ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม เมื่อคนรุ่นใหม่จีนลุกขึ้นสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ

การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม เมื่อคนรุ่นใหม่จีนลุกขึ้นสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ

การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม (May Fourth Movement, 五四运动) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์จีน นักประวัติศาสตร์จีนและต่างชาติต่างเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์นี้มีความสำคัญยิ่งยวดต่อวัฒนธรรมและการเมืองจีน

เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว ในประเทศจีนจึงมีการตื่นตัวอย่างมากในหมู่ปัญญาชน แม้แต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเองก็กล่าวว่าชาวจีนควรเรียนรู้จิตวิญญาณของการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม

เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ผมจะเล่าให้ฟัง

การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม

ความล้าหลัง

หลังจากการปฏิวัติซินไฮ่ที่ล้มล้างราชวงศ์ชิงในปี ค.ศ.1911 ประเทศจีนตกอยู่ในการปกครองในระบอบขุนศึก เหล่าขุนศึกที่มีอำนาจเหนือหัวเมืองต่างๆ ได้ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน รัฐบาลกลางที่ปกครองประเทศโดยนิตินัยก็ให้ความสำคัญเฉพาะกับปัญหาภายใน แต่กลับปล่อยปละละเลยให้ต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศโดยพลการ

การเข้ามาของต่างชาติที่ฉาวโฉ่ที่สุดคือเรื่อง “ความต้องการ 21 ข้อ” ที่หยวนซื่อไข่ ประธานาธิบดีของจีนทำกับญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1915 การที่จีนทำสนธิสัญญาเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีอำนาจเหนือแมนจูเรียและเศรษฐกิจจีนอย่างมาก คนรุ่นใหม่เห็นตรงกันว่านี่เป็นการขายชาติของหยวนซื่อไข่ พวกเขาคิดว่าพวกตนต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาเบียดเบียนจีนไปมากกว่านี้

วิธีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่จีนเห็นว่าจะต้องทำคือ สร้างชาติให้เข้มแข็ง พวกเขาจำนวนมากเห็นว่าการที่สังคมจีนอยู่กับปรัชญาขงจื้อ ซึ่งเป็นแนวคิดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่าสองพันปีทำให้ประเทศอ่อนแอ กระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศโดยละทิ้งแนวคิดเดิมๆ และเลือกรับแนวคิดทางตะวันตกอย่าง “นายวิทยาศาสตร์” (賽先生) กับ “นายประชาธิปไตย” (德先生) จึงแพร่กระจายไปหมู่ปัญญาชนจีน

ปัญหาซานตง

ชิงเต่า เมืองใหญ่ที่สุดในมณฑลซานตง Cr: Miyawaki Kyoto

ในช่วงปี ค.ศ.1917 จีนได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฝ่ายพันธมิตร โดยตกลงกับชาติอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสว่า ถ้าจีนเข้าร่วมสงคราม ดินแดนต่างๆ ที่ตกอยู่ในอิทธิพลของเยอรมนีจะถูกคืนให้กับจีน แต่เรื่องกลับเป็นว่าในระหว่างที่เซ็นสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เขตอิทธิพลของเยอรมนี โดยเฉพาะที่มณฑลซานตงกลับถูกยกให้กับญี่ปุ่นแทน

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ไปสัญญากับญี่ปุ่นไว้ด้วยว่าจะยกเขตอิทธิพลดังกล่าวให้กับญี่ปุ่นถ้าญี่ปุ่นเข้าร่วมสงคราม หลังจากสงครามสงบลง ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจ ส่วนจีนเป็นคนป่วยของเอเชีย ชาติมหาอำนาจจึงไม่แยแสจีนเลยแม้แต่น้อย

ความล้มเหลวทางการทูตที่แวร์ซายส์ทำให้เหล่าปัญญาชนจีนไม่ทนกับความอัปยศอีกต่อไป พวกเขาจับมือกันประท้วงรัฐบาลทันที

