ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์สรุปชีวิตของ "ซาร์นิโคลัสที่ 2" แห่งราชวงศ์โรมานอฟอย่างย่อ

สรุปชีวิตของ “ซาร์นิโคลัสที่ 2” แห่งราชวงศ์โรมานอฟอย่างย่อ

ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟเป็นบุคคลที่นักวิชาการถกเถียงกันมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์รัสเซีย ตลอดรัชสมัย 23 ปีของนิโคลัสมีแต่เหตุการณ์สำคัญ ดังนั้นแน่นอนว่าผมไม่อาจเล่าชีวิตทั้งหมดของนิโคลัสได้ในเพียงโพสนี้เพียงโพสเดียว โพสนี้จึงเป็นการสรุปชีวิตของเขาก่อนการปฏิวัติรัสเซียแห่งปี ค.ศ.1917 แบบย่อมากๆ ก่อนที่ผมจะเขียนช่วงปีสุดท้ายให้ท่านได้อ่านครับ

เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

หมายเหตุ: จริงๆ ในรัสเซียจะเรียกนิโคลัสว่า นิโคไลย์ (Nikolai) แต่ในโลกตะวันตกจะใช้ชื่อ นิโคลัส ซึ่งเป็นชื่อที่ถูก transliterate มาเป็นภาษาตระกูลละตินครับ

ซาร์นิโคลัสที่ 2

นิโคลัสในวัยเยาว์

นิโคลัสเป็นโอรสองค์โตของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซาริซามาเรีย ฟยอดอรอฟนา เขาเกิดในปี ค.ศ.1868 ในเวลานั้นอเล็กซานเดอร์ บิดาของนิโคลัสยังเป็นเพียงเซซาร์เรวิช (มงกุฎราชกุมาร) เท่านั้น แต่การเกิดของนิโคลัสก็สำคัญ เพราะว่าเขาจะได้เป็นทายาทสืบทอดราชวงศ์ต่อไป

นิโคลัสมีน้อง 5 คน ได้แก่ อเล็กซานเดอร์ จอร์จ เซเนีย โอลกา และ ไมเคิล แต่อเล็กซานเดอร์จากไปตั้งแต่ยังเป็นทารก ทำให้เขาเหลือน้องแค่ 4 คนเท่านั้น

ตั้งแต่เด็ก นิโคลัสและน้องๆถูกเลี้ยงดูอย่างเรียบง่ายตามแบบโรมานอฟ นิโคลัสถูกสั่งให้นอนเตียงผ้าใบแบบทหารรัสเซียแทนที่จะเป็นเตียงหรูๆ ในเวลาเช้าเขาจะต้องเก็บที่นอนเองโดยห้ามไม่ให้ใครเก็บให้ นอกจากนี้ไม่ว่าอากาศจะหนาวเท่าไรก็ตาม ตอนเช้านิโคลัสจะต้องอาบน้ำเย็นจัดทุกวัน

ครอบครัวของนิโคลัส อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ประทับอยู่ตรงกลาง

หลังจากกินอาหารเช้าเสร็จแล้ว นิโคลัสและน้องๆ จะต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการเรียนหนังสือกับติวเตอร์ เหล่าแกรนด์ดยุคแห่งราชวงศ์โรมานอฟต่างไม่ได้รับโอกาสให้ไปโรงเรียน ทุกคนจะต้องร่ำเรียนอยู่กับติวเตอร์จนจบ โดยเฉพาะนิโคลัสที่ต้องได้รับหลักสูตรพิเศษเพื่อที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการเป็นซาร์ต่อไป

ในช่วงเที่ยง นิโคลัสและน้องๆ จะต้องมาร่วมโต๊ะเสวยกับพระบิดาและพระมารดา ซึ่งเป็นช่วงที่นิโคลัสและเหล่าน้องๆ ไม่เคยชอบเลย สาเหตุก็คือพวกเขาจะได้เสิร์ฟอาหารเป็นคนสุดท้าย แต่จะต้องกินให้เสร็จพร้อมกับพระบิดา ทำให้ในบางครั้ง พวกเขากินยังไม่อิ่มก็ต้องหยุดกิน ทำให้ทุกคนหิวโหยมาก

