ประวัติศาสตร์บาเบอร์ (9): ยุทธการแห่งปานิปัต และการเริ่มต้นของราชวงศ์โมกุล

บาเบอร์ (9): ยุทธการแห่งปานิปัต และการเริ่มต้นของราชวงศ์โมกุล

ตอนที่ 1 อยู่ที่นี่

การตายของเชบานีทำให้บาเบอร์ตื่นเต้นมาก เขาคิดว่าเป็นโอกาสที่จะตีชิงบ้านเกิดเมืองนอนกลับคืนมา จากที่เคยตัดใจไปแล้วรอบหนึ่ง

แต่มันจะทำได้ง่ายๆ หรือ?

บาเบอร์เอาชนะอิบราฮิมที่ปานิปัต

ความพยายามครั้งสุดท้าย

ในปี ค.ศ.1511 บาเบอร์ได้นำกองทัพใหญ่ยกไปตีดินแดนของพวกอุซเบคที่ยึดครองเฟอร์กานา และซามาร์คันด์ ดินแดนทั้งสองที่เคยอยู่ภายใต้กำมือของเขา

ในตอนแรกคิดว่าบาเบอร์คิดว่าพวกอุซเบคน่าจะต่อสู้กันเองกับการสรรหาข่านคนใหม่ ทำให้เขาตีดินแดนเหล่านี้ได้โดยง่าย

เรื่องกลับตรงกันข้าม พวกอุซเบคกลับร่วมมือกันรับมือศัตรูภายนอกอย่างบาเบอร์เสียก่อน กองทัพของบาเบอร์พยายามโจมตีเมือง Hisar แต่ก็ตีไม่ได้เสียที กองทัพของเขากลับถูกผลักดันออกมาจากเมืองด้วยซ้ำ

ช่วงนั้นเองบาเบอร์ได้กองกำลังสนับสนุนจากเปอร์เซีย ทำให้สถานการณ์ของเขาดีขึ้น กองทัพของบาเบอร์ตีชิงดินแดนในทรานซ็อกเซียนา เช่น ซามาร์คันด์กลับคืนมาได้ และดูเหมือนว่าเขาจะชิงดินแดนทั้งหมดที่เสียไปกลับมาได้ในไม่ช้า

แต่แล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปในลักษณะเดิม บาเบอร์พ่ายแพ้ย่อยยับต่อ Ubaid ข่านคนใหม่ของพวกอุซเบคที่กุลอิมาลิค ต่อมาบาเบอร์ก็พ่ายแพ้อีกที่กาซเดวาน ถึงแม้ว่ากองกำลังของเขาและเปอร์เซียจะมีมากกว่าฝ่ายอุซเบคก็ตาม

ทุกอย่างเลยกลับไปเหมือนแบบเดิม ความพยายามของบาเบอร์ตลอดสามปี (ค.ศ.1511-1514) จบลงด้วยความล้มเหลว บาเบอร์สูญเสียทุกอย่างไปอีกครั้ง แต่ในคราวนี้บาเบอร์รู้สึกว่า

ผมพอแล้วจริงๆ หลังจากที่เคยปลงมาแบบนี้ครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นบาเบอร์จึงหันไปขยายอำนาจของตนในอินเดียแทน แต่สิ่งหนึ่งที่บาเบอร์ได้จากสงครามตลอดสามปีก็คือ เขาได้พี่สาวของเขาที่ตกเป็นภรรยาของเชบานีกลับคืนมา

บาเบอร์มุ่งไปยังอินเดีย

ต่อมาบาเบอร์ได้ใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ ในเมืองคาบูลของตน แต่เขาไม่ได้อยู่เงียบๆ บาเบอร์ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรออตโตมัน และได้รับการช่วยเหลือจากสุลต่านเซลิม 1 ในเรื่องของปืนไฟ (Matchlock) และปืนใหญ่ (Cannon) บาเบอร์ได้สั่งให้ทหารของเขาฝึกใช้อาวุธดังกล่าวใช้ชำนาญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตข้างหน้า

ชีวิตของบาเบอร์ค่อนข้างเงียบสงบเป็นเวลานานถึงห้าปี ช่วงนี้ได้เกิดกบฎบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี ไม่มีเรื่องใดร้ายแรง

ในปี ค.ศ.1519 กองทัพของบาเบอร์เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธปืนเรียบร้อยแล้ว เสบียงอาหารและผู้คนก็พรั่งพร้อม เขาจึงตัดสินใจว่า เขาจะยกทัพใหญ่ไปตีฮินดูสถาน หรือ อินเดีย

