ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์ครอบครัวโรมานอฟอำลาพระราชวังอเล็กซานเดอร์เป็นครั้งสุดท้าย (6)

ครอบครัวโรมานอฟอำลาพระราชวังอเล็กซานเดอร์เป็นครั้งสุดท้าย (6)

ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1917 คีเรนสกี้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องย้ายครอบครัวซาร์ไปอาศัยอยู่ที่อื่น เขาจึงมาพบนิโคลัสและพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว นิโคลัสได้เสนอให้เขาและครอบครัวย้ายไปอยู่ที่พระราชวังลิวาเดียในไครเมีย คีเรนสกี้เองก็กล่าวว่าจะรับไว้พิจารณา

เพียงเท่านี้ครอบครัวโรมานอฟต่างรู้จักลิงโลดใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนรักลิวาเดียมากอยู่แล้ว เพราะอากาศที่อบอุ่นไม่หนาวเกินไป ชายหาดที่สวยงาม และชาวบ้านที่เป็นมิตร

ไม่มีใครรู้เลยว่า สิ่งที่พวกเขาและเธอคิดจะเป็นความฝัน นิโคลัส อเล็กซานดรา และครอบครัวไม่มีวันจะได้ไปลิวาเดีย พวกเขาไม่มีวันจะได้เห็นลิวาเดียอีกแล้ว

พระราชวังลิวาเดีย CC BY-SA 3.0,

ความปรารถนา vs ความเป็นจริง

ในเมื่อการไปลิวาเดียเป็นความปรารถนาของนิโคลัส คีเรนสกี้ได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาอย่างจริงจัง

ลิวาเดียเป็นสถานที่ที่อยู่ห่างไกลจากความวุ่นวาย มันอยู่ที่เมืองยัลตา (Yalta) เมืองริมทะเลดำซึ่งอยู่ห่างไกลจากเปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก) เกือบ 2,200 กิโลเมตร ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่นั่นคือชาวตาตาร์ (Tatar) ซึ่งจงรักภักดีต่อราชวงศ์โรมานอฟ ดังนั้นโอกาสที่ครอบครัวจะถูกทำร้ายที่ลิวาเดียเข้าใกล้ศูนย์

ในเวลานั้นอดีตซาริซามาเรีย และสมาชิกในครอบครัวโรมานอฟอีกหลายคนก็อยู่ที่นั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ ทุกคนสามารถเดินทางออกจากรัสเซียได้ทันทีผ่านทางทะเล

ดังนั้นถ้าดูเผินๆ ลิวาเดียเป็นสถานที่ที่ดู perfect มากถ้าครอบครัวของนิโคลัสจะไปอยู่ที่นั่นด้วย

หากแต่ว่าเมื่อคีเรนสกี้วิเคราะห์ไปมา เขาก็พบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ครอบครัวโรมานอฟไปยังลิวาเดีย

การเดินทางไปลิวาเดียต้องผ่านเมืองที่มีประชากรหนาแน่นหลายแห่ง ในเมืองเหล่านี้ความวุ่นวายทางการเมืองมีอยู่มากอยู่แล้ว เพราะกระแสฝ่ายซ้ายกำลังพุ่งสูง เหล่าชาวนากำลังทำร้ายพวกเจ้าของที่ดิน และริบที่ดินจากพวกเขา การจะส่งครอบครัวซาร์ไปมีความเสี่ยงสูงอย่างมากที่พวกเขาจะไปไม่รอด และอาจจะถูกทำร้ายเสียก่อน

รูปถ่ายครอบครัวโรมานอฟก่อนการปฏิวัติที่พระราชวังลิวาเดีย

ดังนั้นถ้าครอบครัวซาร์จะไปให้รอด พวกเขาต้องได้รับการคุ้มกันโดยกองทหารจำนวนมาก ซึ่งกองทหารเหล่านี้คีเรนสกี้ไม่สามารถไว้ใจได้ว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐบาลชั่วคราว พวกทหารอาจจะนำความไปบอกพวกบอลเชวิคทำให้เรื่องทั้งหมดจบเห่

