ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์ซาริซาอเล็กซานดราแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ผู้ที่ถูกโจมตีมากที่สุดในแผ่นดินรัสเซีย

ซาริซาอเล็กซานดราแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ผู้ที่ถูกโจมตีมากที่สุดในแผ่นดินรัสเซีย

ซาริซาอเล็กซานดรา ฟยอดอรอฟนา (Tsaritsa Alexandra Feodorovna, Александра Фёдоровна) เป็นจักรพรรดินี (ซาริซา) ของซาร์นิโคลัสที่ 2 ซาร์องค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย

ชีวิตของอเล็กซานดราเป็นชีวิตที่เรียกได้ว่า “ยากลำบาก” เธอเป็นบุคคลที่มีทั้งข้อดีและไม่ดี ตลอดประวัติศาสตร์รัสเซียคงไม่มีซาริซาคนใดที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงมากเช่นอเล็กซานดราอีกแล้ว

Tsaritsa Alexandra Fyodorovna (Alix of Hesse), seated

อลิซแห่งเฮส

ซาริซาอเล็กซานดราเกิดในปี ค.ศ.1872 เธอเป็นธิดาของแกรนด์ดยุคหลุยส์ที่ 4 ผู้ปกครองรัฐเฮส (Hesse) รัฐเล็กๆในดินแดนเยอรมนี กับเจ้าหญิงอลิซแห่งเกรทบริเตน พระธิดาของควีนวิกตอเรีย ดังนั้นเธอจึงเป็นหลานยายของควีนวิกตอเรีย

ชื่อเดิมของเธอคืออลิซ (Alix)

เจ้าหญิงอลิซ (ซาริซาอเล็กซานดรา)

ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แต่แล้วเรื่องก็เกิดขึ้นเมื่ออลิซอายุได้เพียง 6 ขวบ โรคคอตีบซึ่งเป็นโรคร้ายแรงในขณะนั้นระบาดในเฮส อลิซล้มป่วยลงด้วยโรคดังกล่าวเช่นเดียวกับสมาชิกครอบครัวที่เหลือทั้งหมด (ยกเว้นเอลิซาเบธ พี่สาวของเธอที่ไปอยู่อังกฤษ) อลิซรอดชีวิตจากโรคดังกล่าวมาได้ แต่เธอกลับต้องเสียแม่และมารี น้องสาวคนสนิทของเธอไปกับโรคนั้น

ควีนวิกตอเรียรู้สึกสงสารอลิซและพี่น้องมากที่ต้องเสียแม่ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เธอมักเรียกหาอลิซไปอาศัยที่อังกฤษบ่อยครั้ง อลิซจึงเติบโตขึ้นมากับวัฒนธรรมอังกฤษแบบวิกตอเรียน อลิซกลายเป็นสตรีอังกฤษแทบทุกกระเบียดนิ้ว เธอเป็นหนึ่งในหลานที่ควีนวิกตอเรียรักมากที่สุด

เมื่อเธอก้าวเข้าสู่วัยรุ่น อลิซก็สวยขึ้นทุกวัน ทำให้เธอเป็นที่หมายปองของเจ้าชายในยุโรปหลายคน ควีนวิกตอเรียหมายใจว่าจะให้เธอเป็นควีนหรือราชินีแห่งอังกฤษในอนาคต (ผ่านการแต่งงานกับเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์แห่งอังกฤษ) แต่อลิซกลับปฏิเสธเพราะว่าเธอไม่ชอบเขา

หมายเหตุ: ถ้าอลิซแต่งกับเจ้าชายอัลเบิร์ต เธอก็ไม่ได้เป็นราชินีแห่งอังกฤษอยู่ดี เพราะเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์จากไปก่อนบิดาของเขา

ในปี ค.ศ.1884 อลิซก็ได้พบกับรักแรก รักแท้ และรักเดียวในชีวิตของเธอ นั่นก็คือ เซซาร์เรวิชนิโคลัสแห่งจักรวรรดิรัสเซียนั่นเอง