บาเบอร์ข้ามแม่น้ำสินธุ

บาเบอร์รุกรานดินแดนปัญจาบในอินเดียอยู่หลายครั้ง เขาตั้งเป้าว่าจะยึดครองดินแดนปัญจาบให้ได้เสียก่อน เพราะปัญจาบเป็นดินแดนเก่าแก่ที่ติมูร์ บรรพบุรุษของเขาเคยตีได้

บาเบอร์ยึดครองปัญจาบได้สำเร็จในปี ค.ศ.1524 หรือว่าห้าปีหลังจากเริ่มบุกอินเดีย หลังจากนั้นเขาก็หยุดกองทัพเพื่อรอโอกาสมาถึงเพื่อที่จะรุกรานอินเดียต่อไป

ในปี ค.ศ.1526 โอกาสก็ได้เปิดแก่บาเบอร์ให้การยึดครองอินเดีย

รัฐสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ที่ปกครองดินแดนทางตอนเหนือของอินเดียอยู่นั้น ได้มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองภายในราชวงศ์ ทำให้บาเบอร์ตัดสินใจยกกองทัพใหญ่ยกไปพิชิตฮินดูสถานทันที สงครามครั้งนี้จะเป็นสงครามครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของบาเบอร์

มหายุทธการแห่งปานิปัต

ในขณะนั้น อิบราฮิม โลดี (Ibrahim Lodi) ได้ขับไล่ศัตรูของเขาออกจากเดลลีอันเป็นเมืองหลวงได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ศัตรูทางการเมืองของอิบราฮิมจึงหนีไปพึ่งบาเบอร์มากมาย บาเบอร์ได้รับคนเหล่านี้ไว้ และนำทัพมาทำศึกชี้ขาดกับอิบราฮิม โลดี เพราะว่าบาเบอร์รู้ดีว่า อิบราฮิมไม่มีทางปล่อยให้ตนยึดปัญจาบไปอย่างง่ายๆ

กองทัพของบาเบอร์ยกมาถึงเมืองปานิปัต (Panipat) ก็ได้ตั้งค่ายขึ้น ภายในไม่นาน บาเบอร์ก็ได้รับทราบว่ากองทัพใหญ่จำนวน 50,000-100,000 คน และช้างอีก 1,000 ตัวของอิบราฮิมกำลังเดินทัพเข้ามาใกล้

สงครามแห่งปานิปัต

กำลังของอิบราฮิมมีมากกว่าบาเบอร์สามเท่าเป็นอย่างน้อย เพราะบาเบอร์มีทหารเพียง 15,000-20,000 คนเท่านั้น กองทัพของเขาส่วนใหญ่มาจากคาบูลซึ่งมีประชากรเบาบาง ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะมีจำนวนน้อยกว่ากองทัพจากอินเดียที่มีประชากรหนาแน่นกว่า

เมื่อเห็นว่าจะต้องเผชิญหน้ากันแน่ๆ แล้ว บาเบอร์สั่งให้เตรียมการทันที เขาสั่งให้ทหารไปขุดสนามเพลาะทางด้านซ้ายของกองทัพ และปิดไว้อย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้กองทัพอินเดียที่มากกว่าตีโอบได้ ส่วนตรงกลางก็ให้เตรียมเกวียนไว้ 700 เกวียนแล้วผูกพวกมันทั้งหมดด้วยเชือก เพื่อเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้กองทัพอินเดียเข้าถึงพลปืนของเขาได้ง่ายๆ พลปืนเหล่านี้จะได้ยิงทหารอินเดียให้ล้มตายลงไป

คืนก่อนที่จะทำสงครามกับกองทัพอินเดีย บาเบอร์เล่าว่าในค่ายของเขาเต็มไปด้วยความกังวลและกลัว

จริงๆ ก็ไม่แปลกอะไรที่จะกลัว กองทัพของศัตรูมีมากกว่าหลายเท่าเช่นนั้น ใครที่ไม่กลัวสิแปลก

เจ็ดวันผ่านไป ทั้งสองฝ่ายก็ยังตั้งประจัญหน้ากันอยู่ บาเบอร์ให้ทหารจำนวนหนึ่งออกไประดมยิงธนูที่หน้าค่ายของฝ่ายอินเดีย ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผล ทหารอินเดียจำนวนหนึ่งล้มตายลง

อิบราฮิมทนไม่ไหวกับการรบกวนของบาเบอร์อีกต่อไป เขาสั่งให้กองทัพทุกกองเตรียมตัวเผชิญหน้ากับบาเบอร์ในเช้าของวันรุ่งขึ้น บาเบอร์เองก็ให้กองทัพเดินทัพออกไปเช่นกัน

มหายุทธการแห่งปานิปัตได้เริ่มต้นแล้ว

อิบราฮิมเห็นการตั้งกระบวนรบของบาเบอร์ก็สั่งให้เปลี่ยนกระบวนรบทันที เพราะบาเบอร์ได้ใช้เกวียนทำให้ด้านหน้าของกองทัพแคบมาก การดาหน้าเข้าไปทำไม่ได้แน่ๆ