นั่นเป็นสิ่งที่คีเรนสกี้วิเคราะห์เอาไว้ และได้เปิดเผยในหลายสิบปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม เราไม่รู้เลยว่า จริงๆแล้วคีเรนสกี้คิดอะไรอยู่ในเวลานั้น คีเรนสกี้อาจจะแฝงความกลัวอะไรสักอย่างที่เขาไม่ได้บอกต่อสาธารณชน มันเป็นไปได้เหมือนกันที่คีเรนสกี้จะกลัวว่าถ้าครอบครัวซาร์ไปอยู่ที่ลิวาเดีย ชาวพื้นเมืองและพวกที่สนับสนุนระบอบเก่าอาจจะช่วยให้นิโคลัสและครอบครัวออกมา หลังจากนั้นก็ลุกฮือขึ้นเพื่อฟื้นฟูระบอบซาร์ ถ้าเป็นเช่นนั้นเรื่องจะยุ่งยากขึ้นอีกมากสำหรับ รัสเซีย รัฐบาลชั่วคราว และตัวคีเรนสกี้เอง

สุดท้ายแล้ว คีเรนสกี้จึงปฏิเสธที่จะให้นิโคลัสและครอบครัวเดินทางไปยังลิวาเดีย เขาต้องหาสถานที่อื่นที่จะนำนิโคลัสและครอบครัวและพำนักต่อไป

แสวงหาสถานที่พำนัก

คีเรนสกี้คิดไปถึงบ้านของแกรนด์ดยุคไมเคิล น้องชายของนิโคลัสที่อยู่ที่เมือง Orel ตอนกลางของรัสเซีย แต่คนของคีเรนสกี้รายงานว่า พวกชาวบ้านแถวนั้นสนับสนุนการปฏิวัติและพวกฝั่งซ้าย ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่ครอบครัวซาร์ไปที่นั่น สถานที่แห่งนี้จึงตกไป

ต่อมาภายในคณะของคีเรนสกี้ก็เกิดความคิดว่าจะส่งครอบครัวซาร์ไปยังวิหารอิปาติเยฟ วิหารที่เมือง Kostroma สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับราชวงศ์โรมานอฟ เพราะว่าเป็นสถานที่ที่ซาร์ไมเคิลที่ 1 หรือ มิคาอิลที่ 1 หลบทหารชาวโปลก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นซาร์พระองค์แรกของราชวงศ์โรมานอฟและรัสเซีย

แต่ความคิดนี้ก็ตกไปอีกเหมือนกัน โดยไม่ทราบสาเหตุ

ทำไปทำมา คีเรนสกี้ก็คิดไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในเขตไซบีเรียที่ชื่อว่าทาบอสค์ (Тобо́льск) เส้นทางไปสู่ทาบอสค์เป็นเส้นทางไปยังไซบีเรีย ดังนั้นผู้คนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางจึงเบาบาง โอกาสที่ครอบครัวโรมานอฟจะโดนทำร้ายระหว่างทางก็น้อย

ทาบอสค์เองก็เป็นเมืองเล็กๆ ที่จัดว่ามีอันจะกิน พวกแรงงานหรือกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มสนับสนุนพวกบอลเชวิคก็ไม่มีอยู่เลย ทาบอสค์เองก็มีแม่น้ำ Tobol และ Irtysh ที่สามารถใช้เดินทางหลบหนีได้ง่ายอีกด้วย

Tobolsk ในปัจจุบัน By Kremlin.ru, CC BY 4.0,

นอกจากนี้ภายในเมืองทาบอสค์ยังมีบ้านพักของผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งจะเป็นสถานที่ที่ครอบครัวซาร์สามารถพักอาศัยกับเหล่าข้าราชบริพารได้อย่างสุขสบายระดับหนึ่ง

สุดท้ายแล้ว เมืองเล็กๆ ในไซบีเรียแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่คีเรนสกี้ตัดสินใจว่าจะส่งครอบครัวซาร์ไป เขาไม่รู้เลยว่าการตัดสินใจของเขาในครั้งนี้จะส่งผลอย่างมากต่อชะตาชีวิตของครอบครัวซาร์ในเวลาต่อมา

สถานที่ตั้ง Tobolsk ในไซบีเรีย

เตรียมตัวเก็บข้าวของ

ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.1917 นิโคลัสได้รับแจ้งว่าเขาและครอบครัวจะไม่ได้ไปยังลิวาเดีย นิโคลัสรู้สึกไม่พอใจเท่าไรนัก เขาเขียนในไดอารี่ของเขาว่า

