ประวัติศาสตร์เหตุการณ์พลิกแผ่นดิน: กรุงคอนสแตนติโนเปิลแตกในปี ค.ศ.1204

เหตุการณ์พลิกแผ่นดิน: กรุงคอนสแตนติโนเปิลแตกในปี ค.ศ.1204

การปล้นสะดมกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Sack of Constantinople) โดยนักรบครูเสดเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1204 มันได้ส่งผลกระทบมากมายต่อประวัติศาสตร์ยุโรป

ทำไมนักรบครูเสดผู้ได้ชื่อว่าต่อสู้เพื่อพระเจ้ากลับบุกเข้าโจมตีและปล้นสะดมกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองของชาวคริสต์ด้วยกัน?

ติดตามได้ในโพสนี้ครับ

ภาพวาดของ Eugène Delacroix แสดงถึงการยาตราทัพเข้ากรุงคอนสแตนติโนเปิลของนักรบครูเสด

ปูมหลัง

ในช่วงศตวรรษที่ 11 ศาสนาคริสต์ได้แตกแยกครั้งใหญ่เป็นสองนิกายได้แก่ ฝั่งตะวันตก (นิกายโรมันคาทอลิก) และฝั่งตะวันออก (นิกายออโธดอกซ์) ทำให้ชาวคริสต์ในอาณาจักรต่างๆยุโรปตะวันตก และอาณาจักรไบแซนไทน์นับถือศาสนาคนละศาสนา

ถึงแม้จะแตกเป็นสองนิกายแล้ว แต่ความร่วมมือต่างๆก็ยังมีอยู่ โป๊ปแห่งกรุงโรมยังให้การช่วยเหลืออาณาจักรไบแซนไทน์เมื่อถูกชาวเติร์กรุกรานด้วยการริเริ่มจัดตั้งกองทัพครูเสดยกไปรบกับชาวมุสลิมในช่วงต้นศตวรรษที่ 12 อนึ่งก็เพื่อลดแรงกดดันของชาวมุสลิมต่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล

กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบูล) แห่งนี้เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศูนย์กลางของชาวคริสต์นิกายออโธดอกซ์ และเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) มหานครแห่งนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในยุคนั้น

หากแต่ว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรไบแซนไทน์และอาณาจักรต่างๆ ที่เป็นคาทอลิกเริ่มเลวร้ายลง

สาเหตุสำคัญคือชาวคาทอลิกหรือที่เรียกว่า ชาวละติน โดยเฉพาะพวกพ่อค้าชาวอิตาเลียนอย่าง เวนิส เจนัว และปิซาได้ครอบงำเศรษฐกิจและการค้าของเมือง ทำให้ตั้งแต่จักรพรรดิไบแซนไทน์ไปจนถึงพลเมืองทั่วไปไม่พอใจพ่อค้าเหล่านี้

ความไม่พอใจเหล่านี้เลวร้ายลงจากความแตกแยกทางศาสนาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า อีกฝ่ายทำให้ชาวคริสต์ทั้งหมดแตกแยก

ท้ายที่สุดแล้ว ในปี ค.ศ.1182 เมื่อแอนโดรนิโคส คอมเมนอส (Andronikos Komnenos) ได้ยึดอำนาจในกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ ชาวเมืองได้ฉวยโอกาสที่มีการเฉลิมฉลอง ทำการกวาดล้างและสังหารพวกละตินที่มีประมาณหกหมื่นคนในเมือง

ชาวละตินต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน ถ้าหนีไม่ทันก็สิ้นชีวิตลงอย่างมากมาย รวมไปถึงพระคาร์ดินัลคาทอลิกคนหนึ่งด้วย โบสถ์คาทอลิกมากมายถูกทำลายโดยชาวไบแซนไทน์

ถึงแม้แอนโดรนิโคสจะไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการสังหาร แต่ที่แน่ๆ เขาปิดตาทำเป็นไม่เห็น หรืออาจจะเป็นผู้ปลุกระดมพวกชาวไบแซนไทน์ด้วย

เรื่องการสังหารนี้ทราบไปถึงอาณาจักรต่างๆ ในยุโรปตะวันตก ทำให้เหล่ากษัตริย์ชาวคาทอลิกพิโรธ หลายคนต้องการจะยกไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเพื่อล้างแค้นด้วยซ้ำไป

