ประวัติศาสตร์โกคูรยอล่มสลาย ตอนจบ: แผ่นดินที่แตกสลาย

โกคูรยอล่มสลาย ตอนจบ: แผ่นดินที่แตกสลาย

ตอนที่ 1 อยู่ที่นี่

การรุกรานในปี ค.ศ.661-662 จบลงด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของโกคูรยอ ความล้มเหลวของการรุกรานครั้งนี้ทำให้ราชสำนักถังต้องไปเลียแผลอยู่นาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าราชสำนักถังจะล้มเลิกการโจมตีโกคูรยอ

โกคูรยอย่อมต้องเผชิญกับการรุกรานครั้งต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในเวลานั้นรอยร้าวเริ่มเกิดขึ้นในอาณาจักรโกคูรยอแล้วอย่างเงียบๆ

จิตรกรรมฝาหนังจากโกคูรยอ

ไฟสงคราม

ถ้านับไปถึงการรุกรานครั้งแรก โกคูรยอต้องเผชิญกับการรุกรานครั้งใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง และการรุกรานครั้งย่อยอีกเกือบสิบครั้งในระยะเวลาเกือบ 70 ปี

การที่สงครามเกิดขึ้นบ่อยเช่นนี้ในดินแดนของตน ทำให้ชาวโกคูรยอต้องเผชิญกับไฟสงคราม ประชาชนจำนวนมากบาดเจ็บล้มตายลงจากการต่อสู้ แม้ว่าจะได้ชัยชนะแต่ทหารก็ตายไปครั้งละหลายหมื่นคน เรือกสวนไร่นาก็ถูกทำลายโดยกองทัพศัตรู การคลังของโกคูรยอก็เรียกได้ว่าใกล้ล้มละลายเต็มที

ดังนั้นโกคูรยอต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการฟื้นฟูแผ่นดินของตน ที่ผ่านมาโกคูรยอได้โอกาสฟื้นฟูแผ่นดินอยู่เสมอ ถ้าเราสังเกตดู เราจะพบว่าการรุกรานที่ผ่านมาเกิดขึ้นในปี ค.ศ.598, 612, 645, 661

ลองบวกลบตัวเลขง่ายๆ เราจะพบว่า ช่องว่างจำนวนปีระหว่างสงครามใหญ่แต่ละครั้งอยู่ที่

  • ระหว่างครั้งที่ 1 และ 2: 14 ปี
  • ระหว่างครั้งที่ 2 และ 3: 33 ปี
  • ระหว่างครั้งที่ 3 และ 4: 17 ปี

ช่วงเวลาเหล่านี้มากกว่า 10 ปีทั้งสิ้น แน่นอนว่าสันติภาพในช่วงเวลาเหล่านี้ เปิดโอกาสให้โกคูรยอได้ฟื้นฟูประเทศและศักยภาพทางการทหารของตน ส่วนหนึ่งที่โกคูรยอได้โอกาสเช่นนี้ มาจากความสามารถของโกคูรยอเองในการใช้การทูตหลีกเลี่ยงการทำสงครามในเวลาที่ตนเองยังไม่พร้อม แต่อีกอย่างหนึ่งก็เพราะ “โชค” ด้วย อย่างในกรณีที่เกิดความวุ่นวายในส่วนอื่น ราชวงศ์ของจีนก็ต้องนำกำลังทหารไปใช้ปราบปราม ไม่เปิดโอกาสให้มารุกรานโกคูรยอ

แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งถัดไปคือ โกคูรยอจะไม่มีโอกาสฟื้นฟูอาณาจักรของตนให้พรั่งพร้อม เพราะการรุกรานใหญ่ครั้งที่ 5 จะเกิดขึ้นใน ปี ค.ศ.667 หรือเพียง 5 ปีเศษ หลังจากการรุกรานครั้งที่ 4 จบลง

ภาพเขียนฝาผนังแสดงถึงกองทัพราชวงศ์ถัง Cr:
Yprpyqp

ความวุ่นวายในโกคูรยอ

ถึงแม้ยอน เกะโซมึนจะปลงพระชนม์กษัตริย์ของเขาเอง และกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างเหี้ยมโหด แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยอน เกะโซมึนเป็นผู้นำที่มีความสามารถ และพึ่งพาได้ในช่วงเวลาแห่งสงคราม การที่โกคูรยอสามารถต้านทานในรุกรานในปี ค.ศ.645 และ 661 ได้ก็เพราะยอน เกะโซมึนเป็นส่วนสำคัญ