หลังจากอาหารเช้า พวกเขาทราบจากเคานท์แบงค์เคนดอร์ว่า พวกเขาจะส่งเราไปยังสถานที่ที่ไม่ใช่ไครเมีย แต่เป็นเมืองเล็กๆทางทิศตะวันออกที่ใช้เวลาเดินทางสามถึงสี่วัน! แต่ที่ไหนแน่ชัด พวกเขาก็ไม่ได้บอก

คีเรนสกี้เดินทางมาพบนิโคลัส และบอกนิโคลัสว่าขอให้เขาและครอบครัวเตรียมตัว พวกเขาจะถูกส่งตัวไปอยู่อีกที่หนึ่งในอีกไม่กี่วัน และ “ขอให้ทุกคนเตรียมเสื้อผ้าอุ่นๆ ไปด้วย”

นิโคลัสทราบในบัดดลว่า ลิวาเดียไม่ใช่ที่หมายที่คีเรนสกี้จะส่งพวกเขาไปเสียแล้ว คีเรนสกี้จึงอธิบายใหญ่โตว่าทำไมเขาต้องส่งนิโคลัสและครอบครัวไปยังสถานที่แห่งนี้ แต่ก็ยังไม่บอกนิโคลัสว่า เขากำลังจะส่งนิโคลัสและครอบครัวไปที่ใด

นิโคลัสมองคีเรนสกี้ด้วยสายตาอันทะลุทะลวง เขากล่าวขึ้นว่า

ฉันไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว ฉันเชื่อใจคุณ

ภายในวันนั้น เหล่าข้าราชบริพารที่จะตามไปด้วยถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะติดตามนิโคลัสและครอบครัวไปทันที ส่วนอีกกลุ่มจะเดินทางตามไปทีหลัง แบงค์เคนดอร์ หัวหน้าข้าราชบริพารปรารถนาจะเดินทางตามไปด้วย แต่เขาไม่อาจจะไปได้เพราะภรรยาของเขาป่วยหนักอยู่ ทำให้เขาต้องอยู่ที่นี่ นิโคลัสบอกเขาว่าไม่เป็นไร และเลือกแม่ทัพทาทิชเชฟ (Tatishchev) ให้ติดตามเขาและครอบครัวไปด้วย

นิโคลัสถามทาทิชเชฟว่ายินดีเดินทางไปกับเขาหรือไม่ ทาทิชเชฟตอบรับทันทีโดยไม่ลังเล

การอำลา

ในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1917 เป็นวันสุดท้ายที่ นิโคลัส อเล็กซานดรา โอลกา ทาเทียน่า มาเรีย อนาสตาเซีย และอเล็กเซย์จะได้อยู่ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ สี่สาวและอเล็กเซย์จึงอำลาเหล่าข้าราชบริพารที่ไม่ได้ติดตามไปด้วยความอาลัย ทั้งห้าคนเดินทางไปยังบริเวณพระราชวังที่ตนเองชื่นชอบเป็นครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะเกาะกลางบึงที่ทุกคนรัก

ส่วนนิโคลัสแล้ว เขาได้ขอให้แบงค์เคนดอร์ที่ไม่ได้ไปด้วยช่วยดูแลพืชผลที่เขาลงมือปลูกด้วยตนเองให้ดี รวมถึงแบ่งฟืนที่เขาได้ตัดมาแล้วให้กับเหล่าข้าราชบริพารอย่างเท่าเทียมกันเพื่อที่จะได้ผิงไฟคลายลมหนาวที่กำลังมาถึง

นิโคลัสก็ได้รับแจ้งว่า ขอให้เขาและครอบครัวเตรียมตัวสำหรับการเดินทางที่ใช้เวลาถึงห้าวัน นิโคลัสรู้ทันทีว่าพวกเขากำลังเดินทางไปยังไซบีเรีย

ทุกคนที่กำลังจะเดินทางไปได้รับคำสั่งให้เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เย็น ในเที่ยงคืนวันนั้น พวกเขาจะต้องออกเดินทางทันทีโดยเงียบที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นความลับ

สี่สาวและหนึ่งหนุ่มที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ก่อนการปฏิวัติ

ค่ำวันนั้น ไมเคิล น้องชายคนสุดท้องของนิโคลัสเดินทางมาเยี่ยมพี่ชายที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ คีเรนสกี้อนุญาตให้ทั้งสองพบกันได้ แต่ตนเองก็ยังอยู่ในห้องดังกล่าวด้วย เพราะไม่ปรารถนาที่จะให้ทั้งสองอยู่กันตามลำพัง

