ประวัติศาสตร์จ๊กก๊กของเล่าปี่ในเรื่องสามก๊ก ล่มสลายอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์?

จ๊กก๊กของเล่าปี่ในเรื่องสามก๊ก ล่มสลายอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์?

จ๊กก๊ก หรือ สู่ฮั่น (Shu Han) เป็นแคว้นของเล่าปี่ในยุคสามก๊ก หลอกว้านจงได้สร้างจ๊กก๊กให้เป็นฝ่ายพระเอกในนิยายของเขา จ๊กก๊กมีอุดมการณ์ในการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น และกำจัดฝ่ายกบฏอย่างวุยก๊ก หรือ เฉาเว่ย (Cao Wei) หรือแคว้นของลูกหลานโจโฉออกไปเสีย

อย่างที่ท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่า จ๊กก๊กล่มสลายอย่างไรในนิยาย แต่ในหน้าประวัติศาสตร์ จุดจบของจ๊กก๊กเป็นอย่างไรกันแน่

ติดตามได้ในโพสนี้ครับ

ปูมหลัง

ก่อนที่เล่าปี่จะจากไป เขาได้มอบหมายให้ขงเบ้งทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนเล่าเสี้ยน บุตรชายของเขา และดำเนินแผนการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นอย่างเต็มสูบ

ขงเบ้งก็ได้สนองความต้องการของเล่าปี่อย่างเต็มที่ เขายกทัพไปตีวุยก๊กถึงห้าครั้ง แต่ทุกครั้งจบลงด้วยความล้มเหลว ขงเบ้งกลับเสียชีวิตเสียก่อนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เขามีอายุได้เพียง 54 ปี

ก่อนตาย ขงเบ้งก็ได้ฝากฝังให้ขุนนางหลายคนช่วยกันดำเนินแผนการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นต่อไป โดยเฉพาะแม่ทัพที่ชื่อว่า เกียงอุย

Jiang Wei
เกียงอุย Cr: Samspade21

หากแต่ว่าหลังจากขงเบ้งเสียชีวิต เจียวอ้วนและบิฮุยที่ได้เป็นมหาอุปราชแห่งจ๊กก๊กสืบต่อจากขงเบ้งกลับใช้วิธีการตั้งรับ และเลื่อนแผนการปราบดินแดนทางภาคเหนือออกไป สาเหตุที่เป็นไปได้คือ ราษฎรจ๊กก๊กได้รับความยากลำบากแสนสาหัสจากการทำสงครามติดต่อกัน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามอยู่ทั่วไป

หลังจากเจียวอ้วนและบิฮุยเสียชีวิต เกียงอุยที่ได้กุมอำนาจทางทหารได้ย้อนกลับไปใช้ยุทธศาสตร์การโจมตีวุยก๊กเหมือนสมัยขงเบ้งอีกครั้ง ผลที่ออกมาคือเกียงอุยได้นำทหารจ๊กก๊กไปตายมากมายโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วของจ๊กก๊กจึงยิ่งร่อยหรอไปอีก

การโจมตีวุยก๊กติดๆ กันของเกียงอุย ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ราชสำนักวุย และประชาชนวุยโดยรวม สุมาเจียว มหาอุปราชวุยก๊กในขณะนั้นเห็นว่า จ๊กก๊กเป็นแคว้นเล็ก ทรัพยากรและผู้คนก็น้อยกว่าวุยก๊กอย่างมาก แต่กลับโจมตีและสร้างปัญหาแก่วุยก๊กหลายครั้งในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นวุยก๊กควรส่งกองทัพใหญ่ยกไปตีจ๊กก๊กเสีย เพื่อกำจัดปัญหานี้ให้ราบคาบไปเสียที

ยุทธศาสตร์ของสุมาเจียว

ราชสำนักวุยได้ศึกษาจากความพ่ายแพ้ครั้งก่อน โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ครั้งล่าสุดที่โจซองยกไปตีจ๊กก๊กแล้วพ่ายแพ้ ในระหว่างการปรึกษากันนั้น สุมาเจียวเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนัก ขุนนางจำนวนมากไม่เห็นด้วยที่จะยกไปตีจ๊กก๊ก สาเหตุสำคัญคือชัยภูมิของจ๊กก๊กเป็นภูเขาสูงชันและกันดารมาก การขนเสบียงทำได้ยากลำบาก ครั้งก่อนๆ ที่วุยก๊กยกไปตีจ๊กก๊กก็จบลงอย่างไม่สวยทุกครั้ง

