ประวัติศาสตร์ซาริซามาเรีย มารดาของซาร์องค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย ชีวิตที่จากสุขสู่ทุกข์

ซาริซามาเรีย มารดาของซาร์องค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย ชีวิตที่จากสุขสู่ทุกข์

เธอเป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉมผู้หนึ่ง เดิมทีเธอไม่ได้ถูกลิขิตให้แต่งงานกับเขา แต่โชคชะตาก็นำพาให้เธอและเขาได้แต่งงานกัน

เธอไม่รู้เลยว่าการแต่งงานดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเศร้า ความปวดร้าวที่ยากจะทนทานได้ เพราะเขาจากเธอไปอย่างกะทันหัน และไม่ได้อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า

เธอมีลูกชายกับเขาสี่คน แต่ไม่มีใครเลยที่อยู่ดูแลเธอในวาระสุดท้าย เพราะทุกคนต่างจากโลกนี้ไปก่อนเธอทั้งหมด รวมไปถึงหลานๆ ทั้งห้าของเธอด้วย

ในวัยชราภาพ เธอถูกสถานการณ์บังคับให้ออกจากประเทศที่เธอรักยิ่งกว่าสิ่งใด เธอตั้งความปรารถนาไว้ก่อนจะสิ้นลมว่า ในอนาคตกาล เธอหวังจะให้ร่างของเธอได้ถูกฝังลงเคียงข้างเขาใต้ผืนแผ่นดินที่เธอรักมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง หลายสิบปีต่อมาความปรารถนาของเธอก็เป็นจริง

เธอผู้นั้นคือ ซาริซามาเรีย ฟยอดอรอฟนา (Мария Фёдоровна) หนังสือบางเล่มมักเรียกเธอด้วยชื่อแบบฝรั่งเศสว่า “มารี” เธอคือพระมารดาของซาร์นิโคลัสที่ 2 ซาร์พระองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย แกรนด์ดยุคไมเคิล อเล็กซานดรอวิช และ แกรนด์ดัชเชสโอลกา อเล็กซานดรอฟนา

ซาริซามาเรีย

หมายเหตุ: “มาเรีย” ในบทความนี้คือ ซาริซามาเรีย มารดาของนิโคลัสไม่ใช่ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย นิคาลาเยฟนา บุตรสาวคนที่ 3 ของนิโคลัสที่สิ้นชีวิตที่บ้านอิปาติเยฟ

คู่หมั้นที่ไม่ได้คู่กัน

ซาริซามาเรียมีนามเดิมว่า แดคมาร์ (Dagmar) เธอเป็นธิดาของกษัตริย์คริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าหญิงหลุยส์แห่งเฮส-แคสเซล แดคมาร์เกิดในปี ค.ศ.1847 ในเมืองโคเปนเฮเกน

เมื่อแดคมาร์เกิด บิดาของเธอยังไม่ได้ราชสมบัติ ทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่อย่างธรรมดามากๆ เพราะสายตระกูลของเธอห่างจากกษัตริย์เดนมาร์กมาพอสมควรแล้ว

แต่ในปี ค.ศ.1852 คริสเตียน บิดาของแดคมาร์กลับถูกเลือกให้เป็นรัชทายาทและได้ขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา แดคมาร์จึงกลายเป็นเจ้าหญิงอย่างเต็มตัว แดคมาร์มีพี่สาวที่เธอรักมากชื่อ อเล็กซานดรา ผู้กลายเป็นราชินีแห่งอังกฤษในเวลาต่อมา

ในช่วงปี ค.ศ.1864 แดคมาร์เติบโตเป็นสาวสวยวัยสะพรั่ง การที่เธอเป็นเจ้าหญิงจากเดนมาร์กทำให้อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ซาร์แห่งรัสเซียหมายใจว่าจะให้เธอแต่งงานกับเซซาร์เรวิชนิโคลัส บุตรคนโตและรัชทายาทสืบบัลลังก์รัสเซีย เพราะอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ไม่ปรารถนาให้เซซาร์นิโคลัสมีภรรยาเป็นชาวเยอรมัน ตามกระแสต่อต้านเยอรมนีในรัสเซีย ณ เวลานั้น

