ประวัติศาสตร์เจ้าฟ้ากุ้ง: ชีวิตอันโศกสลดของมหาปราชญ์แห่งกรุงศรีอยุธยา

เจ้าฟ้ากุ้ง: ชีวิตอันโศกสลดของมหาปราชญ์แห่งกรุงศรีอยุธยา

เจ้าฟ้ากุ้ง หรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นหนึ่งในเจ้าฟ้าที่มีความสามารถมากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงชำนาญในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมหรือการต่อสู้ แต่ชีวิตของพระองค์กลับลงเอยด้วยความเศร้าอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ความสามารถของเจ้าฟ้ากุ้ง

เจ้าฟ้ากุ้งทรงเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต พระอัครมเหสี กรมหลวงอภัยนุชิตทรงมีพระโอรสเพียงองค์เดียว ดังนั้นเจ้าฟ้ากุ้งจึงเป็นที่รักที่สุดของพระมารดา

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าฟ้ากุ้งทรงมีพระราชสมภพเมื่อใด แต่เมื่อเจ้าฟ้ากุ้งสิ้นพระชนม์ พระโอรสอย่างพระองค์เจ้าอาทิตย์ก็เข้าสู่วัยหนุ่มแล้ว ดังนั้นเจ้าฟ้ากุ้งน่าจะทรงมีพระราชสมภพก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะได้ราชสมบัติ และพระองค์น่าจะเคยผ่านสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยามาด้วย

วัดไชยวัฒนาราม Cr:
Supanut Arunoprayote 

เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น เจ้าฟ้ากุ้งก็ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลายด้าน ทรงชำนาญในการใช้อาวุธแทบทุกประเภท ด้านภาษา วรรณกรรม และการประพันธ์ พระองค์ก็ทรงเป็นกวีเอก ผลงานของพระองค์อย่างกาพย์เห่เรือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวงก็เป็นงานชิ้นเอกของวรรณกรรมไทยอย่างที่จะหาเรื่องใดมาเปรียบได้ยาก

นอกจากนี้พระองค์ทรงมีศักดิ์และสิทธิ์ที่พร้อมกว่าพระโอรสองค์อื่น ในฐานะพระโอรสองค์ใหญ่ที่พระราชสมภพจากพระอัครมเหสี เจ้าฟ้ากุ้งจึงเป็นตัวเลือกอันดับ 1 สำหรับราชบัลลังก์ ชนิดที่กลบรัศมีเจ้าฟ้าองค์อื่นเสียหมด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็พอพระทัยที่พระโอรสทรงมีความสามารถมาก เจ้าฟ้ากุ้งทรงได้ทรงกรมที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์

การลอบทำร้าย

บนโลกนี้ไม่มีผู้ใดที่ดีเพรียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง เจ้าฟ้ากุ้งเองก็เช่นกัน

ข้อเสียอันดับหนึ่งของเจ้าฟ้ากุ้งคือ พระองค์ทรงหุนหันพลันแล่น เจ้าฟ้ากุ้งมักกระทำการตามพระอารมณ์โดยปราศจากการไตร่ตรอง เรื่องนี้จะสร้างมหันตภัยให้กับเจ้าฟ้ากุ้งในภายภาคหน้า

มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าฟ้ากุ้งทรงเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงรักใคร่ เจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระอย่างมาก เจ้าฟ้ากุ้งจึงเกิดความคิดริษยา เกรงว่าพระราชบิดาจะมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้านเรนทร ผู้มีสถานะเป็นพระนัดดา (หลาน) ของพระองค์

เจ้าฟ้านเรนทรพระองค์นี้จริงๆ ก็มีสิทธิในราชสมบัติ เพราะเป็นพระโอรสองค์โตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเองในสมัยที่เป็นพระมหาอุปราชก็เคยทูลต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระว่า ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจะทรงยกราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้านเรนทร พระองค์จะทรงหลีกทางให้

ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเจ้าฟ้านเรนทรจึงดีมากมาเป็นเวลานานแล้ว

แต่ทว่าเจ้าฟ้านเรนทรปฏิเสธที่จะรับราชสมบัติ พระองค์อ้างว่าเป็นสิทธิของพระมหาอุปราชที่จะสืบบัลลังก์ต่อไป พระองค์จึงเสด็จไปผนวช และไม่ลาสิกขาอีกเลย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ยังทรงอยู่ในร่มผ้ากาสาวพักตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ยังทรงโปรดพระนัดดาอยู่ พระองค์ทรงเรียกหาให้เข้าไปเฝ้าอยู่เสมอ

นั่นยิ่งทำให้เจ้าฟ้ากุ้งยิ่งหวาดระแวง และเกรงว่าเจ้าฟ้านเรนทรจะได้ราชสมบัติ เจ้าฟ้ากุ้งจึงคิดที่จะกำจัดเจ้าฟ้านเรนทร ทั้งๆ ที่ฝ่ายหลังห่มผ้าเหลืองเป็นพระภิกษุ

