ธุรกิจตลาดหุ้นฟองสบู่ดอทคอม (Dot-Com Bubble) เมื่อนักลงทุนบ้าเห่อตามกระแส

ฟองสบู่ดอทคอม (Dot-Com Bubble) เมื่อนักลงทุนบ้าเห่อตามกระแส

“เห่อตามกระแส” เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากชอบเป็น เช่น ร้านอาหารร้านนี้เปิดใหม่ มีการพูดกันปากต่อปากว่าร้านนี้อร่อย คนจึงแห่กันไปกินกันยกใหญ่ ทำให้คนล้นออกมานอกร้านเป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างที่ชัดเจนกว่าเช่น หลายปีก่อน คนไทยจำนวนมากคลั่งไคล้ใน ตุ๊กตาลูกเทพ จนมีกระแสแห่ซื้อมากมาย ทำให้ราคาของมันสูงขึ้นตามลำดับ

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือตุ๊กตาลูกเทพก็จะตกลงมาสู่ความเป็นจริงของมัน

การเห่อตามกระแสไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย ในต่างประเทศก็มีการเห่อตามกระแสเช่นเดียวกัน และการบ้าเห่อก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สินค้าที่จับต้องได้ (เช่น อาหาร หรือ ตุ๊กตา) แต่รวมไปถึงสินทรัพย์ทางการเงินอย่างหุ้นอีกด้วย

เหตุการณ์บ้าเห่อหรือตามกระแสเช่นนี้ บางทีเรียกว่า “The Madness of Crowds” หรือความบ้าคลั่งของฝูงชน ซึ่งเรื่องแบบนี้มีการศึกษามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว เช่นหนังสือเรื่อง Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds ที่เขียนโดย Charles Mackay ตั้งแต่ปี ค.ศ.1841 โน่นเลย

หนึ่งในความบ้าเห่อที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเงินโลก คือ “ฟองสบู่ดอทคอม” หรือ “Dot-Com Bubble”

มันคืออะไรกันแน่?

ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก Cr: Wikipedia

บ้าเห่อดอทคอม

ในยุค ค.ศ.1990s การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา นักลงทุนจำนวนมากคิดว่าทั้งสองสิ่งจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกให้เป็นแบบใหม่

นักลงทุนเหล่านี้ต่างอยากทำกำไรกับบริษัทเหล่านี้ด้วย พวกเขาจึงเข้าซื้อหุ้นของบริษัทอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

บริษัทเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกจริงๆ ตามที่คาด และสร้างผลตอบแทนมากมายให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในพวกมันก่อน

เช่นถ้าเราลงเงินใน Amazon ตั้งแต่มันยังเป็นบริษัทเล็กๆ และถือไว้จนมันเป็นบริษัทใหญ่ เราย่อมทำกำไรมหาศาล

นานวันเข้าการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีก็กลายเป็น “กระแส” บุคคลทั่วไปที่ไม่เคยซื้อขายในตลาดหุ้นมาก่อนได้ยินว่ามีคนทำเงินได้มหาศาลจากหุ้นเหล่านี้ พวกเขาจึงนำเงินแห่เข้ามาลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีบ้าง

นักลงทุนหน้าใหม่เหล่านี้ไม่มีความรู้เรื่องพิ้นฐานด้านการวิเคราะห์บริษัทอะไร พวกเขาจึงซื้อหุ้นเทคโนโลยีตามเพื่อน ซื้อตามนักวิเคราะห์ จะว่าไปก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการพนัน

เมื่อมีแรงซื้อเกิดขึ้น ราคาหุ้นจึงพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ กระแสก็ยิ่งโหมขึ้นอีก เพราะว่ามีคนทั่วไปที่ไม่เคยลงเงินในหุ้นมาก่อน สามารถทำเงินจำนวนมากได้จริง กระแสปากต่อปากจึงยิ่งลามไปเป็นเหมือนไฟลามทุ่ง เงินอีกเป็นแสนล้านเหรียญไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไม่หยุด โดยเฉพาะหุ้นตัวที่ลงท้ายว่า ดอทคอม (.com) อันเป็นสัญลักษณ์ว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นเทคโนโลยีนะ

สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อย จนกระทั่งหุ้นทั้งตลาด โดยเฉพาะพวกหุ้นดอทคอม อยู่ในระดับที่เรียกว่า “ฟองสบู่”

