ประวัติศาสตร์เมื่อสุนัข "ไซบีเรียนฮัสกี้" ช่วยชีวิตเด็กหลายสิบคนจากโรคคอตีบ

เมื่อสุนัข “ไซบีเรียนฮัสกี้” ช่วยชีวิตเด็กหลายสิบคนจากโรคคอตีบ

สุนัขเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับมนุษย์เป็นอย่างมากมาตั้งแต่โบราณกาล หากแต่ว่าในต้นคริสตศตวรรษที่ 20 มีสุนัขไซบีเรียนฮัสกี้และสุนัขลากเลื่อนพันธุ์อื่นกลุ่มหนึ่งได้ทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ

สุนัขเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตเด็กหลายสิบคนจากโรคคอตีบ

พวกมันทำได้อย่างไร มาดูกันครับ

โตโก หนึ่งในสุนัขลากเลื่อนที่มีผลงานช่วยชีวิตเด็กๆ

โรคคอตีบระบาด

ในปี ค.ศ.1925 ที่ดินแดนอลาสกาอันหนาวเหน็บของสหรัฐอเมริกา (ในเวลานั้นอเมริกาได้ซื้อมาจากรัสเซียแล้ว) ได้เกิดโรคคอตีบระบาดที่เมืองโนม (Nome) เมืองที่ใหญ่ที่สุดในแถบตอนเหนือของอลาสกา

ทั้งนี้เคอร์ติส เวลช์ นายแพทย์คนเดียวของเมืองได้สั่งเซรัม (Serum) สำหรับฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดโรคคอตีบไปแล้วหลายเดือนก่อนหน้านี้ แต่เรือที่ขนส่งกลับมาไม่ทันเวลาที่ท่าเรือเปิด (ท่าเรือบริเวณนั้นจะปิดในฤดูหนาว เพราะน้ำทะเลโดยรอบจะเป็นน้ำแข็งทั้งหมด) ทำให้เซรัมที่มีอยู่ขาดแคลนและไม่เพียงพอกับโรคคอตีบที่กำลังระบาดอยู่

เวลช์สั่งให้กักกันโรคทันทีเพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มอีก แต่การระบาดก็แพร่ไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่นานเด็กกว่า 20 คนก็ล้มป่วยลง ไม่กี่วันต่อมาเด็กสองคนก็เสียชีวิต

เมื่อเห็นว่าเอาไม่อยู่แน่ๆ ในวันที่ 22 มกราคม เวลช์รีบแจ้งไปยังกระทรวงสาธารณสุข และขอให้ส่งเซรัมมาโดยด่วนที่สุด

สุนัขลากเลื่อน

ในช่วงฤดูหนาว อากาศในรัฐอแลสกาแย่มาก เครื่องบินและรถยนต์ต่างมุ่งตรงไปยังเมืองโนมไม่ได้เลย

ความหวังเดียวของพวกเขาจึงอยู่ที่ สุนัขลากเลื่อนเท่านั้น

ระยะทางระหว่างเมืองเนนานา (Nenana) เมืองที่สุนัขลากเลื่อนจะเริ่มต้นกับเมืองโนมอยู่ที่ประมาณ 1,085 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่รัฐจึงติดต่อไปยังเหล่าเจ้าของสุนัขลากเลื่อนให้ช่วยเหลือ พวกเขาตอบรับเป็นอย่างดี

สุนัขลากเลื่อนพวกนี้เป็นพวกฮัสกี้ที่คุ้นชินกับหิมะ พวกมันเป็นกุญแจสำคัญในการพิชิตขั้วโลกใต้ของอมุนด์เซนมาแล้ว ในวันนี้พวกมันจะได้แสดงฝีมืออีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้จะรับปาก เจ้าของสุนัขลากเลื่อนทั้งหลายรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยทั่วไปแล้วถ้าใช้สุนัขลากเลื่อน พวกเขาจะเดินทางไปยังโนมได้ภายใน 30 วัน แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องฉุกเฉิน พวกเขาต้องทำให้ได้ภายในเวลา 6 วัน เพราะมิฉะนั้นเซรัมจะเสื่อมคุณภาพ และเด็กๆ จะตายเสียก่อน