ความรัก

อลิซได้ไปงานแต่งงานของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พี่สาวของเธอ และแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ อาของนิโคลัส เธอได้พบกับนิโคลัสในงานดังกล่าว นิโคลัสในวัย 16 ปี ตกหลุมรักอลิซในวัย 12 ปีทันที วันต่อมาเขานำตุ้มหูมามอบให้กับเธอ อลิซรับไว้แต่ทันใดนั้นเธอกลับรู้สึกเขินอาย ทำให้เธอนำมันยัดใส่มือเขากลับไปทันทีด้วยความขวยเขิน นิโคลัสรู้สึกผิดหวังไม่น้อย แต่เขาก็ยังเก็บอลิซไว้ในใจตลอดมา

หลังจากนั้นเป็นเวลาถึงห้าปี อลิซแทบไม่ได้พบกับนิโคลัสเลย ช่วงเวลานั้นนิโคลัสได้คบหาดูใจกับเชชินสกายา นักบัลเลต์แห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก จนกระทั่งในปี ค.ศ.1889 เธอถึงได้พบกับนิโคลัสอีกครั้งหนึ่ง เพราะเธอมาเยี่ยมเยือนเอลิซาเบธ พี่สาวของเธอในเมืองหลวงของรัสเซีย

ขณะนั้นนิโคลัสในวัย 21 ปี ได้เหินห่างจากเชชินสกายาไปแล้ว เมื่อได้พบกับอลิซในวัย 17 ปี เขาจึงเริ่มสานสัมพันธ์กับเธอทันที ด้วยความที่อยู่ด้วยกันนานพอสมควร ทำให้อลิซเองก็ตกหลุมรักนิโคลัสเช่นเดียวกัน

นิโคลัสเคยเขียนลงในไดอารี่ว่าความฝันของเขาคือ การได้แต่งงานกับอลิซ แต่การแต่งงานกับอลิซไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อย่างแรกอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซาริซามาเรียต่างไม่ชอบเยอรมนีทั้งคู่ ดังนั้นทั้งสองไม่ต้องการได้สะใภ้ชาวเยอรมัน ทั้งสองพยายามหาเจ้าหญิงคนอื่นให้กับนิโคลัส แต่เขาก็ปฏิเสธไปทั้งหมด เพราะรักอลิซแต่เพียงผู้เดียว

อย่างที่สอง ศาสนาของทั้งสองต่างกัน และตามกฎแล้ว ถ้าอลิซแต่งงานกับนิโคลัส เธอจะต้องเปลี่ยนศาสนาจากลูเธอรันเป็นรัสเซียนออโธดอกซ์ ซึ่งคนเคร่งศาสนาอย่างอลิซคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

คนที่พยายามทำทุกอย่างให้เป็นจริงคือ นิโคลัส ถึงแม้นิโคลัสจะเป็นคนหัวอ่อนไม่เคยต่อต้านบิดามารดาของเขาเลย แต่เรื่องอลิซแล้ว เขาต่อสู้อย่างเต็มที่ จนสุดท้ายในปี ค.ศ.1894 อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซาริซามาเรียก็ยอมยกธงขาว ให้นิโคลัสแต่งงานกับอลิซได้

นิโคลัสขอแต่งงานกับอลิซที่เฮส ระหว่างที่เขามาร่วมงานแต่งงานของพี่ชายของเธอ อลิซกลับปฏิเสธเขาไปเพราะเธอไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนา แต่นิโคลัสยังไม่ยอมแพ้ เขาขอให้แขกผู้ใหญ่ที่มางานอื่นๆ ช่วยเกลี้ยกล่อมอลิซ อาทิเช่นควีนวิกตอเรีย และไกเซอร์วิลเฮล์ม แห่งเยอรมนี เอลิซาเบธพี่สาวของเธอก็บอกเธอว่าศาสนาคริสต์ทั้งสองนิกายไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรนัก จนสุดท้ายแล้วอลิซก็ยอมจำนน เธอยอมรับคำขอแต่งงานของนิโคลัส