ฟองสบู่นี้จึงมีชื่อเรียกว่าฟองสบู่ดอทคอม หรือ Dot-Com Bubble นั่นเอง

ฟองสบู่คืออะไร

สภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์นั้น คือ สภาวะที่ราคาของสินทรัพย์ใดๆเช่น หุ้น ที่ดิน คริปโต หรือแม้กระทั่งทอง มีราคาสูงมากเกินไปกว่าความเป็นจริง

ทั้งนี้ เราจะมีวิธีการวิเคราะห์ราคาของหุ้นว่าถูกหรือแพงเกินไปอย่างง่ายๆ ด้วยวิธีการใช้อัตราส่วนราคาหารด้วยกำไรสุทธิของบริษัท หรือที่เรียกกันว่า P/E

หลักการของค่านี้นั้นไม่ยากอะไรเลย ลองมาดูกันครับ

นาย A มีร้านข้าวมันไก่อยู่ร้านหนึ่ง เขาขายข้าวมันไก่ได้กำไรสุทธิ 1,000,000 บาทต่อปี ดังนั้น E = 1,000,000

นาย B ได้ไปกินร้านข้าวมันไก่ของนาย ก แล้วรู้สึกว่าน่าลงทุน เขาจึงติดต่อขอซื้อร้านข้าวมันไก่ของนาย ก ทั้งหมดในราคา 15,000,000 บาท ดังนั้น P = 15,000,000

นั่นเท่ากับว่า นาย B ได้ขอซื้อที่ P/E = 15,000,000/1,000,000 = 15 เท่า

หรือมองอีกแง่มุมนึง ถ้าคิดว่ากำไรของร้านข้าวมันไก่นี้ไม่เติบโตเลย ผมจะได้ต้นทุนที่ซื้อร้านข้าวมันไก่มา ภายในเวลา 15 ปี

ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน นาย C มาซื้อต่อจากนาย B ในราคาที่สูงขึ้นที่ 20,000,000 บาท

นาย B ตัดสินใจขายทันที ดังนั้นนาย C จึงซื้อร้านข้าวมันไก่ต่อจากนาย B ที่ค่า P/E = 20

กลไกในตลาดหุ้นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน เมื่อมีผู้ต้องการจะซื้อมากๆ ค่า P/E ก็เริ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ในสภาพฟองสบู่ ค่า P/E จะอยู่ในระดับที่เวอร์มาก เช่นมีบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง (น่าจะเป็น Yahoo) ทำการซื้อขายที่ ค่า P/E = 3,400 ในปี ค.ศ.1999

เท่ากับว่า มีผู้ซื้อบริษัททำกำไร 1 ล้านบาทได้ในปีนั้น ในราคาที่มากถึง 3,400 ล้านบาท!

หรือถ้าเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่ง ถ้ากำไรของบริษัทไม่เติบโตเลย เขาต้องรอถึง 3,400 ปีกว่าจะได้ต้นทุนคืน!

ฟังดูอลังหรือไม่ละครับ นี่คือความบ้าเห่อจนไร้เหตุผลของนักลงทุนเวลานั้น

ที่นักลงทุนซื้อหุ้นที่ราคาสูงเช่นนั้นได้ก็เพราะว่า

  1. นักลงทุนรายย่อยไม่มีความรู้ในการลงทุน
  2. นักลงทุนรายใหญ่มองโลกในแง่ดีเกินไปว่า บริษัทมันจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ขนาดของบริษัทใหญ่ไล่ตามราคาของหุ้นทัน

ด้วยเหตุนี้ฟองสบู่ที่ใหญ่มหาศาลจึงกำเนิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฉวยโอกาส

การที่ราคาหุ้นพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพวกหุ้นเทคโนโลยี ทำให้ผู้บริหารบริษัทต่างๆ อยากนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อที่จะได้เงินมากๆ จากนักลงทุน

บางบริษัทเป็นบริษัท Start-Up ไม่มีแม้แต่รายได้ บริษัทเหล่านี้มีแค่แนวคิดว่าจะทำอะไร โอกาสประสบความสำเร็จก็ยังคลุมเครือ หรือ เรียกได้ว่าเป็น 0 แต่ทว่านักลงทุนที่อยู่ในกระแสดอทคอมก็ไม่สนใจ พวกเขาเกรงว่าจะพลาดโอกาสทำเงิน พวกเขาจึงเร่งซื้อหุ้นเหล่านี้ไปโดยไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ธุรกิจใดๆ เลย

