ธุรกิจตลาดหุ้นชีวิตของเซียนหุ้น Jesse Livermore: เทพเจ้าแห่งการเก็งกำไร

ชีวิตของเซียนหุ้น Jesse Livermore: เทพเจ้าแห่งการเก็งกำไร

ถ้าวอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นศาสดาแห่งการลงทุนระยะยาว หรือการลงทุนแบบคุณค่า (Value Investing) ลิเวอร์มอร์คงเป็นเทพเจ้าแห่งการเก็งกำไรระยะสั้น ปัจจุบันคงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ (Jesse Livermore) นั้นเป็นนักเก็งกำไรที่เก่งมากที่สุดคนหนึ่งที่โลกนี้เคยมีมา

ชีวิตของลิเวอร์มอร์โลดโผนและเต็มไปด้วยคติสอนใจนักลงทุนและคนทั่วไปมากมาย ถึงแม้ว่าเรื่องราวของเขาจะผ่านไปมากกว่าหนึ่งร้อยปีแล้วก็ตาม

ในขณะที่นักลงทุนระดับตำนานส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยเงินของครอบครัว หรือเปิดเป็นกองทุน Hedge Fund เพื่อนำเงินคนอื่นมาลงทุน แล้วจึงร่ำรวยด้วยค่าบริหารจัดการกองทุนตามผลตอบแทนของลูกค้า (Performance Fee) ลิเวอร์มอร์ไม่เคยทำเช่นนั้นเลย

เขาไม่เคยบริหารเงินของคนอื่นโดยปราศจากพันธะ ถ้าเขาจะใช้เงินคนอื่นแล้วนั้น ลิเวอร์มอร์จะต้องกู้ยืมเงินคนอื่นมาเป็นของตนเอง และใช้ให้กับผู้ที่ให้ยืมทุกดอลลาร์ที่ยืมไป

Jesse Livermore

เข้าสู่วงการตลาดหุ้น

ลิเวอร์มอร์เกิดในครอบครัวที่ยากจนมากในปี ค.ศ.1877 เขาเกิดที่รัฐแมซซาชูเซสต์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวเขาหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ 14 ปี ลิเวอร์มอร์ไม่ได้รับการศึกษาใดๆ ในระดับมหาวิทยาลัยเลย

ปูมหลังของเขาทางด้านการศึกษาจึงด้อยกว่านักลงทุนระดับตำนานคนอื่นๆ ที่ได้รับการศึกษาอย่างน้อยก็ ป ตรี หรือ ป โทเป็นอย่างมาก

หลังจากหนีออกจากบ้าน ลิเวอร์มอร์ได้มาทำงานเป็นเด็กเขียนกระดานราคาหุ้นที่โบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นหน้าที่จดราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวจึงต้องตกเป็นของมนุษย์

ลิเวอร์มอร์ทำงานไปได้สักพัก เขาก็เก็บหอมรอมริบเงินได้ก้อนหนึ่ง เขาตัดสินใจว่าจะลองวางเงินเดิมพันดูบ้าง แต่ตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะใหญ่ไปสำหรับเขา ลิเวอร์มอร์จึงนำเงินจำนวนนั้นไปที่ Bucket Shop

Bucket Shop ในปี ค.ศ.1892

Bucket Shop นี้ก็คล้ายๆกับบ่อนที่ให้ลูกค้าเดิมพันว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นหรือจะลง ปรากฏว่าลิเวอร์มอร์ทำเงินได้มากถึง 1,000 เหรียญเมื่อเขาอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

ไม่มีใครทราบว่าเขาทำได้อย่างไร ทั้งนี้หนึ่งพันเหรียญช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นจำนวนที่เยอะมาก ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็น่าจะประมาณ 30,000-40,000 เหรียญ หรือประมาณหนึ่งล้านกว่าบาทเลยทีเดียว

ลิเวอร์มอร์ใช้วิธีทำเงินต่อเงิน เขานำเงินที่ได้กำไรมาวางเดิมพันมากขึ้นอีก เมื่อเขาชนะอีก เขาก็ได้เงินเพิ่มมากขึ้นไปอีก เงินที่เขาทำได้เพิ่มพูนมากขึ้นหลายสิบเท่าจากที่ลงทุนไปตอนแรก

ความสำเร็จของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทำให้ร้าน Bucket Shop ทั่วทั้งบอสตันไม่กล้าให้เขามาเล่นอีกต่อไป เมื่อลิเวอร์มอร์เดินเข้าไปร้าน เขาจะโดนไล่ออกมาทันที