งานรวมญาติที่เฮส

หลังจากนั้นทั้งสองก็อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้นในฐานะคู่หมั้น นิโคลัสเองก็ได้เดินทางไปอังกฤษกับเธอเพื่อเยี่ยมเยียนควีนวิกตอเรีย ทั้งสองมีความสุขมาก

หากแต่ในเวลานั้นควีนวิกตอเรีย ยายของอลิซกลับรู้สึกกลัวขึ้นมาที่อลิซจะแต่งงานกับนิโคลัส แต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าตัวนิโคลัสเองที่ทำให้ควีนวิกตอเรียกลัว (เธอเองก็ชอบนิโคลัส)

ควีนวิกตอเรียกลัวว่าอลิซ หลานสาวสุดที่รักของเธอจะต้องไปอยู่ประเทศที่ไม่มั่นคงทางการเมืองอย่างรัสเซียแล้วจะเกิดอันตราย (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงในเวลาต่อมา) แต่ราชินีผู้ยิ่งใหญ่แห่งอังกฤษก็ไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกการแต่งงาน เธอแค่เขียนจดหมายอธิบายความรู้สึกของเธอแก่วิกตอเรีย พี่สาวคนโตของอลิซให้ทราบเอาไว้เท่านั้น

ภาพงานหมั้น อลิซ – นิโคลัส

แต่งงานหลังงานศพ

ความสุขของทั้งสองหยุดลงเมื่อ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ป่วยหนักอยู่ที่ไครเมีย นิโคลัสรีบส่งโทรเลขให้อลิซเดินทางมายังรัสเซียทันที

เมื่ออลิซมาถึง อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ก็ประชวรหนักจวนจะสวรรคตอยู่แล้ว แต่พระองค์ก็ยังแข็งใจใส่ชุดแบบเต็มยศมารับอลิซ

หลังจากนั้นไม่นาน อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ก็สวรรคต ราชบัลลังก์จึงตกอยู่กับนิโคลัส คู่หมั้นของเธอ

นั่นหมายความว่า เธอเพิ่งเข้ามารัสเซียไม่กี่วัน เธอจะต้องเป็นจักรพรรดินีหรือซาริซาของประเทศนี้ทันที โดยไม่มีโอกาสให้เธอปรับตัวใดๆ ทั้งสิ้น

นิโคลัส และซารินามาเรีย มารดาของเขาอยากจะให้จัดงานแต่งงานแบบเงียบๆ ขึ้นทันทีที่ไครเมีย เพื่อที่จะได้ดูเหมือนว่า อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เป็นพยานในการแต่งงานของทั้งสอง แต่พวกอาๆ ของนิโคลัสปฏิเสธ พวกเขายืนกรานว่านิโคลัสจะต้องจัดงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเท่านั้น

ดังนั้นนิโคลัสและเชื้อพระวงศ์โรมานอฟจึงนำพระศพของอเล็กซานเดอร์ที่ 3 กลับไปยังเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก อลิซก็อยู่ในขบวนดังกล่าวด้วย เมื่อขบวนมาถึงเมืองหลวงของรัสเซีย พวกฝูงชนที่อยู่ในพิธีส่งพระศพต่างซุบซิบนินทาอลิซกันยกใหญ่ บางคนหาว่าการมาของเธอเป็นลางร้ายเพราะว่าเธอมารัสเซียพร้อมกับโลงศพ

งานแต่งงานระหว่างนิโคลัสและอเล็กซานดรา

หนึ่งสัปดาห์หลังจากงานศพเสร็จสิ้น นิโคลัสและอลิซก็แต่งงานกันที่โบสถ์ในพระราชวังฤดูหนาว อลิซได้เปลี่ยนศาสนาเป็นรัสเซียนออโธดอกซ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “อเล็กซานดรา” หากแต่ว่าทั้งสองยังไม่ได้เป็นซาร์และซาริซาแห่งรัสเซียอย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่ได้ทำพิธีราชาภิเษกนั่นเอง

ถึงแม้เธอจะเปลี่ยนชื่อแล้ว แต่นิโคลัสและสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟก็เรียกเธอว่าอลิซตามเดิม