รูปถ่ายของแดคมาร์และเซซาร์เรวิชนิโคลัส

การสู่ขอและหมั้นหมายจึงเริ่มต้นขึ้น ในปีเดียวกันนั้นแดคมาร์ก็ได้หมั้นหมายอย่างเป็นทางการกับเจ้าชายหนุ่มผู้นี้

(เซซาร์เรวิชนิโคลัสผู้นี้มีชื่อเหมือนกับซาร์นิโคลัสที่ 2 ทุกประการ นั่นก็คือนิโคลัส อเล็กซานดรอวิช แต่ทั้งสองคือคนละคนกัน เซซาร์เรวิชนิโคลัส หรือ นิคซา มีศักดิ์เป็นลุงของซาร์นิโคลัสที่ 2)

นิโคลัสเป็นชายหนุ่มที่มารยาทงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย เขาฉลาดทันคน และยังมีหัวก้าวหน้าอีกด้วย เมื่อหมั้นหมายกัน เขามีอายุเพียง 20 ปี ส่วนแดคมาร์อายุ 17 ปี เมื่อหมั้นหมายได้ไม่นาน แดคมาร์ก็ตกหลุมรักนิโคลัสเข้าเต็มเปา

แต่แล้วฟ้าก็เหมือนกลั่นแกล้ง

เซซาร์เรวิชนิโคลัสล้มป่วยลงหลังจากหมั้นหมายได้ไม่นาน เชื่อกันว่าโรคที่เขาเป็นคือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือไม่ก็วัณโรค อาการของเขาย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว นิโคลัสถูกส่งตัวไปรักษาตัวโดยด่วนที่ฝรั่งเศส แต่สุดท้ายอาการของเขาก็ยากที่จะพยุงได้อีกต่อไป อเล็กซานเดอร์ ครอบครัวทุกคน รวมไปถึงแดคมาร์ด้วยต่างรีบมายังฝรั่งเศสเพื่อมาดูใจเขา

สิ่งที่แดคมาร์พบคือ ชายที่เธอรักกำลังอาเจียนอย่างหนักจากยาที่กินเข้าไป แดคมาร์ดูแลเขาด้วยการลูบที่คอและตบหลังให้กับเขาเบาๆ

ภายในวันรุ่งขึ้น แพทย์เรียกทุกคนมายังหน้าเตียงของนิโคลัสทันที นิโคลัสกำลังจะจากไปในอีกไม่กี่นาทีนี้แล้ว

ก่อนที่เขาจะจากไป นิโคลัสกอดอเล็กซานเดอร์ น้องชายของเขาไว้แน่น และเอี้อมมือที่อ่อนแรงไปนำมือของแดคมาร์ คู่หมั้นของเขามาใส่ในมือของอเล็กซานเดอร์ และเอ่ยความหวังสุดท้ายว่า เขาหวังที่จะให้แดคมาร์แต่งงานกับอเล็กซานเดอร์ น้องชายของเขา ผู้ที่จะขึ้นเป็นเซซาร์เรวิชแทนที่นิโคลัส หลังจากที่นิโคลัสล่วงลับไปแล้ว

หลังจากนั้นนิโคลัสก็สิ้นใจ

แดคมาร์เขียนความรู้สึกของเธอในจดหมายถึงบิดาว่า

ฉันขอบคุณพระเจ้าที่เธอมาหาเขาทันเวลา ที่รักของฉัน เขาจำฉันได้ในนาทีสุดท้ายของเขา ฉันจะไม่มีวันจำสายตาที่เขามองฉันเมื่อฉันเดินเข้าไปหาเขา ไม่ ไม่มีวัน จักรพรรดิและจักรพรรดินีผู้น่าสงสาร ทั้งสองดูแลฉันเป็นอย่างดี เหล่าน้องชายของเขาเสียใจมาก โดยเฉพาะซาชาที่รักเขามากไม่ใช่เฉพาะในฐานะพี่ชาย แต่ในฐานะเพื่อนคนเดียวและเพื่อนที่ดีที่สุดด้วย มันเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับเขา เพราะเขาต้องอยู่ในตำแหน่งของพี่ชายของเขาแล้ว

สำหรับอเล็กซานเดอร์ (ซาชา) แล้วนั้น การจากไปของพี่ชายของเขาทำให้เขาตกตะลึงไปเลย เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องเป็นซาร์ และจะต้องแต่งงานกับคู่หมั้นของพี่ชายด้วย