การที่โดนปฏิเสธไม่ให้เข้าร้าน ทำให้ลิเวอร์มอร์ตัดสินใจว่าจะซื้อขายหุ้นของจริงเสียเลย นั่นก็คือที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก หรือ New York Stock Exchange โดยตรง ไม่ใช่พนันในบ่อนเหมือนกับที่เคยทำมา

บทเรียนครั้งสำคัญ

ในตอนแรก ลิเวอร์มอร์คิดว่าเขาจะทำเงินง่ายๆเหมือนกับที่เคยทำมา แต่เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ลิเวอร์มอร์กลับเสียเงินไปจนเกือบหมด เขาสงสัยมากว่าเป็นเพราะเหตุใด ทำไมถึงไม่เหมือน Bucket Shop ที่เขาทำเงินมาง่ายๆ

ลิเวอร์มอร์ตัดสินใจเดินทางไป St. Louis ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ เพื่อวางเดิมพันเช่นเดิมใน Bucket Shop สาเหตุที่ต้องเดินทางไปไกลเช่นนั้นเพราะร้าน Bucket Shop ทั่วทั้งภาคตะวันออกไม่มีใครให้ลิเวอร์มอร์เข้าร้านอีกแล้ว

ด้วยความที่เงินเหลือน้อย ลิเวอร์มอร์เลยยืมเงินเพื่อนคนหนึ่งไป ในเวลาไม่นาน เขาก็สามารถทำเงินได้แปดพันเหรียญจาก Bucket Shop เขาคืนเงินให้เพื่อนของเขาทั้งหมดในทันที ส่วนที่เป็นกำไรเขาเก็บไว้ทำทุนต่อไป

ลิเวอร์มอร์วิเคราะห์ความแตกต่างของทั้งสอง สุดท้ายเขาก็พบข้อแตกต่างในที่สุด เขาพบว่าที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กนั้นการซื้อขายของเขาในตลาดมีผลกับราคาในตลาด ในขณะที่ใน shop จะไม่มีเพราะไม่ได้เป็นการซื้อขายหุ้นจริงๆ จุดๆนี้จึงเป็นโอกาสให้เขาทำเงินได้ง่ายๆใน Shop แต่เจ๊งในตลาดหุ้นของจริง

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าการซื้อของลิเวอร์มอร์จะไปส่งผลกับตลาดได้มากน้อยสักเพียงไหน เพราะเขาเป็นนักลงทุนรายย่อย การซื้อขายของเขามีผลแทบจะเป็นศูนย์ต่อราคาหุ้นตัวนั้นๆ

คำตอบก็คือ ตลาดหุ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ยังมีผู้เล่นน้อย กองทุนขนาดใหญ่ยังแทบจะไม่มี และหุ้นที่ลิเวอร์มอร์ซื้อขายน่าจะเป็นหุ้นตัวเล็ก ดังนั้นถึงแม้ลิเวอร์มอร์จะมีเงินน้อย การซื้อขายของเขาจะส่งผลต่อตลาด และโอกาสการเก็งกำไรของเขา

วิธีใหม่

ลิเวอร์มอร์กลับมา New York และทำการศึกษาอย่างหนัก จนได้วิธีใหม่ในการเทรด นั่นก็คือ Breakout อย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

กล่าวคือ Livermore จะซื้อเมื่อราคาทำจุดสูงสุดใหม่ หลังจากที่ราคาอยู่ในกรอบมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยยอดการซื้อขาย (Volume) จะต้องสูงมากกว่าปกติด้วย ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาด เขาจะขายหุ้นทิ้งทั้งหมดทันที เมื่อเขาขาดทุนเกินกว่าจุดที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้ต่อสู้ต่อไปในครั้งหน้า

วิธีใหม่นี้ทำให้ลิเวอร์มอร์ทำเงินมหาศาลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นด้วย เงินของเขาเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนรายย่อยก็เริ่มเป็นรายใหญ่ เรื่องดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ.1907

ชื่อเสียงโด่งดัง

ในช่วงปี ค.ศ.1907 ลิเวอร์มอร์สังเกตว่าตลาดหุ้นแสดงสัญญาณแปลกๆ ที่แสดงให้เห็นว่าตลาดขาขึ้นกำลังจะสิ้นสุดลง เขาจึงเริ่มขายหุ้นที่ตัวเองมีอยู่ และเปลี่ยนเป็นการขายชอร์ตทันที

การขายชอร์ต (Short Selling) นี้คืออะไร?

