ประวัติศาสตร์หวางหมั่ง กบฏล้มราชวงศ์ นักสังคมนิยมคนแรกของโลก? (1)

หวางหมั่ง กบฏล้มราชวงศ์ นักสังคมนิยมคนแรกของโลก? (1)

หวางหมั่ง (Wang Mang, 王莽) นี่ถ้าผมพูดไปคงมีน้อยคนที่จะรู้จัก แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น อองมัง นี่หลายคนที่เคยอ่านสามก๊กมาคงจะร้องอ๋อกันเป็นแถว ในเรื่องสามก๊ก อองมังอยู่คู่กับตั๋งโต๊ะในเรื่องของการเป็นขุนนางที่เป็นกบฏ มักใหญ่ใฝ่สูงและกดขี่ข่มเหงฮ่องเต้

ตั๋งโต๊ะหรือต่งจัวล้มเหลวในขั้นสุดท้าย ทำให้ตนเองกลายเป็นขุนนางหัวขาด แต่หวางหมั่งได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้จริงๆ ตั้งราชวงศ์ใหม่ และปกครองในฐานะจักรพรรดิอยู่ถึง 14 ปี แต่สุดท้ายก็จบชีวิตลงเหมือนกัน

ชีวิตของหวางหมั่งเป็นอย่างไรกันแน่ เรามาดูกันครับ

หวางหมั่ง

ตระกูลชนชั้นสูง

หวางหมั่งเกิดในปี 45 BC (45 ปีก่อนคริสตกาล) ในรัชกาลของฮั่นหยวนตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น (ฮ่องเต้ที่ส่งหวางเจาจวินให้กับซงหนูแหละครับ) ตระกูลของหวางหมั่งเป็นตระกูลชนชั้นสูงมาหลายร้อยปี เพราะเป็นเชื้อสายของเจ้าผู้ครองแคว้นฉีในสมัยยุคชุนชิวจ้านกว๋อ

แต่ที่สำคัญคือ ป้าแท้ๆ หวางหมั่งคือหวงโฮ่ว (ฮองเฮา) ของฮั่นหยวนตี้ ดังนั้นแน่นอนว่าตระกูลของหวางหมั่งจึงยิ่งสูงศักดิ์ขึ้นไปอีก

ถึงกระนั้นหวางหมั่งกลับเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์แถมยังขยันหมั่นเพียรรักในการศึกษา เขายังมีความกตัญญู เขาดูแลหวางเฟิง ลุงของเขาเป็นอย่างดีตอนที่กำลังป่วยหนัก ทำให้ก่อนจะเสียชีวิต หวางเฟิงได้ฝากฝังให้หวางหวงโฮ่ว ดูแลหวางหมั่งให้ดีและให้สนับสนุนเขาให้ได้ดิบได้ดีทางราชการ

หวางหมั่งจึงได้รับตำแหน่งเป็นขุนนางจากการช่วยเหลือของหวางหวงโฮ่ว ต่อมาเขาก็ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในราชสำนักที่เมืองฉางอาน โดยเฉพาะหลังจากที่ฮั่นหยวนตี้สวรรคต และหวางหวงโฮ่วได้เป็นไท่โฮ่ว (ไทเฮา)

หวางหมั่งเป็นคนฉลาด เขาไม่โอ้อวดให้คนอื่นเกลียดชังขี้หน้า แต่ใช้เงินจำนวนมากในการซื้อตัวผู้มีความสามารถเข้ามาเป็นพรรคพวก และให้การสนับสนุนบัณฑิตและปัญญาชนมากมาย ชื่อเสียงของหวางหมั่งจึงเป็นไปในแง่บวกอย่างมาก

ขึ้นสู่อำนาจสูงสุด

แท้จริงแล้ว หวางหมั่งเป็นคนทะเยอทะยาน ถึงแม้เขาจะทำเป็นถ่อมตัวก็ตาม หวางหมั่งต้องการจะควบคุมอำนาจทหาร เขาจึงเปิดโปงคู่แข่งในการแย่งชิงตำแหน่งดังกล่าวว่ารับเงินสินบนและคอรัปชั่น ทำให้ฮั่นเฉิงตี้ (มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของหวางหมั่ง) สั่งให้ประหารชีวิตเขา และแต่งตั้งหวางหมั่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ต้าซือหม่า)

