ประวัติศาสตร์เมื่อมองโกลบุกเวียดนาม ตอนที่ 2: ชัยชนะที่แลกมาด้วยน้ำตา

เมื่อมองโกลบุกเวียดนาม ตอนที่ 2: ชัยชนะที่แลกมาด้วยน้ำตา

หลังจากชัยชนะในสงครามครั้งแรก ได่เหวียด (เวียดนามในปัจจุบัน) ได้ส่งทูตไปนบนอบต่อราชสำนักมองโกลในปี ค.ศ.1260 แต่กษัตริย์จันถายตองแห่งราชวงศ์จันปฏิเสธที่จะเดินทางไปพบกับกุบไลข่าน ข่านพระองค์ใหม่ของมองโกล กษัตริย์จันถายตองปรารถนาเพียงแค่การนบนอบแบบในทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ปรารถนาจะยกประเทศของพระองค์ให้เป็นประเทศราชของมองโกล

หากแต่ว่ากุบไลข่านปรารถนาจะให้ได่เหวียดนบนอบอย่างพฤตินัย และให้มีข้าราชการมองโกลหรือที่เรียกว่า Darughachi คอยเก็บส่วยในอาณาจักร นั่นเป็นสิ่งที่ได่เหวียดไม่อาจจะยอมรับได้ ความตึงเครียดจึงเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง

โชคเป็นของได่เหวียดเมื่อกุบไลข่านต้องพะวงอยู่กับสงครามกลางเมืองกับอริคโบเค พระอนุชาองค์สุดท้อง และการพิชิตราชวงศ์ซ่งใต้ ทำให้พระองค์ไม่มีเวลามาใส่พระทัยในเรื่องของได่เหวียด จนกระทั่งพวกมองโกลสามารถกลืนราชวงศ์ซ่งใต้ได้ในปี ค.ศ.1279 จักรวรรดิมองโกลจึงมีพรมแดนติดกับตอนเหนือของได่เหวียดทั้งหมด

กุบไลข่าน

ณ เวลานั้นเองความสนใจของราชสำนักมองโกล (หรือว่าราชวงศ์หยวน) จึงมาอยู่ที่ได่เหวียดโดยตรง

ความขัดแย้งมองโกลกับจามปา

ฝ่ายมองโกลเองได้กดดันจามปา (Champa) อาณาจักรที่อยู่ทางใต้จากได่เหวียดแบบเดียวกับที่ทำกับได่เหวียด นั่นก็คือบังคับให้ยอมจำนนอย่างสมบูรณ์ โดยมีข้าราชการมองโกลคอยควบคุมเก็บส่วย กษัตริย์อินทรวรมันที่ 5 แห่งจามปาทรงยอมรับเป็นรัฐในอารักขาของมองโกลในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้ว พระองค์ทรงปฏิเสธ ทำให้กุบไลข่านสั่งให้ โซเกอถู ผู้ว่าราชการเมืองกว่างโจวยกกำลังไปตีจามปาทางเรือ

กษัตริย์อินทรวรมันที่ 5 ทรงหลบหนีจากเมืองหลวงของพระองค์ไปอยู่ป่า และใช้วิธีการตัดเสบียงและรบกวนกองทัพมองโกลไม่ได้หยุด กำลังทหารมองโกลจึงเริ่มอ่อนแอลง

กุบไลข่านสั่งให้ได่เหวียดสนับสนุนในการโจมตีจามปา แต่ได่เหวียดปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะเป็นแผนการยืมทางเมืองหยูไปตีเมืองกว๋อ

ในทางกลับกันได่เหวียดแอบส่งกำลังหนึ่งหมื่นห้าพันคนเข้าช่วยเหลือจามปาเสียอีก ในปี ค.ศ.1284 กองทัพมองโกลของโซเกอถูที่ตีจามปาไม่สำเร็จเสียทีจึงต้องถอยทัพกลับไป แต่ก็ยังครอบครองเมืองบางส่วนทางใต้ของได่เหวียด