แต่งงานกับ “เขา”

การที่แดคมาร์อยู่ในเหตุการณ์การจากไปของนิโคลัสทำให้ทุกคนในราชวงศ์โรมานอฟต่างรู้สึกใกล้ชิดกับแดคมาร์มาก หลังจากนั้นสถานะของเธอจึงเหมือนกับสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง อเล็กซานเดอร์ที่ 2 จึงต้องการให้อเล็กซานเดอร์ บุตรชายและรัชทายาทคนใหม่ทำตามคำสั่งเสียของพี่ชาย นั่นก็คือแต่งงานกับแดคมาร์

หากแต่ว่าอเล็กซานเดอร์เองยังหลงรักนางสนองพระโอษฐ์คนหนึ่งอยู่ เขาลุ่มหลงเธอมากจนถึงกับแอบให้ข้ารับใช้คนหนึ่งไปขโมยรองเท้าของเธอมามอบให้กับเขา และเคยเกริ่นๆ กับบิดามารดาว่าจะยอมสละตำแหน่งรัชทายาทเพื่อไปแต่งงานกับนางสนองพระโอษฐ์ผู้นี้

หนึ่งปีผ่านไป อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ต้องการให้อเล็กซานเดอร์เดินทางไปโคเปนเฮเกนเพื่อสู่ขอแดคมาร์เหมือนกับที่พี่ชายเคยทำมาแล้ว แต่อเล็กซานเดอร์ปฏิเสธ อเล็กซานดราอ้างว่าไม่ได้รักแดคมาร์ และในหัวใจของเขามีคนอื่นอยู่แล้ว

อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ได้ฟังเช่นนั้นก็โกรธจัด เขาไล่บุตรชายไปเดนมาร์กเพื่อเจรจางานหมั้นทันที อเล็กซานเดอร์ไม่อาจจะขัดบิดาได้จึงยอมทำตาม ระหว่างนั้นอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ก็สั่งให้นางสนองพระโอษฐ์ผู้นั้นออกจากรัสเซียไปเสีย เพื่อปิดโอกาสที่บุตรชายจะกลับมาลุ่มหลงเธอเหมือนเดิม

หลังจากกลับมาจากเดนมาร์ก ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างอเล็กซานเดอร์ และแดคมาร์จะดีขึ้น อเล็กซานเดอร์เริ่มตกหลุมรักแดคมาร์ และเพ้อถึงเธอบ่อยๆ

สำหรับแดคมาร์แล้ว อเล็กซานเดอร์ต่างกับนิโคลัสคนรักเก่าของเธออย่างมาก เขามีร่างกายสูงใหญ่ นิสัยแข็งกระด้างแบบทหาร เขาไม่ชอบเต้นรำ รวมไปถึงเกลียดงานสังคมและความฟุ่มเฟือยเป็นที่สุด แต่อเล็กซานเดอร์มีตวามซื่อสัตย์ ความจริงใจ เขาศรัทธาในศาสนามาก และที่สำคัญที่สุดคือ เขารักเดียวใจเดียว อันเป็นคุณสมบัติที่เชื้อพระวงศ์ชายในราชวงศ์โรมานอฟไม่ค่อยจะมี

รูปงานหมั้นของอเล็กซานเดอร์และแดคมาร์

งานแต่งงานของอเล็กซานเดอร์และแดคมาร์จัดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1866 ที่โบสถ์ในพระราชวังฤดูหนาว อเล็กซานเดอร์และแดคมาร์จึงกลายเป็นสามีภรรยากันอย่างเป็นทางการ แดคมาร์ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นรัสเซียนออโธดอกซ์เพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นซาริซาต่อไปในวันข้างหน้า เธอได้เลือกชื่อว่า

มาเรีย ฟยอดอรอฟนา

ชีวิตเจ้าหญิงรัชทายาท

ด้วยความที่มาเรียชอบเข้าสังคมและยิ้มเก่ง ทำให้เธอเข้าสังคมรัสเซียได้ดีมาก เธอเรียนรู้ที่จะพูดภาษารัสเซียได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนในสังคมเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กต่างยอมรับและเคารพเธอในฐานะเซซาเรฟนา หรือ เจ้าหญิงรัชทายาท