มันคือการที่นักลงทุนยืมสินทรัพย์ทางการเงินอย่างเช่น หุ้น ผ่านทางโบรกเกอร์ แล้วให้โบรกเกอร์ทำการขายสินทรัพย์นั้นทันทีเป็นเงินสด แต่นักลงทุนคนดังกล่าวมีพันธะที่จะต้องซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวคืนให้โบรกเกอร์ในภายหลัง

ส่วนต่างของมูลค่าการขายและการซื้อคืน คือกำไร/ขาดทุนของนักลงทุนผู้นั้น การชอร์ตจะนิยมทำเมื่อนักลงทุนเห็นว่าสินทรัพย์จะมีมูลค่าต่ำลงในอนาคต

ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ กันดีกว่า

ถ้านาย ก ขายชอร์ตหุ้นบริษัท ABC ที่ 50 บาท โบรกเกอร์จะขายให้ทันที นาย ก จะได้เงิน 50 บาทไปในกระเป๋า แต่นาย ก มีพันธะที่จะต้องซื้อคืนกลับในโบรกเกอร์ในอนาคต

สมมติว่าต่อมาหุ้นบริษัท ABC ราคาลดลงเหลือแค่ 30 บาท นาย ก จึงซื้อคืนให้ทันที เท่ากับว่าโบรกเกอร์ได้หุ้น ABC คืนจากนาย ก ไป ส่วนนาย ก ได้กำไร 50-30 = 20 บาท เพราะว่าหุ้น ABC ราคาถูกลงจึงไม่ต้องใช้ทั้งหมด 50 บาทในการซื้อคืนก็ได้ หลังจากซื้อคืนแล้ว เงินที่เหลือก็เป็นสิทธิ์ของนาย ก โดยสมบูรณ์

แต่ว่าถ้าหุ้นบริษัท ABC ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 80 บาท แล้วนาย ก ตัดสินใจซื้อคืน เท่ากับว่าโบรกเอร์ได้หุ้น ABC คืนจากนาย ก เหมือนกับกรณีแรก แต่ในกรณีนี้ นาย ก กำไร 50-80 = -30 บาท

การที่กำไรเป็นลบแสดงว่าขาดทุน เท่ากับว่านาย ก ขาดทุน 30 บาท ทั้งนี้การขาดทุนมาจากการที่หุ้น ABC ราคาแพงขึ้น นาย ก จึงต้องควักเนื้อตัวเองในการซื้อหุ้น ABC คืนให้โบรกเกอร์ เมื่อนาย ก ซื้อคืนแล้วก็ถือว่าเป็นอันจบ นาย ก ขาดทุนไปแล้วเรียบร้อย

นี่แหละครับคือการขายชอร์ต (Short Selling)

สุดท้ายแล้วมันก็เป็นอย่างที่ลิเวอร์มอร์คิดจริงๆ เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มทรุดตัวลง โดยเฉพาะหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก ทำให้นักลงทุนแห่เทขายหุ้นกันยกใหญ่ เกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า Panic of 1907 การที่ลิเวอร์มอร์ขายชอร์ตอยู่แล้วหุ้นลง ทำให้เขาได้กำไรมหาศาล

หากแต่ว่าลิเวอร์มอร์มีกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งในการเพิ่มกำไรของเขา กลยุทธ์ที่ว่าคือการพีระมิด (Pyramiding) กล่าวคือเมื่อการซื้อขายของเขาเริ่มมีกำไร เขาจะทุ่มเงินมากขึ้นกว่าเดิมในการซื้อขายนั้นๆ เช่น

ถ้าเขาขายชอร์ตหุ้น ABC ที่ 50 เหรียญแล้วได้กำไร เขาจะขายชอร์ตซ้ำไปอีกที่ 40 เหรียญ เพราะเขาเชื่อว่า เขามาถูกทางแล้ว เขาได้เปรียบ เพราะฉะนั้นเขาน่าจะได้กำไรถ้าเขาลงเงินเพิ่มอีก ตัวลิเวอร์มอร์เองยังไม่เคยมีความคิดว่า ราคานี้แพงเกินไปที่จะซื้อ หรือ ราคานี้ถูกเกินไปที่จะขายชอร์ต ราคามันเพียงตัวเลขเท่านั้นเอง

วิธีนี้ได้ผล เงินเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในบัญชีหุ้นของลิเวอร์มอร์ตามลำดับ

แต่ด้วยวิธีนี้ทำให้แรงขายในตลาดไม่หยุดหย่อน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนักลงทุนจำนวนมากเสียเงินไปในการพังทลายของตลาด จนทำให้ภาคเศรษฐกิจซบเซา