บรรดาเจ้าของสุนัขลากเลื่อนจึงได้รับแจ้งว่าให้เตรียมตัวให้พร้อม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมเซรัมจากบริเวณภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แล้วลำเลียงขึ้นไปยังอลาสกา

ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1925 เซรัมทั้งหมดถูกลำเลียงมาถึงเมืองเนนานาโดยทางรถไฟในเวลาสามทุ่ม ที่สถานีมี บิล แชนนอน เจ้าของสุนัขลากเลื่อนรออยู่แล้ว เมื่อได้รับเซรัมทั้งหมดแล้ว เขารีบออกเดินทางทันทีโดยไม่ให้เสียเวลา

ภารกิจจึงเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ภารกิจเริ่มต้น

วิธีการขนส่งไปยังเมืองโนม ไม่ใช่ว่าใช้สุนัขลากเลื่อนทีมเดียว

ด้วยระยะทางที่มากเช่นนั้น ทำให้พวกเขาต้องรับช่วงต่อกัน เช่น แชนนอนจะส่งเซรัมไปยังเมืองโทโลวานา เพื่อให้คนอื่นรับช่วงต่อไปอีกทีหนึ่ง จนกระทั่งถึงเมืองโนม

เมื่อแชนนอนออกเดินทางในเวลาสามทุ่มเศษ อุณหภูมิในบริเวณนั้นได้ลดต่ำลงถึง – 50 องศาเซลเซียส แต่แชนนอนก็เลือกที่จะเริ่มเดินทางในทันที เขามีทีมสุนัขลากเลื่อน 11 ตัว

ทีมสุนัขลากเลื่อนของแชนนอนต้องผ่านแม่น้ำอันหนาวเหน็บ เพราะเส้นทางหลักเสียหายมากเกินกว่าจะเดินทางต่อไปได้

สี่ชั่วโมงต่อมา แชนนอนและทีมของเขาก็มาถึงเมืองมินโต แชนนอนตัดสินใจหยุดชั่วคราวเพื่อที่จะให้สุนัขของเขาได้พัก และอุ่นเซรัมด้วย

จริงๆ แล้วตัวของแชนนอนเองก็ควรพัก เพราะใบหน้าของเขาถูกหิมะกัดจนเป็นสีดำ

แชนนอนได้ออกเดินทางในอีกสี่ชั่วโมงต่อมา แต่ในครั้งนี้เขาใช้สุนัขเพียง 8 ตัวเท่านั้น เพราะอีก 3 ตัวป่วยเพราะอากาศหนาวเกินกว่าที่จะทนได้ พวกมันทั้งสามตายด้วยโรคปอดหลังจากนั้นไม่นาน

ตัวแชนนอนและสุนัขมาถึงเมือง Tolovana ในสภาพสะบักสะบอมในเวลาประมาณ 11 โมงเช้า เขาจึงรีบมอบเซรัมให้กับ Edgar Kallands เจ้าของสุนัขลากเลื่อนคนต่อไปที่มารับช่วงต่อ รวมแล้วแชนนอนได้เดินทางมา 84 กิโลเมตร

Kallands ได้นำเซรัมไปอุ่นเพื่อไม่ให้มันเสื่อมสภาพ แล้วจึงเดินทางต่อไป

Kallands เดินทางมาถึงน้ำพุร้อน Motley ในเวลาประมาณสี่โมง เจ้าของบ้านพักเล่าว่าเขาต้องเอาน้ำร้อนราดใส่มือ Kallands เพราะมือของเขาแข็งจนติดกับที่จับลากเลื่อน ทำให้ไม่สามารถยกมือออกมาได้!

หลังจากนั้น Kallands ได้ส่งต่อให้เจ้าของลากเลื่อนไปเรื่อยๆ ทุกอย่างเหมือนว่าจะราบรื่นดี เซรัมเข้ามาใกล้เมืองโนมตามลำดับ ถึงแม้ว่าพายุหิมะเริ่มถล่มตามเส้นทางอย่างหนัก อุณหภูมิก็ลดต่ำลงถึง -60 องศาเซลเซียส

แต่แล้ววันที่ 31 อุปสรรคก็เกิดขึ้น!