หลังจากนั้นทุกคนก็จะกลับไปเรียนหนังสือ จนกระทั่งตกเย็น จะเป็นช่วงที่ทุกคนมีความสุขที่สุด เพราะว่าไม่ต้องเข้าร่วมโต๊ะเสวยแล้ว นิโคลัสและพี่น้องจะกินอาหารเท่าไรก็ได้ และจะเล่นอะไรบนโต๊ะอาหารก็ได้ ทำให้บ่อยครั้งนิโคลัสและพี่น้องเปิดสงครามขนมปังกันบ่อยๆ

เซซาร์เรวิชนิโคลัส

ชีวิตของนิโคลัสดำเนินไปจนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1881 เหตุการณ์หนึ่งก็ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของนิโคลัสไปตลอดกาล

นั่นก็คือ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ถูกปลงพระชนม์ด้วยพวกนักปฏิวัติ นิโคลัสถูกเรียกตัวมาพบพระองค์ที่พระราชวังฤดูหนาวเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน นิโคลัสเล่าในบันทึกของเขาในอีกหลายปีต่อมาว่า เขาจำภาพที่พระราชวังอันงดงามแต่เต็มไปด้วยกองเลือดได้อย่างไม่มีวันลืม

การจากไปของอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทำให้อเล็กซานเดอร์บิดาของเขาขึ้นเป็นซาร์ นามว่า ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ส่วนนิโคลัสจึงได้เป็นเซซาร์เรวิชนิโคลัส

ในฐานะเซซาร์เรวิช แม้จะมีอายุเพียง 13 ปี นิโคลัสไม่อาจเล่นเป็นเด็กๆ ได้อีกแล้ว

การศึกษาของนิโคลัสเข้มข้นขึ้น นิโคลัสถูกสอนวิชายากๆ อย่างปรัชญา ประวัติศาสตร์ และการปกครองโดยติวเตอร์หลายคน นิโคลัสมีความจำที่ดีเยี่ยม ทำให้เขาเก่งวิชาประวัติศาสตร์มาก

ติวเตอร์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของนิโคลัสคือ คอนสแตนติน โพบีดอนนอสต์ (Konstantine Pobedonostsev) ที่ปรึกษาคนสำคัญของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3

นิโคลัสในวัยหนุ่ม

โพบีดอนนอสต์ผู้นี้เป็นคนที่เชื่อในความยิ่งใหญ่และความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันซาร์ ดังนั้นเขาเชื่อว่าอำนาจของซาร์ไม่อาจจะแบ่งให้กับผู้ใดได้ เพราะเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากถูกต้องจากพระเจ้า นิโคลัสซึมซับแนวคิดเหล่านี้เข้าไปทุกวัน ทำให้นิโคลัสเชื่อมั่นในแนวคิดเอกาธิปไตย (Autocracy) หรืออำนาจอยู่ในมือผู้ใดผู้หนึ่งแต่ผู้เดียว ในภายหลังมันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับนิโคลัสที่จะยอมรับการเป็นจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญได้

เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น นิโคลัสพบว่าตนเองชอบในการทหาร เขาชอบไปเยี่ยมเยียนกองทหารที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชากิติมศักดิ์อยู่เสมอๆ นิโคลัสไม่ถือตัวและทักทายนายทหารด้วยความสนิทสนม ทำให้ทุกคนรักเขามาก

ความชอบในการทหารนี้จะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิตของนิโคลัส

ภายใต้พระบิดา

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ทรงเป็นซาร์ที่ปกครองรัสเซียด้วยกำปั้นเหล็ก พระองค์เกลียดชังความอ่อนแอและการร้องไห้อย่างที่สุด พระองค์ทรงไม่ต้องการให้ใครมาร้องไห้ให้พระองค์เห็น โดยเฉพาะโอรสธิดาของพระองค์เอง

