ประวัติศาสตร์รัสเซียปฏิวัติรัสเซียซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 กับมหากาพย์การถูกตามล่าทั้งหก

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 กับมหากาพย์การถูกตามล่าทั้งหก

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (Alexander II of Russia) ทรงเป็นซาร์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเป็นนักปฏิรูปและมีพระทัยเปิดกว้าง พระองค์ทรงปลดปล่อยเหล่าเซิร์ฟ (คล้ายๆ กันไพร่) ทั้งหมดทั่วทั้งจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ.1861 นอกจากนี้อเล็กซานเดอร์ยังพยายามปฏิรูปการเมืองรัสเซียให้มีประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงมากยิ่งขึ้น

พัฒนาการในรัชสมัยของพระองค์ถือว่าเป็นพัฒนาการการเมืองที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์รัสเซีย

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 “ผู้ปลดปล่อย” (Alexander II the Liberator)

หากแต่ว่าความพยายามของพระองค์ไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ ปัญญาชนบางส่วนอดทนต่อความไม่เท่าเทียมในแผ่นดินรัสเซียไม่ไหวอีกต่อไป บ้างก็ว่าพระองค์ทรงไม่จริงใจในการปฏิรูปประเทศ พวกเขาจึงปรารถนาที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติ

พวกนักปฏิวัติเหล่านี้มีความเชื่อว่า ถ้าสังหารพระองค์และคนสำคัญๆ ในประเทศได้แล้ว มีจะการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในรัสเซีย กลุ่มนักปฏิวัติที่มีบทบาทมากที่สุดคือ กลุ่ม Narodnaya Volya (Наро́дная во́ля) หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า กลุ่มเจตนารมณ์ของมวลชน

เหล่านักปฏิวัติเหล่านี้จึงเริ่มต้นวางแผนที่จะลอบสังหารพระองค์อย่างเงียบๆ

ครั้งแรก

ก่อนหน้านี้ซาร์แห่งรัสเซียไม่เคยเป็นเป้าหมายของการลอบสังหารมาก่อนเลย ชาวรัสเซียจำนวนมากนับถือพระองค์ดั่งพระเจ้า และเชื่อว่าพระองค์ทรงมีฤทธานุภาพอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

จนกระทั่งมีชายผู้หนึ่งได้ทำลายความเชื่อดังกล่าวไปจนมลายสิ้น

ชายที่ว่าคือ ดมิทรี คาราโคซอฟ (Dmitry Karakozov)

คาราโคซอฟผู้นี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมอสโก เขามาจากชนชั้นอภิสิทธิ์ชน แต่เมื่อเรียนๆ ในมหาวิทยาลัยไปแล้ว เขากลับเกลียดสิ่งที่เขาเรียนอยู่อย่างมาก เพราะเขาคิดว่าวิชาพวกนี้สอนให้ “ดูดเลือดพวกชาวนาชาวไร่” สุดท้ายด้วยแนวคิดเช่นนี้เอง เขาจึงโดนไล่จากมหาวิทยาลัย

ภาพสเก็ตช์คาราโคซอฟ ฝีมือ IIya Repin ศิลปินเอกของรัสเซีย

หลังจากนั้นคาราโคซอฟมีอาการซึมเศร้า แต่ซึมยังไงก็ไม่ทราบ สุดท้ายเขาไปเข้าสมาคมนักปฏิวัติในที่สุด คาราโคซอฟรู้สึกว่าแม้แต่ในสมาคมนักปฏิวัติก็มีแต่พวกที่ใช้ปากทำงาน ไม่มีใครคิดจะลงมือทำอย่างที่พูด ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจว่าเขาจะเป็นคนนั้น

ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1866 คาราโคซอฟแอบไปดักรอซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ที่สวนฤดูร้อนในเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก เมื่ออเล็กซานเดอร์ที่ 2 เสด็จออกมา คาราโคซอฟก็วิ่งเข้าหาพอดีและพยายามยิงกระสุนเข้าใส่พระองค์