อุปสรรค

ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1925 เซรัมอยู่ในมือของ Myles Gonangnan เขากำลังจะส่งต่อให้ลีโอฮาร์ต เซปพาลา เจ้าของและคนขับสุนัขลากเลื่อนที่เก่งกาจที่สุดในอลาสกาที่เมือง Shaktoolik โดยเซปพาลากำลังเดินทางมาจากเมืองโนม เพื่อทำหน้าที่ขนส่งในเส้นทางที่อันตรายที่สุด นั่นก็คือผ่านทะเลน้ำแข็งที่ชื่อ Norton Sound

แต่แล้วเซปพาลากลับยังมาไม่ถึงเสียที เขาจึงให้คนขับและเจ้าของสุนัขลากเลื่อนชื่อ เฮนรี อีวานนอฟ ให้นำเซรัมไปมอบกับเซปพาลาที่กำลังเดินทางมา

หน้าที่ของอีวานอฟคือไปพบกับเซปพาลาระหว่างทาง เซปพาลาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาถึงเมือง

อีวานอฟนำทีมสุนัขของเขาออกมาจากเมืองในพายุหิมะที่กำลังถล่มอย่างหนัก ทำให้เขามองไม่เห็นทางข้างหน้าเลย แต่ด้วยความเร่งรีบเพราะได้ทราบข่าวด่วนว่าเด็กๆ ตายไปสี่ห้าคนแล้ว อีวานอฟจึงตัดสินใจเสี่ยง

ปรากฏว่าทีมสุนัขลากเลื่อนของอีวานอฟออกมาเมืองได้ไม่นาน มันก็ชนเข้ากับกวางเรนเดียร์ตัวหนึ่งอย่างแรง ทำให้ขบวนต้องหยุดลง

แต่แล้วเหมือนพระเจ้าทรงโปรด อีวานอฟเหลือบไปเห็นเซปพาลาพอดี เขาจึงตะโกนขึ้นว่า เซรัมอยู่ตรงนี้ๆๆ

เซปพาลาได้ยินเข้า เขาจึงรับเซรัมต่อจากอีวานอฟ และหันหัวกลับไปยังเมืองโนมทันที

เส้นทางที่เซปพาลาต้องเผชิญนั้นหฤโหดมาก นอกจากอุณหภูมิที่หนาวเหน็บสุดจะพรรณนาแล้ว ทีมสุนัขของเขาที่เดินทางมาแล้วร้อยกว่ากิโลเมตร ต้องเดินทางข้ามทะเลน้ำแข็งในเวลากลางคืนที่มองไม่เห็นอะไรเลย

โตโก (Togo) สุนัขจ่าฝูงของเซปพาลาเก่งและแข็งแรงมาก มันเป็นแชมเปี้ยนการแข่งลากเลื่อนมาก่อน โตโกมีทักษะพิเศษในการดมกลิ่น ทำให้มันสามารถจำเส้นทางได้อย่างแม่นยำ โตโกวิ่งนำสุนัขตัวอื่นและเซปพาลาข้ามทะเลน้ำแข็งมาได้อย่างปลอดภัย

ในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะส่งมอบให้คนขับคนต่อไป โตโกและสุนัขไซบีเรียนฮัสกี้อีก 7 ตัวต้องวิ่งผ่านลมที่พัดแรงถึง 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (น้องๆ พายุเฮอริเคน) และต้องข้ามยอดเขาแมคกินเลย์อีกด้วย

ถึงแม้เส้นทางจะยากลำบาก โตโกก็นำเซปพาลาและเซรัมมาถึงเมือง Golovin ได้อย่างปลอดภัยในเวลาตีสาม ของวันที่ 31 มกราคม โดยรวมๆแล้ว ตัวโตโกและเพื่อนวิ่งไปถึง 300 กิโลเมตรในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