การที่ยอน เกะโซมึนยังอยู่ ทำให้การเมืองการทหารโกคูรยอเป็นปึกแผ่น เพราะไม่มีใครกล้าต่อต้านอำนาจของเขา การสั่งการจึงเป็นระเบียบเรียบร้อย ทรัพยากรทั้งหมดถูกนำไปใช้ต่อสู้กับผู้รุกรานชาวต่างชาติโดยตรง

ยอน เกะโซมึนเองก็เป็นคนฉลาด เขารู้วิธีการพลิกแพลงในการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ และเป็นคนเข้มแข็งพอที่เหล่าทหารและขุนนางสามารถไว้วางใจได้ในสภาวะที่คับขัน ทหารโกคูรยอจึงมีกำลังใจที่ดี ถึงแม้ว่าเมืองหลวงกำลังโดนล้อมอยู่ก็ตาม

แต่ทว่าในปี ค.ศ.666 ยอน เกะโซมึนกลับล้มป่วยและสิ้นชีวิตลงในวัย 63 ปี การเมืองโกคูรยอวุ่นวายทันทีหลังจากการจากไปของเขา

ยอน นัมเซง บุตรชายคนโตของเขาได้สืบต่อตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ต่อจากบิดา ยอน นัมเซงเห็นว่าการรุกรานโกคูรยอจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เขาจึงสั่งให้เตรียมการให้พร้อมเพรียง ยอน นัมเซงยังได้เดินทางไปยังเหลียวตงเพื่อตรวจตราแนวป้องกัน เขาจึงทิ้งเปียงยางให้อยู่ในการดูแลของ ยอน นัมกอน และยอน นัมซาน น้องชายของเขา

เรื่องกลับกลายเป็นว่า ยอน นัมกอนและยอน นัมซาน กลับใช้โอกาสที่ ยอน นัมเซงไม่อยู่ใส่ความพี่ชายตนเองว่าเป็นกบฏ เพื่อที่ ยอน นัมกอนจะได้ตำแหน่งของพี่ชาย กษัตริย์โบจัง ทรงไม่มีทางเลือก พระองค์จำต้องประกาศให้ ยอน นัมเซงเป็นกบฏ และให้เหล่าทหารจับกุมเขาและส่งตัวมายังเปียงยาง

ก่อนที่ทหารหลวงจะจับตัว ยอน นัมเซงได้ ตัวยอน นัมเซงได้รับทราบจากบุตรชายที่หนีมาจากเปียงยางได้ว่า ยอน นัมกอนและยอน นัมซานกำลังให้ทหารจับตัวเขา บุตรชายของเขาจึงเสนอให้ ยอน นัมเซงหนีไปสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ถังเสียเลย

ยอน นัมเซงไม่มีทางเลือกอื่น เขาจึงต้องเดินทางไปสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ถัง ราชสำนักถังมอบตำแหน่งที่ปรึกษาทางทหารระดับสูงให้กับเขาเป็นการตอบแทน ส่วนภายในโกคูรยอ ยอน นัมกอนก็ได้สืบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพี่ชาย

การรุกรานครั้งที่ห้าเริ่มต้น

ยอน นัมเซงกลายเป็นทรัพยากรสำคัญของฝ่ายถัง ตัวเขาเองก็สนับสนุนให้กองทัพถังยกมาตีบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เขาหวังว่าราชสำนักถังจะตีโกคูรยอได้แล้ว และแต่งตั้งให้เขามีอำนาจในโกคูรยอตามเดิม ดังนั้นยอน นัมเซงจึงช่วยเหลือศัตรูของบ้านเกิดเมืองนอนตนเองอย่างเต็มที่

กองทัพถังถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.667 แม่ทัพของกองทัพนี้คือ หลี่จี แม่ทัพใหญ่ที่เคยมาตีโกคูรยอครั้งหนึ่งแล้วกับถังไท่จงฮ่องเต้ นอกจากนี้ยังมีแม่ทัพเสวียเหรินกุ้ย แม่ทัพระดับตำนานของราชวงศ์ถังมาเป็นรองแม่ทัพในกองทัพด้วย ส่วนยอน นัมเซงก็มาด้วยเช่นเดียวกันในฐานะที่ปรึกษาของกองทัพ