สำหรับนิโคลัสแล้ว อุปนิสัยของนิโคลัสตรงข้ามกับบิดาโดยสิ้นเชิง นิโคลัสเป็นคนอ่อนโยน หัวอ่อน ไม่แข็งกระด้างเหมือนกับบิดา นิโคลัสไม่ชอบความขัดแย้ง เขาหวังว่าจะให้ทั้งสองฝ่ายสมานฉันท์กันได้ ด้วยความที่นิโคลัสเป็นเช่นนี้ ทำให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ไม่พอใจสักเท่าใดนัก เพราะเขารู้ดีว่าลูกชายคนนี้จะต้องสืบบัลลังก์รัสเซียต่อไป และแผ่นดินรัสเซียจะต้องปกครองด้วยผู้นำที่แข็งแกร่งเท่านั้น

บ่อยครั้งที่นิโคลัสโดนพระบิดาดุ ผู้ที่คอยปลอบประโลมนิโคลัสคือ ซาริซามาเรีย มารดาของเขา หากแต่ว่าความหัวอ่อนของนิโคลัสก็เริ่มทำให้สมาชิกในราชวงศ์รัสเซียเป็นกังวลว่าถ้าสิ้นอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แล้วรัสเซียจะเป็นไปอย่างไร?

ชีวิตรักของนิโคลัส

นิโคลัสในวัย 16 ปีได้พบเจ้าหญิงอลิซแห่งเฮซที่งานแต่งงานระหว่าง แกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ อาของเขากับเอลิซาเบธ พี่สาวของเธอ นิโคลัสตกหลุมรักเธอทันที ความรักครั้งนั้นเป็นความรักครั้งแรกของนิโคลัส

หากแต่ว่าเจ้าหญิงอลิซก็ยังไม่ได้มีไมตรีตอบ นิโคลัสเองก็ไม่ได้เจอกับเจ้าหญิงบ่อยนัก หลายๆ ปีจะเจอทีหนึ่ง แต่นิโคลัสก็ยังเก็บเธอไว้ในใจอยู่เสมอ

สามปีต่อมา นิโคลัสได้วัย 19 ปีได้พบกับนักบัลเลต์สาวสวยชื่อ มาทิลดา เชชินสกายา ทั้งสองคบหาเป็นแฟนกัน นิโคลัสหลงเธออย่างหนัก จนทำให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ตัดสินใจให้นิโคลัสไปเที่ยวรอบโลกเพื่อที่จะได้ลืมๆเธอไปซะ

ในปี ค.ศ.1890 นิโคลัสได้เดินทางไปหลากหลายประเทศในเอเชีย รวมไปถึงสยามด้วย นิโคลัสได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัชกาลที่ 5 ทำให้ทั้งสองเป็นพระสหายกันตั้งแต่บัดนั้น

หากแต่ว่าการเดินทางของนิโคลัสเผชิญอุปสรรคเมื่อนิโคลัสถูกทำร้ายโดยตำรวจชาวญี่ปุ่น นิโคลัสรอดชีวิตมาได้ แต่ได้รับแผลเป็นยาวที่ศีรษะ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 มีรับสั่งให้นิโคลัสกลับมายังเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กทันที

นานวันไป นิโคลัสเหมือนจะทราบดีว่าความรักของเขากับเชชินสกายาไม่มีทางเป็นไปได้ เขาจึงถอยตัวออกห่าง หลังจากนั้น เขามีโอกาสได้พบกับเจ้าหญิงอลิซอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้นิโคลัสได้จีบเธอ และได้ทราบว่าเธอก็มีใจให้เขาเช่นกัน นิโคลัสดีใจเป็นอย่างยิ่ง เขาขอให้อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซาริซามาเรียยินยอมให้เขาสมรสกับเจ้าหญิงอลิซอยู่นานนับปี

นิโคลัสหมั้นหมายกับอลิซ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ บิดามารดาของเขาไม่ชอบที่เจ้าหญิงอลิซมาจากเยอรมนี แต่สุดท้ายทั้งสองก็ยินยอม

