ประวัติศาสตร์ราชินีคลีโอพัตรา ตอนจบ: ความพ่ายแพ้และจุดจบของคลีโอพัตรา

ราชินีคลีโอพัตรา ตอนจบ: ความพ่ายแพ้และจุดจบของคลีโอพัตรา

ในตอนที่แล้ว คลีโอพัตราได้พัฒนาความสัมพันธ์กับแอนโทนี อดีตขุนศึกของซีซาร์และหนึ่งในสามของผู้นำสูงสุดแห่งอาณาจักรโรมัน แอนโทนีเองก็มีความทะเยอทะยานและความปรารถนาอย่างชัดเจนที่จะต้องการครอบครองแผ่นดินร่วมกับคลีโอพัตรา เขาจึงใช้อำนาจที่ตัวเขามีอยู่ “สนับสนุน” คลีโอพัตรา

คลีโอพัตรา

เรื่องทั้งหมดอยู่ในสายตาของออคเตเวียน (Octavian) ผู้สืบทอดของซีซาร์ตามพินัยกรรมมาโดยตลอด เขาเห็นทั้งหมดว่าแอนโทนีสละผลประโยชน์ของโรมให้กับคลีโอพัตรา แต่ออคเตเวียนยังไม่มีจังหวะที่จะลงมือจัดการกับแอนโทนี ต่างฝ่ายจึงจ้องมองกันอยู่

ในปี 36 BC (ก่อน ค.ศ. 36 ปี) แอนโทนีได้ยกทัพไปตีอาณาจักรปาร์เธีย เขาหวังว่าถ้าเขายึดอาณาจักรปาร์เธียได้ เกียรติยศของเขาจะเทียบเท่าอเล็กซานเดอร์มหาราช

เรามาดูกันว่าแอนโทนีจะไปได้ไกลเพียงใด

แอนโทนีรุกรานปาร์เธีย

ปาร์เธียในที่นี้คือ อาณาจักรที่ครอบครองดินแดนทั้งหมดในเปอร์เซียและหลายส่วนของเอเชียไมเนอร์ ดังนั้นอาณาจักรแห่งนี้จึงมีกำลังคนไม่แพ้โรม ปาร์เธียจึงไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่กระจอกเหมือนกับศัตรูเก่าๆ ที่โรมเคยเอาชนะได้

อนึ่งการรุกรานปาร์เธียในสมัย Crassus จบลงด้วยความพ่ายแพ้ยับเยิน กองทัพโรมันแตกกระเจิง แม่ทัพถูกสังหาร ชาวโรมันจึงต้องการจะล้างอายความพ่ายแพ้ครั้งก่อน นี่เป็นอีกสาเหตุที่แอนโทนีต้องการมาตีปาร์เธีย

แอนโทนีเตรียมกองทัพมานานหลายปี กองกำลังของเขามีมากถึง 100,000 นาย (บ้างว่ามากถึง 200,000 นาย) กองกำลังเหล่านี้สนับสนุนโดยอียิปต์ สำหรับคลีโอพัตราแล้ว เธอสนับสนุนแอนโทนีเต็มที่ ถ้าแอนโทนีชนะ ความฝันที่เธอและเขาจะได้ครอบครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ด้วยกันก็จะเป็นจริง คลีโอพัตราถึงกับเดินทางไปในกองทัพร่วมกับแอนโทนีด้วย

กองทัพของแอนโทนีบุกลึกเข้าไปในดินแดนปาร์เธีย (บริเวณประเทศอาเซอร์ไบจาน) ตัวแอนโทนีต้องการต่อสู้สงครามกลางแปลงกับฝ่ายปาร์เธีย แต่พวกปาร์เธียที่เชี่ยวชาญการใช้ทหารม้าหาทางหลบหลีกกองทัพโรมันอยู่ร่ำไป แอนโทนีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากบุกตรงเข้าไปดินแดนปาร์เธียมากขึ้น

เส้นทางขนเสบียงของแอนโทนีจึงมีระยะทางไกล และยากต่อการป้องกัน ต่อมากองทัพปาร์เธียเข้าโจมตีค่ายเก็บเสบียงของแอนโทนีและได้รับชัยชนะ ทหารโรมันถูกสังหารและจับเป็นเชลยถึงหนึ่งหมื่นคน