หลี่จี Cr: HuangQQ

จำนวนกองทัพถังนั้นไม่มีระบุไว้ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่ามีไม่น้อยกว่า 300,000 นาย เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่าราชสำนักถังทุ่มหมดหน้าตักในการโจมตีโกคูรยอ

ส่วนโกคูรยอน่าจะมีทหารประมาณ 200,000 นาย แต่ในเวลานั้นโกคูรยอกำลังประสบปัญหาทางการเงิน คลังเสบียงก็ยังไม่ฟื้นฟูจากไฟสงครามครั้งก่อนเลย ราชสำนักเองก็เพิ่งจะผ่านการแย่งชิงอำนาจมาใหม่ๆ ทำให้ขาดเป็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กองทัพถังเข้าโจมตีป้อมปราการของโกคูรยอในเหลียวตง ในครั้งนี้ในกองทัพถังมี ยอน นัมเซง มาด้วย เขาจึงบอกจุดอ่อนในการเข้าตีป้อมปราการต่างๆ แก่ฝ่ายถัง เสวียเหรินกุ้ยนำทหารบุกเข้าตีป้อมของโกคูรยออย่างบ้าคลั่ง ทำให้ป้อมปราการของโกคูรยอแตกอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงป้อมสำคัญอย่างป้อมชินซองด้วย

หลังจากนั้นกองทัพถังได้แบ่งออกเป็นสองส่วน กองทัพหลวงนำโดยหลี่จีมุ่งหน้าไปยังเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยอ ส่วนอีกกองทัพหนึ่งนำโดยเสวียเหรินกุ้ยยกทัพไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อตีป้อมปราการอื่นๆ ในด้านนั้นให้แตกพ่ายไป

โกคูรยอพ่ายแพ้ยับเยิน

ยอน นัมกอน เห็นว่ากองทัพถังบุกลึกเข้ามาในดินแดนของตนของรวดเร็ว เขาจึงส่งกองทัพมีฝีมือจำนวน 200,000 นายของโกคูรยอยกไปตีกองกำลังฝ่ายถังที่หลี่จีและยอน นัมเซงนำมาที่จินซาน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างหนัก โดยยังไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะ เสวียเหรินกุ้ยกลับนำกองทัพมาโจมตีกระหนาบจากด้านหลัง ทำให้ฝ่ายโกคูรยอพ่ายแพ้ยับเยิน ทหารมีฝีมือของโกคูรยอตายไปถึงห้าหมื่นคน และถูกจับเป็นเชลยศึกอีกจำนวนมาก ส่วนทหารที่เหลือก็ถอยลงใต้ไปอย่างรวดเร็ว

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้กองกำลังหลักของโกคูรยอถูกทำลายแทบจะเรียกได้ว่าย่อยยับ ความสูญเสียครั้งนี้หนักหนาอย่างยิ่งสำหรับโกคูรยอทางด้านยุทธศาสตร์

ในครั้งก่อนๆ นั้นถึงแม้กองทัพโกคูรยอจะพ่ายแพ้ แต่กองกำลังมีฝีมือของโกคูรยอยังคงอยู่ ทำให้ฝ่ายถังไม่กล้าส่งกำลังแยกย้ายเข้าตีป้อมปราการหรือเมืองต่างๆ ของโกคูรยอ แต่ในครั้งนี้เมื่อกองกำลังหลักของโกคูรยอสลายไปแล้ว กองทัพถังจึงส่งกำลังเข้าตีป้อมและเมืองอื่นๆทางตอนเหนืออย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองเหล่านั้นคอยตัดเสบียงและตีกระหนาบด้านหลังเหมือนกับที่เคยทำมา

ยอน นัมกอนพยายามรวบรวมกองทหารที่เหลืออยู่ และยกออกโจมตีกองทัพถังอีกครั้งหนึ่ง แต่สุดท้ายกองทัพโกคูรยอกลับพ่ายแพ้อีก เมื่อเสวียเหรินกุ้ยลักลอบสั่งให้ทหารม้าถังสวมใส่เสื้อผ้าชุดสีขาวแล้วเข้าโจมตีกองทัพโกคูรยอในช่วงที่หิมะตกหนัก ทหารโกคูรยอไม่ทันรู้ตัวจึงแตกกระเจิง ทหารโกคูรยอถูกสังหารไปอีกประมาณสองหมื่นนาย