นิโคลัสดีใจมาก เขาเดินทางไปขอเจ้าหญิงอลิซแต่งงานด้วยความตื่นเต้น แต่เจ้าหญิงกลับปฏิเสธเพราะเหตุผลทางศาสนา (เธอต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นรัสเซียนออโธดอกซ์) แต่เพราะความช่วยเหลือจากญาติๆ เช่น ควีนวิกตอเรียไปจนถึงเอลิซาเบธ พี่สาวของเจ้าหญิงอลิซ เจ้าหญิงจึงยอมตกลงในที่สุด

นิโคลัสขึ้นเป็นซาร์

นิโคลัสจบการศึกษาจากติวเตอร์ตอนอายุ 21 ปี หรือ 4-5 ปีก่อนที่เขาจะหมั้นกับเจ้าหญิงอลิซ แต่นิโคลัสไม่เคยได้รับอนุญาตให้ทำอะไรเลย สาเหตุก็คืออเล็กซานเดอร์ที่ 3 คิดว่าตนเองอายุยังไม่ถึง 50 ปี พระองค์น่าจะมีอายุยืนยาวได้อีกนับสิบปี อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ตั้งใจว่า นิโคลัสอายุ 30 ปีเมื่อใด พระองค์จะให้เขาลองทำงานดู เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นซาร์

แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เช่นนั้น เซอร์เกย์ วิตต์ เสนาบดีคนสำคัญเคยถามพระองค์ว่า ทำไมพระองค์ถึงไม่ให้เซซาร์เรวิชนิโคลัสทำอะไรบ้าง อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ตอบว่า

“เจ้าเคยพูดคุยเรื่องมีสาระกับเซซาร์เรวิช (นิโคลัส) หรือเปล่าละ? เจ้าอย่ามาบอกเราว่า เจ้านั้นไม่เคยสังเกตว่า เซซาร์เรวิชเป็นคนโง่บรมอย่างที่สุด”

สรุปก็คือ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 คิดว่านิโคลัสไม่มีสติปัญญา พระองค์เคยจะให้เขาลองทำอะไรตอนที่พระองค์อายุมากใกล้จะตายแล้วเท่านั้น นิโคลัสเลยยังไม่เคยได้ทำงานด้านบริหารใดๆ เลย

นั่นเป็นความคิดที่ผิดถนัดของอเล็กซานเดอร์ที่ 3 โดยเฉพาะเรื่องอายุของตนเอง

ในปี ค.ศ.1894 (หลังจากนิโคลัสหมั้นกับอลิซได้ไม่นาน) อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ก็ประชวรหนักด้วยโรคไต พระอาการย่ำแย่มากจนทุกคนคิดว่าไม่น่าจะรอดแล้ว นิโคลัสรีบส่งโทรเลขไปหาเจ้าหญิงอลิซทันทีเพื่อให้เธอเดินทางมารัสเซียโดยด่วน

อลิซมาทันพอดีที่จะได้รับการอวยพรโดยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แต่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ก็สวรรคต นิโคลัสในวัย 26 ปี จึงต้องขึ้นเป็นซาร์สืบต่อจากพระบิดา

สำหรับนิโคลัสแล้ว เขากลัวเป็นอย่างยิ่ง แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ หรือ ซานโดร เพื่อนสนิทที่สุดของนิโคลัสเล่าว่า นิโคลัสบอกตนว่า เขากลัวมากที่จะต้องเป็นซาร์ เขารู้ว่าตัวเขาไม่มีประสบการณ์เลย และไม่รู้เลยว่าจะต้องปกครองรัสเซียอย่างไร

นิโคลัสขึ้นครองราชย์เป็นซาร์แห่งรัสเซีย

ซาร์นิโคลัสที่ 2

หลังจากนั้นอลิซก็ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นรัสเซียนออโธดอกซ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นอเล็กซานดรา ต่อมาเธอก็ได้อภิเษกสมรสกับนิโคลัส ทั้งสองกลายเป็นซาร์และซาริซาแห่งรัสเซียอย่างเป็นทางการ นามอย่างเป็นทางการของนิโคลัสก็คือ จักรพรรดิ หรือ ซาร์นิโคลัสที่ 2