ซาริซาแห่งรัสเซีย

พิธีราชาภิเษกถูกจัดขี้นที่มอสโกในอีกเกือบสองปีต่อมา (ค.ศ.1896) นิโคลัสและอเล็กซานดราต้องไปทำพิธีที่มอสโก เมืองหลวงเก่าแก่ของรัสเซีย (ในเวลานั้นเมืองหลวงอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก)

พิธีดำเนินไปอย่างเรียบร้อยดีแทบทุกอย่าง แต่เรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น นั่นก็คือ โศกนาฏกรรมที่ทุ่ง Khodynka ที่ทำให้คนเหยียบกันตายนับพันคน

อเล็กซานดรารู้สึกเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง เมื่องานต่างๆ จบลงหมดแล้ว เธอร้องไห้อย่างไม่หยุดหย่อนที่งานที่ควรเป็นงานมงคลกลับกลายเป็นโศกนาฏกรรม แต่เธอไม่อาจจะหนีไปไหนได้อีกแล้ว เพราะเธอเป็นซาริซาของรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้ว

ขัดแย้งกับแม่สามี

จริงๆ ความขัดแย้งระหว่างอเล็กซานดรากับนิโคลัสเกิดขึ้นตั้งแต่แต่งงานใหม่ๆ แล้ว กล่าวคือไม่ค่อยถูกชะตากันตั้งแต่แรก และเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งสองก็ปรารถนาให้นิโคลัสอยู่กับตนเองให้มากที่สุด

หลังจากราชาภิเษก ความขัดแย้งนี้ก็เริ่มบานปลายกลายเป็นสงครามย่อมๆ ในหลายๆ เรื่อง อาทิเช่นเรื่องเครื่องเพชร ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว มันต้องตกเป็นของอเล็กซานดรา แต่อดีตซาริซามาเรีย มารดาของนิโคลัสยังไม่อยากมอบให้กับเธอเป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นว่าในพิธีต่างๆ ใครควรยืนอยู่หน้าใครอีก นานวันเข้ามาเรียกับอเล็กซานดราก็เข้าหน้ากันไม่ติด เหล่านางกำนัลต่างแบ่งออกเป็นสองก๊ก แล้วก็ซุบซิบนินทากันยกใหญ่

เข้ากับสังคมรัสเซียไม่ได้

อเล็กซานดราเป็นคนที่เป็นกุลสตรีวิกตอเรียนทุกกระเบียดนิ้ว แต่สภาพสังคมที่เธอมาเป็นซาริซาแตกต่างกับสิ่งที่เธอเห็นอย่างยิ่ง

ตัวอเล็กซานดราไม่ใช่คนที่เข้าสังคมเก่งอยู่แล้ว เธอเป็นคนขี้อายมากในระดับหนึ่ง ดังนั้นการจะปรับตัวให้เข้ากับสังคมรัสเซียจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอเลย

อเล็กซานดรา และนิโคลัส

ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่ง เธอไปงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง เธอพบเห็นสตรีชนชั้นสูงคนหนึ่งแต่งตัวเปิดเผยเนินอก อเล็กซานดรารู้สึกตกใจ จึงให้นางกำนัลของเธอไปเตือนสตรีผู้นั้นว่า

ที่เฮสเขาไม่ใส่ชุดแบบนี้กันนะ

สตรีผู้นั้นตอบกลับไปว่า

เธอช่วยไปทูลด้วยก็แล้วกันว่าในรัสเซียเค้าใส่กันแบบนี้แหละ

การประสบเหตุการณ์ที่ทำตัวไม่ถูกบ่อยๆ เพราะ culture shock ทำให้อเล็กซานดรากลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจ จนในที่สุดเธอไม่กล้าที่จะเข้าสังคมรัสเซียเลย เธอมักปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะเชิญสมาชิกราชวงศ์และชนชั้นสูงมางานปาร์ตี้บ่อยครั้ง