หากแต่ว่าโชคยังดีที่ โคมิซารอฟ ช่างทำหมวกคนหนึ่งเห็นเข้าพอดี เขาจึงวิ่งเข้าชาร์จคาราโคซอฟเข้าที่ศอกไว้ได้ทันควัน ทำให้กระสุนพลาดเป้าไป คาราโคซอฟถูกรวบตัวในทันที ต่อมาเขาถูกนำตัวมาพบกับซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 พระองค์ตรัสว่า

เจ้าต้องการอะไร

คาราโคซอฟตอบว่า

ไม่มี ไม่มี ไม่มีอะไร

คาราโคซอฟถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในเวลาต่อมา

ถึงแม้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 จะปลอดภัย แต่รอยร้าวได้เกิดขึ้นแล้วกับภาพลักษณ์ของพระองค์ การถูกมือสังหารเข้าใกล้พระองค์ในระยะประชิดทำให้ “ฤทธานุภาพ” ของพระองค์สูญสิ้นไป การกระทำของคาราโคซอฟจึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักปฏิวัติให้พวกเขาลงมือวางแผนสังหารพระองค์ในเวลาต่อมา

ครั้งที่สองและสาม

ในปี ค.ศ.1867 การลอบสังหารก็มาเยี่ยมเยือนอเล็กซานเดอร์ที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้พระองค์เสด็จไปยังปารีสเพื่อเยี่ยมชมงานเวิลด์แฟร์ อเล็กซานเดอร์ประทับนั่งอยู่ในรถกันกระสุนพร้อมกับนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

จู่ๆ มีชาวโปลคนหนึ่งยิงปืนเข้าใส่รถคันดังกล่าว แต่เคราะห์ดีที่กระสุนพลาดไปโดนม้าทรง มือสังหารชาวโปลถูกจับกุมได้ในทันที เขากล่าวว่าเขาต้องการปลดปล่อยประเทศของเขาให้พ้นจากการครอบงำของรัสเซีย เขาได้รับโทษให้ไปทำงานตลอดชีวิต แต่ได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา

หลังจากครั้งนี้ชีวิตของอเล็กซานเดอร์ที่ 2 อยู่อย่างสงบอีกถึง 13 ปี จนกระทั่งวันหนึ่ง

ในปี ค.ศ.1879 อเล็กซานเดอร์ที่ 2 เสด็จออกมาเดินเล่นในยามเช้าอย่างที่เคยทำมาทุกวัน แต่ในวันนี้มีมือสังหารคนหนึ่งชื่อ อเล็กซานเดอร์ โซลอฟโยฟ รออยู่แล้ว เขาเห็นพระองค์เสด็จมาจากระยะไกลจึงปรารถนาจะยิงเข้าใส่พระองค์ในระยะเผาขน แต่โชคเป็นของอเล็กซานเดอร์ พระองค์เห็นปืนรีวอลเวอร์ในมือของเขาก่อน พระองค์จึงรีบวิ่งหนี

อเล็กซานเดอร์ โซลอฟโยฟ

โซลอฟโยฟรีบยิงเข้าใส่พระองค์ แต่กระสุนกลับพลาดเป้า อเล็กซานเดอร์ทรงวิ่งหนีต่อไปในรูปแบบซิกแซก ทำให้กระสุนของโซลอฟโยฟที่ยิงมาอีก 4 นัดพลาดเป้าทั้งหมด เขาถูกจับกุมและได้รับโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา

ถึงแม้อเล็กซานเดอร์ที่ 2 จะทรงรอดชีวิตมาได้ แต่พระองค์ทรงไม่อาจเสด็จออกจากวังเป็นการส่วนพระองค์ได้อีกต่อไปแล้ว ความสุขของพระองค์เริ่มลดน้อยลงไปทุกที ทำให้สุขภาพจิตของพระองค์ย่ำแย่อย่างรวดเร็ว