นักธนาคารชื่อดังอย่างเจพี มอร์แกน จึงขอให้ลิเวอร์มอร์เลิกทำการขายชอร์ตเสียที ลิเวอร์มอร์เห็นด้วย เขาจึงซื้อคืนหุ้นที่ขายชอร์ตไปทั้งหมด และเปลี่ยนไปซื้อหุ้นที่ทิ้งดิ่งลงมาแทน

สรุปแล้วคือ ลิเวอร์มอร์ได้เงินจากการขายชอร์ตไปหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ และจากการซื้อหุ้นที่ราคาถูกอีกสามล้านเหรียญสหรัฐ รวมๆ แล้วลิเวอร์มอร์น่าจะได้กำไรไปสี่ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคิดตามเงินเฟ้อแล้ว เงินที่เขาทำได้จะมีมูลค่าในทุกวันนี้อยู่ที่เกือบร้อยล้านเหรียญสหรัฐ

เจ๊งรอบที่สอง

หลังจากนั้นไม่นาน ลิเวอร์มอร์กลับเสียเงินทั้งหมดไปอีกครั้ง เพราะเขาไปซื้อขายในตลาด Cotton ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง

สาเหตุที่เขาเจ๊งก็เพราะ เขาไปเชื่อ “มืออาชีพ” คนหนึ่งว่าราคา Cotton จะขึ้น ทั้งๆ ที่ในตอนแรกนั้นเขาได้วิเคราะห์ว่า Cotton กำลังราคาจะตก เขายังละเมิดกฎของตัวเองด้วยที่ว่าจะไม่ถือสินทรัพย์ใดๆ ถ้ามันขาดทุนเกินกว่าจุดที่เขาตั้งไว้

การเจ๊งครั้งนั้นส่งผลอย่างมากกับจิตใจของลิเวอร์มอร์ หลังจากนั้นเขาไม่ฟังคำพูดของคนอื่นอีกเลยในเรื่องการซื้อขายสินทรัพย์ และเมื่อจะตัดสินใจทำการซื้อขาย เขาจะอยู่ตัวคนเดียวในห้องเงียบๆ เท่านั้น

แต่แล้วด้วยความที่ ลิเวอร์มอร์มีเครดิตดี กล่าวคือไม่ว่าจะยืมเงินใคร เขาจะคืนทุกเหรียญเสมอ โดยไม่มีการเชิด เขาไม่เคยทำแบบว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เพื่อนของเขาหลายคนจึงยินดีให้เขายืมเงินเพื่อนำทุกสิ่งกลับมาอีกครั้ง

ลิเวอร์มอร์นำเงินของเพื่อนของเขาไปเก็งกำไร ในเวลาไม่เกินหนึ่งปี เงินที่เคยเสียไปล้านเหรียญก็ได้คืนมา ทั้งๆ ที่เพื่อนเขาได้เขายืมเพียงสองหมื่นเหรียญเท่านั้น วิธีที่เขาใช้คือวิธีเดิม และพอดีกับที่มันเป็นตลาดขาขึ้นด้วย เขาเลยฟื้นฟูความมั่งคั่งของตัวเองอย่างรวดเร็ว

ทำกำไรระดับตำนานอีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1929 ลิเวอร์มอร์สังเกตว่าตลาดหุ้นสหรัฐมีลักษณะที่ “คล้าย” กับปี 1907 อีกครั้งหนึ่ง เขาจึงขายชอร์ตหุ้นทั้งหมดด้วยเงินทั้งหมดที่มี พร้อมกับทำการยืมเงินโบรกเกอร์มาขายชอร์ตอีกด้วย

เรียกได้ว่าในช่วงนั้นลิเวอร์มอร์มีเงินเท่าไร เขาก็ขายชอร์ตจนหมด เพราะมั่นใจอย่างเต็มเหนี่ยวว่าหุ้นต้องลงแน่ๆ พังแน่นอน

ทุกสิ่งก็เป็นอย่างที่เขาคิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์ Black Tuesday (อังคารทมิฬ) มาถึง ตลาดหุ้นสหรัฐลงไม่หยุดติดต่อกัน 1 อาทิตย์ ในวันที่ 28 และ 29 ตุลาคม ดัชนีดาวโจนส์ติดลบ 12.82% และ 11.73% ตามลำดับ

การลงแบบรุนแรงเช่นนั้นทำให้นักลงทุนในตลาดสหรัฐขาดทุนยับเยินไปแทบทุกคน ข่าวลือเรื่องตลาดหุ้นพังทลายกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงภรรยาของลิเวอร์มอร์ด้วย

เธอเตรียมตัวไว้แล้วว่าจะต้องขายบ้านทิ้ง และกลับไปใช้ชีวิตธรรมดาๆ ตามเดิม เธอจึงเตรียมกระเป๋าไว้เรียบร้อยรอสามีกลับมาบ้าน