เมื่อเธอเข้ามาถึงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กนั้น ปวงชนรัสเซียต้อนรับเธออย่างกระตือรือร้นมาก มาเรียเองเฉลียวฉลาดมาก เธอเลือกที่จะใส่ชุดพื้นบ้านแบบรัสเซีย และโปรยยิ้มให้ปวงชนทุกคน ทำให้เธอชนะใจพสกนิกรของเธอในบัดดล

ผู้เห็นเหตุการณ์บรรยายบรรยากาศว่า

ไม่บ่อยนักที่เจ้าหญิงต่างชาติจะได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นเช่นนี้ จากวินาทีแรกที่เธอเหยียบลงบนแผ่นดินรัสเซีย เธอประสบความสำเร็จในการครอบครองหัวใจทุกดวง

ชีวิตแต่งงานของอเล็กซานเดอร์และมาเรียเป็นไปอย่างมีความสุข ทั้งสองอยู่เคียงข้างกันตลอดเวลา ในเวลาที่มาเรียกลับไปเยี่ยมบ้านของเธอ อเล็กซานเดอร์จะรู้สึกเหงาหงอยและขาดอะไรไป เขามักจะหมกตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อรอเธอกลับมา

มาเรียเอาชนะแรงกดดันต้องการให้เธอมีบุตรชายอย่างรวดเร็ว เธอให้กำเนิดนิโคลัสในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1868 ตามมาด้วยอเล็กซานเดอร์ ในปี ค.ศ.1869 แต่อเล็กซานเดอร์กลับล้มป่วยและสิ้นชีวิตลงตั้งแต่ยังเป็นทารก หลังจากนั้นเธอมีบุตรอีกสี่คนได้แก่ จอร์จ เซเนีย ไมเคิล และโอลกา

ครอบครัวอันแสนสุข

ในฐานะเซซาเรฟนา มาเรียไม่ยุ่งเกี่ยวในเรื่องการเมือง แม้เธอจะเป็นคนฉลาดมากๆ ก็ตาม เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลลูกๆ และช่วยเหลือเงินสังคม รวมไปถึงเป็นประธานในงานสังสรรค์ต่างๆ

มาเรียอยู่ในตำแหน่งซาเรฟนาอยู่นานเกือบ 15 ปี ในปี ค.ศ.1881 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ถูกพวกนักปฏิวัติลอบปลงพระชนม์จนสวรรคต อเล็กซานเดอร์จึงขึ้นเป็นซาร์สืบต่อในนามซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 มาเรียจึงขึ้นนั่งบัลลังก์เคียงคู่ในฐานะซาริซา หรือ ซาริซามาเรีย ฟยอดอรอฟนา

เธอกลับไม่รู้สึกยินดีเท่าไรนัก เธอไม่เคยลืมภาพซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแรงระเบิดได้เลย เธอเขียนในไดอารี่ของเธอว่า ช่วงเวลาดีๆและมีความสุขผ่านพ้นไปแล้ว จากนี้เธอคงต้องเป็นกังวลเกี่ยวกับสามีของเธอตลอดไป

ซาริซาแห่งรัสเซีย

อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ย้ายครอบครัวของเขาไปอาศัยอยู่ที่พระราชวังกัตชินาที่นอกเมืองเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเป็นการถาวร เพราะว่าเขาเกรงว่าพวกนักปฏิวัติจะทำร้ายมาเรียและลูกๆ ของเขา

มาเรียเมื่อเธอมีอายุมากขึ้น

ลูกๆ ของทั้งสองจึงเติบโตขึ้นที่พระราชวังแห่งนี้เอง

ในขณะที่อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เป็นบิดาที่ดุและเข้มงวดมาก มาเรียเป็นแม่ที่ใจดีและคอยปลอบลูกๆ เสมอยามที่พวกเขาร้องไห้ มาเรียให้ความสำคัญกับการศึกษาของพวกเขามาก บ่อยครั้งที่เธอจะมาควบคุมดูแลด้วยตนเอง