โซเกอถูกลับไปเรียนให้กุบไลข่านทราบถึงสาเหตุที่ต้องถอยทัพกลับมา เพราะเสบียงอาหารและไพร่พลไม่เพียงพอ และน่าจะทูลให้กุบไลข่านทราบถึงการช่วยเหลือจามปาของได่เหวียดด้วย เขาจึงเสนอว่าถ้าจะตีจามปา ก็ต้องตีได่เหวียดให้ได้ก่อน กุบไลข่านทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว พระองค์โปรดให้เตรียมกองทัพขนาดใหญ่ยกไปตีได่เหวียดทันที

สงครามครั้งที่ 2 ระหว่างมองโกลและได่เหวียดจึงเริ่มต้นขึ้นแล้วในปี ค.ศ.1285

การรุกของกองทัพมองโกล

กองทัพมองโกลในครั้งนี้มีจำนวนมากกว่าครั้งก่อน จำนวนของฝ่ายมองโกลมีอย่างน้อยสามแสนคน (บ้างว่ามากถึงห้าแสนคน) กองทัพทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของโตกอน พระโอรสองค์ที่ 9 ของกุบไลข่าน

ตามแผนการของพวกมองโกลแล้ว กองทัพทางเหนือจะยกเข้าตีได่เหวียดจากสองทาง กองหนึ่งยกจากยูนนานเข้าตีได่เหวียดทางตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนอีกกองหนึ่งจากกว่างซี ยกเข้าตีได่เหวียดจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ขณะเดียวกันก็ให้โซเกอถูนำกองเรือมุ่งไปยังหัวเมืองทางใต้ของจามปาที่ยึดไว้ได้ แล้วให้เคลื่อนทัพขึ้นเหนือเพื่อตีกระหนาบได่เหวียดอีกทางหนึ่ง โดยรวมแล้วได่เหวียดต้องเผชิญกับศึกสามด้านพร้อมๆ กัน

กองทัพมองโกลเข้าตีได่เหวียดจากสามด้าน Cr: Huyphuong

ฝ่ายได่เหวียดเองก็ได้ทราบข่าวศึก การเกณฑ์ชายฉกรรจ์จึงเริ่มต้นทันที กำลังของได่เหวียดเชื่อว่าน่าจะมีไม่เกินสองแสนคน ยุทธศาสตร์ของได่เหวียดในครั้งนี้จะแตกต่างออกไปจากครั้งแรก เพราะได่เหวียดจะทำสงครามระยะยาว กองทัพได่เหวียดจะทำลายทุกสิ่งเพื่อไม่ให้ศัตรูใช้เป็นประโยชน์ได้ และพร้อมจะทิ้งทุกอย่างแม้กระทั่งเมืองหลวง เมื่อกองทัพศัตรูอ่อนแอลงแล้ว กองทัพได่เหวียดจะเข้าโจมตีทุกทิศทางให้พ่ายแพ้ไป

กองทัพมองโกลเองก็แข็งแกร่งสมชื่อ กองทัพทั้งสองรุกขึ้นมาอย่างรวดเร็วและตีแนวป้องกันของได่เหวียดแตกกระจาย พงศาวดารได่เหวียดว่าในการปะทะที่ซอนดอง กองทัพได่เหวียดเสียหายอย่างหนัก แต่กองกำลังส่วนใหญ่รอดมาได้เพราะว่าเรือที่เตรียมเอาไว้ล่วงหน้าที่ริมแม่น้ำ

เมื่อเห็นฝ่ายได่เหวียดถอยไปตามแม่น้ำ พวกมองโกลจึงยกติดตามมาด้วยกองเรือ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอีกสองครั้ง ได่เหวียดก็แพ้อีกทั้งสองครั้ง กองทัพได่เหวียดได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ก็ยังสามารถคงสภาพกองทัพไว้อยู่ได้

ความพ่ายแพ้ติดๆ กันของได่เหวียด ทำให้กองทัพมองโกลของโตกอนมาถึงเมืองหลวงทังลอง กษัตริย์จันเนียนตองจึงทรงทิ้งเมืองหลวงและถอยหนีไปเหมือนกับสงครามครั้งแรก