หากแต่ว่าทั้งสองฝ่ายกลับใช้การทูตไกล่เกลี่ย ทำให้การค้าระหว่างอาณาจักรไบแซนไทน์และพ่อค้าตะวันตกกลับมาเหมือนเดิม แต่ความเกลียดชังระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะจางหายไปได้ ชาวคาทอลิกในยุโรปตะวันตกบางส่วนต้องการแก้แค้น

ความรู้สึกเช่นนี้จะทำให้เกิดสงครามใหญ่โตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ชนวนเหตุ

ชนวนแห่งสงครามเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1203 กองทัพครูเสดกำลังยกไปตีเมืองเยรูซาเลม หลังจากที่เสียให้กับซาลาดินก่อนหน้านี้ แต่พวกเขาได้สารลับจากเจ้าชายผู้หนึ่งเสียก่อน

เจ้าชายผู้นี้คือ อเล็กซีโอสที่ 4 (Alexios IV) เขาขอให้นักรบครูเสดยกไปกรุงคอนแสตนติโนเปิลเพื่อล้ม อเล็กซีโอสที่ 3 อาของเขา โดยแลกกับสิ่งต่อไปนี้

  1. เขาจะจ่ายหนี้ทั้งหมดที่พวกนักรบครูเสดติดค้างพ่อค้าชาวเวนิส
  2. มอบเงินสองแสนเหรียญให้กับพวกนักรบครูเสด
  3. สนับสนุนการยกไปตีเยรูซาเลมด้วยกำลังทหารไบแซนไทน์หนึ่งหมื่นคน
  4. ยินยอมให้ศาสนจักรแห่งคอนสแตนติโนเปิลอยู่ใต้อำนาจของโป๊ปแห่งกรุงโรม

ข้อเสนอนี้ช่างดีจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อในขณะนั้น พวกนักรบครูเสดต่างมีปัญหาหนี้ท่วมหัวอยู่พอดี

ดอด์จ เอ็นริโก้ แดนโดโล (Enrico Dandolo) แห่งเวนิส ผู้นำคนสำคัญของกองทัพครูเสด มีความเกลียดชังอาณาจักรไบแซนไทน์เป็นการส่วนตัว เขาจึงติดสินบนผู้นำคนอื่นในกองทัพด้วยเงินจำนวนมากให้ยกไปตีคอนสแตนติโนเปิล

สุดท้ายแล้ว กองทัพครูเสดที่ควรจะไปต่อสู้กับชนต่างศาสนา กลับเดินทางไปโจมตีเมืองของชาวคริสต์ด้วยกันเอง

เมื่อโป๊ปแห่งกรุงโรมสั่งห้ามไม่ให้ยกทัพไปโจมตีชาวคริสต์ด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ประณามใดๆ พวกนักรบครูเสดจึงมุ่งหน้าต่อไป

นักรบครูเสดตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล ภาพวาดโดย Palma il Giovane

ศึกคอนสแตนติโนเปิล

กองทัพครูเสดเดินทางมาถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างรวดเร็ว โดยที่ฝั่งไบแซนไทน์ที่อยู่ในเมืองไม่ทันตั้งตัว การเตรียมการตั้งรับจึงแทบไม่มีเลย หากแต่ว่าในเมืองยังมีทหารรับจ้างและทหารอาชีพอยู่ประมาณ 15,000 นาย ทำให้พอจะตั้งรับกองทัพครูเสดที่มีทหารประมาณ 20,000-23,000 นายได้อยู่

เหล่านักรบครูเสดโจมตีป้อมสำคัญที่เรียกว่าป้อม Galata ที่สกัดไม่ให้กองเรือของนักรบครูเสดเข้าถึงบริเวณ Golden Horn ทั้งสองฝ่ายต่อสู้อย่างดุเดือด พวกไบแซนไทน์ทำพลาดด้วยการยกทัพออกมาต่อสู้นอกป้อม ทำให้พวกนักรบครูเสดตีตอบโต้และสามารถยึดป้อมได้สำเร็จ

กองเรือเวนิสที่เข้ามาถึงกำแพงเมืองได้สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายป้องกันอย่างหนัก กองเรือดังกล่าวได้จุดไฟทำลายส่วนหนึ่งของเมืองทำให้ราษฎรจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย

อเล็กซีโอสที่ 3 เห็นสถานการณ์คับขัน เขาส่งกำลังขนาดใหญ่ออกตีโต้เหล่านักรบครูเสด แต่กลับไม่สามารถเอาชนะพวกนักรบครูเสดได้ อเล็กซีโอสที่ 3 เห็นสถานการณ์ไม่เป็นใจจึงทิ้งเมืองหนีไปอย่างดื้อๆ ปล่อยให้ราชสำนักไบแซนไทน์คอยรับศึกอยู่ตามลำพัง