ครั้งที่สี่

ครั้งที่หนึ่งถึงสามเป็นการลอบสังหารที่มีผู้วางแผนและลงมือแต่เพียงผู้เดียว แต่ในครั้งต่อๆ ไปนั้นจะแตกต่าง เพราะพวกนักปฏิวัติได้รวมตัวกันเป็นหมู่คณะและคิดแผนอันแยบยลอย่างมากเพื่อปลิดพระชนม์ชีพของอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ให้จงได้

ครั้งที่สี่นี้เป็นการวางแผนของกลุ่มนักปฏิวัติสังคมนิยม หรือ กลุ่ม Narodnaya Volya หนึ่งในผู้นำของกลุ่มนี้เป็นผู้หญิงชื่อ Vera Figner

แต่ทว่าการจะเข้าใกล้ตัวพระองค์ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป การลอบสังหารที่ผ่านมาทั้งสามครั้งทำให้การรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขึ้นมากหลายเท่า ตารางเสด็จไปยังที่ต่างๆ ถูกเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด ส่วนพวกตำรวจลับก็เร่งจับกุมพวกที่ต่อต้านส่งเข้าคุกอย่างไม่ลดละ

ปลายปี ค.ศ.1879 อเล็กซานเดอร์ที่ 2 เสด็จไปยังไครเมียเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ กลุ่มนักปฏิวัติได้ลักลอบสืบเสาะจนได้เส้นทางกลับไปยังเมืองหลวงของพระองค์จนได้ ทุกคนจึงเห็นว่าสบโอกาสที่จะลงมือ Figner เองก็เตรียมระเบิดไดนาไมต์มาแล้วเรียบร้อย

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (คนนั่งซ้าย) และซารินามาเรีย ฟยอดอรอฟนา ส่วนชายที่ยืนกลางคือพระโอรสต่อมาเป็นซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน กลุ่มนักปฏิวัติ People’s Will ได้ลอบวางระเบิดรถไฟพระที่นั่ง แผนการถูกเตรียมไว้โดยไม่มีที่ติ และความผิดพลาดกลับเกิดขึ้น เพราะมีคนในกลุ่มได้เชื่อมวงจรผิดพลาด ทำให้รถไฟผ่านไปโดยไม่มีเหตุใดๆ

หากแต่ว่าพวกเขายังมีไดนาไมต์อยู่ พวกเขาจึงตัดสินใจจะลงมืออีกครั้งหนึ่งใกล้กับมอสโกแ แต่พวกเขาก็พลาดอีก พวกนักปฏิวัติระเบิดรถไฟผิดขบวน ทำให้ไม่มีใครตายเลยสักคนเดียว นอกจากผลไม้จากไครเมียที่กลายเป็นผุยผง

ถึงกระนั้นซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ก็ทรงพระวรกายสั่นเมื่อพระองค์ได้ทราบเรื่อง เพราะพวกนักปฏิวัติระเบิดรถคันที่ 4 ซึ่งเป็นรถที่พระองค์ประทับโดยทั่วไป ถ้าพวกเขาระเบิดถูกคัน พระองค์คงสวรรคตเป็นแน่แท้

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงเศร้าพระทัยอย่างมาก พระองค์กันแสงและตรัสขึ้นมาว่า

พวกมันต้องการอะไรจากฉัน ฉันเป็นสัตว์ป่าที่ต้องถูกตามล่ามากขนาดนี้เลยงั้นหรือ!