หากแต่ว่าสุมาเจียวเองกลับเห็นว่า จ๊กก๊กเสียกำลังทหารและทรัพยากรไปมากจากการรุกรานวุยก๊กของเกียงอุย ถ้าไม่โจมตีจ๊กก๊กตอนนี้ จะไปโจมตีตอนไหนกัน

สุมาเจียวได้ทราบว่าขณะนั้นเกียงอุยได้นำทหารส่วนใหญ่ของจ๊กก๊กไปอยู่ที่ถ่าจง เพราะเตรียมการโจมตีวุยก๊กอีกครั้งหนึ่ง และหลบภัยการเมืองด้วย (เวลานั้นเกียงอุยถูกต่อต้านอย่างหนักเรื่องการทำสงคราม) ถ่าจงอยู่เยี้องไปทางตะวันตกของจ๊กก๊ก นั่นเท่ากับว่าทางภาคตะวันออกของจ๊กก๊กแทบจะร้างกำลังทหาร ถ้าวุยก๊กเข้าตีอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ทันตั้งตัวด้วยกำลังทหารจำนวนมหาศาล เมืองเหล่านี้ของจ๊กก๊กย่อมแตกได้โดยง่าย

ดังนั้นแผนการของสุมาเจียวคือ เขาจะแบ่งกำลังออกเป็นสามส่วน จงโฮยทำหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่นำกำลังส่วนใหญ่เข้าตีทางด้านตะวันออกที่ว่างเปล่าของจ๊กก๊ก ส่วนเตงงาย แม่ทัพที่รบกับเกียงอุยมาตลอด ให้นำกำลังทหารอีกกองหนึ่งเข้าล้อมกองทัพเกียงอุยไว้ที่ถ่าจง

นอกจากนี้สุมาเจียวยังให้จัดอีกกองทัพหนึ่งนำโดยจูกัดสู กองทัพนี้มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกียงอุยแหวกวงล้อมออกมาได้ และสกัดไม่ให้เกียงอุยมาช่วยหัวเมืองฝั่งตะวันออกได้

ในครึ่งหลังของปี ค.ศ.263 กองทัพวุยทั้งหมดก็พร้อมแล้ว สุมาเจียวจึงมีคำสั่งให้กองทัพทั้งหมดยกไปตีจ๊กก๊กทันที กำลังทหารฝ่ายวุยมีไม่น้อยกว่า 150,000 นาย (บ้างว่า 200,000 นาย)

จ๊กก๊กปั่นป่วน

เดิมทียุทธศาสตร์ของจ๊กก๊กในการป้องกันอาณาจักรของตน คือใช้แผนการเดิมที่อุยเอี๋ยนคิดขึ้น นั่นก็คือจ๊กก๊กจะนำกำลังทหารจำนวนมากเข้าอุดตรงทางเข้าหุบเขาที่มีลักษณะเป็นคอขวดที่มุ่งสู่เมืองฮันต๋ง กองทัพผู้รุกรานจะติดอยู่ในหุบเขา และขาดเสบียงอาหารไปเอง วิธีนี้จะป้องกันไม่ให้ทหารที่มีน้อยกว่าของจ๊กก๊กถูกรุมล้อมโดยกองทัพศัตรู และป้องกันไม่ให้ดินแดนของตนถูกยึดด้วย

หากแต่ว่าเกียงอุยกลับได้สั่งให้เลิกใช้วิธีไปก่อนหน้านี้ เพราะเขาคิดว่าการอุดที่หน้าปากทาง ทำให้จ๊กก๊กได้ประโยชน์น้อยในการไล่ติดตามถ้ากองทัพศัตรูถอยทัพ วิธีใหม่ของเกียงอุยคือ ทิ้งปากทางให้กองทัพศัตรูยกเข้ามาได้โดยง่าย แล้วล่อให้ฝ่ายศัตรูเข้าโจมตีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ต่อมาเขาจะทำการตัดเสบียงกองทัพศัตรูให้อ่อนแอลง เมื่อกองทัพศัตรูถอยทัพ สุดท้ายเขาจะโจมตีกองทัพศัตรูให้แตกยับเยินไป