เจ้าฟ้ากุ้งทรงมีรับสั่งให้พระธิดาสองพระองค์ พระองค์เจ้าเกิดและพระองค์เจ้าชื่นไปนิมนต์เจ้าฟ้านเรนทรให้เสด็จมายังวังหน้าหลังจากที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้านเรนทรทรงไม่ทราบความนัย พระองค์จึงรับนิมนต์ของทั้งสองอย่างง่ายดาย

เมื่อเจ้าฟ้านเรนทรก้าวพระบาทเข้ามาในวังหน้า เจ้าฟ้ากุ้งที่รออยู่ก็ชักดาบเข้าฟันเจ้าฟ้านเรนทร แต่เคราะห์ดีที่ไม่ต้องพระวรกาย คมดาบของเจ้าฟ้ากุ้งทำให้จีวรขาดไปเป็นบางส่วนเท่านั้น (บางตำนานกล่าวว่าฟันไม่เข้าพระวรกาย) เจ้าฟ้านเรนทรทอดพระเนตรไปยังผู้ฟันก็เห็นว่าเป็นเจ้าฟ้ากุ้ง พระองค์ก็มิได้ตรัสว่าอันใด เจ้าฟ้ากุ้งเห็นเช่นนั้นจึงได้สติและรีบหนีไปยังพระราชตำหนักของพระมารดาทันที เพราะคิดว่าพระราชอาญาจะต้องมาหาพระองค์แน่ๆ

ต่อมาเจ้าฟ้านเรนทรเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโดยสวมจีวรเดิมไปด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตรัสถามว่า

เพราะเหตุใดจีวรของท่านจึงขาด

เจ้าฟ้านเรนทรทูลแต่เพียงว่า

กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หล่อนหยอก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงโปรดให้สอบสวน และเมื่อได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดก็พระพิโรธอย่างมาก พระองค์โปรดให้หาตัวเจ้าฟ้ากุ้งทั่วทั้งอยุธยา กรมหลวงอภัยนุชิตทรงทราบว่าทหารหลวงกำลังตามหาพระราชโอรสก็ตกพระทัย พระนางเสด็จมาวิงวอนขอให้เจ้าฟ้านเรนทรทรงช่วยเหลือ

เจ้าฟ้านเรนทรตรัสว่าเจ้าฟ้ากุ้งจะหลบพระราชอาญาได้ก็มีเพียงแต่ผนวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น กรมหลวงอภัยนุชิตทรงรีบนำตัวเจ้าฟ้ากุ้งไปที่วัดโคกแสง และให้ออกผนวชทันที

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงทราบว่าเจ้าฟ้ากุ้งเป็นภิกษุแล้ว พระองค์ก็โปรดให้ยกเลิกการจับกุม แต่พระพิโรธยังไม่คลาย พระองค์จึงโปรดให้นำพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด ผู้ที่เจ้าฟ้ากุ้งสั่งให้ไปลวงเจ้าฟ้านเรนทรไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์

ฝ่ายเจ้าฟ้ากุ้งทรงรอดพระชนม์ชีพมาได้อย่างหวุดหวิด พระองค์ผนวชเป็นภิกษุต่อไปอีกนานหลายปี ในช่วงเวลานี้พระองค์ทรงพระราชประพันธ์นันโทปนันทสูตรคำหลวงจนเสร็จสิ้น

พระโรคคชราด

หลายปีต่อมา กรมหลวงอภัยนุชิตประชวรหนักจวนจะสวรรคต พระองค์จึงขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้กับเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรส นอกจากนี้บ้างว่ากรมหลวงอภัยนุชิตขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงไว้พระชนม์ชีพเจ้าฟ้ากุ้งถ้าในอนาคตเจ้าฟ้ากุ้งทรงกระทำความผิดขึ้นมาอีก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ทรงพระราชทานให้ตามคำขอ

เจ้าฟ้ากุ้งจึงทรงลาผนวชกลับมาเป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์ตามเดิม ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็โปรดให้ดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นตำแหน่งวังหน้าหรือพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากุ้งได้อภิเษกสมรสกับพระขนิษฐาแท้ๆ องค์สุดท้อง ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี กรมขุนยิสารเสนี แต่ทั้งสองพระองค์ทรงไม่น่าจะมีพระราชบุตรหรือพระราชธิดาด้วยกันแต่อย่างใด

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงโปรดให้เจ้าฟ้ากุ้งทรงเป็นแม่งานในการก่อสร้างและซ่อมแซมวัดวาอารามหลายแห่งในกรุงศรีอยุธยา ดูเหมือนว่าความไว้พระทัยในพระราชโอรสจะกลับคืนมาแล้ว