แต่แล้วเรื่องร้ายๆ ก็เริ่มปรากฏ เหตุการณ์ที่ทุ่ง Khodynka ที่เกิดขึ้นก่อนที่นิโคลัสจะออกไปพบประชาชน ทำให้ภาพลักษณ์ของนิโคลัสและราชวงศ์ย่ำแย่ลงมาก ทั้งๆที่ทุกอย่างไม่ใช่ความผิดของนิโคลัสเลย

ช่วงเวลาสิบปีแรกที่นิโคลัสครองราชย์ นิโคลัสก็ได้แสดงความหัวอ่อนของตนเองออกมาอย่างเต็มเปี่ยม นิโคลัสขาดความคิดเห็นเป็นของตนเอง นิโคลัสตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแกรนด์ดยุคอาวุโสหลายคนซึ่งมีความคิดอนุรักษ์นิยม ทำให้เหล่าปัญญาชนที่เคยหวังว่านิโคลัสจะช่วยปฏิรูปการเมืองให้มีเสรีภาพมากขึ้นผิดหวัง หลายคนหมดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศภายใต้นิโคลัส พวกเขาจึงไปร่วมกับพวกนักปฏิวัติ

นิโคลัสบนหลังม้า

ถึงแม้ว่านิโคลัสจะไม่เคยพูดจาแย่ๆ กับคนอื่น แต่เขาก็ไม่เคยพูดอะไรตรงๆ เลย นิโคลัสจะพูดดีมากๆกับทุกๆ คนต่อหน้า แต่เมื่อพวกเขากลับไปที่บ้าน พวกเขาอาจจะเจอจดหมายขอให้ลาออกอย่างสุภาพที่นิโคลัสส่งไปก็ได้ เหล่าเสนาบดีต่างไม่ชอบแนวทางแบบนี้ของนิโคลัสเลย

สำหรับนิโคลัสแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่จักรวรรดิรัสเซีย แต่เป็นครอบครัวของเขา นิโคลัสแบ่งแยกเวลางานและเวลาครอบครัวออกอย่างชัดเจน เขาไม่ปรารถนาที่จะพูดคุยเรื่องการบริหารราชการในเวลาที่เขาพักผ่อนอยู่กับครอบครัว เขาจะตัดบทและเปลี่ยนเรื่องทันที

ถึงกระนั้นสิ่งที่กดดันนิโคลัส และอเล็กซานดรามากก็คือ เรื่องครอบครัว ทั้งสองยังไม่มีโอรสสืบบัลลังก์เลย ถึงแม้ว่าจะแต่งงานกันมาเกือบสิบปีแล้วก็ตาม ทั้งสองมีพระธิดารวมกันถึง 4 พระองค์

นิโคลัสและอเล็กซานดราต่างเป็นผู้ที่มีศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้ง และเป็นศรัทธาในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย นิโคลัสเชื่อว่าคำแนะนำของบาทหลวงคนหนึ่งว่า ถ้าเขาทำพิธีสถาปนาเซราฟิมแห่งซารอฟให้เป็นนักบุญ เขาจะมีลูกชายอย่างที่ปรารถนา นิโคลัสทำตาม และต่อมาอเล็กซานดราก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกชายจริงๆ เขาผู้นี้คืออเล็กเซย์ (อเล็กซิส) นั่นเอง

หากแต่ว่าอเล็กเซย์กลับป่วยด้วยโรคฮีโมฟีเลีย โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เลือดของเขาแข็งตัวยาก ถ้าเขาถูกกระทบกระเทือน แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม อเล็กเซย์มีโอกาสสูงที่จะตายได้

โรคของอเล็กเซย์นี้เปิดโอกาสให้นักบวชประหลาดชื่อ เกรกอรี รัสปูติน เข้ามามีอิทธิพลเหนือซาริซาอเล็กซานดรา เพราะว่าเขาเป็นคนเดียวที่สามารถหยุดเลือดของอเล็กเซย์ได้ ถึงแม้นิโคลัสจะไม่ได้เชื่อถือรัสปูตินอย่างสนิทใจ แต่เขาไม่ปรารถนาจะขัดใจซาริซาอเล็กซานดรา รัสปูตินจึงมีอิทธิพลสูงในราชสำนักรัสเซียตั้งแต่บัดนั้น

