว่าในวันเกิดเหตุ เขาได้พบนายรุ่งเฉลิม และนายพิทักษ์กำลังประคองเชอร์รี่ แอนออกมาจากซอยแห่งหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าเด็กสาวไม่รู้สึกตัว ส่วนนายวิชัย นายกระแสร์ และนายธวัช เดินตามนายรุ่งเฉลิมและนายพิทักษ์ออกมาจากซอยแห่งนั้น

เมื่อเห็นเช่นนั้น นายประเมินจอดรถและถามว่าต้องการให้พาเด็กสาวไปโรงพยาบาลหรือไม่ ชายทั้งห้ากลับปฏิเสธ

เมื่อได้หลักฐานเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการดำเนินคดีกับชายทั้งห้า นายวินัยและลูกน้องถูกจับกุมในเวลาอันรวดเร็ว เจ้าหน้าที่แถลงข่าวว่า นายวินัยจับได้ว่าเชอร์รี่ แอนมีชู้ เขาจึงสั่งให้ลูกน้องนำตัวเธอไปสังหารเสีย

สำนวนคดีไปถึงอัยการ แต่อัยการกลับเห็นว่าหลักฐานและสำนวนที่ตำรวจทำมามีช่องโหว่มาก อัยการจึงไม่สั่งฟ้องนายวินัย แต่ยังคงสั่งฟ้องชายอีก 4 คน

ในชั้นศาล นายประเมินให้การว่าเขาจำใบหน้าของเชอร์รี่ แอนได้ดี เพราะเธอเป็นสาวลูกครึ่งที่มีใบหน้าสะสวย เขาจึงเดินทางมาให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ปรากฎว่าศาลชั้นต้นเชื่อในหลักฐาน ศาลชั้นต้นจึงตัดสินลงโทษประหารชีวิตทั้ง 4 คน จำเลยทั้ง 4 ตัดสินใจอุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดีต่อไป ซึ่งศาลได้รับพิจารณาเอาไว้

หากแต่ว่าเพราะสภาพสุขอนามัยในเรือนจำบางขวางสำหรับนักโทษอุฉกรรจ์เลวร้ายมาก นายรุ่งเฉลิม จำเลยที่ 2 จึงเสียชีวิตลงในเรือนจำก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะตัดสินคดี

ความยุติธรรมหวนคืน

ในปี พ.ศ.2535 ศาลอุทธรณ์ได้ทำการกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่เหลือทั้งหมด ได้แก่นายพิทักษ์ นายกระแสร์ และนายธวัช) แต่ทั้งหมดยังคงถูกคุมขังไว้ระหว่างเพื่อรอการพิจารณาของศาลฎีกา

ท้ายที่สุดในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2536 ศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด นั่นแปลว่าจำเลยทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ทั้งหมดถูกปล่อยออกมาจากเรือนจำ

หากแต่ว่าทั้งสามคนที่ออกมาจากคุกนั้น ล้วนแต่มีชีวิตที่ย่ำแย่หลังจากนั้น

นายพิทักษ์ติดโรคร้ายมาจากคุก เขาเสียชีวิตหลังออกมาจากคุกเพียง 5 เดือน เช่นเดียวกับนายธวัช เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลังจากนั้นไม่นาน

ที่เศร้าที่สุดคือครอบครัวของนายกระแสร์ ครอบครัวของเขาพังทลาย ทุกคนล้วนแต่เสียชีวิตหรือหายสาบสูญไปแล้ว นอกจากนี้เขายังเล่าถึงเรื่องในคุกว่า เขาและเพื่อนอีกสามคนถูกทำร้ายและซ้อมอย่างหนักระหว่างที่อยู่ในคุกด้วย

ส่วนนายวินัยนั้น เขาพยายามวิ่งเต้นแจ้งทางกองปราบปรามให้ช่วยเหลือจำเลยทั้ง 4 ที่อยู่ในคุกมาโดยตลอด กองปราบปรามของตำรวจก็สืบทราบแล้วว่าพวกเขาทุกคนไม่มีความผิด และกำลังจะทำการสืบค้นหาผู้ร้ายตัวจริง

กองปราบปรามได้แจ้งโรงพักปากน้ำว่าพวกเขาทั้งสี่คนไม่มีความผิด แต่ตำรวจปากน้ำกลับไม่เชื่อกองปราบปราม และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดี

สาเหตุหลักที่เป็นไปได้คือ ตำรวจโดนกดดันจากกระแสสังคมและสื่อ ทำให้ต้องการปิดคดีให้เร็วที่สุด นั่นเอง

ความจริงในเงามืด

แท้จริงแล้ว เชอร์รี่ แอนถูกใครฆ่ากันแน่?

ตำรวจจำต้องทำการสอบสวนใหม่ทั้งหมด และสอบสวนไปถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วย เพื่อนำตำรวจที่เล่นไม่ซื่อมาดำเนินคดี

จริงๆ แล้วเรื่องมันเป็นเช่นนี้

ก่อนที่จะได้พบกับเชอร์รี่ แอน นายวินัยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ นางสาวสุวิบูลย์ แต่ทั้งสองไม่ได้แต่งงานกัน เพราะแม่ของฝ่ายหญิงไม่ชอบนายวินัย ถึงกระนั้นทั้งสองก็ได้ร่วมทุนกันในธุรกิจหลายแห่ง

หลังจากนั้นนายวินัยได้รู้จักกับเชอร์รี่ แอน เพราะได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่งของพ่อแม่เชอร์รี่ แอน เขาเกิดรู้สึกชื่นชอบในตัวของเธอ