เมื่อปราศจากกำลังสนับสนุน ป้อมที่เหลือของโกคูรยอจึงถูกตีแตก หรือ ยอมจำนนต่อกองทัพถังเป็นจำนวนมาก ป้อมที่เหลืออยู่มีเพียงป้อมอันชิที่เคยต้านทัพถังไท่จงมาแล้วเท่านั้น แต่ป้อมดังกล่าวไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถขัดขวางการเดินทัพไปอย่างเปียงยางได้ เส้นทางไปสู่เปียงยางจึงเปิดออกแล้ว

แผนที่การโจมตีโกคูรยอ Cr: SY

ดิ้นรนเฮือกสุดท้าย

กองทัพของหลี่จีเคลื่อนกำลังทั้งบกและเรือไปยังเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยอ กองทัพถังเดินทางมาถึงแม่น้ำยาลู (Yalu River) กลับต้องเผชิญกับแนวต้านทานใหม่ของโกคูรยอที่พยายามสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายถังเข้าถึงเมืองหลวงได้ ทั้งสองฝ่ายจึงประจัญหน้ากันอยู่โดยไม่มีใครได้รับชัยชนะ

ขณะนั้นเองในฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง ถังเกาจงฮ่องเต้ดำริว่ากองทัพที่มีอยู่อาจจะมีโกคูรยอไม่แตก พระองค์จึงมีรับสั่งให้ส่งกองทัพหนุนเข้าไปโจมตีโกคูรยอเพิ่มเติม กองทัพถังในดินแดนโกคูรยอเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ และเริ่มกดดันแนวรับของฝ่ายโกคูรยอ

ยอน นัมกอนกลับพยายามส่งกำลังที่เหลืออยู่เข้าโจมตีกองทัพถัง ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ นอกจากทำให้จำนวนทหารที่ตายของโกคูรยอเพิ่มขึ้นเท่านั้น นักประวัติศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ว่า ยอน นัมกอนดำเนินยุทธศาสตร์อย่างผิดวิธี แทนที่จะหาทางแยกกองทัพศัตรูเป็นกองเล็ก แล้วไล่ตีให้แตกไปทีละกอง เขากลับส่งกำลังที่น้อยกว่าเข้าต่อสู้กับกองทัพหลักของศัตรู ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากองทัพโกคูรยอต้องพ่ายแพ้ติดๆกัน

การสังเวยทหารอย่างไร้ประโยชน์ของ ยอน นัมกอน ทำให้กองทัพถังตีแนวป้องกันที่แม่น้ำยาลูแตกในที่สุด ป้อมปราการในดินแดนตอนในของโกคูรยอต่างถูกทหารถังเข้ายึดครองได้เป็นจำนวนมาก โกคูรยอจึงแทบจะไม่เหลืออะไรอีกแล้ว กองทัพถังตรงเข้าประชิดเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยอ

การเข้าตีทางใต้ของชิลลา

ไม่เพียงเท่านั้น ครั้งนี้ฝ่ายถังได้ขอให้ชิลลานำกำลังเข้าช่วยเหลือด้วย ชิลลาจึงตอบสนองด้วยการส่งกองกำลังบุกตีโกคูรยอจากทางใต้ เมืองต่างๆ ถูกชิลลาตีแตกอย่างง่ายดายเพราะแทบจะร้างกำลังทหาร

เมืองเหล่านี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและแหล่งเสบียงของโกคูรยอ เมื่อเมืองเหล่านี้ตกอยู่ในมือศัตรู โอกาสที่โกคูรยอจะเอาตัวรอดได้จะเป็นศูนย์ ยอน นัมกอนไม่มีทางเลือกนอกจากแบ่งกำลังทหารที่มีอยู่น้อยนิดเข้าโจมตีกองทัพของชิลลาที่ซาชอน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันเป็นสามารถ แต่สุดท้ายทหารที่มากกว่าของชิลลาก็ได้รับชัยชนะ

ชิลลาเร่งยึดหัวเมืองทางใต้ที่เหลืออยู่ของโกคูรยอ แล้วตามไปบรรจบกับกองทัพถังที่เปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยออย่างรวดเร็ว