การจะใช้แผนการนี้ได้ ตัวเกียงอุยต้องอยู่ที่ฮันต๋ง แต่ปัญหาในขณะนั้นคือ เกียงอุยไม่ได้อยู่ที่นั่น ดังนั้นเมื่อเขาได้ข่าวว่าวุยก๊กกำลังยกทัพมาตีจ๊กก๊ก เขาจึงรีบเตือนราชสำนักจ๊กก๊กที่เฉิงตูทันที

ราชสำนักจ๊กก๊กในขณะนั้นอยู่ในมือขันทีฮุยโฮ ผู้เป็นศัตรูกับเกียงอุย ดังนั้นเขาจึงยุยงให้เล่าเสี้ยนอย่าได้ฟังคำของเกียงอุยที่ให้ส่งทหารออกไปต่อต้านศัตรูที่ชายแดน อย่างไรก็ตามเล่าเสี้ยนก็ได้ส่งกำลังทหารออกไปอยู่ดี (ตรงกันข้ามกับในนิยายที่ว่าไม่ส่งกำลังไปช่วย) ถึงแม้จะส่งออกไปช้าก็ตาม

Zhong Hui
จงโฮย

ด้วยความที่กำลังส่วนใหญ่ของจ๊กก๊กอยู่ทางตะวันออก กองทัพของจงโฮยจึงผ่านช่องเขาต่างๆ ได้โดยง่าย โดยปราศจากการต่อต้าน จงโฮยเผชิญกับการต่อต้านจริงๆ ที่เล่อเฉิงและฮั่นเฉิง จงโฮยพยายามตีป้อมปราการทั้งสองอยู่นาน แต่ก็ไม่อาจจะตีให้แตกได้ จงโฮยจึงตัดสินใจทำสิ่งที่เกียงอุยไม่คาดคิด

นั่นก็คือเขาผ่านป้อมทั้งสองไปเลย (ลักษณะเดียวกับที่กองทัพถังตีโกคูรยอครั้งสุดท้าย)

จงโฮยยกทัพผ่านทางด่านหยางอัน แล้วเข้าตีฮันต๋งโดยตรง ด่านหยางอันแตกโดยง่ายเพราะแม่ทัพจ๊กก๊กคนหนึ่งยอมจำนน ส่วนเมืองอื่นๆ ที่แทบจะร้างกำลังทหารจึงไม่อาจจะต้านทานกำลังมหาศาลของจงโฮยได้ ทำให้ฮันต๋งตกอยู่ในมือวุยก๊กในที่สุด

เกียงอุยท่ามกลางกองทัพศัตรู

ในเวลานั้นเกียงอุยได้ทราบข่าวว่าจงโฮยนำทัพเข้ามาทางตะวันออก เขาเร่งนำกำลังออกไปช่วย แต่ปรากฏว่าใกล้กับถ่าจงเองก็มีกองทัพวุยก๊กรออยู่แล้ว กองทัพของเตงงายนั่นเอง

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างหนัก และเตงงายเป็นฝ่ายได้เปรียบ เกียงอุยจะหนีไปไหนก็ไม่ได้ เพราะกองทัพจูกัดสูดักรออยู่ด้วย ถ้าปล่อยเนิ่นช้าไป กองทัพของตนจะขาดเสบียง และถูกตีกระหนาบจนแตกยับเยิน

เกียงอุยตัดสินใจฝ่าออกไป โดยใช้กลลวงหลอกจูกัดสู ปรากฏว่าเกียงอุยออกมาจากที่ล้อมได้สำเร็จ เกียงอุยพบกับกองทัพที่เล่าเสี้ยนส่งมาสนับสนุนระหว่างทาง กองทัพจ๊กก๊กที่เหลืออยู่จึงถอยไปยังด่านเกียมโก๊ะ (เจี้ยนเก๋อ) เพื่อป้องกันปากทางสู่เฉิงตู เมืองหลวงของจ๊กก๊ก

Jiange Pass
ความสูงชันของภูมิประเทศแถวเจี้ยนเก๋อ Cr: Munford

จงโฮยนำกองทัพขนาดใหญ่มาตีด่านเกียมโก๊ะทันที แต่ตีเท่าไรก็ตีไม่แตก เพราะชัยภูมิของด่านสูงชันมาก นานวันเข้าเสบียงอาหารก็ร่อยหรอลง จงโฮยเริ่มคิดถึงการถอยทัพแล้วด้วยซ้ำไป