พวกเสนาบดีในเมืองจึงสถาปนาไอแซคที่ 2 บิดาของอเล็กซีโอสที่ 4 เป็นจักรพรรดิ ทำให้พวกนักรบครูเสดหมดข้ออ้างที่จะล้มล้างอเล็กซีโอสที่ 3 ต่อไป และอเล็กซีโอสที่ 4 ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะล้มบิดาของตัวเองด้วย

ในใจของพวกนักรบครูเสดต้องการรางวัลที่อเล็กซีโอสที่ 4 ให้สัญญาไว้ พวกเขาจึงต่อรองว่าให้อเล็กซีโอสที่ 4 ต้องขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วมกับบิดาของเขา พวกเสนาบดีจัดการให้ตามคำขอโดยเรียบร้อย

ปั่นป่วน

เมื่ออเล็กซีโอสที่ 4 ได้ตำแหน่งแล้ว เขาไม่มีปัญญาจะจ่ายเงินให้กับนักรบครูเสดได้ เพราะอเล็กซีโอสที่ 3 ได้หนีไปพร้อมกับเงินจำนวนมาก อเล็กซีโอสที่ 4 จึงต้องไปหาขุดหาเงินและทองจากรูปปั้นโบราณ ทำให้ชาวเมืองต่างโกรธมากขึ้น หลังจากโกรธที่อเล็กซีโอสที่ 4 ไปนำกองทัพต่างชาติต่างศาสนามาตีบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองอยู่แล้ว

อเล็กซีโอสที่ 4

อเล็กซีโอสที่ 4 กลัวว่าถ้าตนเองอยู่ในเมืองจะเป็นอันตราย เขาต่อรองกับนักรบครูเสดว่าให้ยืนอายุสัญญาไปอีกหกเดือน และให้พวกนักรบครูเสดบางส่วนยกไปโจมตีอเล็กซีโอสที่ 3 ที่หนีไปยังเมืองเอเดรียโนเปิล เมืองเดียวกับที่เคยเกิดสมรภูมิใหญ่เมื่อหลายร้อยปีก่อน

ระหว่างที่อเล็กซีโอสที่ 4 ไม่อยู่ในเมือง ชาวกรีกและชาวละตินในเมืองได้แบ่งฝ่ายและต่อสู้กัน ทำให้ชาวละตินตายไปเป็นจำนวนมาก ในคราวนี้นักรบครูเสดที่อยู่นอกเมืองจึงบุกเข้าโจมตีมัสยิดแห่งหนึ่ง แต่ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ออโธดอกซ์ได้จับมือกันต้านทานเอาไว้ได้ พวกนักรบครูเสดจำต้องถอยกลับไป แต่ก่อนจะไปก็ได้จุดไฟเผาเมือง ทำให้บ้านจำนวนมากในเมืองถูกทำลาย

ต่อมาความวุ่นวายก็เกิดขึ้นอีก เมื่อไอแซคที่ 2 เกิดสวรรคตลง ชาวเมืองที่เกลียดชังอเล็กซีโอสที่ 4 จึงก่อม็อบเพื่อปลดเขาออกจากตำแหน่ง ในช่วงนี้เอง อเล็กซีโอส ดาวคัส (Alexios Doukas) ชนชั้นสูงคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มต่อต้านพวกนักรบครูเสดจึงชิงอำนาจและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ในนามอเล็กซีโอสที่ 5

อเล็กซีโอสที่ 5 ได้จับกุมและสังหารอเล็กซีโอสที่ 4 ที่ชาวเมืองเกลียดชังเสีย หลังจากนั้นก็ให้เตรียมการตั้งรับการโจมตีของนักรบครูเสด

เมืองแตก

เหล่านักรบครูเสดต่างเรียกร้องให้อเล็กซีโอสที่ 5 ทำตามสัญญาที่อเล็กซีโอสที่ 4 ได้สัญญาไว้ แต่อเล็กซีโอสที่ 5 ปฏิเสธ สาเหตุหนึ่งคือเขาไม่สามารถทำได้ ส่วนสาเหตุที่สองคือ เขาไม่ต้องการที่จะทำ