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งนิโคลัส บุตรชายของเธอโตเป็นหนุ่ม เขาแสดงเจตจำนงว่าต้องการกับเจ้าหญิงอลิซแห่งเฮส (ต่อมาคือซาริซาอเล็กซานดรา) ทั้งอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และมาเรียไม่เห็นด้วยเลย เพราะเห็นว่าอลิซขี้อายเกินไป และดูเป็นคนแปลกๆ เธอไม่น่าจะเหมาะสำหรับตำแหน่งซาริซาแห่งรัสเซียที่ต้องออกงานสังคมบ่อยๆ

นับว่าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 และมาเรียมองอนาคตได้ทะลุปรุโปร่งเลยทีเดียว

ทั้งสองพยายามให้นิโคลัสมองตัวเลือกอื่น เช่นเจ้าหญิงปรัสเซีย แต่นิโคลัสปฏิเสธทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยขัดบิดามารดาเลยสักครั้งเดียว

ในปี ค.ศ.1894 อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ล้มป่วยด้วยโรคไตและมีอาการย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อเล็กซานเดอร์และมาเรียจึงเลิกที่จะขัดขวางนิโคลัสต่อไป และอนุญาตให้เขาแต่งงานกับอลิซได้ตามคำขอ

ไม่กี่เดือนต่อมา อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ประชวรหนักจวนจะสวรรคต มาเรียเฝ้าอยู่รอบกายเขาไม่ห่าง จนกระทั่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1894 อเล็กซานเดอร์ที่ 3 หมดลมหายใจในอ้อมกอดของมาเรีย ภรรยาที่เขารักเพียงหนึ่งเดียว ในเวลานั้นอเล็กซานเดอร์ที่ 3 อายุได้เพียง 49 ปีเท่านั้น

การที่อเล็กซานเดอร์ที่ 3 จากไปด้วยอายุที่ไม่มากนัก ทำให้มาเรียเสียใจมาก เธอสลบไปในอ้อมกอดของอลิซ ผู้ที่กำลังจะมาเป็นบุตรสะใภ้ของเธอในไม่ช้า

ในฐานะมารดาของจักรพรรดิ

มาเรียรู้สึกกังวลไม่น้อยเพราะว่านิโคลัส บุตรชายคนโตของเธอไม่มีประสบการณ์เลย ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา มาเรียได้ศึกษารัสเซียและสภาพความเป็นอยู่อย่างดี และเธอรู้ดีว่าถ้าราชวงศ์จัดการทุกอย่างผิดพลาด การปฏิวัติจะตามมา และทำลายทุกสิ่ง

นิโคลัสเป็นคนอ่อนแอ ต่างจากบิดาของเขาที่ปกครองรัสเซียด้วยกำปั้นเหล็ก มาเรียจึงพยายามคอยช่วยเหลือนิโคลัสในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ มาเรียเป็นคนฉลาด เธอให้คำแนะนำดีๆ แก่บุตรชายของเธอหลายอย่าง แต่บางครั้งนิโคลัสไม่อาจจะนำไปใช้ได้ เพราะว่าพวกแกรนด์ดยุคที่มีศักดิ์เป็นอาของนิโคลัสมีอิทธิพลมากในราชสำนัก (เช่น เซอร์เกย์) และให้คำแนะนำที่ตรงกันข้ามกับคำแนะนำของเธอ

มาเรียเคยแนะนำให้นิโคลัสเลิกงานเลี้ยงทั้งหมดหลังเกิดโศกนาฏกรรมที่ทุ่ง Khodynka และไปเยี่ยมประชาชน แต่พวกแกรนด์ดยุคเหล่านี้ยืนกรานว่านิโคลัสควรจะไปงานเลี้ยง นิโคลัสไม่อาจจะขัดพวกแกรนด์ดยุคนี้ได้ ผลที่ตามมาคือ ภาพลักษณ์ของนิโคลัสพังพินาศยับเยิน

มาเรียและนิโคลัสบุตรชายของเธอ

หลังจากที่นิโคลัสแต่งงานกับอลิซ (อเล็กซานดรา) และขึ้นครองบัลลังก์รัสเซีย มาเรียพบว่าเธอกับอเล็กซานดราไม่ถูกกันอย่างรุนแรง มาเรียที่เพิ่งเสียสามีไปจึงต้องการให้นิโคลัส ลูกชายคนโตอยู่กับเธอมากๆ เช่นเดียวกับอเล็กซานดราที่ต้องการอยู่กับสามีให้มากที่สุด นั่นทำให้มาเรียทำสงครามกับอเล็กซานดราเพื่อแย่งชิงเวลาของนิโคลัสไปโดยปริยาย