บาเบอร์เห็นว่ากองทัพอินเดียกำลังปรับกระบวนทัพ เขาไม่รอให้เวลาผ่านไป เขาสั่งให้กองทัพทั้งหมดเข้าโจมตีทันที ตอนที่ศัตรูยังไม่ตั้งตัว

บาเบอร์ได้ออกคำสั่งว่าให้กองทัพปีกซ้ายและปีกขวาพยายามไปเคลื่อนที่ไปอยู่ด้านหลังของศัตรูและตีโอบเข้ามา ส่วนกองทัพส่วนกลางให้ระดมยิงใส่กองทัพอินเดียให้หนักที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

กองทัพปีกซ้ายของบาเบอร์ได้ปะทะกับกองทัพช้างของอิบราฮิม พวกเขาได้ระดมยิงธนูเข้าใส่พวกช้างอย่างหนัก จนมันตื่นตระหนก ก่อความโกลาหลในกองทัพอินเดีย

ความโกลาหลเปิดโอกาสให้กองทัพปีกซ้ายปีกขวาเดินทัพเข้าไปด้านหลังและด้านข้างของกองทัพอินเดียได้สำเร็จ กองทหารม้าของบาเบอร์เร่งระดมยิงกองทัพอินเดียด้วยธนูจำนวนมหาศาล ทหารอินเดียจำนวนมากล้มตายลง

ขณะเดียวกันในตรงกลาง ทหารอินเดียจำนวนมากที่ทะลักเข้ามากลับถูกยิงกระหน่ำโดยปืนใหญ่จำนวนมากที่ระดมยิงอย่างไม่กลัวว่าจะโดนฝ่ายเดียวกัน เพราะว่าด้านหน้าของกองทัพเป็นเกวียนที่เรียงติดกัน พลทหารถือปืนของบาเบอร์ก็ยิงกระหน่ำทหารอินเดียด้วยปืนคู่ใจอย่างสบายมือ

กองทัพอินเดียของอิบราฮิมปราศจากอาวุธที่จะตอบโต้การยิงเหล่านี้ได้ เพราะว่าภายในกองทัพไม่มีกองทหารปืนใหญ่เหมือนกับบาเบอร์ ปืนใหญ่ของบาเบอร์ยิงกระหน่ำเข้าใส่ช้างนับร้อยของอิบราฮิม ทำให้พวกมันตกใจกลัว และหันกลับไปเหยียบทหารอินเดีย

ความปั่นป่วนจากการถูกกระหน่ำยิงด้วยอาวุธที่เหนือกว่าจากด้านหน้า การถูกตีกระหนาบจากสองข้าง และช้างศึกที่ไล่เหยียบอย่างไม่ปรานี ทำให้ทหารอินเดียจำนวนมากแตกหนีไป เปิดโอกาสให้ทหารของบาเบอร์ไล่สังหาร

กองทัพช้างตื่นตระหนกเมื่อปืนใหญ่ของบาเบอร์ยิงเข้าใส่

ผ่านไปถึงช่วงบ่าย ทุกสิ่งก็ปรากฏชัดเจนว่าบาเบอร์ได้ชัยชนะ อิบราฮิมพยายามต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ก็ไม่เป็นผล เขาสิ้นชีวิตกลางสมรภูมิพร้อมทหารนับหมื่นคน

เย็นวันนั้นยุทธการแห่งปานิปัตก็จบสิ้นลง บาเบอร์เป็นฝ่ายได้ชัยชนะเด็ดขาด กองทัพอินเดียเสียชีวิตไปอย่างน้อยสองหมื่นคน ส่วนบาเบอร์เสียทหารไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ชัยชนะของบาเบอร์จึงได้จากยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง (น่าจะมาจากความพ่ายแพ้ติดๆ กัน) และกองทหารปืนใหญ่ที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากออตโตมัน และฝึกฝนมานานปี

หลังจากที่ได้ชัยชนะ บาเบอร์รีบยกทัพเข้ายึดครองเดลี และอัคราได้อย่างรวดเร็ว บาเบอร์ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นสุลต่านแห่งเดลี ราชวงศ์โมกุลจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

ยุทธการปานิปัตจึงเปลี่ยนชีวิตบาเบอร์อย่างแท้จริง

หากแต่ว่าศัตรูมากมายของเขายังมีอยู่ในอินเดีย โดยเฉพาะพวกเจ้าราชบุตรที่แข็งแกร่ง เขาจะต้องเผชิญหน้ากับศัตรูผู้เก่งกาจไปในกาลข้างหน้า

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!