เมื่อบริษัทเหล่านี้มีแค่แนวคิด ดังนั้นในทางการเงินแล้ว หุ้นของบริษัทจึงไม่มีมูลค่าใดๆ แต่มันกลับถูกซื้อขายในราคาที่สูงมาก ทำให้พวกเจ้าของบริษัทรวยไปตามๆ กัน ทำไปทำมาบางบริษัทขยันสร้างแต่หุ้นมาหลอกขายอย่างเดียว ส่วนสินค้าและบริการที่เคยโม้ไว้ก็ไม่ได้คิดจะทำ

เรื่องตลกที่สุดคือ ผู้บริหารบางบริษัทเห็นพวกบริษัทดอทคอมราคาขึ้นเร็วก็อิจฉา พวกเขาจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทให้มีคำว่าดอทคอมต่อท้ายบ้าง นักลงทุนเลเวล 1 ที่ไม่เคยศึกษาบริษัทจะได้คิดว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยี แล้วแห่ซื้อหุ้นของบริษัท ราคาหุ้นจะได้ขึ้น และพวกผู้บริหารจะได้ฉวยโอกาสขายหุ้นทำกำไร

เล่ามาถึงตอนนี้ ท่านที่เป็นนักลงทุนอาจจะสงสัยว่าแล้วพวกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกับเหล่านักวิเคราะห์หายไปไหน

พวกนักวิเคราะห์ได้ส่วนแบ่งมหาศาลจากการพุ่งขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีไร้สาระพวกนี้ ดังนั้นก็เชียร์ให้ซื้อไปสิครับ จะเชียร์ขายทำไม

คนที่อยู่ในปาร์ตี้แล้วย่อมอยากอยู่ในปาร์ตี้ตลอดไป

ส่วนเจ้าหน้าที่ตลาดทุนไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะยังไม่มีกฎหมายมาบังคับเหมือนสมัยนี้

สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ เมื่อลงทุนได้เงินง่ายๆ สบายๆ พวกเขาเริ่มจะลาออกจากงานมาซื้อขายหุ้นเต็มตัว กระแสบ้าเห่อมีอยู่ทั่วไป แม้กระทั่งคนขับแท็กซี่ พนักงานก่อสร้าง พนักงานในร้านอาหาร นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ เชฟ ทหาร ล้วนแต่แห่กันนำเงินมาซื้อหุ้นกันยกใหญ่

จุดจบ

กระแสบ้าเห่ออยู่ถึง 10 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งมีหุ้นเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบจำนวนมากมีค่าเฉลี่ยของค่า P/E สูงถึง 200 เท่า นับว่าสูงที่สุด และสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมหลายเท่า

จุดอ่อนของกระแสบ้าเห่อนี้คือ จะต้องมีคนนำเงินมาซื้อต่อในราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มี หรือ กระแสเปลี่ยนกลับไปเป็นขายแล้วนั้น ทุกอย่างจะจบเห่

เหตุการณ์ที่ว่ามาถึงในช่วงหลังของปี ค.ศ.2000 หุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายเริ่มลงไม่หยุด เมื่อหุ้นเริ่มลงแล้ว นักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะเหล่าเลเวล 1 ต่างตกใจและขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นดิ่งเร็วกว่าเดิมเสียอีก

การดิ่งของหุ้นทำให้ หุ้นที่ไม่ได้ทำกิจการอะไรเลยล้มละลาย เพราะไม่มีใคร “เติมเงิน” ให้กับหุ้นเหล่านั้นอีกต่อไป

นักลงทุนจำนวนมหาศาลเสียเงินไปในตลาดหุ้น ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นก็สูญหายไปหมดสิ้น

การพังทลายของตลาดหุ้นในปี ค.ศ.2000-2001 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เพราะว่าคนทั่วไปเสียเงินไปมากในตลาดหุ้น การจับจ่ายใช้สอยจึงลดลงนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี ค.ศ.2001

นักลงทุนหลายคนเลยจำฝังใจและเข็ดขยาดกับตลาดหุ้นไปเลย

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!