นานวันเข้ามาเรียก็มีปัญหากับอเล็กซานดราในเรื่องอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่เรื่องทรัพย์สิน เรื่องศักดิ์ศรี ไปจนถึงเรื่องความนิยม อเล็กซานดราไม่เคยเป็นที่นิยมในสังคมรัสเซีย ในขณะที่มาเรียเป็นที่นิยมมาก การเปรียบเทียบระหว่างทั้งสองจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในหมู่ชาวรัสเซีย สิ่งนี้มีส่วนสำคัญยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองย่ำแย่ลงไปอีก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว มาเรียสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับอเล็กซานดราได้

ความตึงเครียดระหว่างเธอกับอเล็กซานดราทำให้มาเรียตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตที่เดนมาร์ก บ้านเกิดของเธอมากขึ้น แต่เธอยังคงติดต่อกับนิโคลัสอยู่ตลอดเวลา การที่เธอไม่อยู่ที่รัสเซียทำให้อเล็กซานดราขยายอิทธิพลมากขึ้นในราชสำนักโดยไม่มีใครขัดขวาง และมาเรียไม่สามารถใช้ประสบการณ์ของเธอในการช่วยราชวงศ์ได้

สิ่งที่ทำให้มาเรียเสียใจมากเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.1899 จอร์จ บุตรชายของเธอที่ป่วยเป็นวัณโรคได้สิ้นชีวิตลง นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจกลับไปพำนักที่เดนมาร์ก หรืออังกฤษที่พี่สาวคนสนิทของเธอเป็นราชินีอยู่บ่อยๆ เพื่อคลายความกังวลและความเสียใจ

แย่งชิงอำนาจ

มาเรียเกลียดชังรัสปูตินมาก เธอคิดว่าเขาเป็นพวกนอกรีตที่จะส่งผลร้ายต่อราชวงศ์ เธอส่งจดหมายขอให้นิโคลัสและอเล็กซานดรากำจัดเขาออกไปจากราชสำนัก แต่ทั้งสองไม่ทำตาม

อเล็กซานดราส่งจดหมายปฏิเสธกลับมาให้เธอ มาเรียจึงเริ่มสัมผัสได้ว่าหายนะกำลังมาเยือนราชวงศ์โรมานอฟในไม่ช้า เธอเคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

ลูกสะใภ้ที่น่าสงสารของฉันไม่รู้ตัวว่าเธอกำลังทำลายราชวงศ์และตัวเธอเอง เธอเชื่ออย่างสนิทใจในความศักดิ์สิทธิ์ของนักผจญภัยผู้นั้น พวกเราไม่มีอำนาจที่จะปัดเป่าความชั่วร้ายนี้ ซึ่งมันต้องมาถึงอย่างแน่นอน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้น มาเรียเดินทางกลับมายังรัสเซียและทำหน้าที่เป็นประธานขององค์กร Red Cross ระหว่างนี้เองเธอทราบถึงอิทธิพลของอเล็กซานดราที่แทรกแซงการเมืองโดยทำตามคำแนะนำของรัสปูติน

หลังจากที่นิโคลัสไปทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่กองบัญชาการใหญ่ อเล็กซานดราได้ใช้อิทธิพลของเธอกับนิโคลัสในการปลดทุกคนที่ต่อต้านรัสปูติน และแต่งตั้งคนที่รัสปูตินแนะนำให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทำให้เกิดความไม่พอใจโดยทั่วไป

มาเรียและแกรนด์ดยุคหลายคนเห็นว่าไม่ได้การ ถ้าปล่อยไว้น่าจะเกิดการปฏิวัติในรัสเซียได้ ทุกคนจึงร่วมมือกันจัดตั้งกลุ่มลับขึ้นมาอย่างเงียบๆ ขึ้นที่เคียฟ กลุ่มนี้เรียกง่ายๆว่าเป็นกลุ่มแอนตี้อเล็กซานดราก็ได้ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนี้คือแกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ หรือเอลลา พี่สาวของอเล็กซานดราเอง และยังมีแกรนด์ดยุคนิโคลัสอีกคนหนึ่ง