นิโคลัสและไมเคิลกอดกันตามประสาพี่น้องด้วยความอาลัย ไมเคิลมาอำลาพี่ชายเพราะได้ทราบว่านิโคลัสกำลังจะเดินทางในวันรุ่งขึ้น ทั้งสองนั่งคุยกันอย่างไม่สะดวกใจนักเพราะคีเรนสกี้อยู่ในห้องด้วย นิโคลัสจึงได้แต่ถามว่าเขาเป็นอย่างไรบ้างเท่านั้น

ภายในเวลาไม่นาน ไมเคิลก็สวมกอดนิโคลัสและอำลาจากไป ในดวงตาของไมเคิลกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำตาอย่างไม่มีสาเหตุ

ระหว่างที่ไมเคิลเดินเข้าไปในวังนั้น อเล็กเซย์เห็นอาของเขาพอดี เขาจึงมารอที่ทางออกเพื่อที่จะได้เห็นอาของเขาอย่างเต็มๆตาสักครั้งหนึ่ง เมื่อไมเคิลเดินออกมาจากวัง เขาเห็นเด็กชายที่รอเข้าอยู่ เขาจึงจูบเด็กชายเบาๆ และรีบเดินออกจากวังไปทันที

ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งสามจะได้พบหน้ากัน

เมื่อดวงอาทิตย์ของวันที่ 13 สิงหาคมตกดิน บรรยากาศก็ยิ่งกดดันมากขึ้นเรื่อยๆสำหรับครอบครัวโรมานอฟ อเล็กซานดราอยู่ในชุดสำหรับออกเดินทางเรียบร้อย เธอนั่งอยู่บนโซฟาและร้องไห้เป็นพักๆ ท่าทางของเธอเห็นชัดเจนว่าเธอวิตกกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเธอ

คีเรนสกี้เล่าว่านั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขาเคยเห็นอเล็กซานดรากังวลและร้องไห้เหมือนผู้หญิงทั่วไป ส่วนอเล็กเซย์ก็อุ้มจอย หมาของเขาวิ่งไปวิ่งมา เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของเขา

ห้องโถงครึ่งวงกลมที่อเล็กเซย์ชอบมาวิ่งเล่น By Vitold Muratov – Own work, CC BY-SA 3.0,

สี่สาวเองก็อยู่ด้วยความกังวล ไม่มีใครนอนหลับเลยในคืนนั้น ทุกคนอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม แต่ก็วิตกกังวล เพราะว่าทุกคนไม่มีใครรู้เลยว่ากำลังจะเดินทางไปที่ใด

สำหรับนิโคลัสแล้ว เขาเป็นคนที่มีสติมากที่สุด และอารมณ์เย็นมากที่สุดก็ว่าได้ นิโคลัสเห็นพวกนายทหารและพวกนางกำนัลกำลังนั่งกินชากันอยู่บนโต๊ะ เขาจึงเดินมาที่โต๊ะและขอนั่งด้วย แต่พวกนายทหารกลับกล่าวว่า

พวกเราไม่ต้องการนั่งโต๊ะเดียวกับนิโคลัส โรมานอฟ

หากแต่ว่าอีกไม่กี่นาทีต่อมา พวกนายทหารกลับขอโทษนิโคลัส พวกเขาบอกนิโคลัสว่าพวกเขาแสดงท่าทางแบบนั้นเพราะว่าพวกพลทหารกำลังมองอยู่

ทั้งนี้หลังการปฏิวัติ พวกนายทหารในเวลานั้นไม่มีอำนาจที่จะควบคุมพวกพลทหาร เหล่าพลทหารเหล่านี้อาจจะจับพวกนายทหารไปขึ้นศาลทหารก็เป็นได้ข้อหาต่อต้านการปฏิวัติ พวกเขาจึงแสดงท่าทางแบบนั้นต่อนิโคลัสออกไป

บรรยากาศในพระราชวังอเล็กซานเดอร์จึงเต็มไปด้วยความอึมครึม ทุกคนต่างรอเวลาให้ถึงเที่ยงคืน เพื่อที่ขบวนจะได้ออกเดินทางเสียที

อ่านตั้งแต่ตอนแรกและติดตามตอนต่อไป ได้ที่ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 7 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!