เมื่อโตกอนได้ทราบว่ากษัตริย์ได่เหวียดหลบหนีไปแล้ว เขาจึงสั่งให้กองทหารติดตามกองทัพได่เหวียดไปทันที และให้โซเกอถูที่ไล่ตีหัวเมืองทางใต้ของได่เหวียดอยู่ ยกขึ้นมาทางเหนือเพื่อตีกระหนาบกองทัพได่เหวียดที่ถอยหนีไปด้วย

ในเวลาไม่นาน กองทัพมองโกลก็ไล่ตามกองทัพหลวงมาทัน กองกำลังได่เหวียดส่วนหนึ่งจึงต้องยอมเสียสละด้วยการสกัดกั้นการรุกของฝ่ายศัตรูที่ริมแม่น้ำแดง กองทัพมองโกลเข้าโจมตีอย่างรุนแรง แต่กองทัพได่เหวียดต้านทานเอาไว้ได้อยู่หลายวัน ทั้งสองฝ่ายได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ได่เหวียดประสบความสำเร็จในการถอยหนีไปได้

ทหารม้ามองโกล

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ปะทะกันอีกหลายครั้ง เพราะกองทัพมองโกลติดตามโจมตีอย่างไม่ลดละ และฝ่ายได่เหวียดก็พ่ายแพ้ทุกครั้ง กษัตริย์จันเนียนตองจึงทรงถ่วงเวลาด้วยการเจรจาสันติภาพ แต่การเจรจาไม่เป็นผล สงครามย่อมดำเนินต่อไป

ในช่วงเวลานี้กองทัพได่เหวียดได้แต่ถอยหนี ถ้าตั้งรับไว้ไม่อยู่ก็จะถอยไป ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ทหารและแม่ทัพจำนวนมากต้องพลีชีพลงในสมรภูมิเพื่อสกัดกั้นศัตรู แต่ได่เหวียดสามารถถอนกำลังส่วนใหญ่ไปยัง Tranh Hoa ได้สำเร็จ และเริ่มใช้ยุทธศาสตร์จรยุทธ์ในการจัดการกับกองทัพมองโกล กองขนเสบียงอาหารถูกปล้น ดินแดนต่างๆ ถูกเผา เพื่อไม่ให้พวกมองโกลสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้

ได่เหวียดตีตอบโต้

สำหรับโตกอนแล้ว เขาพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของได่เหวียดได้แล้ว แต่ได่เหวียดก็ยังไม่ยอมจำนน เสบียงอาหารของโตกอนเริ่มร่อยหรอลงจากการโจมตีของได่เหวียด เหล่าทหารเองก็เริ่มเจ็บป่วยจากอากาศที่ร้อนอบอ้าวและฝนที่ตกลงมา กองทัพมองโกลจึงอ่อนแอลง โตกอนและโซเกอถูไม่อาจไล่ตามกษัตริย์จันเนียนตองต่อไปได้เพราะสาเหตุเช่นนี้เอง

สถานการณ์เป็นเช่นนี้อยู่หลายเดีอน เจ้าชายจันฮึงเด่า แม่ทัพใหญ่ฝ่ายได่เหวียดเห็นว่ากองทัพมองโกลอ่อนแอลงมาก ฝ่ายได่เหวียดน่าจะเป็นฝ่ายตีโต้ตอบได้แล้ว กองทัพได่เหวียดจึงยกไปทันที เป้าหมายแรกคือกองกำลังของโซเกอถู

จันฮึงเด่าได้ล่อกองทัพมองโกลออกมาต่อสู้ในบริเวณที่ทหารม้าไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว กองทัพได่เหวียดดาหน้าเข้าโจมตีกองทัพมองโกลอย่างหนัก ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันเป็นเวลานานโดยยังไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะ

จันฮึงเด่า Cr: Rob Kniaz

ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ จันฮึงเด่าได้ชักธงของราชวงศ์ซ่งขึ้นเพื่อปลุกใจทหารจีนจำนวนมากที่เคยหนีกองทัพมองโกลมาในกองทัพได่เหวียด และยังกระหน่ำยิงธนูเข้าไปในกองทหารจีนว่า กองทัพได่เหวียดต้องการต่อสู้กับทหารมองโกล มิใช่ทหารจีน ทหารจีนและแม่ทัพจีนในแม่ทัพมองโกลจึงเริ่มถอยหนี บางส่วนก็ยอมจำนนต่อกองทัพได่เหวียด