พระชนม์ชีพของเจ้าฟ้ากุ้งเหมือนว่าจะเป็นขาขึ้น แต่แล้วเรื่องเลวร้ายก็เกิดขึ้นกับพระองค์อีกจนได้ เจ้าฟ้ากุ้งทรงประชวรด้วยพระโรคคชราด โรคนี้บ้างว่าคือโรคคุดทะราดบ้าง โรคซิฟิลิสบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือทรงประชวรด้วยโรคสำหรับบุรุษ เพราะอาการประชวรทำให้พระองค์ไม่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถึงสามปีเศษ และอาจเป็นไปได้ว่าทำให้พระอารมณ์แปรปรวนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้พงศาวดารไม่ได้บันทึกไว้ว่าพระองค์ประชวรด้วยโรคดังกล่าวได้อย่างไร

ถูกกล่าวหาว่าคบชู้

เจ้าฟ้ากุ้งทรงเป็นคู่ปรับกับพระโอรสทั้งสามที่เกิดจากพระสนมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทั้งสามพระองค์มีนามว่า กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นจิตรสุนทร และกรมหมื่นเสพภักดี (เรียกรวมๆ ว่าเจ้าสามกรม) มีอยู่วันหนึ่ง พระองค์ทรงมีพระบัณฑูรให้นำข้าราชบริพารของพวกเจ้าสามกรมมาเฆี่ยนตีเสีย เพราะว่าเจ้าสามกรมอาจเอี้อมกระทำการสูงเกินกว่าศักดิ์

จริงอยู่ว่าพวกเจ้าสามกรมกระทำผิด แต่การกระทำของเจ้าฟ้ากุ้งอุกอาจอย่างมาก ซึ่งน่าจะเกิดจากอารมณ์อันแปรปรวนของพระองค์เอง

การกระทำของเจ้าฟ้ากุ้งทำให้พวกเจ้าสามกรมพิโรธ กรมหมื่นสุนทรเทพจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและทูลฟ้องว่า เจ้าฟ้ากุ้งทรงคบชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎมณเฑียรบาลอย่างร้ายแรงมาก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงโปรดให้ทำการสอบสวน ระหว่างการสอบสวนมีการทรมานหลายประการ สาเหตุที่มีการทรมานเพราะมีผู้ทูลเรื่องร้ายๆ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงฟังมากมาย (ซึ่งอาจจะไม่จริง) พระองค์จึงลงพระอาญาพระโอรสมากขึ้นอีก

ท้ายที่สุดเจ้าฟ้ากุ้งทรงยอมรับสารภาพ (ไม่แน่ชัดว่าเพราะเกิดจากการที่ทรงทนโดนทรมานต่อไปไม่ไหวหรือไม่) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงมีรับสั่งให้เหล่าขุนนางพิพากษาโทษของพระราชโอรส เหล่าขุนนางก็ทูลว่าโทษของเจ้าฟ้ากุ้งมหันต์จนถึงกับต้องสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

เจดีย์ที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้ากุ้ง

แต่ทว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงน่าจะระลึกถึงคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับพระอัครมเหสีได้ พระองค์จึงงดเว้นโทษตายเอาไว้ แต่ให้เฆี่ยนเป็นจำนวนหนึ่งในสามของที่เคยเฆี่ยนออกญากลาโหมที่เคยคบชู้ ในครั้งนั้นออกญากลาโหมโดนเฆี่ยน 700 ที เจ้าฟ้ากุ้งจึงต้องโดนเฆี่ยนเพิ่มอีก 230 ที พร้อมทั้งโดนนาบพระนลาฏและถอดให้เป็นไพร่

เจ้าฟ้ากุ้งทนต่อการเฆี่ยน 230 ทีไม่ไหว พระองค์จึงสิ้นพระชนม์ลงในห้องขังนั่นเอง พระศพถูกนำไปฝังที่วัดไชยวัฒนาราม

เรื่องคบชู้นี้เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์หลายอย่าง ตั้งแต่เจ้าฟ้ากุ้งคบชู้จริงหรือไม่ ไปจนถึง เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นคนเดียวกันหรือไม่

ผลที่ตามมา

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้ากุ้งทำให้ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างลง เปิดโอกาสให้พระโอรสทั้งสองของกรมหลวงพิพิธมนตรี พระอัครมเหสีองค์ที่สองมีสิทธิในราชสมบัติ พระโอรสทั้งสองคือ เจ้าฟ้าเอกทัศ และเจ้าฟ้าอุทุมพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเลือกที่จะข้ามเจ้าฟ้าเอกทัศไปและเลือกเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นพระมหาอุปราช

พระเจ้าอุทุมพร

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ต้องเผชิญกับการกบฏของพวกเจ้าสามกรม พวกเจ้าสามกรมได้ถูกพระเจ้าอุทุมพรจับกุมตัวได้สำเร็จ พระองค์โปรดให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ พระโอรสของเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นผู้นำเจ้าสามกรมไปสำเร็จโทษเพื่อล้างแค้นที่เจ้าสามกรมได้ทูลฟ้องเรื่องการคบชู้ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ได้ทรงกรมในที่ กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ พระองค์ต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างกล้าหาญ และสิ้นพระชนม์ในชุดทหารในคืนที่กองทัพพม่าเข้ากรุงศรีอยุธยาได้

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!