อเล็กซานเดอร์ที่ 2

ครั้งที่ห้า

ในต้นปี ค.ศ.1880 กลุ่มนักปฏิวัติกลุ่มเดิมเห็นว่าการลอบสังหารพระองค์ระหว่างที่เสด็จออกมาภายนอกไม่น่าจะเป็นผลสำเร็จ พวกเขาปรารถนาสิ่งที่แตกต่าง นั่นก็คือจะตามไปราวีพระองค์ถึงในพระราชวังเลย

พระราชวังที่ว่าคือ พระราชวังฤดูหนาว

พระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace)

นักปฏิวัติคนหนึ่งชื่อ คัลทูริน (Khalturin) ได้รับคำสั่งให้เข้าไปสมัครงานล่วงหน้าตั้งแต่การลงมือครั้งที่ 4 จะเกิดขึ้นแล้ว คัลทูรินใช้ชื่อปลอมว่า บาทูชคอฟ (Batyshkov) และเข้าไปทำงานในพระราชวังฤดูหนาวในฐานะช่างไม้

คัลทูรินเป็นคนยิ้มง่าย ทำให้เขาสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพวกสาวๆ เขาพำนักอาศัยอยู่ที่ชั้นล่างของพระราชวัง ส่วนพวกสมาชิกพระราชวงศ์อาศัยอยู่ที่ชั้น 2

การที่เป็นช่างไม้ทำให้คัลทูรินทราบถึงแบบแปลนของพระราชวังอย่างถี่ถ้วน หน้าที่ของเขาคือซ่อมแซมห้องต่างๆ ที่เริ่มทรุดโทรมให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิม

Radzinsky ได้เล่าในหนังสือของเขาว่า คัลทูรินเล่นละครเก่งมาก เขาทำตัวเป็นคนโก๊ะๆ เงิ่นๆ ทำให้ยิ่งไม่มีใครสงสัยเลยว่าเขาคือใคร

นอกจากนี้การที่คัลทูรินเป็นคนงานในวัง ทำให้เขาเข้าประตูหลังได้ ซึ่งเป็นประตูที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบสัมภาระ ทำให้หนทางสะดวกมากขึ้นไปอีก

มีอยู่วันหนึ่ง โอกาสก็มาถึง คัลทูรินได้รับคำสั่งให้เข้าไปในห้องทำงานส่วนพระองค์ของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 เพื่อซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ ระหว่างนั้นมีจังหวะที่คัลทูรินยืนอยู่ด้านหลังพระองค์ ตัวเขาเองก็มีค้อนอยู่ด้วย ถ้าเอาค้อนฟาดลงไปที่พระเศียร ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 น่าจะสวรรคต

แต่เรื่องกลับเป็นว่า คัลทูรินไม่กล้าทำเพราะไม่ทราบสาเหตุ บ้างว่าเขาไม่พร้อม นั่นทำให้เขาถูกดุด่ามากมายโดยพวกนักปฏิวัติด้วยกัน

ต่อมาคัลทูรินพบว่าห้องที่ตนเองอาศัยอยู่กับพวกช่างไม้อยู่ใต้ห้องที่สมาชิกราชวงศ์เสวยพระกระยาหารพอดิบพอดี ดังนั้นถ้าเขาวางไดนาไมต์ไว้ที่เพดานของห้อง ห้องเสวยจะถล่มลงมาเพราะแรงระเบิด ทำให้ทุกพระองค์สิ้นชีวิต

แต่ไดนาไมต์ที่ต้องใช้มีปริมาณมาก คัลทูรินจำต้องขนไดนาไมต์ผ่านประตูหลังในตอนเช้าอยู่เป็นเวลานาน แล้วนำมันเก็บไว้ใต้ที่นอนของตน แต่ต่อมาเขาซื้อถังขนาดใหญ่มาเก็บมัน โดยอ้างกับเพื่อนร่วมงานว่า ในถังนี้เขาเก็บสินสอดที่จะนำไปแต่งงาน

โชคดูเหมือนว่าจะไม่เข้าข้างคนผิด ตำรวจสามารถจับโรงไดนาไมต์ของพวกนักปฏิวัติได้ และพบว่าพวกนักปฏิวัติมีแผนที่พระราชวังฤดูหนาวที่ขีดด้วยสัญลักษณ์ X อยู่ด้วย