สถานการณ์จึงเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายได่เหวียดได้เปรียบ กองทหารได่เหวียดไล่สังหารพวกมองโกลล้มตายมากมาย ท้ายที่สุดกองกำลังมองโกลก็แตกพ่าย จันฮึงเด่าฉวยโอกาสติดตามกองกำลังที่เหลืออยู่ของโซเกอถูไป

แต่กองทัพที่แตกเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกองทัพมองโกลเท่านั้น กองทัพของโตกอนยังเหลืออยู่ ทำให้ชัยชนะพวกได่เหวียดยังไม่เด็ดขาด

ถึงกระนั้นกองกำลังอีกส่วนหนึ่งของได่เหวียดก็พร้อมแล้วที่จะบุกเข้าไปชิงเมืองหลวงกลับคืน

สงครามชี้ขาดที่ทังลอง

ชัยชนะเหนือกองกำลังมองโกลที่มาจากทางใต้ทำให้เหล่าแม่ทัพได่เหวียดต่างเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะช่วงชิงทังลอง เมืองหลวงของอาณาจักรกลับคืนมา กองทัพขนาดใหญ่ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อทำสงครามชี้ขาดกับพวกมองโกล (ระหว่างที่จันฮึงเด่าติดตามโซเกอถูไป)

ขณะนั้นกองทัพมองโกลกระจายตัวออกไปหลายส่วน เพราะได้แยกย้ายกันติดตามกองทัพได่เหวียดมาก่อนหน้านี้ ทำให้ฝ่ายได่เหวียดมีกำลังเพียงพอที่จะทุ่มกำลังตีที่ฐานกำลังของมองโกลที่ทังลองได้ สายลับของได่เหวียดเองก็ได้ทราบว่าที่กองทัพมองโกลที่ทังลองกำลังขาดเสบียงอย่างหนักด้วย

ทหารม้ามองโกลอีกรูปหนึ่ง Cr: Sayf al-Vâhidî

ด้วยเหตุนี้ในครึ่งหลังของปี ค.ศ.1285 อัครมหาเสนาบดีจันควงไคจึงนำกองทัพขนาดใหญ่ยกขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยทังลอง กองทัพได่เหวียดตีที่มั่นของฝ่ายมองโกลแตกอย่างรวดเร็ว เพราะทหารจีนจำนวนมากทิ้งอาวุธยอมสวามิภักดิ์ นอกจากนี้ได่เหวียดยังยึดเรือได้อีกจำนวนมากตามริมฝั่งแม่น้ำแดง

กองทัพของจันควงไคเข้าตีกองกำลังมองโกลของโตกอนที่ Chuong Dong ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันเป็นสามารถ แต่กองทัพมองโกลที่เคยเอาชนะทหารได่เหวียดได้อย่างง่ายๆ กลับเริ่มเสียขวัญ เพราะใช้ทหารม้าเข้าโจมตีแล้วตีไม่แตก ในเวลาไม่นานพวกมองโกลก็เริ่มถอยหนีไปจนหมด เปิดโอกาสให้ทหารได่เหวียดไล่ล่าสังหารได้เป็นจำนวนมาก

โตกอนที่พ่ายแพ้ถอยหนีไปยังทังลอง กองทัพได่เหวียดที่ได้รับชัยชนะจึงไล่ติดตามไป และเข้าตีกองทัพมองโกลที่หน้าเมืองจนแตกพ่าย โตกอนเห็นว่าจะรักษาเมืองไม่ได้อีกต่อไป เขาทิ้งเมืองหนีกลับไปตั้งหลักที่ทางตอนเหนือของแม่น้ำแดง เมืองหลวงทังลองจึงถูกปลดปล่อยได้อย่างสมบูรณ์