หวางหมั่งยังคง Keep Look ตัวเองต่อไปด้วยการตีตนว่าอ่อนน้อม ผู้คนจึงยิ่งมองเขาในแง่บวกขึ้นไปอีก อิทธิพลของเขาในราชสำนักฮั่นเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อฮั่นเฉิงตี้สวรรคตอย่างกะทันหัน ทำให้ป้าของเขาได้เป็นไทหวงไท่โฮ่ว (ย่าของฮ่องเต้)

แต่ทว่าหวางหมั่งต้องต่อสู้ทางการเมืองกับเจ้าหญิงฝูแห่งติ้งเถา มารดาของฮั่นไอตี้ ฮ่องเต้พระองค์ใหม่ ทำให้หวางหมั่งตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้าน

ระหว่างที่อยู่ที่บ้าน หวางหมั่งพยายามปฏิบัติตนให้เป็นคนดีของประชาชน เมื่อหวางฮั่ว บุตรชายของเขาสังหารคนรับใช้คนหนึ่ง เขาสั่งให้หวางฮั่วฆ่าตัวตายตามไปทันที เหล่าประชาชนจึงยิ่งเห็นว่าหวางหมั่งเป็นคนดี พวกเขาจึงร่วมตัวก่อนถวายฏีกาให้หวางหมั่งกลับมายังเมืองหลวง ฮั่นไอตี้ทรงเห็นชอบด้วย พระองค์โปรดให้หวางหมั่งกลับมาเป็นที่ปรึกษาของไทฮวงไท่โฮ่ว ป้าคนเดิมของหวางหมั่ง

นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่าฮั่นไอตี้ทรงมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ พระองค์ทรงมีคนสนิทที่เชื่อกันว่าเป็นคู่รักชื่อ ต่งเสียน พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้ต่งเสียนมีอำนาจมากในราชสำนัก ในปี 1 BC ฮั่นไอตี้สวรรคตอย่างกะทันหัน แต่ก่อนที่พระองค์จะสวรรคต พระองค์ตรัสว่าพระองค์ต้องการให้ต่งเสียนเป็นฮ่องเต้สืบต่อจากพระองค์ เหล่าขุนนางทั้งหลายต่างตกใจยิ่งนัก

ฮั่นไอตี้และต่งเสียน

หวางไทฮวงไท่โฮ่วเห็นว่าเรื่องจะไปกันใหญ่แล้ว พระนางจึงฉวยโอกาสลงมือก่อนด้วยการบุกเข้าชิงตราหยกแผ่นดินและจับกุมต่งเสียนไว้ได้ก่อน พระนางจับต่งเสียนไว้ได้และบีบบังคับให้เขาฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นก็มอบตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดและอัครมหาเสนาบดีให้กับหวางหมั่ง

เจตนาของพระนางคือ พระนางต้องการให้อำนาจอยู่กับตระกูลหวาง แต่คงไม่คิดว่าอยู่ในอำนาจของตระกูลตนเองก็ไม่ใช่เรื่องดี

ฮ่องเต้พระองค์ใหม่ทรงพระนามว่า ฮั่นผิงตี้ ผู้ที่ในเวลานั้นมีอายุเพียง 8 ขวบเท่านั้น ฮ่องเต้เด็กจึงไม่อาจว่าราชการได้ อำนาจทั้งหมดจึงไปอยู่ในมือของหวางหมั่ง ผู้ที่ควบคุมกองทัพอยู่ในมือ และไท่ฮวงไท่โฮ่ว

ไม้อ่อนสลับไม้แข็ง

มาถึงขั้นนี้เราสามารถเห็นได้ว่า หวางหมั่งใช้ไม้อ่อนมาโดยตลอดในการขึ้นสู่อำนาจ แต่ลึกๆแล้วเขาหวังไว้มากกว่านี้ ดังนั้นเขาจำต้องใช้ไม้อ่อนสลับกับไม้แข็ง

หวางหมั่งเป็นคนหลงใหลแนวคิดเดิมๆ และประวัติศาสตร์ในช่วงยุคราชวงศ์โจวตะวันตก เขาจึงคิดจะฟื้นฟูระบบดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หวางจึงมีคำสั่งให้ตั้งตำแหน่งชั้นยศของชนชั้นสูงในสมัยโจวขึ้นมาใหม่ และตั้งแต่ตนเองขึ้นเป็น “กง” หรือ ตำแหน่งชั้นยศขั้นสูงสุด และประกาศมอบตำแหน่งเหล่านี้ให้กับชนชั้นสูงทั้งหมด

สำหรับชนชั้นล่างและประชาชนทั่วไป หวางหมั่งได้จัดให้มีระบบบำนาญแก่ข้าราชการเกษียณอายุ และลดภาษีของประชาชนลงอย่างมาก เพื่อให้เหล่าประชาชนสนับสนุนตน