โดยรวมแล้ว เกียงอุยจึงประสบความสำเร็จในการป้องกันการโหมโจมตีอันรวดเร็วของวุยก๊กไว้ได้ ซึ่งจริงๆ วิธีนี้คือวิธีของอุยเอี๋ยนนั่นเอง แต่แค่ทำคนละที่

หากแต่ว่าเกียงอุยไม่รู้เลยว่า การใช้วิธีนี้ในเวลานี้ ณ สถานที่นี้มันช้าไปเสียแล้ว

การเสี่ยงของเตงงาย

ด่านเกียมโก๊ะที่เกียงอุยป้องกันอยู่นั้น ไม่ใช่เส้นทางเดียวที่เข้าสู่เฉิงตูได้ ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งเช่นกัน เส้นทางที่ว่าคือเส้นทางจากเมืองอิมเป๋ง

เส้นทางนี้สูงชันมาก ผมได้เคยไปเที่ยวแถวๆนั้นมาแล้ว พบว่ามันสูงชันจริงๆ แบบที่ในนิยายสามก๊กไม่ได้โม้เลย

การเดินทัพผ่านเส้นทางนี้มีแต่ความเสี่ยง และไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กองทัพที่เขาไปอาจจะถูกตัดขาดจากเสบียง และอดตายอยู่กลางหุบเขาตรงนั้น หรืออาจจะตกเขาตายอย่างใดอย่างหนึ่ง

หากแต่ว่า เตงงาย แม่ทัพวุยก๊กที่เดินทัพมาถึงเห็นว่ามันคุ้มเสี่ยง เพราะว่าเขาบังคับให้เกียงอุยต้องเลือก

ถ้าเขาเดินทัพทางนี้ เกียงอุยต้องแบ่งกำลังส่วนหนึ่งออกมาป้องกันบริเวณนี้ด้วย ทำให้ทหารที่เกียมโก๊ะน้อยลง จงโฮยน่าจะตีเกียมโก๊ะได้ง่ายมากขึ้น

แต่ถ้าเกียงอุยไม่ช่วยเส้นทางนี้ เขาจะนำกำลังบุกเข้าตีเฉิงตูไปเลย

Deng Ai
เตงงาย

กองทัพของเตงงายเดินทัพไปทางอิมเป๋ง พวกเขาเผชิญกับภูเขาสูงชัน และหุบเขาสุดลึก เตงงายและเหล่าทหารต้องใช้ผ้าคลุมตัวและกลิ้งลงมาจากยอดเขาสู่เบี้องล่าง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทหารของเตงงายจำนวนมากล้มตายลง

นอกจากนั้นเฉินโซ่ว ผู้รวบรวมจดหมายเหตุสามก๊กได้รายงานว่า เตงงายและกองทัพยังต้องเผชิญกับกองทัพของจ๊กก๊กที่ตั้งรับอยู่ด้วยถึงสามกอง แต่ว่าแต่ละกองมีจำนวนไม่มากนัก เตงงายจึงเอาชนะได้ทั้งหมด (ตรงกันข้ามกับในนิยายที่ไม่มีกำลังทหารป้องกันอยู่เลย)

เมื่อออกจากเส้นทางดังกล่าว พวกเขาก็มาถึงดินแดนตอนในของจ๊กก๊กแล้ว ทหารทุกนายล้วนแต่หิวโหยและได้รับบาดเจ็บ แต่ทุกคนก็มีกำลังใจดีเพราะผ่านอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่มาได้

พวกเจ้าเมืองต่างๆ เห็นกองทัพวุยก๊กปรากฏตัวขึ้นใกล้กับเมืองของตนจึงตัดสินใจยอมแพ้ ทหารของเตงงายจึงได้เสบียงมาเพิ่มเติมและเตรียมการโจมตีเฉิงตูต่อไป

ช่วงเวลานี้ไม่ปรากฏว่าเกียงอุยตอบสนองอย่างไรต่อการบุกของเตงงาย เราไม่แน่ชัดว่ากำลังทหารที่ขัดขวางเตงงายเป็นทหารของเกียงอุยหรือไม่ เกียงอุยอาจจะพยายามสกัดกั้นแล้วแต่ไม่เป็นผลก็เป็นได้