ความพ่ายแพ้ไม่ได้ทำให้แอนโทนีสิ้นหวัง เขาพยายามตีเมืองสำคัญๆ ของปาร์เธียให้ได้ แต่ก็ไม่เป็นผล กองทัพปาร์เธียต้านทานอย่างเข้มแข็ง ทำให้ผ่านไปสองเดือน แอนโทนียังไม่ได้เมืองใดๆ เลย

ฝ่ายปาร์เธียใช้วิธีการเดียวกับโกคูรยอในการต่อต้านราชวงศ์สุยและถัง นั่นก็คือทหารปาร์เธียส่งกำลังเข้ารบกวนการขนเสบียง ในเวลาไม่นานกองกำลังโรมันก็ขาดเสบียง สุดท้ายแอนโทนีต้องสั่งให้ถอยกองทัพทั้งหมด

ระหว่างการถอยทัพ กองทัพปาร์เธียก็ใช้ทหารม้าเข้าโจมตีทำให้กองทหารโรมันบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก พลูตาร์คเล่าว่าแอนโทนีเสียทหารราบไปอีก 20,000 คน ทหารม้าอีก 4,000 คนระหว่างการถอยกลับ การรุกรานปาร์เธียของแอนโทนีจึงจบลงด้วยหายนะ เพราะได้เสียกำลังทหารไปมากกว่า 35,000 นาย โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย

ฟางเส้นสุดท้าย

ระหว่างที่แอนโทนีไปทัพ ออคเตเวียนได้ทำการรวบรวมอำนาจของตนในสภาเซเนต เขาบีบบังคับให้เลปิดุส หนึ่งในสามของ Triumvir ขอลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เหลือแต่เขากับแอนโทนีเท่านั้นที่ชิงอำนาจในโรม

ออคเตเวียนเริ่มทำการโจมตีแอนโทนีว่า แอนโทนีทิ้งออตเตเวีย น้องสาวของตนซึ่งเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายทิ้งไว้ที่โรม ส่วนตนเองไปเสวยสุขอยู่กับคลีโอพัตรา และพยายามทำตนให้เป็นคนอียิปต์ ละทิ้งความเป็นคนโรมันไปเสียแล้ว

ออคเตเวียน

จริงๆ สิ่งที่ออคเตเวียนโจมตีไม่ได้ผิดไปจากความจริงสักเท่าใด แอนโทนีที่กลัดกลุ้มกับความพ่ายแพ้ใช้เวลาทั้งวันไปกับการดื่มเหล้าอยู่ที่ดินแดนเลบานอน และลืมทุกสิ่งไปจนสิ้น คลีโอพัตราจำต้องเดินทางไปนำตัวเขามาที่อียิปต์

หลังจากนั้นสภาเซเนตพยายามเรียกตัวแอนโทนีกลับมายังโรม เพื่อที่จะชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เขาเป็นข่าวฉาว แต่แอนโทนีก็เฉยเสีย และอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของอียิปต์ต่อไป

ในปี 34 BC แอนโทนีผู้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากคลีโอพัตราได้ทำการรุกรานอาร์เมเนีย พันธมิตรของปาร์เธียที่เคยทรยศโรม ครั้งนี้แอนโทนีได้รับชัยชนะและสามารถจับเป็นกษัตริย์อาร์เมเนียมาได้ แอนโทนีจึงสั่งให้จัดพาเหรดเฉลิมฉลองชัยชนะที่อเล็กซานเดรียแบบที่จัดโดยทั่วไปในโรม

เมื่อชาวโรมันทราบในพฤติการณ์ของแอนโทนีก็โกรธเคือง เพราะแอนโทนีนำประเพณีและพิธีแบบโรมันไปทำในดินแดนของชาวต่างชาติ ภาพลักษณ์ของแอนโทนีที่แย่อยู่แล้วจึงยิ่งดำดิ่งลงไปอีก

แต่ทว่าเรื่องไหนก็ไม่รุนแรงเท่าเรื่องด้านล่างนี้

หลังจากนั้นไม่นาน แอนโทนีได้ทำการแบ่งดินแดนจำนวนมากในส่วนที่ตนครอบครองให้กับบุตรของตนที่เกิดกับคลีโอพัตรา เท่านั้นยังไม่พอ แอนโทนียังได้ประกาศว่าซีซาเรียนเป็นบุตรชายของจูเลียส ซีซาร์และเป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย

คลีโอพัตราและซีซาเรียน

การประกาศว่าซีซาเรียนเป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นการตบหน้าออคเตเวียนอย่างแรง เพราะนั่นหมายความว่าออคเตเวียนไม่มีความชอบธรรมในการอยู่ในตำแหน่งของเขา และนี่เป็นคำประกาศของแอนโทนี หนึ่งใน Triumvir ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางกฎหมายทัดเทียมกับตัวออคเตเวียนเองด้วย