โกคูรยอจึงเหลือเพียงเปียงยางเมืองเดียว ส่วนเมืองอื่นๆ แล้วแต่ถูกกองทัพพันธมิตร ถัง-ชิลลา ยึดได้จนหมดสิ้นแล้ว

วาระสุดท้าย

กองทัพโกคูรยอที่เหลืออยู่พยายามต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง กองทัพถังและชิลลาใช้เวลาอยู่เดือนกว่าก็ยังตีไม่ได้ แต่ ณ เวลานั้น กษัตริย์โบจังและเหล่าขุนนางเหมือนกับว่าจะคิดว่าไม่สามารถป้องกันเมืองได้อีกต่อไปแล้ว หรืออาจจะไม่ต้องการให้สูญเสียชีวิตชาวโกคูรยอไปมากกว่านี้ พระองค์และขุนนางอีก 98 คน (รวมไปถึงยอน นัมซานด้วย) จึงไปยอมจำนนต่อกองทัพถังในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ.668

ถึงแม้กษัตริย์ของเขาจะยอมแพ้แล้ว แต่ยอน นัมกอนยังพยายามต่อสู้ต่อไปในเมืองชั้นใน กองทัพพันธมิตรพยายามเข้าตีอย่างไรก็ยังตีไม่แตก จนสุดท้ายแม่ทัพโกคูรยอคนหนึ่งได้เปิดประตูเมืองให้กองทัพถังเข้าไป กองทัพพันธมิตร ถัง-ชิลลาจึงยึดเปียงยางได้ในที่สุด ยอน นัมกอน พยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการใช้มีดแทงตนเอง แต่เขากลับถูกพบเสียก่อน เขาจึงถูกนำไปรักษา ทำให้เขารอดชีวิต

เมื่อเปียงยางแตก อาณาจักรโกคูรยอที่มีประวัติศาสตร์มานานกว่า 700 ปีตั้งแต่สมัยจูมงจึงล่มสลายไปในที่สุด

ผลที่ตามมา

ราชวงศ์ถังได้ผนวกดินแดนของโกคูรยอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับชิลลา ผลที่ตามมาคือทั้งสองฝ่ายแตกคอกัน และเกิดเป็นสงครามในที่สุด ชิลลาสามารถรักษาดินแดนของตนเอาไว้ได้จนกระทั่งราชสำนักถังในสมัยหวู่เจ่อเทียนตัดสินใจเปลี่ยนยุทธศาสตร์เหนือดินแดนเกาหลี

ถึงแม้โกคูรยอจะสูญสิ้นไปแล้ว ชาวโกคูรยอยังต่อต้านผู้รุกรานอย่างรุนแรง ความวุ่นวายเกิดหลายแห่งในดินแดนเดิมของโกคูรยอ และดูเหมือนว่าจะไม่จบไม่สิ้น จนสุดท้ายถังเกาจงต้องแต่งตั้ง อดีตกษัตริย์โบจังมาเป็นผู้ดูแลดินแดนเดิมของโกคูรยอ ในปี ค.ศ.677

นกสามขาสัญลักษณ์ของโกคุรยอ

แต่ทว่าโบจังกลับลักลอบปลุกระดมพวกกบฏให้ต่อต้านราชสำนักถัง เพื่อที่จะฟื้นฟูอาณาจักรของพระองค์เอง เมื่อราชสำนักถังทราบเรื่อง โบจังจึงถูกเนรเทศไปยังเสฉวนในปี ค.ศ.681 อีกหนึ่งปีต่อมา กษัตริย์องค์สุดท้ายของโกคูรยอจึงสวรรคตที่เสฉวนนั่นเอง

ผู้อพยพชาวโกคูรยอได้ผู้นำคนใหม่ชื่อ แดโจยอง (Dae Jo yeong) ซึ่งเคยเป็นอดีตแม่ทัพของโกคูรยอ เขาขับไล่กองกำลังฝ่ายถังออกไปจากดินแดนทางตอนเหนือของโกคูรยอได้เป็นผลสำเร็จ แดโจยองได้สถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นในชื่อ บัลแฮ (Balhae)

ปัจจุบันโบราณสถานหลายแห่งที่สืบทอดไปได้ถึงสมัยโกคูรยอยังปรากฏให้เห็นในประเทศเกาหลีเหนือและจีน

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!