เมื่ออเล็กซานดราเป็นเช่นนี้ การเปรียบเทียบเธอกับมาเรียแม่ของนิโคลัสจึงยิ่งลุกลาม เพราะถึงแม้มาเรียจะมาจากเดนมาร์ก เธอกลับเป็นที่นิยมมากๆ ในรัสเซีย อเล็กซานดรายิ่งรู้สึกแย่เข้าไปอีก

ความกดดันของอเล็กซานดรา

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ทำให้ความนิยมของอเล็กซานดราไม่กระเตี้อง นั่นก็คือเธอล้มเหลวที่จะมีลูกชายให้กับนิโคลัส

ซารินาทุกพระองค์มีความกดดันนี้ แม้แต่มาเรีย แม่ของนิโคลัสก็มี แต่ด้วยความที่ทั้งสองไม่ถูกกัน การที่มาเรียจะช่วยอเล็กซานดราจึงเป็นไปได้ยาก

มาเรียให้กำเนิดลูกชายตั้งแต่คนแรก นั่นก็คือ นิโคลัส ทำให้เธอไม่มีแรงกดดันตั้งแต่บัดนั้น แต่สำหรับอเล็กซานดราแล้ว เธอให้กำเนิดลูกสาวถึง 4 คน นั่นก็คือ โอลกา, ทาเทียน่า, มาเรีย และอนาสตาเซีย เมื่อเธอยังไม่สามารถมีลูกชายได้ แรงกดดันจึงอยู่กับเธอ

อเล็กซานดราและบุตรสาวทั้ง 4

อเล็กซานดราเริ่มหันไปเชื่อบรรดาบาทหลวง และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มศรัทธาในเหล่านักบวชที่เชื่อกันว่า “ศักดิ์สิทธิ์”

บาทหลวงเฟลิเป้ได้แนะนำให้นิโคลัสและอเล็กซานดราสถาปนาเซราฟิมแห่งซารอฟเป็นนักบุญ ทั้งสองทำตามแล้วก็ได้ลูกชายจริงๆ ทั้งสองดีใจมาก นิโคลัสตั้งชื่อเขาว่า อเล็กเซย์

ฮีโมฟีเลีย

อเล็กซานดรารู้ตัวว่าเธอเองเป็นพาหะของฮีโมฟีเลีย เพราะพี่ชายของเธอก็สิ้นชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เพราะโรคทางพันธุกรรมโรคนี้ เธอหวังลึกๆว่าบุตรชายของเธอจะโชคดี

แต่ทุกอย่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอคิด อเล็กเซย์เป็นฮีโมฟีเลียจริงๆ นั่นแปลว่าเลือดของเขาหยุดยาก ถ้าเขาโดนแรงกระแทก เขาอาจจะตายได้ทันที

หลังจากนั้นอเล็กซานดราจึงทุ่มความสนใจทั้งหมดของเธอในการดูแลบุตรชายคนนี้ บ่อยครั้งเธอพยายามมากจนเกินไป ทำให้อเล็กเซย์รู้สึกไม่มีความสุข เพราะว่าแม่ของเขาห้ามเขาทำทุกอย่างที่เขาอยากทำ

การดูแลแบบประคบประหงมทำให้อเล็กซานดราปิดโอกาสตัวเองจากการเข้าสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสมาชิกในราชวงศ์โรมานอฟคนอื่นก็ย่ำแย่ลงด้วย

แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ เธอพร้อมจะทำทุกวิธีทางที่ทำให้อเล็กเซย์ รอดชีวิต หายป่วย หายเจ็บ หายทรมาน

อเล็กซานดราและอเล็กเซย์

ด้วยความที่ฮีโมฟีเลียไม่มีวิธีรักษา การควบคุมอาการก็เป็นเรื่องยากสำหรับหมอสมัยนั้น ทำให้อเล็กซานดราหันไปพึ่งพิงนักบวชผู้หนึ่งนามว่า เกรกอรี รัสปูติน

รัสปูตินได้แสดงความสามารถของเขาในการหยุดเลือดที่ไหลไม่หยุดของอเล็กเซย์ในปี ค.ศ.1906 ทำให้เขาเป็นที่ไว้ใจของอเล็กซานดราตั้งแต่บัดนั้น ในปี ค.ศ.1912 รัสปูตินก็สามารถทำให้เลือดของอเล็กเซย์หยุดลงได้อีก ทั้งๆที่แพทย์บอกว่าหมดหวังแล้ว