นโยบายของหวางหมั่งประสบความสำเร็จมาก กระแสยกย่องหวางหมั่งเกิดทั่วอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ไทหวงไท่โฮ่วที่อายุมากแล้วถึง 69 ปี จึงไม่ทรงระแวงสงสัยในตัวของหวางหมั่ง พระนางทรงมอบอำนาจทั้งหมดให้กับเขา และปลีกตัวไปอาศัยอยู่อย่างเงียบๆ ทำให้อำนาจทั้งหมดในราชสำนักอยู่ในมือหวางหมั่ง

ในปี ค.ศ.2 หวางหมั่งปรารถนาที่จะมอบบุตรสาวของตนให้เป็นหวงโฮ่วของฮ่องเต้ แต่ก็เกรงคำครหา ในเบี้องหน้าเขาแสร้งบอกกับไทหวงไท่โฮ่วว่าขอพระนางอย่าได้พิจารณาบุตรสาวของเขาเลย แต่ในเบี้องหลัง เขาสั่งให้คนไปเป็นหน้าม้ารณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันเขียนฎีกาให้บุตรสาวของตนได้เป็นหวงโฮ่ว

ไทหวงไท่โฮ่วทรงไม่ทราบความนัย พระนางเห็นว่าประชาชนต้องการให้ลูกสาวหวางหมั่งเป็นหวงโฮ่ว พระนางจึงไม่ขัดขวาง แต่อีกนัยหนึ่งพระนางอาจจะคิดว่าให้สายตระกูลของตนเองเป็นหวงโฮ่ว อำนาจจะได้คงอยู่กับตระกูลหวางต่อไป

ทั้งหมดเป็นไม้อ่อนที่หวางหมั่งนำมาใช้และประสบความสำเร็จมาก แต่พวกศัตรูทางการเมืองหัวแข็งยังคงอยู่ เขาจึงต้องใช้ไม้แข็งในการจัดการพวกเขาเหล่านี้

หวางหมั่งเริ่มกวาดล้างเชื้อพระวงศ์สายของฮั่นไอตี้ โดยเฉพาะสายตระกูลของเจ้าหญิงฝูแห่งติ้งเถา ผู้ที่เขาเคยขัดแย้งด้วยมาแล้ว ในขณะนั้นเจ้าหญิงฝูแห่งติ้งเถาสิ้นพระชนม์แล้ว เขาจึงให้คนบุกเข้าไปทำลายศพและนำทรัพย์สินออกมา หลังจากนั้นก็ให้ขุดศพไปฝังที่อื่น

หลังจากนั้นผู้ใดที่ไม่ยอมสยบให้หวางหมั่ง เขาก็ลดตำแหน่งลงเป็นสามัญชนและเนรเทศออกไปจากเมืองหลวงเสียหมด ทำให้เขามีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

ถ้าหวางหมั่งไม่คิดจะชิงบัลลังก์ การขึ้นสู่สถานะดังกล่าวถือว่าสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว แต่หวางหมั่งไม่ได้คิดเพียงเท่านั้น เขาอยากจะนั่งบัลลังก์ ดังนั้นเขาจึงดำเนินการต่อไป

ศัตรูที่ไม่คาดคิด

หวางหมั่งเริ่มใช้การโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเองเป็นโจวกง (จีตั้น) ขุนนางคนสำคัญในสมัยราชวงศ์โจวกลับชาติมาเกิดใหม่เพื่อเสริมสร้างบารมีของตน เขารู้ดีว่าประชาชนรักใคร่ตนมาก เขาจึงส่งคนออกไปโฆษณาแนวคิดนี้ยังที่ต่างๆ มากมาย

หวางหยี่ว์ บุตรชายของเขารู้สึกเกลียดชังการโฆษณาชวนเชื่อของบิดาตนเองยิ่งนัก และไม่ชอบที่หวางหมั่งบริหารราชสำนักแบบเผด็จการ เขายังเกรงว่าในอนาคตถ้าฮ่องเต้ทรงมีพระชนม์มากขึ้นแล้ว ตระกูลหวางจะเป็นอันตราย ดังนั้นเขาจึงหาหนทางที่จะทำลายอิทธิพลของบิดาตนเอง