ดังนั้นแอนโทนีและออคเตเวียนจึงเป็นศัตรูกันอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายให้ผู้สนับสนุนตนแลกหมัดกันในการโจมตีอีกฝ่าย

แอนโทนีโจมตีว่าออคเตเวียนปลดเลปิดุสออกจากตำแหน่ง Triumvir โดยผิดกฎหมาย และปลอมแปลงพินัยกรรมของซีซาร์

ส่วนออคเตเวียนโจมตีแอนโทนีว่าแต่งงานกับคลีโอพัตราทั้งๆ ที่มีน้องสาวของตนเป็นภรรยาในทางกฎหมายอยู่แล้ว และประกาศว่าซีซาเรียนเป็นทายาทของซีซาร์ ทั้งๆ ที่ในพินัยกรรมของซีซาร์ ได้ขนานนามออคเตเวียนอย่างชัดเจน

การโจมตีทางการเมืองของฝ่ายออคเตเวียนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคลีโอพัตราอย่างมาก ข่าวฉาวจำนวนมากถูกนำขึ้นเพื่อโจมตีเธอ ซึ่งจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ เช่นคลีโอพัตราได้ใช้เวทมนตร์ครอบงำแอนโทนีเป็นต้น

ความตึงเครียดระหว่างแอนโทนีและออคเตเวียนดำเนินไปจนกระทั่งถึงปี 33 BC เมื่อระยะเวลาดำรงตำแหน่ง Triumvir ของออคเตเวียนและแอนโทนีหมดอายุ สถานการณ์ก็ถึงจุดไคลแมกซ์

ออคเตเวียนโจมตีแอนโทนีว่าเอาดินแดนไปมอบให้กับคลีโอพัตราราวกับว่าเป็นทาส ทำให้กงสุลสองคนที่เป็นพวกแอนโทนีออกมาโจมตีออคเตเวียนอย่างรุนแรง ออคเตเวียนทนไม่ไหวอีกต่อไป เขาจึงนำทหารเข้ามาในสภาเซเนต และโจมตีว่ากงสุลทั้งสองเป็นทาสรับใช้ของแอนโทนี การกระทำของออคเตเวียนเป็นฟางเส้นสุดท้าย เหล่ากงสุลทั้งสองและสมาชิกสภาเซเนตที่สนับสนุนแอนโทนีจึงหลบหนีไปทันทีในวันรุ่งขึ้น

อีกไม่นานแอนโทนีก็ทำการประกาศว่าตนเองได้หย่าขาดจากออคเตเวีย น้องสาวของออคเตเวียนแล้ว แอนโทนีและออคเตเวียนจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันอีก นอกจากความเป็นศัตรู

เหล่าที่ปรึกษาของออคเตเวียนได้แนะนำให้ออคเตเวียนบุกเข้าไปวิหารของเทพีเวสต้า ที่แอนโทนีเก็บพินัยกรรมของตนเองเอาไว้ ถึงแม้ว่าการขโมยพินัยกรรมผู้อื่นจะผิดกฎหมาย แต่ออคเตเวียนก็นำพินัยกรรมของแอนโทนีมาประจานต่อสภาเซเนตและปวงชนโรมันได้ในที่สุด

พินัยกรรมของแอนโทนีมีว่า

  1. ซีซาเรียนเป็นทายาทของซีซาร์
  2. การแบ่งดินแดนให้กับโอรสธิดาของแอนโทนีและคลีโอพัตราเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  3. อเล็กซานเดรียจะต้องเป็นเมืองหลวงใหม่ของจักรวรรดิโรมัน
  4. แอนโทนีจะต้องถูกฝังเคียงข้างคลีโอพัตราที่อียิปต์

พินัยกรรมของแอนโทนีจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าแอนโทนีได้ทรยศโรม ปวงชนโรมันได้เลือกออคเตเวียนเป็นกงสุลคนใหม่อย่างล้มหลาม ส่วนหนึ่งก็เพราะกระแสเกลียดชังแอนโทนี

ออคเตเวียนในฐานะกงสุลคนใหม่ได้ประกาศว่าโรมอยู่ในสถานะสงครามกับคลีโอพัตรานับตั้งแต่บัดนั้น สงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ยุทธนาวีแห่งอัคติอุม