การปฏิรูปที่ล้มเหลว

ในปี ค.ศ.1904 ปีเดียวกับที่อเล็กเซย์เกิด รัสเซียได้ทำสงครามกับญี่ปุ่น ซึ่งกองทัพรัสเซียพ่ายแพ้ยับเยินทั้งทางบกและทางเรือ แต่โชคดีที่เซอร์เกย์ วิตต์ ได้เจรจาอย่างชาญฉลาดทำให้รัสเซียเสียผลประโยชน์น้อยมาก ถึงแม้ว่าจะแพ้ยับก็ตาม

เรื่องที่น่ากลัวกว่าก็คือ การปฏิวัติแห่งปี ค.ศ.1905 ที่เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์อาทิตย์เลือด เหตุการณ์นี้ทำให้ความนิยมของนิโคลัสดิ่งเหว และก่อให้เกิดการต่อต้านราชสำนักทั่วทั้งรัสเซีย

เพื่อสงบจลาจลที่เกิดขึ้น ทำให้นิโคลัสยินยอมออกประกาศ October Manifesto โดยนิโคลัสยอมลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเปิดเสรีภาพทางด้านการแสดงออกหลายอย่าง รวมไปถึงให้มีการเลือกสภาดูมาครั้งแรกด้วย

ภาพวาดของ IIya Repin บรรยายถึงวันที่ 17 ตุลาคม 1905 ที่นิโคลัสประกาศ October Manifesto

October Manifesto ได้ทำให้อำนาจของนิโคลัสในฐานะจักรพรรดิลดลงไป นั่นเป็นสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของนิโคลัสมาก (ตามคำสอนของโพบีดอนนอสต์) ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากนั้นนิโคลัสใช้อำนาจยุบสภาดูมาหลายต่อหลายครั้ง

การปฏิรูปทางการเมืองที่เกิดจาก October Manifesto จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชาชนรัสเซียที่ต้องทนกับความไม่เท่าเทียมอันสุดโต่งไม่พอใจมากขึ้นทุกที

นิโคลัสหันไปแต่งตั้งให้ Pyotr Stolypin ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและทำการปฏิรูปประเทศ ในเบี้องต้นดูเหมือนว่าจะไปได้สวย แต่ Stolypin กลับเผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มหัวเก่า ทำให้การปฏิรูปทำได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ

นิโคลัสเองเคยปรารถนาจะมอบที่ดินของราชวงศ์ให้กับประชาชน แต่กลับถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะพวกแกรนด์ดยุคหัวเก่าเกรงว่าถ้านิโคลัสแจกที่ดินออกไป เงินที่เข้าพระคลังข้างที่ของซาร์จะลดน้อยลง ทำให้พวกตนได้รับเงินส่วนแบ่งรายปีลดลงไปด้วย

ความไม่เท่าเทียมในรัสเซียจึงไม่เคยลดลง มีแต่จะสูงขึ้นทุกวันเท่านั้น

หากแต่ว่าในสมัยนิโคลัส รัสเซียกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

เรื่องดีๆ ในสมัยนิโคลัสจึงไม่ใช่ว่าไม่มี เพียงแต่มันถูกกลบโดยความไม่พอใจของประชาชนจากเรื่องความไม่เท่าเทียมและความยากลำบากต่างๆ เท่านั้นเอง

ซาร์นิโคลัสที่ 2 ในสงครามโลกครั้งที่ 1

จากปัญหาเรื่องคาบสมุทรบอลข่าน รัสเซียได้ประกาศสงครามกับชาติมหาอำนาจกลางในปี ค.ศ.1914 สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเริ่มต้นขึ้น