ความไว้ใจในรัสปูตินของอเล็กซานดราได้กลายเป็นความศรัทธา อเล็กซานดราศรัทธาในตัวรัสปูตินอย่างจริงๆ จังๆ ในเวลาต่อมาเธอก็เชื่อคำแนะนำของนักบวชผู้นี้ไปแทบทุกสิ่งอย่าง

รัสปูตินผู้นี้เป็นนักบวชที่มีข่าวฉาวมากโดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง ทำให้ภาพลักษณ์ของอเล็กซานดราในสายตาของชาวรัสเซียที่แย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่ลงไปอีกหลังจากที่ไปยุ่งเกี่ยวกับรัสปูติน ผู้ที่ไม่ชอบเธอจึงสร้างข่าวลือโจมตีเธอมากมายว่า เธอมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับรัสปูติน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริงเลยแม้แต่น้อย อเล็กซานดราเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์กับนิโคลัสเสมอมา

อุปนิสัยของอเล็กซานดรา

อเล็กซานดราเป็นคนที่มีจิตใจที่แข็งแกร่งมาตั้งแต่เด็กแล้ว เธอเป็นคนแข็งแกร่งคนหนึ่ง และไม่ยอมให้กับผู้ใดง่ายๆ แม้กระทั่งรัสปูตินเองก็ไม่กล้ายุ่งกับเธอ ถ้าเธอบอกว่าไม่ในเรื่องนั้นๆ

ในทางการเมืองแล้ว อเล็กซานดราไม่สนับสนุนให้นิโคลัสแบ่งปันอำนาจให้กับประชาชน เธอเชื่อว่าซาร์แห่งรัสเซียจะต้องกุมอำนาจสูงสุดเอาไว้ในมือ ด้วยแนวคิดเหล่านี้ที่อเล็กซานดราพร่ำบอกสามี (หลักฐานอยู่ในไดอารี่) ทำให้นิโคลัสไม่อาจปฏิรูปการเมืองรัสเซียได้สำเร็จ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า อเล็กซานดราไม่ใส่ใจประชาชน เธอเป็นคนที่อุทิศตนให้กับประชาชนมากคนหนึ่ง เธอสร้างโรงพยาบาลมากมายในรัสเซียด้วยเงินของเธอเองทุกรูเบิล และน่าจะบริหารเองด้วย นอกจากนี้เธอให้การสนับสนุนองค์กรการกุศลมากมาย

หากแต่ว่าคนรู้สิ่งที่เธอทำน้อยมาก เพราะอเล็กซานดราไม่เคยบอกให้คนอื่นรู้ เธอเคยบอกนางกำนัลว่า เธอบอกไปก็ไม่มีใครเชื่อเธอ ส่วนข่าวเสียๆนั้น ถ้าเธอแก้ข่าว จะมีใครเชื่อเธอหรือ?

สงครามโลกครั้งที่ 1

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น อเล็กซานดรา โอลกา และทาเทียน่า ลูกสาวทั้งสองคนของเธอได้เข้าคอร์สอบรมเป็นพยาบาล เธอได้เปลี่ยนพระราชวังของเธอที่หมู่บ้านซาร์เป็นโรงพยาบาล และลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บมารักษามากมาย