โตโกนำเซปพาลาช้าม Norton Sound จาก Shaktoolik สู่ Golovin

เข้าสู่เส้นชัย

ผู้ที่รับช่วงต่อจากเซปพาลาคือ Olson ระหว่างที่ Olson กำลังเดินทางมานั้น สภาพอากาศแย่เกินกว่าที่จะเดินทางต่อได้ ทำให้เขาต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ สุนัขของเขาเจ็บปวดมากจากอาการขากรรไกรแข็ง แต่สุดท้าย Olson ก็แข็งใจนำเซรัมมาส่งจนได้ เขาส่งมอบให้กับ Gunnar Kaasen

เส้นทางของ Kaasen ยากลำบากไม่แพ้กัน หิมะลงหนักถึงระดับหน้าอก และพายุหิมะก็ยังถล่มไม่หยุด ทำให้เขาไม่สามารถรู้ได้ว่าอยู่ที่ไหน เขาจึงต้องพึ่งบัลโต สุนัขไซบีเรียนฮัสกี้ที่เป็นจ่าฝูงในการติดตามเส้นทางเท่านั้น ทีมของเขามีสุนัข 11 ตัว และทุกตัวกำลังวิ่งอย่างเต็มที่

ระหว่างนั้นได้มีคำเตือนแจ้งออกมาว่าให้ Kaasen พักรอพายุสงบ แต่ Kaasen เองไม่สามารถรับสารใดๆ ได้ในตอนนั้น เพราะพายุหิมะมันแรงเหลือเกินจนทำให้เขาไม่เห็นอะไรเลย นอกจากสุนัขสองตัวที่ใกล้กับเขาที่สุด

Kaasen และบัลโต

Kaasen และทีมสุนัขลากเลื่อนกำลังจะส่งต่อให้คนขับลากเลื่อนคนต่อไป แต่ Kaasen กลับเปลี่ยนใจ เขาตัดสินใจมุ่งตรงเข้าเมืองโนมเลย โดยไม่แวะพักอีกต่อไปแล้ว

หากแต่ว่าระหว่างนั้นเอง ลมที่รุนแรงได้พัดจนลากเลื่อนเอียงคว่ำ ส่งผลให้เซรัมหล่นลงมาบนพื้นที่เต็มไปด้วยหิมะ บรรยากาศโดยรอบก็มืดสนิท Kaasen จึงต้องถอดถุงมือออกเพื่อคลำหาเซรัมในความมืด

ถ้าเขาหามันไม่เจอ ความพยายามทั้งหมดของทุกคนจะสูญเปล่า

ปาฏิหาริย์มีจริง Kaasen หาเซรัมในความมืดได้ในที่สุด แต่ก็ได้หิมะกัดไปเป็นของแถม เขาจัดขบวนสุนัขของเขาใหม่แล้ว ให้มันวิ่งเข้าเมืองโนมไปในทันที

Kaasen นำเซรัมมาถึงเมืองโนมโดยปลอดภัย ในเวลาตีห้าครึ่งของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1925 เซรัมได้ถูกนำไปยังโรงพยาบาลทันที เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่กำลังนอนรอความตาย

เมื่อได้รับเซรัมแล้ว เด็กๆทุกคนก็รอดพ้นจากความตาย พวกเขาคงไม่รอดหากไม่ได้คนขับสุนัขลากเลื่อนทั้งหมด 20 คน และบรรดาสุนัขลากเลื่อนที่แข็งแกร่งจำนวน 150 ตัว ที่ได้เสี่ยงชีวิตนำเซรัมมาส่งให้

ส่งท้าย

โดยรวมแล้ว ตลอดเส้นทางพันกว่ากิโลเมตร บรรดาคนขับลากเลื่อนสามารถเดินทางมาถึงได้ในเวลาเพียง 127 ชั่วโมง หรือว่า 5 วันเศษเท่านั้น นับเป็นสถิติใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์

เหตุการณ์นี้กลายเป็นเหตุการณ์ช่วยชีวิตที่มีชื่อเสียงที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง เหล่าคนขับสุนัขลากเลื่อนต่างได้รับการยกย่องอย่างมากในภารกิจนี้ เหล่าสุนัขลากเลื่อนก็ได้กลายเป็นฮีโร่ ชาวเมืองได้สร้างอนุสาวรีย์ให้พวกมันที่ Madison Garden ในมหานครนิวยอร์ก ในเวลาต่อมา

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!