ดังนั้นเมื่อพวกนักรบครูเสดไม่ได้ตามคำขอ จึงยกเข้าตีเมือง

การเข้าตีเมืองเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะว่าพวกไบแซนไทน์ต่อต้านอย่างหนัก ทหารครูเสดเริ่มเสียกำลังใจ พวกผู้นำจึงต้องทำการปลุกระดมด้วยความเชื่อผิดๆ ว่าพวกไบแซนไทน์เป็นมหาศัตรูที่ต้องกำจัด ถึงแม้โป๊ปอินโนเซนต์ที่ 3 แห่งกรุงโรมจะมีคำสั่งห้ามไม่ให้โจมตี แต่พวกผู้นำนักรบครูเสดก็ไม่ฟัง

เหล่านักรบครูเสดแห่กันเข้าโจมตีเมือง โดยนักรบครูเสดโจมตีทางบก ส่วนชาวเวนิสโจมตีทางทะเล ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือด แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นในเมืองเพราะอเล็กซีโอสที่ 5 เลือกที่จะหนี ทำให้ในเมืองเกิดความวุ่นวายใหญ่โต เหล่าทหารรับจ้างต่างต้องการค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เมื่อราชสำนักไบแซนไทน์ไม่สามารถมอบให้ได้ พวกเขาจึงหลบหนีและยอมจำนนต่อนักรบครูเสดเป็นจำนวนมาก ทำให้แนวป้องกันเมืองอ่อนแอลง

ผลสุดท้ายกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็แตกในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1204

การปล้นสะดมและการสังหารเกิดขึ้นไปทั่วทั้งเมืองเป็นเวลานานกว่าสามวัน กรุงคอนสแตนติโนเปิลอันยิ่งใหญ่เสียหายยับเยิน ชนิดที่พวกอนารยชนอย่างสมัยโรมันยังต้องทึ่ง การปล้นสะดมเมืองในปี ค.ศ.1453 โดยกองทัพออตโตมันยังสร้างความเสียหายไม่เท่ากับในครั้งนี้เลย

เมื่อโป๊ปอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงทราบ พระองค์พิโรธเป็นอย่างยิ่ง โป๊ปทรงประณามพวกนักรบครูเสดอย่างรุนแรง

ผลที่ตามมา

พวกนักรบครูเสดได้ก่อตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นเพื่อปกครองดินแดนที่ยึดมาได้จากอาณาจักรไบแซนไทน์ ในนามอาณาจักรละติน (Latin Empire) อาณาจักรดังกล่าวมีอายุไม่นานนัก เพราะท้ายที่สุดแล้วชาวไบแซนไทน์ก็ได้ตีชิงดินแดนทั้งหมดกลับคืนได้ในที่สุด

ผลกระทบของการทำลายกรุงคอนสแตนติโนเปิลครั้งนี้มีมากมายมหาศาล มันได้ทำให้อาณาจักรไบแซนไทน์อ่อนแอลงมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร อาณาจักรดังกล่าวไม่อาจจะต่อสู้กับศัตรูธรรมชาติอย่างชาวเติร์กได้ จนสุดท้ายอาณาจักรไบแซนไทน์ถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์โลกในปี ค.ศ.1453 โดยฝีมือของกองทัพออตโตมัน

อุดมการณ์ของเหล่านักรบครูเสดเองก็เสียหายไปอย่างมากจากการโจมตีและทำลายล้างชาวคริสต์ด้วยกัน หลังจากนี้การทำสงครามครูเสดมีความขลังน้อยลงไปทุกที ผลที่ตามมาคือการทำสงครามครูเสดเพื่อชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์อย่างจริงจังแทบไม่ปรากฏอีกเลย

หลังจากเหตุการณ์นี้ ชาวกรีกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ต่างคิดว่าการอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมันที่เป็นชาวมุสลิมน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอยู่ภายใต้อาณาจักรของชาวยุโรปตะวันตก (ซึ่งก็เป็นความจริง) พวกเขาจึงต่อต้านพวกออตโตมันน้อยลง ทำให้ต่อมาดินแดนในอนาโตเลียเสียให้กับชาวมุสลิมไปอย่างถาวร

ผลกระทบที่ส่งผลนานที่สุดคือ ศาสนจักรในตะวันตกและตะวันออกมีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงอย่างรุนแรง และแยกขาดจากกันออกอย่างเป็นทางการ ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่อาจจะฟื้นคืนได้แม้ว่าจะผ่านไปหลายร้อยปีแล้วก็ตาม กว่าศาสนจักรจะฟื้นคืนความสัมพันธ์ให้กลับคืนมาเช่นเดิม ต้องรอถึงยุคศตวรรษที่ 19-20 หรือ 600-700 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!