การลงของดัชนีดาวโจนส์ในช่วง Black Tuesday

เมื่อลิเวอร์มอร์ถึงบ้าน เขาถามว่าภรรยาจะเก็บกระเป๋าไปที่ใด ภรรยาตอบว่า เธอได้ยินข่าวมาว่า ตลาดหุ้นพังพินาศในช่วงนี้ เธอคิดว่าสามีน่าจะเสียเงินจำนวนมาก และต้องขายบ้านแน่ๆ

ลิเวอร์มอร์กลับหัวเราะ เขากล่าวกลับภรรยาว่า วันนี้เป็นวันที่เขาได้เงินมากที่สุดในชีวิต

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นคือ เขาได้ทำการขายชอร์ตด้วยเงินจำนวนมาก เมื่อหุ้นลง กำไรจำนวนมหาศาลจึงตกเป็นของเขา โดยรวมแล้วลิเวอร์มอร์ได้เงินมากกว่า 100 ล้านเหรียญเลยทีเดียว (มูลค่าในปัจจุบันน่าจะประมาณ 1-2 พันล้านเหรียญ)

นักลงทุนรวมตัวกันที่ Wall Street หลังจากที่ตลาดหุ้นพังทลาย

โรคซึมเศร้า

ถึงแม้ลิเวอร์มอร์จะผ่านอะไรมามากมาย แต่ทั้งตัวเขาเอง และลูกๆของเขาด้วยกลับมีอาการ Depression หรือโรคซึมเศร้าที่เขาเป็นมาตั้งแต่วัยหนุ่ม

หลังจากได้เงินจำนวนมหาศาลในปี ค.ศ.1929 ลิเวอร์มอร์กลับมีอาการซึมเศร้าที่หนักมากขึ้นปัจจัยที่ทำให้อาการดังกล่าวแย่ลงคือ ชีวิตครอบครัวของเขาที่ล้มเหลว เขามีภรรยาสามคน โดยหย่าไป 2 ครั้ง

อาการดังกล่าวทำให้ชีวิตของเขาแย่ลง เขาเสียเงินเกือบทั้งหมดไปอีกครั้งด้วยสาเหตุที่ไม่มีผู้ใดทราบ สิ่งที่เป็นไปได้คือ โรคซึมเศร้าทำให้เขาเริ่มไม่สนใจการซื้อขายหุ้นอีกต่อไป และละเมิดกฎของตนเองที่ตั้งไว้ (อีกแล้ว) ลิเวอร์มอร์ที่อายุมากขึ้นก็เหมือนจะใช้เวลาอยู่ในโลกของตัวเองมากยิ่งขึ้น และไม่มีใครนำเขาออกมาได้

หากแต่ว่าในปลายปี ค.ศ.1939 บุตรชายของเขาได้แนะนำให้พ่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการซื้อขายหุ้น ลิเวอร์มอร์เขียนหนังสือเสร็จสิ้นและตีพิมพ์ในชื่อ “How to Trade in Stocks” ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1940

แต่หนังสือขายไม่ดีเท่าไรนัก เพราะว่าตลาดหุ้นสหรัฐย่ำแย่มานานจากเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ (Grand Depression) และกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ 1940 ลิเวอร์มอร์ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างหนักได้ลั่นไกปืนสังหารชีวิตตนเองในโรงแรมแห่งหนึ่ง เขามีอายุได้ 63 ปี

มีผู้กล่าวหาว่าลิเวอร์มอร์เจ๊งหุ้นเลยฆ่าตัวตาย นั่นเป็นคำกล่าวหาที่ไม่เป็นจริง เพราะเมื่อเขาเสียชีวิต เขาเหลือทรัพย์สินมากกว่า 5 เหรียญสหรัฐให้กับภรรยาและลูก ถึงแม้เขาจะใช้เงินแบบล้างผลาญในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตก็ตาม

อย่างไรก็ตามเรื่องของเขาจึงเป็นสิ่งที่สอนใจเหล่านักเก็งกำไรในเรื่องของการบริหารเงินได้เป็นอย่างดี

วิธีการซื้อขายหุ้นของลิเวอร์มอร์มีหัวใจสำคัญว่า

  1. อย่าเชื่อคนอื่น/พึ่งพาคนอื่น
  2. รู้จักป้องกันความเสี่ยงด้วยการ Cut Loss และทำกำไรด้วยการอยู่เฉยๆ เมื่อเทรดดังกล่าวเป็นไปด้วยดี
  3. เทรดในเวลาที่ตนเองได้เปรียบเท่านั้น

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!