ประวัติศาสตร์อินเดียและปากีสถานขัดแย้งอะไรกัน ตอนที่สาม: สงครามแคชเมียร์

อินเดียและปากีสถานขัดแย้งอะไรกัน ตอนที่สาม: สงครามแคชเมียร์

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนก่อนหน้านี้ สามารถย้อนไปอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างครับ

แคชเมียร์

แคชเมียร์ หรือ จัมมูและแคชเมียร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ติดกับเทือกเขาหิมาลัย แคชเมียร์เป็นรัฐมหาราชาที่ใหญ่ที่สุด มหาราชาที่ปกครองอยู่คือ มหาราชาฮารี สิงห์ (Hari Singh) ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู

มหาราชาฮารี สิงห์ Cr: Vandyk, Wikimedia Commons

ในช่วงแรกมหาราชาฮารีเลือกที่จะเป็นอิสระจากทั้งอินเดียและปากีสถาน เพราะเกรงว่าถ้าพระองค์ทรงเข้ารวมกับอินเดีย ชาวมุสลิมในรัฐของพระองค์จะไม่พอใจ แต่ถ้าพระองค์ทรงเข้ากับปากีสถาน ชาวฮินดูและชาวซิกข์อาจจะเป็นอันตราย แต่ทว่าในวันที่ 11 สิงหาคม พระองค์กลับทรงปลดนายกรัฐมนตรี ราม จันทรา กัค ผู้สนับสนุนให้แคชเมียร์เป็นรัฐเอกราชไม่ขึ้นกับทั้งสองฝ่าย การปลดดังกล่าวส่งสัญญาณในไม่ช้าว่าพระองค์กำลังจะทรงเลือกข้าง โดยฝ่ายที่พระองค์น่าจะทรงเข้าด้วยคือ อินเดีย

สำหรับปากีสถานเองที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นรัฐเรียบร้อยแล้วก็ได้เตรียมการใช้กำลังกับแคชเมียร์ในกรณีที่แคชเมียร์ไปรวมกับอินเดีย แต่ปากีสถานก็ได้ส่งทูตมาเจรจากับมหาราชาฮารี สิงห์ และส่งคนเข้ามาล็อบบี้คนในรัฐบาลแคชเมียร์หลายคนที่เป็นชาวมุสลิมก่อน องค์กรมุสลิมของจินนาห์ยังแอบให้เงินสนับสนุนกับชาวมุสลิมท้องถิ่นให้จับอาวุธขึ้นต่อสู้ ปากีสถานจึงแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่ต้องการผนวกแคชเมียร์กับประเทศของตน

ในปลายปี 1947 ชาวฮินดูที่อยู่ในดินแดนปากีสถานและชาวมุสลิมที่อยู่ในอินเดียต่างอพยพข้ามพรมแดนกลับมาอีกฝั่งที่พวกเดียวกันมีจำนวนมากกว่าเพื่อความปลอดภัย (ฮินดูกลับมาอยู่อินเดีย ส่วนมุสลิมกลับไปปากีสถาน) แคชเมียร์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนของสองประเทศจึงมีผู้อพยพเหล่านี้จำนวนมาก เหล่าชาวฮินดูที่เคยอยู่ดินแดนปากีสถานต่างนำข่าวที่ชาวฮินดูถูกมุสลิมปากีสถานสังหารอย่างโหดเหี้ยมมาเล่าให้ชาวฮินดูในแคชเมียร์ฟัง พวกฮินดูเกิดบ้าคลั่งและไปล่าสังหารชาวมุสลิมในแคชเมียร์กันอลหม่าน

เมื่อชาวมุสลิมถูกสังหารจึงพากันหนีรวมกันในท้องถิ่นที่มีชาวมุสลิมมาก พวกชาวมุสลิมเชื่อว่ามหาราชาทรงอยู่เบี้องหลังการสังหารชาวมุสลิม พวกเขาจึงรวมตัวกันเป็นกบฏไม่ขึ้นกับมหาราชาอีกต่อไป ในช่วงนี้มหาราชาฮารี สิงห์จึงแจ้งไปที่อินเดียว่า พระองค์ต้องการเข้าร่วมกับอินเดีย