อเล็กซานดรากับนางพยาบาลผู้ช่วย

หากแต่ว่าเธอเองก็ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะหลังจากที่นิโคลัสออกไปที่กองบัญชาการใหญ่ อเล็กซานดราได้รับหน้าที่ดูแลกิจการต่างๆ ในเมืองหลวงเปโตรกราด เธอได้แต่งตั้งและปลดรัฐมนตรีหลายคนตามคำแนะนำของรัสปูติน รัฐมนตรีเหล่านี้ล้วนแต่ไม่มีความสามารถ ทำให้ปัญหาในเมืองหลวงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความไม่พอใจอเล็กซานดราเพิ่มขึ้นตามลำดับในหมู่ประชาชน กระแสโจมตีเธอพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง เธอถูกโจมตีว่าเป็นสายลับเยอรมัน เพราะเธอมาจากดินแดนเยอรมัน การโจมตีนี้เป็นเรื่องน่าขำสำหรับอเล็กซานดรา เพราะเธอเกลียดชังไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีมากกว่าผู้ใด จากการที่ปรัสเซีย (ที่สร้างจักรวรรดิเยอรมนี) ข่มเหงเฮสบ้านเกิดของเธอเสมอมา

แต่ก็เหมือนเดิม นั่นคือเธอไม่เคยแก้ข่าวแต่อย่างใด

สาเหตุหลักๆ ที่เธอทำตามรัสปูตินก็เพราะ เธอต้องการไม่ให้พวกรัฐมนตรีที่เป็นศัตรูของรัสปูตินกำจัดรัสปูตินได้ ถ้ารัสปูตินตายไปเสียคน อเล็กเซย์อาจจะตายก็ได้ ดังนั้นเธอจึงสั่งให้ทหารดูแลรัสปูตินเป็นพิเศษ

แต่แล้วความพยายามของเธอก็ไร้ผล เพราะเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูป็อพ สังหารรัสปูตินได้สำเร็จ

การปฏิวัติกุมภาพันธ์

หลังการตายของรัสปูติน อเล็กซานดรายังคงรับการโจมตีอย่างรุนแรงต่อไป แต่เธอก็ไม่แยแสในคำด่าว่าเธอเหล่านี้ เธอรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ตลอดชีวิตที่ผ่านมา อเล็กซานดรามีความอดทนในเรื่องลักษณะนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เธอถูกโจมตีอย่างรุนแรงชนิดที่คนทั่วไปไม่น่าจะรับได้ แต่เธอยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง โดยไม่ให้ค่าสิ่งเหล่านี้เลย

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 การชุมนุมของสตรีเพื่อเรียกร้องขนมปังได้กลายเป็นการปฏิวัติ ในเวลานั้นอเล็กซานดรากลับยังไม่ได้ใส่ใจกับการประท้วงมากนัก เพราะว่าบุตรสาวทั้ง 4 ของเธอล้มป่วยด้วยโรคหัด (measles) และอาจจะตายก็ได้ ทำให้เธอทิ้งเรื่องการเมืองไปทั้งหมด

การตอบสนองที่ช้าของอเล็กซานดรา ทำให้สถานการณ์ทั้งหมดสายเกินแก้ เพราะนิโคลัสเองก็ไม่ได้อยู่ที่เมืองหลวง ทหารของคณะปฏิวัติได้ล้อมพระราชวังอเล็กซานเดอร์ที่เธอและครอบครัวอาศัยอยู่ไว้

อเล็กซานดราและบุตรสาวทั้งสอง เชื่อว่ารูปนี้เป็นรูปสุดท้ายของอเล็กซานดรา

โชคยังดีที่บุตรสาวทั้งหมดของเธอมีอาการดีขึ้นตามลำดับ เธอจึงเป็นห่วงนิโคลัสมากที่สุด หลายวันต่อมา เธอก็ได้ข่าวว่า นิโคลัสสละราชสมบัติแล้ว

อเล็กซานดราตกตะลึง เธอไม่เข้าใจว่าทำไมสามีถึงทำเช่นนั้น เธอคิดว่าถ้าเธออยู่กับสามี เขาคงไม่ตัดสินใจเช่นนี้เป็นแน่

สิ่งที่เธอดีใจที่สุดคือรัฐบาลชั่วคราวได้อนุญาตให้นิโคลัสกลับมาที่หมู่บ้านซาร์ได้ ทั้งครอบครัวจึงได้อยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานภาพนักโทษก็ตาม

ชีวิตของอเล็กซานดราจะเป็นไปอย่างไรในช่วงปีสุดท้าย ติดตามได้ใน วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ เร็วๆนี้

หนังสืออ้างอิงอยู่ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!