จ๊กก๊กล่มสลาย

เตงงายเผชิญหน้ากับกองทัพจ๊กก๊กที่นำโดยจูกัดเจี๋ยม บุตรชายของขงเบ้ง แต่เตงงายก็ตีกองทัพจ๊กก๊กแตกและยึดเมืองสำคัญโดยรอบได้โดยง่าย

ในช่วงเวลานี้ เกียงอุยที่อยู่ที่เกียมโก๊ะทราบว่าเตงงายบุกเข้าใกล้เฉิงตู เกียงอุยจึงรีบทิ้งเกียมโก๊ะและยกทัพจะมาช่วย จงโฮยจึงให้แม่ทัพวุยก๊กหลายนายนำกำลังทหารติดตามไป

หากแต่ว่าเกียงอุยยังไม่ทันจะมาถึง เตงงายก็ยกทัพมาถึงเฉิงตูแล้ว ภายในเฉิงตูแตกแยกออกเป็นหลายฝ่ายว่าจะให้ทำอย่างไรกันดี ข้อเสนอมีดังต่อไปนี้

  • ถอยหนีลงใต้ไปยังหัวเมืองทางใต้และต่อสู้ต่อไป
  • หนีไปง่อก๊ก
  • สู้ตายกับเตงงาย
  • ยอมจำนนต่อเตงงายและวุยก๊กเสียเลย

ตัวเลือกที่ 1 และ 2 จริงๆ ไม่ต่างอะไรกันนัก หัวเมืองทางใต้จะต้านทานวุยก๊กได้สักกี่น้ำ เช่นเดียวกับง่อก๊ก ถ้าจ๊กก๊กไม่อยู่แล้ว ง่อก๊กก็หัวเดียวกระเทียมลีบ คงจะมีชะตากรรมไม่ต่างกันในไม่ช้า

เรื่องจะให้สู้ก็เป็นเรื่องยากสำหรับเล่าเสี้ยน ตัวเล่าเสี้ยนเองไม่ใช่นักรบ และต่อสู้ไปก็ตายเปล่าๆ ดังนั้นเขาจึงไม่เห็นเหตุผลใดที่จะสู้ต่อไป

ดังนั้นเล่าเสี้ยนจึงวางอาวุธยอมจำนนต่อเตงงายในปลายปี ค.ศ.263 จ๊กก๊กล่มสลายไปในที่สุด โดยรวมแล้วมีฮ่องเต้ 2 พระองค์ ตั้งแคว้นอยู่ได้ 43 ปี

หลังจากเล่าเสี้ยนยอมจำนนแล้ว สุมาเจียวแต่งตั้งให้เขาเป็นอันเล่อกง เขาเสียชีวิตอย่างสงบในอีกสิบกว่าปีต่อมา

กองทหารของจ๊กก๊กที่เหลืออยู่จึงยอมจำนนด้วยเช่นกัน เกียงอุยเองก็ได้ยอมจำนนต่อจงโฮย

ยุทธศาสตร์ของสุมาเจียวจึงจบลงด้วยชัยชนะ การรุกรานทั้งหมดใช้เวลาสามเดือนเท่านั้นก็แล้วเสร็จ

เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นคือ ศัตรูที่ทหารจ๊กก๊กต่อสู้เป็นครั้งสุดท้ายกลับไม่ใช่ทหารวุยก๊ก แต่เป็นทหารง่อก๊ก

เดิมทีทหารง่อก๊กกองนี้เดินทัพมาเพื่อช่วยจ๊กก๊ก แต่เมื่อราชสำนักจ๊กก๊กยอมจำนนต่อวุยก๊กแล้ว ทหารง่อที่เดินทัพมาช่วยจึงพยายามเข้าแย่งชิงเมืองที่เหลืออยู่ของจ๊กก๊กที่ทหารวุยก๊กยังไม่ได้เข้าครอบครอง ทหารจ๊กก๊กจึงต้องต่อต้านการเข้าตีของทหารง่อก๊ก จนกระทั่งกองทัพง่อก๊กถอยไปเอง ทำให้กองทัพง่อก๊กเป็นกองทัพสุดท้ายที่กองทัพจ๊กก๊กได้ต่อสู้ด้วย

การล่มสลายของจ๊กก๊กจึงเป็นการประกาศไปทั่วแผ่นดินว่า ราชวงศ์ฮั่นได้จบสิ้นลงไปแล้วอย่างถาวร และราชวงศ์ใหม่ได้มาถึงแล้วนั่นเอง

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!