มารดาของเชอร์รี่ แอน อนุญาตให้นายวินัยนำบุตรสาวไปเลี้ยงดูอุปการะและอยู่กินกันที่คอนโดมิเนียมของนายวินัยได้ เพราะบิดาของเชอร์รี่ แอน มีพฤติกรรมไม่ดี เขาชอบลวนลามบุตรสาวตนเองบ่อยครั้งโดยเฉพาะในเวลาเมา

ทั้งนี้คอนโดมิเนียมที่นายวินัยพาเชอร์รี่ แอนไปอยู่ด้วยนั้น คือคอนโดเดียวกับที่เขาได้ร่วมทุนกับนางสาวสุวิบูลย์

ฝ่ายนางสาวสุวิบูลย์ทราบว่านายวินัยเลี้ยงดูเชอร์รี่ แอน เธอจึงเกิดความรู้สึกหึงหวงและโกรธแค้น เธอจึงสั่งให้คนของเธอชื่อ นายสมพงษ์และนายสมัคร นำเชอร์รี่ แอน ไปสังหาร

นายสมพงษ์และนายสมัครเคยเป็นพนักงานในบริษัทของนายวินัยและรู้จักเชอร์รี่ แอนเป็นอย่างดี เพราะเคยรับส่งเด็กสาวบ่อยครั้ง ภรรยาของทั้งสองก็เคยช่วยดูแลเชอร์รี่ แอน ระหว่างที่นายวินัยติดธุระ

แต่ทว่าก่อนหน้านี้ทั้งสองเกิดทะเลาะเบาะแว้งกับนายวินัย เลยต้องออกมาทำงานกับนางสาวสุวิบูลย์

ทั้งสองโกรธแค้นนายวินัย เมื่อนางสาวสุวิบูลย์สั่งให้พวกตนไปฆ่าเชอร์รี่ แอน พวกเขาจึงตอบรับแต่โดยดี

พวกเขาติดต่อไปยังนายพีระ คนขับรถแท็กซี่ที่นำเชอร์รี่ แอนไปส่งที่โรงเรียนเป็นประจำ นายพีระผู้นี้เป็นเพื่อนสนิทของนายสมพงษ์ และสมัคร เรื่องจึงยิ่งง่ายดายไปอีก

ในวันเกิดเหตุ นายสมพงษ์และนายสมัครได้ลวงเชอร์รี่ แอนขึ้นรถแท็กซี่ของนายพีระ แล้วนำเธอเดินทางไปยังบางปู เชอร์รี่ แอนรู้สึกว่าเส้นทางแปลกๆ เธอจึงพยายามต่อสู้ขัดขืน นายสมพงษ์และนายสมัครจำต้องทำร้ายเธอจนหมดสติ หลังจากนั้นก็นำร่างของเธอไปทิ้งไว้ในร่องน้ำจนเสียชีวิตเพราะขาดอาหารหายใจ

หลังจากที่นายวินัยถูกยกฟ้อง เขาได้พยายามคืนดีกับนางสาวสุวิบูลย์ เพราะเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาพบว่า นางสาวสุวิบูลย์แอบมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายตำรวจคนหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีเชอร์รี่แอน!

นายวินัยทะเลาะกับนายตำรวจคนดังกล่าวจนถึงกับมีบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน

หลังจากที่ตำรวจพลิกแฟ้มคดีขึ้นมาใหม่ นางสาวสุวิบูลย์ นายสมพงษ์ และนายสมัครจึงถูกจับกุมตามข้อกล่าวหา ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตนางสาวสุวิบูลย์ และนายสมพงษ์ ส่วนนายสมัครให้จำคุกตลอดชีวิต

การต่อสู้ดำเนินไปจนถึงชั้นฎีกา ศาลฎีกากลับตัดสินให้ยกฟ้องนางสาวสุวิบูลย์ เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือให้ตัดสินตามศาลชั้นต้น

หลังจากนั้นพวกตำรวจที่จับแพะและพยานเท็จก็ต้องใช้กรรม

สรุปแล้วนายประเมินเป็นพยานเท็จจากการได้รับสินบนจากพนักงานสอบสวนจำนวน 20,000 บาท และสังกะสีจำนวน 50 แผ่น เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8 ปี

ส่วนนายตำรวจที่มีความสัมพันธ์ลับๆ กับนางสาวสุวิบูลย์ได้เสียชีวิตไประหว่างที่คดีทั้งหลายอยู่ในชั้นศาล

นายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ทำคดีเชอร์รี่ แอนถูกไล่ออกจากราชการ เขาได้ย้ายไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ส่วนคนอื่นๆ ไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด

นายกระแสร์และเพื่อนที่ต้องถูกจำคุกโดยไม่มีความผิดพยายามฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลแพ่งอยู่เป็นเวลานาน นายพิทักษ์ และนายธวัชเสียชีวิตไปก่อนที่จะมีคำพิพากษา ท้ายที่สุดศาลแพ่งได้ตัดสินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวนชดใช้เงินจำนวน 26 ล้านบาท

หลังจากศาลแพ่งมีคำตัดสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการจะอุทธรณ์ แต่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่ต้องการให้อุทธรณ์ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยินยอมชดใช้เงินให้แต่โดยดี

ทักษิณจึงทำการกดดันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะนั้นกระแสสังคมต่างมองตำรวจในทางลบอย่างยิ่ง ท้ายที่สุดแล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติตัดสินใจไม่อุทธรณ์ นายกระแสร์และญาติพี่น้องของผู้ที่จากไปแล้วจึงได้รับเงินชดเชยตามที่ศาลตัดสิน

เรื่องคดี เชอร์รี่ แอน ซึ่งดำเนินไปกว่ายี่สิบปีจึงจบลงแต่เพียงเท่านั้น

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!