การประท้วง

ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 การประท้วงเริ่มต้นที่ปักกิ่ง นักศึกษามากกว่า 4,000 คนเข้าร่วมการประท้วงทันที พวกเขาเดินไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และตะโกนดังกึกก้องว่า

ต่อสู้กับศัตรูภายนอก กำจัดคนทรยศภายในบ้าน

การประท้วงหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน

เหล่านักศึกษายังรณรงค์ให้ยกเลิกข้อเรียกร้อง 21 ข้อ และไม่ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ รวมถึงประณามรัฐบาลจีนที่ไม่สามารถปกป้องประโยชน์ของชาติเอาไว้ได้

การประท้วงลุกฮือไปอย่างรวดเร็ว โดยมีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในทุกเมืองใหญ่ของจีน รัฐบาลจีนจึงพยายามเข้าจับกุมนักศึกษาบางคนที่ก่อความวุ่นวายและให้หยุดการชุมนุมแต่ก็ไม่เป็นผล

สถานการณ์ดำเนินต่อไปยังเดือนมิถุนายน การประท้วงได้กลายเป็นการประท้วงระดับชาติที่มีผู้สนับสนุนล้นหลาม สื่อมวลชน นักธุรกิจ ไปจนถึงแรงงานทั่วไปล้วนแต่ออกมาช่วยเหลือเหล่านักศึกษา เหล่าพ่อค้าและนักธุรกิจขู่ว่าจะเลิกจ่ายภาษี ส่วนพวกแรงงานก็ขู่ว่าจะไม่ไปทำงาน ทำให้เศรษฐกิจทั้งหมดเป็นอัมพาตเสียเลย

นักศึกษาในการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม

รัฐบาลจีนจึงอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันอย่างยิ่ง จนสุดท้ายพวกเขาต้องยอมปล่อยเหล่านักศึกษาที่จับตัวเอาไว้ทั้งหมด รวมถึงไม่ให้ตัวแทนจีนที่แวร์ซายส์ลงนามในสนธิสัญญาด้วย กระแสประท้วงจึงสงบลง

ถึงแม้การประท้วง 4 พฤษภาคม ไม่สามารถทำให้ญี่ปุ่นคืนซานตงมาให้จีนได้ แต่มันได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญยิ่งแล้วในด้านการเมืองของจีน

ผลที่ตามมา

การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคมได้ทำให้คนจีนจำนวนมากมาสนใจการเมือง สนใจในผลประโยชน์ของประเทศที่สูญเสียไปจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล ปัญญาชนชาวจีนเริ่มรับแนวคิดของต่างชาติมามากขึ้น และลดความใส่ใจในแนวคิดเก่าแก่ดั้งเดิมของจีนไปอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การที่มหาอำนาจตะวันตกหักหลังจีนที่แวร์ซายส์ทำให้ปรัชญาตะวันตกเริ่มไม่เป็นที่น่าดึงดูดสำหรับเหล่าปัญญาชนจีนเท่าไรนัก พวกเขาจึงหันไปหาแนวคิดของมาร์คซ์ (Marxist) แนวคิดสังคมนิยมของชาวต่างชาติที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย

ดังนั้นผู้นำเหล่านักศึกษาหลายคนในการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคมที่เคยมีแนวคิดทางการเมืองสายกลางจึงเริ่มเบนไปทางฝ่ายซ้าย อย่างเช่น เฉินตุ๊ซิ่ว ผู้กลายเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา

เหมาเจ๋อตง

เหมาเจ๋อตงเคยกล่าวว่าการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคมมีส่วนสำคัญในเอี้อให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยชนะในบั้นปลาย ทุกวันนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ถือว่าตนเป็นผู้รักษาอุดมการณ์และจิตวิญญาณของการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม มาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจีนจะห่างไกลความเป็นคอมมิวนิสต์แบบแท้ๆ ไปมากแล้ว แต่แน่นอนว่าความรักชาติและใส่ใจในประโยชน์ของชาติของชาวจีนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคมยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!