หวางหยี่ว์จึงได้คบคิดกับอู๋จาง อาจารย์ของเขาและที่ปรึกษาของหวางหมั่ง ลี่ว์ควน น้องเขยของเขา และเหล่าตระกูลเว่ย พระญาติของฮั่นผิงตี้ พวกเขาวางแผนว่าจะแสร้งสร้างเหตุการณ์ประหลาดขึ้นทำให้หวางหมั่งกังวล หลังจากนั้นอู๋จางจะเข้าไปพูดกับหวางหมั่งเพื่อให้เขาสละอำนาจลง (บางส่วน)

ลี่ว์ควนนำขวดเลือดที่ปาเข้าใส่ประตูที่หน้าวังของหวางหมั่ง แต่เขากลับถูกจับได้ หวางหมั่งจึงให้สอบสวนและพบกับตัวการ ทหารของเขาจึงตรงเข้าไปจับหยางหยี่ว์ และเหล่าตระกูลเว่ยทั้งหมด หยางหยี่ว์ชิงฆ่าตัวตายก่อนที่จะโดนลงอาญา ส่วนพวกตระกูลเว่ยโดยหวางหมั่งจับประหารชีวิตทั้งครอบครัว ยกเว้นแต่เพียงเว่ยไท่โฮ่ว มารดาของฮ่องเต้เท่านั้น

หวางหมั่งจึงถือโอกาสนั้นกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือ ผู้ที่มีแนวโน้มจะต่อต้านเขาไปจากราชสำนักจนหมดสิ้น ในปี ค.ศ.5 หวางหมั่งได้บีบให้ฮ่องเต้พระราชทานเครื่องยศเก้าสิ่งให้กับตน เครื่องยศเก้าสิ่งนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของกาเตรียมการแย่งราชสมบัติในเวลาต่อมา (โดยเฉพาะในยุคสามก๊ก เช่น โจโฉ และสุมาเอี๋ยน)

ปลงพระชนม์ฮ่องเต้

เมื่อเวลาผ่านไป หวางหมั่งเห็นว่าฮั่นผิงตี้เริ่มเจริญวัยขึ้น และเริ่มแสดงท่าทีเกลียดชังตนที่สังหารตระกูลเว่ยอันเป็นพระญาติอย่างโหดเหี้ยม หลังจากที่ฮั่นผิงตี้มอบเครื่องยศเก้าสิ่งให้กับตนแล้ว หวางหมั่งจึงต้องการจะปลงพระชนม์พระองค์

ในฤดูหนาวของปี ค.ศ.5 หวางหมั่งได้เตรียมสุรายาพิษเอาไว้พร้อม เขาได้นำมันไปถวายฮั่นผิงตี้ เหตุการณ์ช่วงนี้ไม่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น บ้างว่าฮั่นผิงตี้ทรงปฏิเสธที่จะเสวยสุราดังกล่าว หวางหมั่งจึงพุ่งตรงไปที่พระองค์ และจับจอกสุรากรอกพระโอษฐ์ของฮ่องเต้

หลังจากนั้นฮั่นผิงตี้ทรงทุกข์ทรมานอยู่หลายวันกว่าจะสวรรคต (บ้างว่าอาเจียนโลหิตสวรรคตทันที) ฮั่นผิงตี้ทรงมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น

หวางหมั่งสั่งให้ทหารของตนไปนำตราหยกแผ่นดินจากเว่ยไท่โฮ่ว (มารดาของฮั่นผิงตี้) แต่เว่ยไท่โฮ่วทรงไม่มอบให้ ทหารของหวางหมั่งจึงไล่ฟันพระนางไปจนถึงบ่อน้ำ เมื่อเห็นว่าพระนางคงจะไม่รอดแล้ว พระนางจึงเขวี้ยงตราหยกเข้าใส่หินก่อนหนึ่ง ทำให้ตราหยกแตกสลายไปบางส่วน หลังจากนั้นพระนางจึงกระโดดลงไปในบ่อน้ำ พระนางสิ้นพระชนม์ทันที

ฝ่ายหวางหมั่งเห็นตราหยกแตกก็โกรธ หวางหมั่งจึงให้คนไล่สังหารตระกูลหลิว หรือ เชื้อพระวงศ์ฮั่นทั้งทั่วอาณาจักร เหล่าเชื้อพระวงศ์ถูกสังหารไปหลายร้อยคน แต่ทว่ามีเด็กชายผู้หนึ่งรอดชีวิตมาได้ เขาผู้นั้นคือ หลิวซิ่ว นั่นเอง

หลิวซิ่วผู้นี้จะมานำมาซึ่งความพินาศของหวางหมั่งในตอนต่อไป

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!