กลุ่มแอนตี้อเล็กซานดราพยายามตักเตือนนิโคลัสในเรื่องดังกล่าว แต่นิโคลัสปฏิเสธที่จะทำตาม สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มแอนตี้อเล็กซานดราวางแผนว่าจะใช้วิธีการเด็ดขาดในการจัดการกับอเล็กซานดราและรัสปูติน กล่าวคือมาเรียจะยื่นคำขาดให้นิโคลัสไล่รัสปูตินออกจากเมืองหลวง มิฉะนั้นเธอจะเดินทางออกจากกรุงเปโตรกราด

เมื่อเธอออกจากเปโตรกราดแล้วจะเป็นสัญญาณให้กองทหารจะเข้ายึดอำนาจนิโคลัสและอเล็กซานดรา

แต่อเล็กซานดรากลับทราบแผนการทั้งหมดเสียก่อน เธอจึงขอให้นิโคลัสเชิญมาเรียไปอยู่ที่เมืองเคียฟ มาเรียเลยต้องเดินทางไปเมืองเคียฟตามคำขอของบุตรชาย เธอไม่ได้กลับมาเปโตรกราดอีกเลย

การที่เธออยู่ที่เคียฟเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอรอดชีวิต

เมื่อมาเรียเดินทางไปเคียฟ แกรนด์ดยุคที่สนับสนุนเธอจึงแห่ตามเธอไปติดๆ เหตุการณ์กลายเป็นว่ากลุ่มที่อยู่ที่เปโตรกราดสนับสนุนอเล็กซานดรา ส่วนกลุ่มที่เคียฟสนับสนุนมาเรีย โดยกลุ่มหลังนั้นมีเหล่าเชื้อพระวงศ์โรมานอฟที่เหลือทั้งหมดนอกจากนิโคลัส อเล็กซานดรา และลูกๆ ทั้งห้าเท่านั้น

ระหว่างที่อยู่ที่เคียฟ มาเรียยังคงทำงานเกี่ยวกับ Red Cross ของเธอต่อไป แต่ก็ยังคงปรึกษากันว่าจะจัดการอย่างไรกับอเล็กซานดราอยู่เนืองๆ

กลุ่มแอนตี้อเล็กซานดราได้สังหารรัสปูตินในปลายปี ค.ศ.1916 มาเรียถูกเชิญให้กลับไปยังกรุงเปโตรกราด แต่มาเรียปฏิเสธ เธอกล่าวประโยคหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเธอเกลียดอเล็กซานดราเข้ากระดูกดำ

อเล็กซานดรา ฟยอดอรอฟนาต้องถูกกำจัด ฉันไม่รู้ว่าจะทำอะไร มิฉะนั้นเธอคงเป็นบ้า ให้เธอไปอยู่ในสำนักชี หรือไม่ก็หายไปเลยก็ได้

Empress Dowager Maria

สู่ไครเมีย

กลุ่มแอนตี้อเล็กซานดราไม่สามารถหยุดยั้งการปฏิวัติได้ การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นและนำมาซึ่งการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ นิโคลัสขอให้มาเรียเดินทางมาหาเขาที่ Mogilev หลังจากที่สละราชสมบัติไปแล้ว

การพบหน้านิโคลัสครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้พบหน้าบุตรชายคนโต การลาจากครั้งนั้นเป็นการลาจากชั่วนิรันดร์ เพราะในอีกปีเศษ นิโคลัสจะสิ้นชีวิตในบ้านอิปาตเยฟพร้อมกับอเล็กซานดราและลูกๆ ของเขา

หลังจากที่แยกกับนิโคลัสแล้ว มาเรียก็กลับมายังเคียฟตามเดิม แกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ บุตรเขยของเธอเสนอให้เธอเดินทางไปไครเมีย เพราะสถานการณ์ที่เคียฟดูไม่ปกติ และเธออาจจะเป็นอันตรายได้ เธอยินยอมทำตามคำแนะนำของเขา

ในวัย 70 ปี อดีตซาริซามาเรียก็เดินทางไปยังไครเมีย ภายในเวลาไม่นาน เธอและทุกคนก็ถูกพวกบอลเชวิคจับกุม

อดีตซาริซามาเรียจะรอดชีวิตได้อย่างไร ติดตามได้ใน วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ ภาค The Survivors

หนังสืออ้างอิงอยู่ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!