กองทัพรัสเซียยังไม่พร้อมที่จะต่อสู้เลย ถึงแม้ว่าจะมีผลงานใช้ได้ในการต่อสู้กับออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี แต่เมื่อปะทะกับกองทัพเยอรมันแล้ว ฝ่ายรัสเซียไม่อาจจะต่อสู้ได้เลย ทหารรัสเซียหลายแสนคนล้มตายลงในช่วงแรกของสงครามเท่านั้น

นิโคลัสตัดสินใจปลดแกรนด์ดยุคนิโคลัส แม่ทัพใหญ่ฝ่ายรัสเซียออก และแต่งตั้งตนเองเป็นแม่ทัพใหญ่แทน เพราะเชื่อว่าจะนำขวัญกำลังใจมาให้ทหาร และเป็นหน้าที่ของจักรพรรดิรัสเซียที่จะต้องทำทหารออกรบด้วยตนเอง (เช่น ดมิทรีแห่งมอสโก)

นิโคลัส และวิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิแห่งเยอรมนี

การตัดสินใจของนิโคลัสผิดอย่างเลวร้าย เพราะนิโคลัสต้องเดินทางไปกองบัญชาการใหญ่ ทำให้อำนาจในเมืองหลวงทั้งหมดอยู่ในมือซาริซาอเล็กซานดราที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสปูติน

ซาริซาอเล็กซานดราเปลี่ยนคณะเสนาบดีตามใจที่ตนปรารถนา (ซึ่งก็ตามคำแนะนำของรัสปูติน) กระแสความไม่พอใจของประชาชนจึงพุ่งขึ้นตามลำดับ เหล่าเชื้อพระวงศ์โรมานอฟ แม้กระทั่งซาริซามาเรีย แม่ของนิโคลัสเอง ต่างเห็นว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง บัลลังก์รัสเซียไม่รอดแน่

พวกเขาขอให้นิโคลัสปลดอเล็กซานดราออกเสียจากอำนาจในเมืองหลวง และจะเอาเธอไปอยู่ที่ไหนก็เอาไป แต่นิโคลัสปฏิเสธ พวกเชื้อพระวงศ์โรมานอฟ (รวมซาริซามาเรีย แม่ของนิโคลัสด้วย) จึงแอบไปปรึกษาหารือกันว่า เพื่อรักษาราชวงศ์เอาไว้ พวกเขาจำต้องก่อรัฐประหารริบอำนาจอเล็กซานดรา และส่งเธอไปบวชชี ส่วนนิโคลัสจะเก็บไว้หรือถอดเสียก็ค่อยคิดกันอีกที

หากแต่ว่าก่อนที่พวกเขาจะลงมือ ในปี ค.ศ.1917 พลเมืองรัสเซียเดือดร้อนหนักขึ้นทุกทีจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นในวันสตรีสากล ผู้หญิงหลายร้อยคนได้รวมตัวกันและชุมนุมเรียกร้องขนมปัง การชุมนุมเล็กๆ กลายเป็นชุมนุมใหญ่จากการเข้าร่วมของแรงงานชายมากมายในโรงงานทั่วเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

สถานการณ์ในเมืองหลวงเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เหล่าทหารในเมืองต่างเปลี่ยนฝ่ายมาเข้ากับพวกผู้ชุมนุม ทำให้เปโตรกราดเมืองหลวงของรัสเซียในขณะนั้นอยู่ในมือของพวกผู้ชุมนุมโดยสมบูรณ์

นิโคลัสในปี ค.ศ.1917 ในที่คุมขัง

นิโคลัสถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้สละราชสมบัติ เขาจึงสละราชสมบัติในที่สุด รัฐบาลชั่วคราวได้ออกคำสั่งให้ขังนิโคลัสและครอบครัวของเขาไว้ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ เพื่อรอพิจารณาว่าจะส่งตัวอดีตจักรพรรดิไปลี้ภัยที่ใดดี

เรื่องหลังจากนี้ เป็นช่วงชีวิตสุดท้ายของนิโคลัส ซึ่งผมจะเล่าอย่างละเอียดใน วันสุดท้ายของโรมานอฟ ต่อไป (ยังไม่เสร็จสมบูรณ์)

หนังสืออ้างอิงทั้งหมดอยู่ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!