พวกตำรวจจึงควรจะไปตรวจสอบพระราชวังอย่างถ้วนถี่ และสอบสวนพนักงานทุกคนในวัง

แต่เพราะความสะเพร่าหรืออย่างไรไม่ทราบ ทำให้ไม่มีใครทำเช่นนั้นเลย การค้นหาถูกทำอย่างหยาบๆ เมื่อไม่มีอะไรก็คือจบ

หลังจากนั้นคัลทูรินก็ยังคงได้รับไดนาไมต์อยู่ต่อไป เขาลักลอบนำไดนาไมต์เข้ามาได้ 280 ปอนด์แล้ว แต่พวกผู้เชี่ยวชาญของนักปฏิวัติยังยืนกรานว่า เขาต้องนำเข้าไป 320-360 ปอนด์ มิฉะนั้นก็ล้มเลิกภารกิจเสียเลยดีกว่า

สิ่งนั้นสร้างความยากลำบากแก่คัลทูริน เพราะการตรวจสอบในวังเข้มงวดขึ้น การที่เขาเก็บไดนาไมต์ในวังได้ 280 ปอนด์ก็เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อแล้ว เขาจึงขอให้ลงมือเสียที ที่ประชุมนักปฏิวัติจึงอนุญาตให้ลงมือได้

คัลทูรินวางแผนว่าจะลงมือในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1880 ในวันที่สมาชิกทุกคนมาพร้อมหน้าเพื่อรับประทานอาหาร

ในวันที่ลงมือ คัลทูรินแสร้งทำเป็นเชิญเพื่อนร่วมห้องของเขาไปรับประทานอาหารเพื่อฉลองที่คัลทูรินกำลังแต่งงาน แต่จริงๆ คือคัลทูรินไม่ต้องการให้แรงระเบิดสังหารเพื่อนของเขา นอกจากนี้ถ้าคนยิ่งน้อย เขาจะจุดระเบิดไดนาไมต์พวกนั้นได้อย่างง่ายๆ

ห้าโมงกว่าๆ คัลทูรินพาพวกเขาไปที่ร้านอาหาร แล้วหาข้ออ้างว่าจะไปรับคู่หมั้นเพื่อปลีกตัวออกมา เขาเร่งเดินทางกลับไปยังพระราชวังฤดูหนาวทันทีเพื่อให้ทันเวลาหกโมงเย็น

ทุกอย่างเป็นไปตามแผน คัลทูรินจุดระเบิดขึ้นหลังหกโมงเย็นเล็กน้อย ระเบิดทำลายห้องเสวยพระกระยาหารจนแทบจะพังลงมา

หากแต่ว่าฟ้าไม่เข้าข้างคนผิด ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 และครอบครัวรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด เพราะพระญาติคนหนึ่งเดินทางมาสายเพราะหิมะตกหนัก กำหนดการทุกอย่างเลยล่าช้าไปทั้งหมด สุดท้ายจึงไม่มีใครอยู่ในห้องนั้น แต่โชคร้ายที่ข้าราชบริพารตายไป 11 คน

Vera Figner หัวหน้าของกลุ่มนักปฏิวัติผู้วางแผนลอบสังหารอเล็กซานเดอร์ที่ 2 เธอเป็นแมวเก้าชีวิตที่รอดแม้กระทั่ง Great Purge ในยุคสตาลิน เธอเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 89 ปี

ครั้งสุดท้าย

มีเรื่องเล่าว่าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 เคยได้รับคำทำนายจากหมอดูยิปซีคนหนึ่งว่า พระองค์จะรอดชีวิตจากการปลงพระชนม์อย่างไม่น่าเชื่อถึง 5 ครั้ง

ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านไปหมดแล้ว

นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระองค์ทรงสิ้นหวัง อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงต้องใช้ชีวิตราวกับว่าอยู่ในคุกเพราะพระองค์ทรงไม่มีอิสรภาพดังเช่นแต่ก่อน ในครั้งสุดท้าย พระองค์จึงทรงจงใจให้เหล่านักปฏิวัติทำการจนสำเร็จ