ออคเตเวียนได้ประกาศว่าโรมได้ทำสงครามกับคลีโอพัตรา แต่ไม่ได้ประกาศสงครามต่อแอนโทนี เพราะเขาไม่ต้องการให้ดูเหมือนว่าเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนกับสมัยซีซาร์ ทหารฝ่ายเขาจะได้สู้รบเต็มที่

นอกจากนี้ออคเตเวียนยังต้องการให้ทหารโรมันที่อยู่ในมือแอนโทนีรู้สึกว่าแอนโทนีนั่นแหละที่เป็นศัตรูของโรม พวกเขาจะได้พากันเปลี่ยนฝั่งมาอยู่ฝ่ายออคเตเวียน แผนการดังกล่าวสำเร็จเพราะออคเตเวียนได้ดินแดนหลายแห่งในกรีซมาโดยไม่ต้องสู้รบ

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันในสงครามทางทะเลใกล้กับอัคติอุม (Actium) กองเรือของออคเตเวียนมี จำนวน 250 ลำ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือเล็ก ทหารทั้งหมดมีประมาณ 16,000 นาย และพลธนูสามพันนาย

ส่วนกองเรือของแอนโทนีมีทั้งหมด 140 ลำ แต่เรือทุกลำมีขนาดใหญ่กว่าเรือของออคเตเวียน แอนโทนีมีกำลังทหาร 20,000 คน และ พลธนูอีก 2,000 นาย แต่ทหารของเขามีประสบการณ์น้อยกว่าฝ่ายออคเตเวียนมาก

ยุทธนาวีแห่งอัคติอุม

ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างหนักในเวลาบ่าย แม่ทัพเรืออคริปปินา แม่ทัพใหญ่ฝ่ายออคเตเวียนพยายามใช้เรือที่มากกว่าและคล่องตัวกว่าให้เป็นประโยชน์ ถึงแม้เรือของแอนโทนีจะมีคุณภาพมากกว่าจึงยังไม่สามารถเอาชนะได้

แต่จู่ๆ กองเรืออียิปต์ของคลีโอพัตรากลับถอยออกไปที่ทะเลเปิดโดยไม่ทราบสาเหตุ การถอยของคลีโอพัตราทำให้ตัวแอนโทนีและทหารของเขาคิดว่ากองเรือทั้งหมดแตกพ่ายแล้ว ความตื่นกลัวแพร่กระจายไปในหมู่ทหารของเขา กองเรือของแอนโทนีจึงเริ่มแตกฉานในที่สุด แอนโทนีหนีเอาตัวรอดไปได้พร้อมกับเรือประมาณ 60 ลำ เรืออื่นๆ ล้วนแต่ถูกทำลายและยึดได้โดยออคเตเวียน

ความพ่ายแพ้ของแอนโทนีทำให้ทหารของเขาจำนวนมากที่รักษาการณ์อยู่ตามที่มั่นต่างๆ วางอาวุธและยอมจำนนต่อออคเตเวียน แอนโทนีและคลีโอพัตราจำต้องหนีไปยังอียิปต์

วาระสุดท้ายของแอนโทนี

หลังจากความพ่ายแพ้ที่อัคติอุม คลีโอพัตราและแอนโทนีพยายามประนีประนอมกับออคเตเวียนแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะสำหรับออคเตเวียนแล้ว เขาไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะปล่อยทั้งสองเป็นเสี้ยนหนามต่อไป โดยเฉพาะคลีโอพัตรา มารดาของซีซาเรียน ลูกชายของซีซาร์

ออคเตเวียนเร่งนำกำลังบุกไปยังอียิปต์ทันที แอนโทนีพยายามต่อต้านกองทัพของออคโตเวียน และประสบความสำเร็จในการตั้งยันศัตรูไว้ได้ที่หน้าเมืองอเล็กซานเดรีย แต่ทหารของเขากลับไปยอมจำนนต่อออคเตเวียนมากมาย

ในวันที่ 1 สิงหาคม 30 BC กองกำลังของแอนโทนีทั้งหมดวางอาวุธต่อออคเตเวียน คลีโอพัตราที่แอบอยู่ในสุสานแห่งหนึ่งส่งสารไปบอกแอนโทนีว่า เธอได้ฆ่าตัวตายแล้ว แอนโทนีหลงเชื่อ เขาจึงใช้ดาบแทงท้องของตนเองเพื่อฆ่าตัวตาย แต่ทว่าระหว่างที่แอนโทนีกำลังจะสิ้นลม เขาได้ทราบว่าแท้จริงแล้วคลีโอพัตรายังไม่ตาย เขาจึงขอให้คนสนิทพาเขาไปพบกับคลีโอพัตราเป็นครั้งสุดท้าย แอนโทนีสิ้นลมในอ้อมกอดของคลีโอพัตรา เขามีอายุได้ 53 ปี