เดือนตุลาคมปี 1947 กองทัพปากีสถานได้รวมกับกองทัพกบฏชาวมุสลิมบุกเข้ามาในแคชเมียร์ กองทัพของแคชเมียร์ไม่สามารถต่อสู้ได้ มหาราชาฮารี สิงห์จึงขอให้อินเดียเข้ามาช่วยเหลือ กองทัพอินเดียได้เร่งส่งกำลังเข้ามาในศรีนาคาร์ เมืองสำคัญในแคชเมียร์ทันที สงครามแคชเมียร์ครั้งที่ 1 จึงเริ่มต้นขึ้น

ทหารอินเดียต่อสู้ในสงครามกับปากีสถาน Cr: Wikimedia Commons

การต่อสู้ระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอยู่นานปีเศษถึงจะมีการสงบศึกอย่างเป็นทางการตามการไกล่เกลี่ยขององค์การสหประชาชาติ อินเดียสามารถป้องกันดินแดน 2 ใน 3 ของแคชเมียร์ไว้ได้ และได้ทำการผนวกแคชเมียร์ส่วนที่ตนเองควบคุมไว้อย่างถูกต้องตามสัญญาที่อังกฤษกำหนดไว้ ส่วนดินแดนที่ปากีสถานครอบครอง อินเดียก็ได้อ้างสิทธิ์ไว้

ส่วนปากีสถานสามารถยึดดินแดนหนึ่งในสามของแคชเมียร์ไว้ แต่ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะถอนกำลังออกจากแคชเมียร์ อินเดียอ้างว่าถ้าอินเดียถอนกำลังออกจากแคชเมียร์ จะมีสิ่งใดพิสูจน์ได้ว่าปากีสถานจะกระทำตาม ปากีสถานก็อ้างแบบเดียวกัน แคชเมียร์จึงกลายเป็นดินแดนที่มีทหารทั้งสองฝ่ายอยู่จำนวนมาก ถึงกระนั้นการสงบศึกก็ทำให้เกิดเส้นการสงบศึก หรือภายหลังเรียกว่า Line of Control (LOC) ซึ่งเป็นพรมแดนของทั้งสองฝ่ายในแคชเมียร์ในปี 1949

การสงบศึกดำเนินไปได้เพียง 16 ปี สงครามครั้งที่สองก็เกิดขึ้นอีกในปี ค.ศ.1965 เรื่องมีอยู่ว่าปากีสถานแอบส่งกำลังจำนวนมากที่ได้รับการฝึกจากกองทัพปากีสถานเข้าไปในแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียกำลังครอบครองอยู่ คนเหล่านี้ได้รับหน้าที่ให้เข้าไปปะปนอยู่กับชาวพื้นเมือง และยุยงให้พวกเขาก่อกบฏ แผนการดังกล่าวชื่อว่า “ยุทธการยิปรอลตาร์” ปากีสถานเองคาดว่าถ้าเกิดกบฏแล้ว ปากีสถานจะส่งกำลังเข้ามาในดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย การรุกอันรวดเร็วของปากีสถานจะทำให้อินเดียไม่สามารถต้านทานได้ อย่างที่ได้พ่ายแพ้ต่อจีนมาแล้ว

เรื่องกลับตาลปัตรเมื่อ ชาวแคชเมียร์กลับไม่ก่อกบฏและนำตัวพวกสมาชิกกองกำลังปากีสถานให้กับรัฐบาลอินเดียแทน ปากีสถานพยายามอ้างว่าคนเหล่านี้เป็นนักรบอิสระ แต่ทั้งโลกก็ไม่มีใครเชื่อ ปากีสถานรีบเข้าโจมตีตามแนว LOC แต่อินเดียต้านทานเอาไว้ได้และโจมตีเข้าไปในดินแดนปากีสถานบ้าง การสู้รบหยุดลงด้วยการถอนกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย และรัฐบาลทั้งสองปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวในเรื่องภายในของอีกฝ่าย

แผนที่แคชเมียร์จัดทำโดย CIA สีเขียวคือดินแดนที่ปากีสถานยึดไว้ ส่วนดินแดนสีส้มคือของอินเดีย (Cr: Central Intelligence Agency, Wikimedia Commons (Public Domain))

แต่แล้วในปี ค.ศ.1971 สงครามครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นมาอีก แต่จุดสำคัญย้ายไปอยู่ที่บังกลาเทศ หรือ ดินแดนปากีสถานตะวันออกนั่นเอง ติดตามต่อไปได้ที่ตอนจบของเรื่องนี้ครับ

Sources:

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!