กวาดล้างกองทัพศัตรู

หลังจากที่พ่ายแพ้ โซเกอถูพยายามจะตั้งหลักและปรับกระบวนทัพขึ้นมาใหม่ เขาพยายามที่จะติดต่อกับโตกอน แต่หารู้ไม่ว่าโตกอนได้ถอยทัพขึ้นไปทางตอนเหนือเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้ทราบความ โซเกอถูก็ทราบว่าตนเองอยู่ในอันตราย เขาจึงพยายามหาทางหลบหนีไปทางทิศตะวันตก

หากแต่ว่าไม่กี่วันต่อมากองทัพได่เหวียดของจันฮึงเด่าก็ติดตามมาทัน กองทัพได่เหวียดทุ่มกำลังเข้าตีกองทัพมองโกลของโซเกอถูอย่างรุนแรง ทำให้ทหารมองโกลตายไปอย่างมากมาย โซเกอถูเองก็เอาชีวิตไม่รอด เขาถูกสังหารที่กลางสมรภูมิ ส่วนแม่ทัพมองโกลคนอื่นๆ รอดตายเพราะว่าขึ้นเรือเล็กหนีออกไปทางทะเลเปิด

กองทัพม้ามองโกล

ในเวลาใกล้เคียงกัน กองทัพได่เหวียดที่ปลดปล่อยทังลองได้สำเร็จก็ยกกำลังขึ้นเหนือ และได้ปะทะกับกองทัพมองโกลที่ตั้งสกัดไว้ กองทัพได่เหวียดก็เอาชนะได้อีก โตกอนจำต้องสั่งให้ถอยทัพทั้งหมดกลับไปยังภาคเหนือ

แต่การถอยทัพก็ไม่ง่าย เพราะกองทัพได่เหวียดได้ตั้งสกัดเอาไว้ ทำให้กองทัพมองโกลไม่สามารถขึ้นเรือที่แม่น้ำ Cau เพื่อหนีได้ กองกำลังมองโกลที่เหลืออยู่จึงต้องสู้พลางถอยพลางไปยังเมือง Van Kiep เพื่อข้ามแม่น้ำอีกแห่งหนึ่ง

กองทัพมองโกลได้สร้างสะพานขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำ แต่ระหว่างที่กำลังจะข้ามนั้นเอง กองทัพได่เหวียดก็มาถึงและเร่งเข้าโจมตี ทหารมองโกลที่พ่ายแพ้มาก่อนหน้านี้จึงแห่กันขึ้นสะพานไปอย่างอลหม่าน ผลสุดท้ายคือสะพานพังลงมา ทหารมองโกลจำนวนมากจมน้ำตาย

โตกอนเองต้องควบม้าหนีไปอย่างไม่คิดชีวิตเพื่อเอาชีวิตรอด บ้างว่าเขาต้องหนีไปอยู่ในท่อเพื่อหลบทหารได่เหวียด กองทัพมองโกลทั้งหมดจึงถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินได่เหวียดเป็นผลสำเร็จเป็นครั้งที่สอง

ผลที่ตามมา

ถึงแม้จะปกป้องอาณาจักรเอาไว้ได้ ความเสียหายของฝ่ายได่เหวียดถือว่าหนักหนาสาหัส เมืองหลวงทังลองถูกปล้นสะดมเป็นครั้งที่สอง เรือกสวนไร่นาก็เสียหายยับเยิน ชายฉกรรจ์จำนวนมากก็ถูกสังหารไปในสงคราม ชัยชนะของได่เหวียดจึงแลกมาด้วยน้ำตาอย่างแท้จริง

สำหรับฝ่ายมองโกลนั้น ชัยชนะครั้งแรกๆสูญเปล่าเพราะการทำสงครามจรยุทธ์ของได่เหวียด ทำให้ศักยภาพในการต่อสู้อ่อนแอลง และเปิดโอกาสให้ได่เหวียดตีโต้ได้เป็นผลสำเร็จ กุบไลข่านทรงขัดเคืองกับความพ่ายแพ้ดังกล่าวมาก พระองค์จึงโปรดให้เตรียมการยกทัพมาตีได่เหวียดใหม่เป็นครั้งที่สาม

ได่เหวียดจะต้านทานการรุกรานได้อีกหรือไม่ หรือว่าจะย่อยยับไปเหมือนโกคูรยอ ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!