ไม่มีใครทราบอีกเช่นกันว่าทำไมคลีโอพัตราถึงทำเช่นนั้น มีผู้วิเคราะห์ว่าคลีโอพัตราเองต้องการจะสลัดแอนโทนีทิ้งเพราะเห็นว่าเขาไม่มีประโยชน์แล้ว

การตายของคลีโอพัตรา วาดโดย Guido Cagnacci

จุดจบของคลีโอพัตรา

ท้ายที่สุดคลีโอพัตราก็โดนออคเตเวียนจับตัวได้ เธอพยายามทำให้ออคเตเวียนสงสารเธอ (บ้างว่าพยายามทำให้ออคเตเวียนลุ่มหลงเธอ) แต่ไม่เป็นผล ออคเตเวียนยินดีที่จะไว้ชีวิตเธอ แต่เธอจะต้องถูกล่ามโซ่ใส่ในกรงเพื่อแห่ในกรุงโรมเหมือนกับอาร์ซิโนที่ 4 น้องสาวของเธอ

ภาพวาดการตายของคลีโอพัตราในจินตนาการของ ของ Jean-Baptiste Regnault

ตำนานเล่าว่าคลีโอพัตราไม่ต้องการอับอายเช่นนั้น เธอจึงฆ่าตัวตายด้วยการให้งูพิษกัดเธอ หรือบ้างว่าเธอแทงตนเองด้วยเข็มอาบยาพิษ ถึงกระนั้นนักประวัติศาสตร์ก็ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเธอตายด้วยวิธีใดกันแน่ หรือว่าจริงๆ แล้วเป็นออคเตเวียนเองที่เป็นผู้สังหารเธอ และได้ทำการปกปิดความลับดังกล่าวเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

คลีโอพัตรามีอายุได้ 39 ปีเท่านั้นเมื่อเธอจากไป สิ่งที่เธอพากเพียรทำเป็นสิ่งสุดท้ายคือ ส่งซีซาเรียน ลูกชายของเธอที่เกิดกับซีซาร์ให้ไปจากอียิปต์โดยเร็วที่สุด และไกลที่สุด

เวลาต่อมา

มรณกรรมของคลีโอพัตราอีกรูปแบบหนึ่ง

ซีซาเรียนถูกส่งตัวไปจากอียิปต์ เขาพยายามหนีไปให้ไกลที่สุด บ้างว่าเขาต้องการหนีไปอินเดีย แต่ทว่าซีซาเรียนในวัย 17 ปีกลับหลงเชื่อข่าวลือที่ว่า ออคเตเวียนยินดีให้เขาเป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์ต่อไป เขาจึงเดินทางกลับมาที่อเล็กซานเดรีย

เมื่อซีซาเรียนกลับมาถึงอเล็กซานเดรีย เหล่าที่ปรึกษาแนะนำให้ออคเตเวียนประหารชีวิตเขาเสียเพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามต่อไป ออคเตเวียนจึงทำตาม ซีซาเรียนพบกับวาระสุดท้ายเช่นนี้นั่นเอง

โอรสทั้งสามของคลีโอพัตราและแอนโทนีมีชะตากรรมที่ดีกว่าซีซาเรียน ทั้งหมดถูกนำตัวไปให้ออคตาเวีย น้องสาวของแอนโทนี ผู้เป็นอดีตภรรยาของแอนโทนีเลี้ยงดู

เอากุสตุส (Augustus)

ออคเตเวียนได้ทำการล้มเลิกระบอบฟาโรห์ในอียิปต์ และประกาศให้อียิปต์เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน โดยมีข้าหลวงปกครองโดยตรง หลังจากนั้นออคเตเวียนได้กลับไปยังโรม และได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งจักรวรรดิโรมัน ในนาม เอากุสตุส (อ่านแบบละติน) หรือในภาษาอังกฤษว่า ออกัสตุส (Augustus)

สาธารณรัฐโรมันจึงจบสิ้นลงอย่างเป็นทางการ ยุคแห่งจักรวรรดิได้เริ่มต้นแล้ว

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!