ดังที่เกิดขึ้นในครั้งที่ 6 หรือ วันที่ 1 มีนาคม 1881

ริมคลองแคทเทอรีนในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ประทับอยู่ในรถม้า พระองค์เพิ่งจะเสด็จออกจากพระราชวังมิไคลอฟสกี้เพื่อมุ่งหน้าไปยังพระราชวังฤดูหนาว

แต่ทว่าพวกนักปฏิวัติกลุ่ม Narodnaya Volya ได้รออยู่แล้ว หนึ่งในพวกเขาปาระเบิดเข้าใส่รถม้าของพระองค์

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ยังไม่ทรงได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด พระองค์เสด็จออกมาจากรถกันกระสุนอย่างดีเพื่อดูอาการของทหารองครักษ์ที่ได้รับบาดเจ็บ

เหล่าทหารที่อยู่รอบพระองค์ต่างทูลให้เสด็จออกจากสถานที่นั้นโดยไว แต่ซาร์กลับไม่ทรงรีบร้อน พระองค์ใช้เวลาชั่วครู่เดินอยู่ริมคลองราวกับว่าพระองค์ทรงรออะไรสักอย่างหนึ่งอยู่

ระหว่างพระองค์ตรัสขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า

ขอบคุณพระเจ้าที่ฉันไม่เป็นอะไร

ทันใดนั้นมีเสียงชายผู้หนึ่งพูดขึ้นว่า

มันเร็วเกินไปที่จะขอบคุณพระเจ้า!

หลังจากนั้นเขาก็ปาระเบิดมายังพระบาทของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทันที ระเบิดฉีกพระวรกายท่อนล่างของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทันที พระโลหิตหลั่งไหลริน แต่พระองค์ก็ยังไม่สวรรคต พวกทหารปรารถนาจะนำพระองค์ไปยังโรงพยาบาล แต่พระองค์กลับตรัสว่าพระองค์ต้องการจะเสด็จไปยังพระราชวังฤดูหนาว

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแรงระเบิด

เป็นเรื่องแปลกอีกเช่นเดียวกัน เพราะสุดท้ายแล้วมีการวินิจฉัยมาว่า พระองค์สวรรคตเพราะเสียเลือดมากเกินไป ถ้าเสด็จไปโรงพยาบาล พระองค์น่าจะทรงรอดชีวิต

นั่นยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า พระองค์ทรงตั้งพระทัยว่าจะตายในวันนั้นรึเปล่า?

ไม่มีใครทราบว่าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ดำริเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะพระองค์กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ชีวิตส่วนพระองค์เอง พระองค์ก็กำลังมีความสุขกับเจ้าหญิงยูรีฟสกายา พระชายาคนที่สอง

ผลที่ตามมา

การสวรรคตของพระองค์ทำให้การเมืองรัสเซียถอยหลังไปนานหลายสิบปี ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระโอรสทรงให้กำปั้นเหล็กจัดการพวกนักปฏิวัติอย่างเหี้ยมโหด และปกครองประเทศในรูปแบบเบ็ดเสร็จ โดยล้มเลิกการปฏิรูปในสมัยของอเล็กซานเดอร์ที่ 2 เกือบทั้งหมด

เมื่อปราศจากการปฏิรูป ความไม่เท่าเทียมในรัสเซียจึงพุ่งสูงเสียดฟ้า การปฏิวัติกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

Church of Blood หรือโบสถ์หยดเลือด

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ได้สร้างโบสถ์หยดเลือดขึ้นเพื่อระลึกถึงการจากไปของพระบิดา โดยสร้างขึ้นในจุดที่พระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กและรัสเซีย

Sources:

  • Edvard Radzinsky, “Alexander II”
  • John Curtis Perry, “The Flight of the Romanovs”

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!